วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2558

คณะวิทยาศาสตร์ คณะที่อยู่ในเงามืด ขอแชร์ในมุมมองของคนที่จบวิทย์มา

ที่ผ่านมาเห็นมีประเด็นเรื่องคณะวิทยาศาสตร์เยอะพอสมควร คณะวิทยาศาสตร์ เป็นคณะที่ถูกตราหน้าว่า คะแนนต่ำ เข้าง่าย เป็นคณะที่เป็นตัวเลือกสำหรับเด็กสายวิทย์ที่ไม่สามารถไปดีกว่านั้นได้ ซ้ำร้ายยังเรียนยาก จบยาก จบมาก็ไม่มีงาน ในฐานะที่จบคณะนี้มา เลยอยากจะชิ้แจงและแชร์ข้อมูลในมุมของคนที่จบมาสายนี้น่ะค่ะ เผือจะเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังจะตัดสินใจเข้าเรียน
ส่วนตัวเราจบวิทยาศาสตร์จากจุฬามาได้สิบกว่าปีแล้ว ได้ทุนไปเรียนต่อโทต่างประเทศ จบมาทำงานราชการใช้ทุน ทำงานบริษัทและโรงงานพักนึง ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการ Product เป็นด้าน engineering solutions ต่างๆค่ะ
เรื่องคะแนนต่ำ เข้าง่าย จบยาก
ประเด็นเรื่องนี้จริงค่ะ คณะวิทยาศาสตร์เป็นสาขาทางสายวิทย์ที่เรียกได้ว่า ถูกบดบังอยู่ในเงา เนื่องจากมีคณะอื่นที่เด่นกว่า 3 สายใหญ่ๆคือ สายแพทย์ สถาปัตย์และวิศวะ เด็กไทยที่เรียนสายวิทย์จะถูกปลูกฝังความเชื่อว่า ถ้าชอบไปทางชีวะ ต้องเรียนหมอ ทันตะ เภสัช ถ้าชอบฟิสิกส์ เลข ต้องไปทางวิศวะ ถ้าชอบวิทย์แอนด์ศิลปะ ต้องไปทางสถาปัตย์ คณะเหล่านี้เด่นกว่าเพราะเป็นสาขาเฉพาะทาง จบมาเป็นวิชาชีพที่ชัดเจน แต่วิทยาศาสตร์นี่ จบมาเป็นอะไร มันไม่มีวิชาชีพรองรับชัดเจน
ซึ่งถ้าให้เปรียบเทียบ ก็น่าจะคล้ายๆอักษรศาสตร์ของสายศิลป์ เรียนกว้างๆ เรียนเรื่องที่เป็นพื้นฐาน แต่ไม่ลงลึก ไม่มีอาชีพรองรับชัดเจน แต่งงไหมว่าอักษรกลับเป็นที่หนึ่งของสายศิลป์มีคะแนนเข้าเป็นอันดับต้นๆ (อาจจะเนื่องจากมีเมเจอร์ด้านภาษา ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเฉพาะทาง แต่เอาเข้าจริงในสายงานทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ภาษาแบบต้อง Formal มาก ต้องรู้ลงถึงราก มันมาเรียนและฝึกหัดเพิ่มเติมภายนอกมหาวิทยาลัยได้) หรือแม้แต่รัฐศาสตร์( ซึ่งขออภัยว่าในมุมมองเราหางานสายตรงยากโครตๆ เพราะลูกพี่ลูกน้องหลายคนจบมาและมาบ่นให้ฟัง) แต่คะแนนสอบเข้าก็ยังไม่ถือว่าต่ำ และยิ่งไปกว่านั้น สาขาที่เป็นวิชาชีพโดยตรงของสายศิลป์ เช่น บัญชี นิติ กลับคะแนนสูสีหรือต่ำกว่าอักษรนิดๆด้วยซ้ำ ซึ่งกลับกันกับสายวิทย์เลย คนที่จบอักษรจะถูกยกย่องว่าเรียนกว้าง ทำได้หลายอย่าง สมัครงานได้หลากหลาย แต่คนที่จบวิทยาศาสตร์ ซึ่งเรียนกว้าง ไม่เป็นวิชาชีพเหมือนสายศิลป์ กลับถูกมองในทางตรงข้าม ว่า จบแล้วไม่รู้จะไปทำอะไรซะงั้น ซึ่งในประเด็นนี้อยากจะอธิบายต่อไปว่าในพารากราฟหน้าว่า มันเป็นความเชื่อที่ผิด ส่วนเรื่องเรียนยากจบยากนั้น ส่วนตัวเราเคยเรียนมาทั้งวิทย์ทั้งศิลป์และบริหาร สำหรับวิทย์โดยเนื้อหาวิชาเราว่าก็ถือว่ายากกว่าอีกสองสายค่อนข้างพอสมควร (อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัวเรา ซึ่งแต่ละคนยากง่ายอาจจะไม่เหมือนกันขึ้นกับความถนัดด้วย) ที่จุฬาสมัยเราเรียน หลายๆวิชาพื้นฐานเรียนรวมกับวิศวะ และตัดเกรดกับวิศวะด้วย
เรียนแล้วไร้อนาคต อนาคตการทำงานของสายนี้
ในประเทศเราอัตราส่วนบุคลากรที่จบสายวิทยาศาสตร์ทั้งหมดยังน้อยอยู่ ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นสาขาขาดแคลน ถ้าเทียบกับสาขาทางสายศิลป์ ดังนั้นเชื่อว่าตลาดยังต้องการอยู่มาก คนจบวิทยาศาสตร์สามารถไปทำงานได้หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในบริษัท ทำงานในโรงงาน หรือผันตัวไปเป็นเซลล์ เป็นอาจารย์ เป็นนักวิชาการ เป็นเจ้าของกิจการ ฯลฯ คือด้วยพื้นฐานความรู้ทางเทคนิคที่มีมันไปต่อยอดได้มากมายหลากหลาย ทำให้สโคปงานกว้างมาก ไม่ใช่เหมือนเรียนหมอจบแล้วต้องเป็นหมอ เรียนวิศวะต้องเป็นวิศวะ จบวิทยาศาสตร์สามารถไปทำอะไรก็ได้ หรือต่อยอดโดยการไปเรียนสาขาอื่นต่อ ก็จะเป็น specialist ในสาขานั้นๆได้ เพื่อนรุ่นเราบางคนจบพวก Bio หรือ BioChem ก็ไปต่อหมอ บางคนจบวัสดุศาสตร์ก็ไปต่อวิศวะได้ และ เท่าที่ได้ฟังมาจากหลายๆบริษัท เขาบอกว่าคนที่จบทางวิทยาศาสตร์หรือสายวิทย์จะมีข้อดีคือ วิธีการคิดจะค่อนข้างเป็นโลจิก เพราะถูกสอนมาแบบนั้น ส่วนความรู้ในเชิงบริหารหรือเฉพาะในสายงานเป็นเรื่องที่เรียนรู้ได้ในอนาคต
ดังนั้น การคิดว่าจบมาแล้วไม่รู้จะทำอะไร ไม่มีงานรองรับ เป็นความเชื่อที่ผิด ขอให้มองในมุมกลับว่า การเรียนจบในสาขาที่มันกว้างๆแบบนี้ทำให้สามารถเลือกทำงานได้หลากหลายมากกว่า
จากประสบการณ์ เพื่อนๆที่จบมารุ่นเดียวกัน ตอนนี้ก็ไปทำงานหลากหลายมาก เกินครึ่งของทั้งหมดเลือกเรียนต่อในสาขาวิทยาศาสตร์หรือวิศวะทั้งในประเทศและอีกจำนวนมากได้ทุนไปต่างประเทศ กลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือนักวิจัย (มีทั้งในสวทช.และองค์กรเอกชน) บางคนเป็นระดับผจก.ในโรงงานอุตสาหกรรม บางคนไปเรียนต่อ MBA และเป็นผจก.หรือระดับบริหารในองค์กรใหญ่ๆในสายงานต่างๆกันไป บางคนเป็นเจ้าของกิจการ ทุกคนในรุ่นเราได้งานแบบไม่ยาก หรือได้ทุนทันทีที่เรียนจบ ไม่มีใครว่างงานหรือบ่นว่าไม่มีงานเลยซักคน คือเรียนจบมาจะเลือกทำงานไม่ตรงสายก็ได้ หรือถ้าอยากได้เงินเดือนเยอะๆ จบมาในสาขาไหน อยู่ๆไปก็จะพบ guideline จากรุ่นพี่ๆ เองว่าถ้าอยากได้เงินเดือนเยอะๆควรไปสมัครบริษัทไหน บางแห่งให้เรทเท่าวิศวะก็มีหลายที่
เงินเดือนน้อย
อันนี้อยู่ที่ว่าคุณจะลงตลาดไหนค่ะ (หมายถึงทำงานในสาขาไหน) ถ้าคุณเลือกลงตลาดที่แข่งขันสูง เช่นไปสมัครงานตำแหน่งที่ไปแข่งกับสายบริหาร สายศิลป์หรือสาขาอื่นที่คนจบเยอะๆเช่น เป็นธุรการ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล เงินเดือนคุณก็จะไม่สูงมาก ตามราคาตลาดที่เขาจ้างๆกัน แต่ถ้าอยากได้เงินเดือนสูงขึ้นอีกสเตป ต้องทำงานตำแหน่งที่เขาเปิดรับคนที่เขาต้องการความรู้ด้านเทคนิค ซึ่งตลาดนี้ ผู้สมัครที่จะแข่งขันก็จะน้อยลง เช่น จบชีวะ เคมี หรือ ฟู้ด ก็อาจจะทำโรงงานอาหารที่รับนักวิจัย พนักงานแลป โพลีเมอร์ หรือวัสดุศาสตร์ ก็สามารถทำงานตำแหน่ง นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย เจ้าหน้าที่ตรวจสอบวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้เงินเดือนจะสูงกว่าตำแหน่งทั่วๆไป มากน้อยแล้วแต่ความขาดแคลน
เท่าที่เห็นหลายๆบริษัท เขาแบ่งเรทเด็กจบใหม่เป็นสายเทคนิค กับสายบริหาร คนจบวิทยาศาสตร์จะได้เงินเดือนในเรทสายเทคนิค เช่นแม้แต่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างปูนซีเมนต์ไทย เงินเดือนสตาร์ทเท่ากับวิศวะ เพราะถือเป็นสายเทคนิคเหมือนกัน
เมื่อเปรียบเทียบกับวิศวะ และอนาคตการเรียนต่อของสายนี้
ในมุมมองของเรา ซึ่งจบตรีวิทยาศาสตร์ ประยุกต์ โทวิศวกรรมศาสตร์จากสหรัฐ เรามองว่า สองสายนี้เป็นพี่น้องกัน ต่อยอดกันได้ทั้งคู่ โดยเฉพาะในต่างประเทศ เช่นสหรัฐ หลายๆมหาวิทยาลัย คณะหรือสาขาวิศวะและวิทยาศาสาตร์อยู่รวมกันด้วยซ้ำ เพราะมันแยกกันแทบไม่ออก เช่นจะเห็นในหลายๆมหาวิทยาลัยชั้นนำ มีชื่อคณะว่า Faculty of……..Science and Engineering ปริญญาในระดับโท หลายๆที่มี option ให้เลือกว่าจะต้องการ Master of Science หรือ Master of Engineering ซึ่งขอบอกว่าในตลาดแรงงานในสหรัฐ M.SC. หรือ Master of Science เป็นที่ต้องการมากกว่าในหลายๆบริษัทด้วยซ้ำ ในขณะที่ในเมืองไทย ไม่ทราบว่าด้วยเหตุใด คนจบวิศวะจะค่อนข้างดูถูกวิทยาศาสตร์ เราว่ามันเป็นค่านิยมที่ค่อนข้างแคบและอยากให้หมดไปเสียที คนจบวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็ไม่เคยตั้งแง่หรือคิดอะไรกับวิศวะเลย คิดเพียงแต่ว่าเรียนมาคล้ายๆกัน เหมือนกันบางวิชา แต่เอาเข้าจริง skill โดยรวมก็ต่างกัน พื้นฐานและวิชาหลายๆอย่างคล้ายกัน แต่ วิทยาศาสตร์จะเน้นไปทางพวกแลป การทดลองมากกว่า คนจบวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้อยากเป็นวิศวะหรืออยากไปแย่งงานวิศวะหรอกค่ะ เราว่าถ้ามองแบบไม่อคติ วิศวะคือการนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ ดังนั้น คนจบวิทยาศาสตร์ถ้านำองค์ความรู้ที่มีมาประยุกต์ใช้ ก็ถือว่าไม่ต่างอะไรจากวิศวะ (อันนี้ขอให้มองโดยความหมายของศัพท์แบบไม่ต้องติดอีโก้)
สำหรับอนาคตในการเรียนต่อต่างประเทศ นั้น วิทยาศาสตร์ในหลายๆสาขา หาทุนง่ายค่ะ ไม่ว่าจะทุนจากประเทศไทย หรือทุนพวก RA/TA ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับสาขาอื่นๆ เช่นสายบริหาร สายศิลป์ นิติ รัฐศาสตร์ ฯลฯ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ ชอบและสนับสนุน นักวิทยาศาสตร์ อย่างสหรัฐหรือเยอรมัน หรือญี่ปุ่น มีทุนระดับโท เอก หรือแม้แต่ประกาศนียบัตร จำนวนมากทางวิทยาศาสตร์เมื่อเทียบสัดส่วนกับสาขาอื่นๆ หรือแม้แต่ก.พ. ก็มีทุนเป็นจำนวนมากในสายวิทย์ ในขณะที่สายอื่นเช่นสายบริหารหรือสายศิลป์ เคยได้ยินว่า 1 ทุนต้องแข่งขันกันกับผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์เป็นร้อยคน แต่สายวิทย์ไม่เป็นเช่นนั้น ยกตัวอย่างของเราตอนเราสมัครทุนก.พ. ในสาขาเรา มี 5 ทุน คนสมัคร 5 คน อัตราส่วน 1 ต่อ 1 เลยนะนั่น นั่นหมายถึงทั้งหมดที่สมัครและผ่านเกณฑ์ ได้ทุนไปต่อโท หรือโทเอกหมด
เป็นไงล่ะ คณะที่อยู่ในเงามืด คะแนนต่ำ ไม่มีใครอยากเข้า เราว่าเอาเข้าจริง มันไม่ได้เลวร้ายเลย ทุกวันนี้เราและเพื่อนๆที่จบมารู้สึกว่าชีวิตในหน้าที่การงานที่ผ่านมาตั้งแต่เรียนจบมันดีด้วยซ้ำค่ะ และไม่เสียใจเลยที่เลือกเรียนวิทยาศาสตร์ ถ้ามีลูกก็อยากให้ลูกเรียนสายนี้ค่ะ วิทยาศาสตร์เป็นสาขาที่สอนให้เราคิดแบบมีโลจิก มีเหตุผล มีขั้นมีตอน โดยเฉพาะสาขาพื้นฐานทั้ง 4 (ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เลข) เป็นองค์ความรู้ที่วิเศษและมหัศจรรย์ที่สุดอันหนึ่งสำหรับชีวิตมนุษย์คนนึงที่จะได้เรียนรู้ เพราะเมื่อศึกษาแล้ว คุณจะตอบโจทย์ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็น fact เกิดขึ้นในชีวิตได้ หรืออย่างน้อยตอบไม่ได้ก็มีความเข้าใจในพื้นฐานที่จะหาความรู้เพิ่มเติมได้ง่ายกว่า ชีวะสอนให้รู้ว่าร่างกายเราทำงานอย่างไร สิ่งมีชีวิตเป็นอย่างไร เคมีสอนให้รู้ว่าสสารทั้งหมดในโลกมีอะไร ทำไมถึงเกิดปฏิกิริยาอย่างนี้ ฯลฯ
โดยสรุป ส่วนตัวเราคิดว่า เป็นคณะที่ไม่ได้เลวร้ายเหมือนที่คนนอกมองกันนะ แม้จะไม่เป็นวิชาชีพอย่างคณะอื่นๆเช่น หมอ วิศวะ เภสัช ถาปัด แต่อย่างน้อยแค่การได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ มันเป็นพื้นฐานที่ดีของชีวิต และเป็นการสร้างพื้นฐานด้านวิชาการที่ดีให้กับตัวเราเอง เมื่อจบมา และค้นพบตัวเองว่าอยากทำอะไร ก็มาหาทางทำงาน เรียนต่อ หรือศึกษาเพื่อต่อยอดสาขาอื่นๆไม่ว่าทางวิทย์หรือศิลป์หรือบริหารที่เราสนใจได้
วันนี้ขอแชร์แค่นี้ก่อน
ใครมีอะไรถามหรือมีความเห็นอย่างไร แชร์ได้เต็มที่เลยค่ะ 

ไม่มีความคิดเห็น: