วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2558

ยุค ‘ขึ้นหิ้ง’ ใกล้สิ้นสุด ‘อาชีพนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์’ รู้ไว้ ‘รายได้ไม่ขี้เหร่’


เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวเกี่ยวกับการสำรวจ ’เด็กไทย“ อายุระหว่าง 7-14 ปี เกี่ยวกับ ’อาชีพในฝัน“ โดยมีประเด็นประกอบส่วนหนึ่งที่เป็นเรื่องมุมมองเกี่ยวกับการเป็นอาชีพที่ดี-เท่ และเรื่อง ’รายได้“ ซึ่งผลการสำรวจดังกล่าวนี้ได้ข้อสรุปอาชีพในฝันของเด็กไทย 5 อันดับแรกคือ... 1.แพทย์, 2.วิศวกร, 3.ตำรวจ, 4.นักธุรกิจ, 5.ครู

’นักวิจัย“ อาชีพนี้ ’สำคัญ“ แต่ไม่ติดอยู่ในโผ!!

ทั้งนี้ กับเรื่อง “วิจัย” นั้น ในมุมที่คนไทยมักจะคุ้น ๆ คือกรณี “งานวิจัยขึ้นหิ้ง” งานวิจัยที่ไม่มีการนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ และรวมถึงกรณี “นักวิจัยขาดแคลน” ซึ่งกับกรณีงานวิจัยขึ้นหิ้ง ปัจจุบันหลาย ๆ ฝ่ายก็พยายามจะช่วยกันทำไม่ให้เป็นเช่นนั้น และก็เป็นผลแล้วในระดับหนึ่ง ส่วนกรณีนักวิจัยขาดแคลน ก็คงต้องให้เด็กไทยคนรุ่นใหม่พิจารณา และวันนี้ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ก็จะนำเสนอบางแง่มุมเกี่ยวกับ “อาชีพนักวิจัย”

“ได้ศึกษาข้อมูลอาชีพ และผลตอบแทนของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน พบว่ารายได้นักวิจัยตั้งแต่จบใหม่ เมื่อเข้าทำงานในบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ จะอยู่ที่ 60,000-100,000 บาท เช่นเดียวกับนักวิจัยในสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่ง แต่ถ้ามีประสบการณ์มากกว่า 12 ปี จะมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 100,000 บาท ส่วนรายได้ต่ำสุดประมาณ 40,000 บาท นอกจากนี้ยังมีรายได้ในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย”...นี่เป็นการระบุโดย ดร.กิตติพงศ์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการจัดการนโยบาย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)

และกับประเด็นนี้ ดร.เกรียงชัย รุ่งฟ้าใหม่ นักวิจัยนโยบายอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ว่า...ถ้าเป็นบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ จะให้ค่าตอบแทนสำหรับนักวิจัยที่จบปริญญาเอกใหม่ ๆ ในสาขาที่บริษัทต้องการ ประมาณ 80,000 บาท/เดือน ยังไม่รวมสวัสดิการอื่น ๆ อีก แต่นักวิจัยกลุ่มนี้ แม้ว่าค่าตอบแทนสูงมาก แต่การแข่งขันก็สูงมากเช่นกัน ในขณะที่นักวิจัยปริญญาเอกจบใหม่ในภาครัฐ ถ้าเป็นหน่วยงานที่เป็นเอกเทศ จะอยู่ที่ประมาณ 35,000 บาท/เดือน แต่หากเป็นสาขาที่ต้องการมาก ก็อาจต่อรองให้สูงขึ้นได้อีก

ดร.เกรียงชัย บอกอีกว่า...ขณะนี้ความต้องการนักวิจัยในสายวิทยาศาสตร์มีมาก มาจากหลายสาเหตุ ซึ่งหากย้อนดูเหตุที่อาชีพนักวิจัยที่ทำงานในภาคเอกชนยังไม่บูมในสมัยก่อน ก็เพราะ...บริษัทเอกชนหากจะพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือเทคโนโลยีของตนเองก็จะใช้วิธีให้ฝรั่งมาลงทุน หรือเมื่อซื้อเครื่องจักรอะไรเข้ามาก็จะซื้อเทคโนโลยีมาด้วย โดยไม่พัฒนานักวิจัยเอง ซึ่งแรก ๆ ฝรั่งก็ยอมขาย เพราะเห็นว่าประเทศไทยไม่ใช่คู่แข่ง แต่ช่วงหลัง ๆ มานี้ การแข่งขันสูงขึ้น เพราะการเปิดโลก และการที่ไทยกำลังจะเข้าสู่เออีซี ซึ่งต่อไปบริษัทไทยจะแข่งขันได้ในระดับโลกโดยการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ตอนนี้ฝรั่งเริ่มไม่ขายเทคโนโลยีบางส่วนให้แล้ว เพราะเห็นว่าไทยก็เป็นคู่แข่ง

ความต้องการนักวิจัยที่มีสูงในตอนนี้ อีกเหตุหนึ่งเพราะมีบริษัทต่างชาติที่ต้องใช้ไทยเป็นฐานการผลิต กำลังมาลง R&D center ที่ประเทศไทย ซึ่งต้องใช้นักวิจัย แต่กลับหานักวิจัยในระดับปริญญาเอกแทบไม่ได้เลย

 
“นักวิจัยกระจุกอยู่ในภาคอุดมศึกษาเกือบ 70% มหาวิทยาลัยเป็นหอคอยงาช้าง ค่อนข้างสบาย อีกอย่างคนที่เลือกเป็นอาจารย์ก็เพราะไม่ชอบทำงานในภาคเอกชน ที่ต้องเจอทั้งระบบการแข่งขัน และโดนกดดันมาก จึงเลือกอยู่ในมหาวิทยาลัย ซึ่งก็สามารถจะหารายได้ได้มากมายหลายวิธี”

...ดร.เกรียงชัย ระบุ และสลับกลับไปที่ประเด็นในอดีตนักวิจัยสายวิทยาศาสตร์ไม่ได้บูมมากในตลาดเอกชนอีกว่า... เพราะในอดีตคนที่เรียนจบมาแล้วทางเดินของอาชีพนักวิจัยนั้นมักจะสั้น และไม่ชัด อนาคตไม่แน่นอน ไม่ค่อยมีการสนับสนุนเหมือนในปัจจุบัน ดังนั้น คนที่เรียนจบมาจึงเบนเข็มไปเป็นอาจารย์มากกว่า

สถานการณ์นักวิจัยในยุคนี้ จริง ๆ ตลอดระยะเวลา 3-5 ปีที่ผ่านมาก็มีการเพิ่มจำนวนผู้ที่มาทางด้านนักวิจัยเหมือนกัน แต่จะทำอย่างไรจึงจะมีนักวิจัยเพิ่มเข้าสู่ภาคเอกชนซึ่งมีความต้องการจำนวนมากด้วย อันเนื่องจากการที่ ไทยนั้น โครงสร้างอุตสาหกรรม การผลิต การบริการ กำลังจะขยับเป็นประเทศที่พัฒนา

ในส่วนภาครัฐก็มีการปรับ คือการผลิตงานวิจัยต้องทำตามความต้องการตลาดด้วย เพื่อไม่ให้งานวิจัยอยู่แต่บนหิ้ง สวทน.ก็มีโครงการซึ่งเป็นข้อเสนอนโยบายส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงภาครัฐและเอกชน เชื่อมโยงในระดับอุตสาหกรรมใหญ่และเอสเอ็มอี โดย สวทน.เป็นตัวกลาง

ทั้งนี้ ดร.เกรียงชัย ระบุด้วยว่า...นักวิจัยสายวิทยาศาสตร์ตลาดกำลังต้องการสูง เพราะโครงสร้างของประเทศกำลังไปทางที่จะเจริญขึ้น ถ้าจบในสาขาที่มีความต้องการจะได้งานทันที ’รายได้นักวิจัย ณ ปัจจุบัน เมื่อเทียบกับสมัยก่อน ก็ไม่ขี้เหร่ สามารถไปทำงานต่างประเทศได้ด้วยหากมีความสามารถ อนาคตค่อนข้างแน่นอน จึงอยากให้คนปรับทัศนคติ มุมมอง และความคิด เกี่ยวกับอาชีพนี้เสียใหม่“

สรุปคือ ’อาชีพนักวิจัย“ นั้น ’นับวันยิ่งโดดเด่น“

เชื่อว่า ’อีกไม่นานจะเป็นอีกอาชีพในฝัน“ แน่!!.

ไม่มีความคิดเห็น: