วันพุธที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2558

4 ความสำคัญของ O-NET ม.6 (อ่านแล้ว คุณจะไม่กล้ามั่วแม้แต่ข้อเดียว)

สวัสดีค่ะ... ม.6 หลายคนกำลังงานเข้า เพราะเดินสายสอบกันแทบไม่ได้นอน ตอนนี้ร่างกำลังเพลียระดับสิบ พร้อมระเบิดทุกเมื่อ แต่ความจริงก็คือความจริง ว่าอีกไม่ถึงเดือนก็จะสอบ O-NET ต่อ นาทีนี้เชื่อว่าน้องๆ คงกำลังวางแผนจะเข้าไปมั่ว O-NET ในห้องสอบกันแน่ๆ อ๊ะๆ พี่มิ้นท์ขอเตือนตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไปว่า O-NET ห้ามเข้าไปมั่วนะจ๊ะ

          เอาล่ะ มาดูเหตุผลกันว่า ทำไมถึงต้องตั้งใจสอบ O-NET ด้วย ทั้งๆ ที่มันก็ไม่ได้สำคัญกับการรับตรงเลย ?!?!
 
4 ความสำคัญของ O-NET ม.6 (อ่านแล้ว คุณจะไม่กล้ามั่วแม้แต่ข้อเดียว)
 

  เหตุผลข้อที่ 1. คนสอบ กสพท. ได้แล้ว ห้ามลืม O-NET 60%
         เพิ่งสอบ 7 วิชาสามัญกันไปหมาดๆ ถ้ารู้ผลวิชาสามัญแล้ว เราก็จะรู้แล้วว่าเราสอบติดสถาบันไหน แต่ๆๆๆๆ อย่าเพิ่งดีใจกันขนาดนั้น เพราะยังมีเกณฑ์คะแนนรวม O-NET > 60% เป็นตัวดักอีก (เกณฑ์ O-NET 60% คิดแค่ 5 วิชาหลักรวมกันนะคะ) ดังนั้นต่อให้น้องๆ คะแนนดีเริ่ด 80 คะแนน มากพอที่จะติดสถาบันดังๆ แล้ว แต่ดันไปสอบ O-NET แบบทีเล่นทีจริง จนคะแนนรวมไม่ถึง 60% ก็ถือว่าจบ ตกรอบ บ๊ายบาย กสพท.
         ฉะนั้น ไม่ว่าคะแนนวิชาสามัญจะประกาศก่อนสอบ O-NET หรือไม่ ก็ต้องสอบ O-NET ให้เต็มที่ทุกวิชาไว้ก่อน เพราะพลาดไป 1-2% ไม่มีการอนุโลมแน่นอนค่ะ


 
   เหตุผลข้อที่ 2. หลุมดักเกณฑ์ขั้นต่ำแอดมิชชั่นกลาง
          น้องๆ คงรู้แล้วล่ะว่า O-NET เป็นองค์ประกอบในแอดมิชชั่นกลางถึง 30% หมายความว่าคะแนนที่เราสอบทุกคะแนนจะเอาไปคำนวณ และรวมกับ GPAX GAT PAT ให้ออกมาเป็นคะแนนแอดมิชชั่น หลายคนไปไฝว้คะแนน GAT PAT เป็นหลัก และปล่อย O-NET ไปแบบชิวๆ ต้องระวังกันหน่อย เพราะหลายๆ คณะในแอดมิชชั่นกลาง กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำ O-NET เอาไว้ด้วยนะ พูดง่ายๆ คือ ถ้าได้โอเน็ตวิชานั้นไม่ถึงตามคะแนนที่กำหนด ก็เลือกคณะนั้นไม่ได้ จบปิ๊ง

 
4 ความสำคัญของ O-NET ม.6 (อ่านแล้ว คุณจะไม่กล้ามั่วแม้แต่ข้อเดียว)
พระเจ้าช่วยกล้วยทอด กำหนดอะไรเยอะแยะปานนั้น!!
 

    ยกตัวอย่างคณะ เช่น
    คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ กำหนดขั้นต่ำ วิชา 01 - 05  วิชาละ 30 คะแนน
    คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กำหนดขั้นต่ำ วิชา 01 - 05 วิชาละ 30 คะแนน
    คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กำหนดขั้นต่ำ วิชา 01 - 05 วิชาละ 30 คะแนน
    คณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ ม.เกษตรศาสตร์ กำหนดขั้นต่ำ วิชา 03 = 50 คะแนน
    คณะเทคนิคการแพทย์ ม.ขอนแก่น  กำหนดขั้นต่ำ วิชา 03 = 50 คะแนน
    คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น กำหนดขั้นต่ำ วิชา 01 - 05 วิชาละ 30 คะแนน
    คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีมีเดีย ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กำหนดขั้นต่ำ วิชา    04 = 30 คะแนน
    คณะศิลปศาสตร์ สาขาภาษาอังกฤษ ม.ธรรมศาสตร์ กำหนดขั้นต่ำ วิชา 03 = 75 คะแนน (เป็นสาขาที่เห็นเกณฑ์แล้วคอตกกันถ้วนหน้า)
    
        เป็นตัวอย่างพอกรุบกริบ ให้ร้อนๆ หนาวๆ กันไปบ้าง บอกเลยว่าของจริงมีเยอะกว่านี้แน่นอน แต่จะกำหนดอยู่ในคณะ/สาขา ที่คนเลือกเยอะๆ แข่งขันสูง และพวกหลักสูตรนานาชาติหลายที่ก็ใช้เกณฑ์ขั้นต่ำภาษาอังกฤษ อ้อ! ใครจะเข้า ม.แม่ฟ้าหลวง ทำคะแนนวิชา 03 (ภาษาอังกฤษ) ให้ได้มากกว่า 30 คะแนนรอไว้ได้เลย เพราะ "ทุกคณะ" กำหนดวิชา 03 = 30 คะแนนค่ะ
      หูย! เหตุผลข้อแรกกระทบกับน้องๆ ที่อยากเข้าหมอ แต่เหตุผลข้อสองนี่ ไม่ปราณีให้ใครเลย


 
   เหตุผลข้อที่ 3. เป็นตัวการทำให้โรงเรียนด่างพร้อย
         เกิดมาไม่เคยทำตัวเกเร เตะหมา รังแกคนแก่ หรือ ไปตีรันฟันแทงกับใคร แต่ถ้าไม่ตั้งใจสอบโอเน็ท จนคะแนนมาเน่าหนอน ก็ถือว่าทำลายชื่อเสียงของโรงเรียนได้เลยนะคะ เพราะ O-NET ที่เราสอบๆ กัน จะนำมาวัดคุณภาพโรงเรียนด้วยค่ะ ซึ่งหลังจากที่ประกาศคะแนนออกมาทุกคนแล้ว ก็จะมีผลคะแนน O-NET รายโรงเรียนออกมาให้คุณครูได้ชื่นชมผลงานของน้องๆ งานนี้โรงเรียนที่คะแนนเพิ่มขึ้นก็จะออกมาโชว์ผลงานกันถ้วนหน้า แต่ถ้าคะแนนแย่ นอกจากจะไม่มีให้โชว์แล้ว คุณครูยังต้องอายอีกแน่ะ ดังนั้นอยากให้โรงเรียนเราพัฒนา มีคะแนนสะท้อนคุณภาพการเรียนการสอนที่ดี ก็ขอให้ตั้งใจสอบค่ะ ทำเพื่อโรงเรียนอีกสักครั้งก่อนเรียนจบนะ

 
    เหตุผลข้อที่ 4. เกิดปีหน้าจะซิ่วล่ะ?
          เรียนๆ ไปแล้ว เกิดเป็นคณะที่ไม่ตรงกับจริตของตัวเอง น้องๆ แอดมิชชั่นใหม่ได้อีกรอบนะคะ โดยสามารถไปสอบ GAT PAT ใหม่พร้อมเด็ก ม.6 รุ่นหลังได้ ถ้าคะแนนดีกว่าเดิม ก็ใช้คะแนนใหม่ได้เลย แต่เกรดและคะแนน O-NET ของน้องๆ จะเป็นคะแนนเดิมทั้งหมด นั่นหมายความว่า ปีนี้ได้โอเน็ทเท่าไหร่ ปีหน้าคะแนนโอเน็ทของเราก็เท่าเดิม เราไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ฉะนั้นทำคะแนน O-NET ให้ดีตั้งแต่วันนี้ดีกว่า เหมือนสะสมบุญเอาไว้ค่ะ ยังไงซะ O-NET ก็ง่ายกว่า GAT PAT เราจะไปรอเสี่ยงสอบข้อสอบยากๆ ทำไมให้เหนื่อย
 
           เป็นเหตุผล 4 ข้อที่เอามาเตือนสติน้องๆ พี่ๆ ทีมงานรู้ว่าสอบเยอะ มันล้า มันเหนื่อย แต่เหนื่อยทีเดียวให้เสร็จแล้วรอฟังข่าวดีวันข้างหน้าดีกว่าค่ะ ดีกว่ายึดความสบายเป็นหลัก แล้วจวนตัวค่อยมาโทษตัวเองว่า "รู้งี้" ตั้งใจสอบ O-NET ตั้งแต่แรกก็ดี เชื่อพี่แล้วน้องจะไม่เสียใจ (จบสวยเว่อร์)

ไม่มีความคิดเห็น: