วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แนะนำ วรรณกรรมสำหรับเด็ก แบบคนมีกึ๋น โดยพี่ มศว


1.) ตอนนี้กำลังเรียนคณะอะไร สาขาอะไรอยู่?
ตอบ คณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เจ้าค่ะ (วิชาเอกนี้มีที่เดียวในประเทศไทย น่าภูมิใจมั้ยล่ะเอ้อ) ชื่อเรียกย่อๆในคณะคือ "เอกวรรณกรรมฯ"  "เอกวรรณฯ" หรือ "CL"  (Children's Literature)
สำหรับคณะนี้ ต้องเลือกวิชาเอกตั้งแต่เลือกคณะเลยนะเจ้าคะ จริงๆแล้วเอกอื่นเข้ามาแล้วย้ายเอกได้(ย้ายคณะยังได้แล้ว เอากะเขาสิ) แต่ต้องทำเกรดให้ถึงตามที่อาจารย์แต่ละเอกท่านกำหนด
แต่เอกวรรณกรรมสำหรับเด็กนั้น... ไม่มีการย้ายเข้านะคะ ต่อให้4.00มา ท่านก็ต้องไปสอบใหม่ ยื่นคะแนนใหม่ "เพื่อแสดงความตั้งใจจริง"
(อย่าขำไป เพื่อนร่วมรุ่นดอสคนนึงก็ซิ่วจากเอกภาษาจีนคณะเดียวกัน เพื่อมาสอบเข้าเอกวรรณกรรมสำหรับเด็กมาแล้ว)

2.) สาขาที่เรียน เรียนยังไง เรียนอะไรบ้าง?

ตอบ สั้นๆก็เรียนเกี่ยวกับสื่อสำหรับเด็ก (เน้นวรรณกรรมเป็นหลัก)
ตอบยาวๆ ก็เอาน้ำเอาขนมมานั่งฟังนะฮะ
เริ่มจาก
ปี1
เข้ามาปีแรก แฮปปี้ดี๊ด๊ากับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย กับวิชาเอกสามตัวรวด! (และวิชาพื้นฐานอีกพอเบื่อ)
เทอม1ท่านจะได้พบกับ

วรรณกรรมสำหรับเด็ก : เป็นวิชาพื้นฐานของเอกเราฮะ คือเรียนว่าวรรณกรรมสำหรับเด็กคืออะไร มีที่มาอย่างไร ลักษณะเป็นยังไงบ้าง แบ่งจำพวกได้แค่ไหน ฯลฯ

คติชาวบ้าน : AKA วิชาการเมืองไทยศึกษา.... เพราะนอกจากจะได้เรียนคติชาวบ้านตามชื่อวิชาแล้ว เราจะได้ถกเรื่องการเมืองปัจจุบันควบไปด้วย

ประวัติวรรณกรรมสำหรับเด็ก : วิชานี้เนื้อหาบางส่วนจะทับซ้อนกับวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก แต่จะลงลึกกว่า อารมณ์เรียนประวัติศาสตร์ในมุมมองของวรรณกรรม

ที่เหลือเป็นวิชาพื้นฐานฮะ มีภาษาไทย ภาษาอังกฤษ(แบ่งsecตามคะแนนpre-test) พละ คอมพ์ อะไรก็ว่าไป แต่รับรองว่าไม่ยาก เรียนม.ปลายผ่านมาได้ก็เรียนวิชาเหล่านี้ได้ฮะ

เทอม2  (ขอพูดถึงแต่วิชาเอกล่ะเน้อ)
วรรณกรรมคลาสสิคสำหรับเด็ก : ใครชอบอ่าน ได้อ่านกันจุใจ ดอสอ่านจนเอียนตัวหนังสือไปพักใหญ่ แต่วิชานี้ไม่ได้แค่อ่านนะฮะ ต้องเรียนประวัติของวรรณกรรมชิ้นนั้นๆ และวิเคราะห์วรรณกรรมเบื้องต้นได้ด้วย (วิชาที่เรียนมาเทอม1จะถูกนำมาใช้ทันที ดังนั้นจงตั้งใจซะตั้งแต่เนิ่นๆ)

การเขียนเรื่องสำหรับเด็ก : เริ่มได้เขียนกันแล้วล่ะ (จริงๆก็เขียนกันมาตั้งแต่เทอม1 แค่วิชานี้จะเริ่มเจาะลึก "การเขียน" กันสักที)

ปี2
ปีนี้ไม่มีวิชาพื้นฐานแล้ว เข้าเอกกันอย่างมีความสุข(???)
สองเทอมรวมกัน เรียนได้ดังนี้ฮะ
ภาษาอังกฤษเฉพาะทาง : เรียนภาษาอังกฤษสำหรับการอ่านวรรณกรรม ชื่อวิชาและคำอธิบายดูไฮโซ แต่ไม่ยากอย่างที่คิดนะ

พัฒนาการของเด็ก : วิชานี้เรียนคล้ายๆหมอ แต่ฮาร์ดคอร์น้อยกว่า เรียนตั้งแต่พัฒนาการของตัวอ่อนในท้องแม่ จนถึงจิตวิทยาเด็กวัยรุ่น สนุกสนานบนความทุกข์ของตัวเอง(เวลาอ่านหนังสือสอบ)
วรรณกรรมกับสังคม : สำหรับดอส คิดว่ามันคือเอารากฐานความรู้จากวิชาคติชาวบ้าน มาต่อยอดกับการวิเคราะห์ที่ได้มาจากวิชาวรรณกรรมคลาสสิคฯ แต่คราวนี้เน้นสังคมไทยและวรรณกรรมที่ร่วมสมัยกว่า

บันเทิงคดีสำหรับเด็ก
และ สารคดีสำหรับเด็ก
 : สองวิชานี้เรียนตรงตามชื่อฮะ เน้นที่หนังสือภาพ เป็นวิชาที่เกี่ยวเนื่องกัน เพราะนอกจากจะเรียนวันเดียวกัน(เช้า-บ่าย) แล้ว ยังต้องวาดรูปเยอะอีกด้วย แต่วาดไม่เป็นไม่ต้องห่วงฮะ อาจารย์ท่านจะสอนเทคนิคการสร้างภาพประกอบแบบอื่นด้วย เช่น ภาพตัดปะ ภาพถ่าย ฯลฯ สองวิชานี้ เกรดไม่ได้วัดกันแค่ที่ความสวยงาม เนื้อหาต้องดีด้วย

วิวัฒนาการวรรณกรรมสำหรับเด็ก
 : เป็นวิชาที่ เราจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตัวเราเอง เพราะการเรียนส่วนใหญ่จะต้องค้นคว้าข้อมูลเพื่อไปทำproject มีทั้งแบบกลุ่มและเดี่ยว เป็นวิชาที่จะได้ความรู้มากถ้าตั้งใจฟังเพื่อนpresent ด้วย (อย่าฟังแต่อาจารย์แล้วเมินเพื่อน)

วรรณกรรมร่วมสมัย : เป็นภาคต่อของวรรณกรรมคลาสสิคฯ แค่อาจจะเรียนสนุกกว่า เพราะเรื่องมันร่วมสมัยกับเรามากกว่า

บทกวีสำหรับเด็ก : ตามชื่อฮะ
*ปี2 แทบจะไม่มีวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัยแล้ว แต่เราต้องเลือก "วิชาโท" นะฮะ

ปี3 
นิทานและการเล่านิทาน : เรียนเป็นกึ่งๆworkshop เน้นปฏิบัติจริง
หนังสือและสื่อสมัยใหม่สำหรับเด็ก หรือ วรรณกรรมศาสนา : สองตัวนี้เป็นวิชาเอกเลือก ให้เลือกเรียนตัวใดตัวหนึ่ง (ถึงฟิตอยากเรียนทั้งคู่ก็ลงควบไม่ได้ เพราะเรียนเวลาเดียวกัน)
วารสารสำหรับเด็ก : "ตัวแม่" ของปี3... มีทั้งงานเดี่ยว และงานกลุ่ม(ทั้งรุ่น) ที่ต้องตั้งกองบก. กันเอง แล้วผลิตวารสารออกจำหน่ายจริงๆ (วารสาร"กาลครั้งหนึ่ง" กำเนิดมาจากวิชานี้แล)

ต่อจากนี้เป็นวิชาของปี3เทอมปลาย และปีสี่ จะขอพูดถึงคร่าวๆแล้วกันนะฮะ (เพราะยังเรียนไม่ถึง ไม่อาจเจาะลึกได้)
ปีสามเทอมปลายจะมีวิชาวิเคราะห์วรรณกรรม วิชาการออกแบบภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็ก และ การผลิตวรรณกรรมฯ

ส่วนปีสี่เทอมต้นหลักๆจะมีวิชาสัมมนา ที่ต้องทำวิจัยส่วนตัวแล้วจัดงานนำเสนอร่วมกันทั้งรุ่นตอนปลายเทอม
นอกจากนี้ก็มีวิชาเลือกของเอก คือ การเขียนการ์ตูน การแปล การเขียนบทละคร การสร้างเสริมนิสัยรักการอ่าน
ปีสี่เทอมปลาย มีวิชาหลักคือสารนิพนธ์ ทำงานวรรณกรรมสำหรับเด็ก1ชิ้น  และวิชาเลือกอีก

3. สาขาที่เรียนเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง?
ตอบ ได้ทั้งใช้และไม่ได้ใช้ เราอาจจะกลายเป็นนักวรรณกรรม(หรือนักเขียน)ร้อยล้าน ครูอนุบาล นักเล่านิทาน(อาชีพนี้เลี้ยงตัวได้จริงๆ มีรุ่นพี่พิสูจน์มาแล้ว) ทำงานฟรีแลนซ์ แอร์โฮสเตส นางงาม หรือแต่งงานมีลูก เอาวิชาที่เรียนไปเลี้ยงลูกให้โตมาเป็นคนมีคุณภาพของสังคม
เอกนี้เรียนอย่างเป็ด... คือรู้ทั่วไปหมด แต่อาจจะไม่ลึกนัก ขึ้นอยู่กับการขวนขวาย และความถนัดส่วนบุคคล ความรู้ที่เรียนมา ต้องนำไปต่อยอดจึงจะใช้ได้ในการทำงานจริงๆฮะ (อันที่จริง ทุกสาขาอาชีพก็เป็นอย่างนี้นะ)
ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยเราได้มากคือวิชาโทฮะ เลือกดีๆ อย่าเรียนเพราะเอาเกรด เราเข้ามหาวิทยาลัยมาหาความรู้ฮะ ไม่ได้หาเกรดA

ส่วนเรื่องเรียนแล้วเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง สุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับตัวเราล่ะนะ  (ตอบเกรียนอีกแน่ะ)
 
4. บอกเคล็ดลับการเรียนในสาขานี้อย่างคนมีกึ๋นมา 1 ข้อขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน
เฮ้ย!
นั่นมันคำขวัญวันเด็ก(ปีไหนสักปี.... จำได้อยู่ปีเดียว)

เอาจริงๆขอแค่ "รัก" ในสิ่งที่เราเรียน ก็เกินพอแล้วฮะ

5.อยากบอกน้องๆ ที่จะเลือกคณะนี้ว่า??
อย่าเลือกเพราะแค่อยากเอนท์ติด อย่าเลือกแค่เพราะคุณชอบอ่านหนังสือ อย่าเลือกถ้าเห็นว่ามันเป็นแค่ทางผ่านสู่ใบปริญญา
อย่าเห็นว่ามันหางานง่าย ทำงานกับเด็ก ยังไงก็ทำได้
มันตกงานง่ายนะ.... เพราะคนทั่วไปเขาก็คิดแบบนี้ ทำงานกับเด็ก จ้างใครก็ได้ จ้างคนจบตรีทำไม แพง
อย่าเรียนหวังรวย มันไม่ค่อยรวย...
หากไม่รักจริง อย่าเลือกฮะ

อย่ามาเยอะ ขอพูดอะไรดีๆบ้างแล้วกัน

เรียนเอกนี้ เก่งไม่พอ ต้องเป็นคนดีด้วยนะฮะ
คนดีที่ว่าคือ มีความรับผิดชอบ ส่งงานสม่ำเสมอ ไม่เห็นแก่ตัว(โดยเฉพาะกับเพื่อนร่วมรุ่น) อย่าหวงวิชา เอกนี้รุ่งหรือร่วงอยู่ที่ไอเดียก็จริง แต่ถ้าไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีความสม่ำเสมอ ก็ไม่มีใครอยากทำงานด้วย (รวมถึงไม่มีอาจารย์ท่านไหนอยากรับงานที่ส่งช้า... บางวิชาหักวันละเกรดนะจ๊ะ)

เตือนอีกข้อคือ อย่าใจร้อน
เรียนเอกนี้ต้องอดทน เห็นบางคนเข้ามาแล้วบ่นว่าทำไมไม่ได้เรียนการเขียน ทำไมต้องเรียนประวัติ เรียนวิชาพื้นฐาน
ดอสเอาวิชามาลงให้เห็นเป็นปีๆ ให้เห็นว่าการเรียนมันต้องเป็นขั้นเป็นตอน คนเราไม่ได้เกิดมาเป็นอัจฉริยะกันทุกคน บางเรื่องมันต้องค่อยเป็นค่อยไป ถ้าใจร้อนอยากลองวิชา เขียนมาให้อาจารย์อ่าน ท่านก็ไม่ว่าหรอก... ไม่จำเป็นต้องเขียนเฉพาะในคาบเรียนซะหน่อย

และ ข้อสุดท้ายที่สำคัญยิ่ง จงอย่าหยิ่ง!
หยิ่งมื่อไหร่ ตาจะมองสูง อะไรเล็กๆ เตี้ยๆ เรี่ยดิน ไม่เห็นหรอก
แต่อย่าลืมนะว่า เราเรียนวรรณกรรมสำหรับเด็ก... เด็กๆ เขาตัวเล็ก
ระวังจะมองไม่เห็นพวกเขาล่ะ  

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

นานๆ ที จะอัพอะไรมีสาระ... แทคนี้ดองไว้นานแล้ว ออกมาปัดฝุ่น แก้ไขสักที
หวังว่าคงจะได้ประโยชน์กันนะขอรับ

เรียนจิตวิทยาแล้วทำอาชีพอะไรบ้าง

“เรียนจิตวิทยาแล้วมีอาชีพอะไรบ้าง?” คำถามนี้เป็นคำถามที่วัยรุ่นถามบ่อยมากจนคุณสังเกตได้ วันนี้เรามีผลิตภัณฑ์ใหม่มานำเสนอนั่นคือ ครีมลดความสงสัย ตราไซโคล่า!
เอาละ ไร้สาระกันพอแล้ว คุณลองมาอ่านบทความแปลชิ้นนี้กันดีกว่า….
      เมื่อคนนึกถึงนักจิตวิทยา มักจะคิดถึงนักบำบัดที่เรียนมาสูงๆนั่งอยู่ที่ออฟฟิศหรูหรา หรือคิดถึงนักวิทยาศาสตร์หัวฟูๆในมือถือเข็มอิเล็กโตรดคอยจิ้มสมองเล็กๆหนูทดลองในห้องแล็บ ซึ่งจริงๆแล้วมันก็จริง แต่เป็นเพียงส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งของสิ่งที่นักจิตวิทยาทำ
     นักจิตวิทยาสามารถเข้าไปทำงานได้ในหลากหลายสาขาอาชีพมาก ถึงแม้ว่างานหลักใหญ่ๆจะอยู่ในด้านการบำบัดและการเรียนการศึกษา และส่งที่จะบอกต่อไปนี้คือกลุ่มงานที่คุณๆสามารถเลือกไปทำงานได้หลังจากที่ได้เรียนจิตวิทยา โดยทั่วไปแล้วควรจะจบปริญญาเอกแต่ก็มีบางสายงานที่จบปริญญาโทก็เพียงพอที่จะทำงานได้แล้ว
1.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษา (Clinician)
ภาพนักจิตวิทยาคลีนิกกับแบบทดสอบชนิดหนึ่ง
     กลุ่มนี้มักจะทำงานในโรงพยาบาล ไม่ก็ตามชุมชนต่างๆ หรือไม่ก็ทำเองส่วนตัวโดยใช้เวลาทำงานของตนเองทั้งวันในการอยู่กับผู้ที่รับการบำบัด โดยทั่วไปแล้วงานกลุ่มนี้จะต้องการการศึกษาระดับปริญญาเอกในทั้งสาขาจิตวิทยาคลินิกและจิตวิทยาการปรึกษา และควรจะได้เรียนเรื่องจิตพยาธิวิทยาและวิธีการรักษาต่างๆมาอย่างดี ในสหรัฐอเมริกาจะมีกลุ่มที่ทำงานแบบนี้ประมาณ 40-45% ของนักจิตวิทยาทั้งหมด
2.กลุ่มนักการศึกษา (Educator)
นักจิตวิทยาที่ทำงานด้านการศึกษาเช่น ครูแนะแนว ให้คำปรึกษานักเรียน หรือเป็นครูสอนจิตวิทยา
     ในสหรัฐฯ นักจิตวิทยามักจะเริ่มต้นทำงานกับด้านการศึกษาอยู่ประมาณ 40%  บางคนก็สอนจิตวิทยา บางคนก็ทำงานวิจัยและให้ดูแลโครงงานวิจัยของนักเรียนนักศึกษา แนะนำการทำวิทยานิพนธ์หรือปริญญานิพนธ์ของนักศึกษา และบางคนก็ทำวิจัยกันเอง อยู่ในห้องทดลองหรือที่อื่นๆ หลายคนในกลุ่มนี้ก็เหมาเอาหมดทุกงานตามที่ได้กล่าวมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ
3.กลุ่มธุรกิจ (Business)
4.กลุ่มงานกีฬา (Sports)
นักจิตวิทยาในองค์กรธุรกิจ ทำหน้าที่อย่างเช่น วิเคราะห์ความสัมพันธ์ของคนในองค์กร ช่วยคิดแก้ปัญหาระหว่างกลุ่ม หรือทำงานในเรื่องเครื่องจักรกับคนงาน
     นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การที่ได้รับการฝึกฝน ได้รับการเทรนในแวดวงธุรกิจและการจัดการองค์กร คนกลุ่มนี้จะถูกว่าจ้างโดยองค์กรใหญ่ๆหรือบริษัทที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญด้านการยศาสตร์(Ergonomic คือ การทำให้สถานที่ทำงานและเครื่องใช้ไม้สอยให้เหมาะสมกับผู้ที่ทำงาน) งานที่ได้ทำจะขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจที่เข้าไปทำและความต้องการของบริษัทนั้นๆ แต่ก็ทำอยู่เกี่ยกวับการสัมภาษณ์งาน การจ้างคน การฝึกพนักงาน การเลื่อนขั้นพนักงาน การประเมินการสื่อสารระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่มกัน และช่วยเหลือผู้บริหารในการตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับลูกจ้างและนโยบายกฏเกณฑ์ต่างของพนักงานแม้ว่าเป็นสาขาเฉพาะที่กำลังเติบโตอยู่เรื่อยๆ แต่ทว่าในสหรัฐฯก็มีสัดส่วนแค่ 5% จากนักจิตวิทยาทั้งหมด

5.กลุ่มงานเทคโนโลยี (Technology)
นักจิตวิทยาการกีฬา
     นักจิตวิทยาบางคนก็ผสมผสานระหว่างด้านกีฬาที่ตนเองสนใจเข้ากับความรู้ทางด้านพฤติกรรมมนุษย์และแรงจูงใจต่างๆ ผู้ที่ทำงานสายอาชีพนี้มักจะทำงานเพียงกีฬาใดกีฬาหนึ่งไปหรือเจาะจงบางทีมไปเลยเพื่อศึกษาและช่วยให้ทีมพัฒนาได้ดีขึ้น เมื่อทีมอยู่ในสภาวะแรงจูงใจตก มีความกังวล ความกลัว และตอนที่มีเป้าหมายในการแข่งขัน

จิตวิทยาช่วยในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างคนและเทคโนโลยีต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์มันมีผลกระทบต่อคนอย่างไรบ้าง
     เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตเป็นกลุ่มงานใหม่ที่ตระหนักถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์จากจิตวิทยา นักจิตวิทยาจะมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เรื่องระหว่างคนกับเครื่องจักร คนกับสิ่งแวดล้อมการทำงาน คนกับเทคโนโลยี เป็นต้น หรือจะพูดอีกอย่างได้ว่า  นักจิตวิทยากลุ่มนี้จะศึกษาว่าเทคโนโลยีจะส่งผลอย่างไรกับเรา และเทคโนโลยีจะช่วยทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างไร
6.กลุ่มงานอื่นๆ (Other)
     ผู้เขียนไม่สามารถระบุได้หมดว่านักจิตวิทยาสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะว่านักจิตวิทยาสามารถทำงานได้หลากหลายมากมาย บางคนก็ทำงานส่วนตัวเป็นพาร์ทไทม์และมีสอนบ้าง บางคนก็ทำการวิจัยในช่วงปิดภาคฤดูร้อนและก็เข้าสอนในช่วงเดือนอื่นๆ บางคนก็เอาความรู้จิตวิทยาไปใช้ในการอาชีพของตนเอง  งานใดที่ใช้คนก็ควรจะคิดถึงนักจิตวิทยาเข้าไปด้วย ยังไงก็ตามสิ่งที่นักจิตวิทยาควรจะเก่งๆเอาไว้คือ ศึกษาเกี่ยวกับด้านปัญญาการรู้คิด ศึกษาอารมณ์ และศึกษาพฤติกรรมคนนี่แหละ

      จิตวิทยาจะทำอาชีพอะไร มีหลายสีให้เลือก เท่ากับอาชีพหลากหลาย    ที่ได้อ่านไปก็คืออาชีพของนักจิตวิทยาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็พอจะเป็นแนวทางที่น้องๆจะเอาไปตอบพ่อแม่ที่ถามมักจะถามว่า “จบจิตวิทยาแล้วทำอะไรเหรอลูก”
แต่…แล้วในเมืองไทยฟ้าใส ในน้ำมีปลาในนามีข้าวอย่างบ้านเราล่ะ
จิตวิทยามันทำอาชีพได้อย่างนี้จริงหรือ?
     คำตอบจากผมคือ จริง แต่บ้านเราจะเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจและกลุ่มการศึกษามากกว่า เพราะ เนื่องจากเห็นได้ว่าจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การเป็นสาขาที่มีประชาชีสนใจตบเท้าเข้าไปเรียนมากที่สุดนั่นเอง! และเมืองไทยจะพบนักจิตวิทยาที่ทำอาชีพครูอาจารย์มากที่สุดด้วย!
     แล้วนอกจากนั้นก็มีหลายอาชีพให้นำความรู้จิตวิทยาไปใช้ หลากหลายเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นนักจิตวิทยาคลีนิก (เป็นชื่อเรียกสาขาหนึ่งในจิตวิทยา) นักจิตวิทยาคลีนิกเหล่านี้ชอบสิงอยู่ตามโรงพยาบาล เฮ้ย! คนนะไม่ใช่ผี นักจิตวิทยาสังคม (เป็นอีกสาขาหนึ่งเหมือนกัน)มักจะอยู่ตามบริษัทวิจัย วิจัยโฆษณาก็มีนะ คนพวกนี้ทำงานวิจัยได้ดีเลยทีเดียวขอรับ นักจิตวิทยาการปรึกษา (เป็นชื่อสาขาหนึ่งในจิตวิทยาอีกแล้ว) คนพวกนี้จะอยู่ตามโรง’บาล ไม่ก็โรงเรียน หรืองานที่เกี่ยวกับสังคม ช่วยเหลือผู้อื่น มูลนิธิต่างๆ นักจิตวิทยาอุตสาหะ..อ้อ เขียนไปแล้วนี่นา   
     และผมคิดว่าไม่มีอาชีพใดที่ไม่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยา เพราะ จิตวิทยาสามารถเอาใช้ได้ทุกที่ที่มี”คน”อยู่ ลองมาดูตัวอย่างหลุดโลกๆกัน เช่น แม้แต่ทำงานเกี่ยวกับส้วมๆก็ใช้จิตวิทยาได้ สมมติผมได้รับตำแหน่งเป็นพนักงานประจำส้วม ผมก็คิดแล้ว ว่าจะทำยังไงให้คนที่นั่งอึอยู่มีความสุขโดยไม่เสียเซลฟ์เวลาที่ตดเสียงดัง เพื่อให้คนตดลดความเป็นตัวตนลง (ลด Identity ลง) นักจิตวิทยาอย่างผมก็เลยเอาเสียงเพลงไปเปิดกล่อมในส้วมซะเลย ทีนี้จากเสียงเงียบๆในห้องน้ำ ก็กลายเป็นดนตรีอันไพเราะโดยที่มีเสียงปู้ดป้าดเป็นจังหวะประกอบเข้ากันได้อย่างลงตัวและเนียนเหมือนไม่มีเสียงตดเกิดขึ้น!!! คราวนี้คนนั่งอึก็จะได้ปลดทุกข์ได้อย่างหมดทุกข์อย่างสมบูรณ์   
     ทีนี้สำหรับคนที่จะมาเรียนจิตวิทยา ผมคิดว่าจิตวิทยาจริงๆมันเป็นวิชาที่กว้างมาก มันเลยเอาไปใช้ได้กว้างมากเช่นเดียวกัน ดังนั้น คนที่อยากเรียนหรือกำลังเรียนจิตวิทยาอยู่ควรจะค้นหาว่าตนเองชอบจิตวิทยาสาขาอะไร แล้วมุ่งเน้นเพื่อเป็นคนเจ๋งๆ expert ทางสาขานั้นๆไปเลย จะดีมากครับ แต่วัยรุ่นส่วนใหญ่จะปราศจากกับคำว่า “รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไร” ก็จงหาตัวเองต่อไปนะขอรับ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องพูดอีกยาว ครั้งหน้าจะเอามาฝากกันนะขอรับ.    

อ้างอิง จาก Careers in Psychology เว็บ http://allpsych.com/education/careers.htm
Credit psychola.com

อาจารย์คนสวย จาก รามคำแหง !!

"พิงค์" สิริพิชญ์ สินมา ติดตราตรึงใจในบทบาทของ "อัยการ" สำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) ที่คุณพ่อ อุทัย สินมา ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมาเป็นเวลายาวนาน ทำให้เด็กหญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งใฝ่ฝันที่จะเดินตามรอยพ่อ ตั้งแต่เมื่อครั้งเรียนชั้นอนุบาลถึงม.2 ที่ ร.ร.ราชินีบน
แต่ด้วยความรักอยากเรียน ภาษาต่างประเทศ หลักสูตรอีพีโปรแกรม ที่ ร.ร.โยธินบูรณะ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญเมื่อก้าวเข้าเรียนชั้นม.3 หลักสูตรอีพีโปรแกรม
 ชีวิต "พิงค์" เปลี่ยนเมื่อคุณพ่อหอบหนังสือพิมพ์ฉบับหัวสี แจ้งข่าวดี "ขาโจ๋สามารถลงเรียนปริญญาตรี แค่มีวุฒิม.3ได้" คุณพ่อบอกนี่คือโอกาสทองของชีวิต
 "พิงค์ไม่ลังเล ลงทะเบียนเรียนหลักสูตรพรีดีกรี (Pre-Degree) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่เรียนเทอมแรกชั้นม.4 โดยเรียนควบหลักสูตรม.ปลาย เวลาเรียนที่โรงเรียนก็ตั้งใจเรียนในห้องเรียน ทำกิจกรรมไปด้วย ไม่เหนื่อย ไม่เครียด แต่แบ่งเวลาให้เป็น โชคดีที่รามฯ สอบไม่ตรงกับโรงเรียน การเรียนที่รามฯ ยังช่วยให้พิงค์ได้เรียนรู้หลายวิชาล่วงหน้า ไม่ต้องกวดวิชา แถมการเรียนที่โรงเรียนก็ได้เกรด 3.99 เมื่อจบม.6 และได้วุฒิปริญญาตรีนิติศาสตร์ รามคำแหง ด้วย" พิงค์ กล่าวด้วยรอยยิ้ม
 กว่าจะคว้าปริญญานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง "พิงค์" ยอมรับว่า ครั้งแรกที่ลงทะเบียนเรียนวิชากฎหมายมหาชนแล้วสอบตก ใจเสียโวยวายกับคุณพ่อจะไม่เรียนต่ออีกแล้ว เพราะเรียนที่โรงเรียนไม่เคยสอบตก แต่คุณพ่อสอนให้ต่อสู้ นี่คือประสบการณ์ชีวิตครั้งสำคัญทำให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และโชคดีที่คุณครูที่ ร.ร.โยธินบูรณะ คอยทบทวนบทเรียนให้ด้วย
 "เรียนที่รามฯ พิงค์สอบเอาแค่ผ่าน ตกไม่กลัว ไม่กลัวตก น้องๆ อย่าไปกลัวที่จะล้มเหลว เมื่อล้มเหลวทำให้เกิดการเรียนรู้ เมื่อเรียนรู้ต้องลุกขึ้นสู้ใหม่ แล้วจะพบชัยชนะ" พิงค์ ฝากข้อคิดถึงรุ่นน้องพรีดีกรีรามฯ  
 ด้วยวัย 18 ปี จบนิติศาสตรบัณฑิต "พิงค์" สอบเนติฯ และเรียนจบภายใน 1  ปี จากนั้นได้เขียนประวัติตัวเองส่งไปยังสถาบันการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาเพื่อ เรียนต่อปริญญโท และสามารถคว้าปริญญาโท สาขากฎหมายเปรียบเทียบ 2 ใบ จาก มหาวิทยาลัยซานดิเอโก และโรงเรียนกฎหมายแคลิฟอร์เนีย เวสเทิร์น ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยวัย 22 ปี ก่อนหอบประวัติสวยหรูมายื่นสมัครเป็นอาจารย์กับ รศ.รังสรรค์ แสงสุข อดีตอธิการบดีม.รามคำแหง ผู้ก่อตั้งหลักสูตร พีดีกรี รามฯ
 "พิงค์อยากเป็นครูมากๆ เพราะเมื่อเรามีโอกาสไปเรียนนอก มีความรู้มากมาย อยากเอาความรู้ที่มีมาจัดระบบ เผยแพร่ บอกต่อรุ่นน้อง การเป็นครูหรืออาจารย์เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด เพราะเป็นวิชาชีพที่มีแต่ให้ ซึ่งเมื่อครั้งเข้าพบอดีตอธิการบดีรังสรรค์ ท่านได้ให้ข้อคิดหลายอย่างว่า ทุกคนเป็นครูในทุกๆ เรื่อง คนเป็นครูต้องเปิดรับรู้อยู่เสมอ เหมือนแก้วน้ำที่ไม่เต็ม จะทำให้พัฒนาตัวเองอยู่เสมอและเป็นคนทันสมัย รู้เท่าทันโลกความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา" ปณิธานของ อาจารย์ใหม่ถอดด้าม
  วันนี้ของ "พิงค์" สิริพิชญ์ สินมา มีความสุขกับการทำหน้าที่ อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ แม้ลูกศิษย์ที่มาเรียนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จะอายุมากกว่า "อาจารย์พิงค์" แต่อายุไม่ใช่อุปสรรคของการเรียนรู้ เพราะที่นี่เปิดกว้าง และให้โอกาสทางการศึกษา ไม่จำกัดเพศ และอายุ
 "พิงค์" บอกว่า เด็กรุ่นน้องมีโอกาสดีกว่าพิงค์ เพราะเมื่อครั้งที่ลงทะเบียนเรียนหลักสูตรพรีดีกรี เปิดสอนไม่กี่คณะ แต่ปัจจุบันเปิดสอน 11 คณะ มี นิติศาสตร์ บริหารธุรกิจ มนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เทคโนโลยีการสื่อสารมวลชน วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
 อยากเป็นอาจารย์หรือนักกฎหมายเหมือนอาจารย์พิงค์ ยื่นสมัครด้วยระบบซูเปอร์เซอร์วิส ที่สะดวกรวดเร็ว ณ อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหง  ในภาคเรียนที่ 2/2553 เฉพาะที่ ม.ร.หัวหมาก ระหว่างวันที่ 22-25 ตุลาคม 2553 สมัครทางอินเทอร์เน็ต www.iregis.ru.ac.th ตั้งแต่บัดนี้-25ตุลาคม 2553สอบถามรายละเอียดโทร.0-2310-8614-8 www.ru.ac.th

Credit   http://www.komchadluek.net/detail/20101021/76914/