วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เตรียมรับมือกับการสอบสัมภาษณ์


น้องๆ ที่กำลังครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวๆ ร้อนๆ กับการนับวันรอคอยเข้าสอบสัมภาษณ์ อย่าเพิ่งร้อนใจไปค่ะ แทนที่จะตั้งหน้าตั้งตาหวาดหวั่นถึงวันนั้น เรามาเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมจะสู้ศึกครั้งนี้กันดีกว่า เพราะอันที่จริงแล้ว การสอบสัมภาษณ์นั้น ก็ไม่น่าจะต้องเครียดกันไปให้เหนื่อยแรงหรอกนะ เพราะว่าเราก็ได้ผ่านการสอบข้อเขียนอันหนักหน่วงมาแล้ว ถือว่าผ่านด่านอรหันต์หฤโหดมาเรียบร้อย แค่สอบสัมภาษณ์....เรื่องเล็กจ้ะ

 

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการสอบสัมภาษณ์กันก่อน อย่าลืมไปว่าการสัมภาษณ์นั้นโดยปกติแล้วไม่ได้ถูกจัดวางให้เป็นด่านชี้เป็นชี้ตายในการสอบคัดเลือก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีความสำคัญหรือว่ามีผลต่อการสอบคัดเลือกเลยทีเดียว โดยรวมแล้ว การสอบสัมภาษณ์นั้นมีขึ้นเพื่อวัด บุคลิกภาพ ทัศนคติ และศักยภาพเบื้องต้นของนักศึกษา จากสถิติการสอบสัมภาษณ์นักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยนั้น มีนักเรียนในอัตราส่วนที่น้อยมากที่ตกการสอบสัมภาษณ์ ถ้าไม่ได้เกิดเรื่องที่ร้ายรุนแรงจริงๆ แล้วนั้น กรรมการผู้สอบสัมภาษณ์ก็จะไม่ได้เข้มงวดกับจุดนี้มากมายนัก


แต่เพื่อความแน่นอน แน่ใจแล้วนั้นเราลองเตรียมคำตอบสำหรับความถามพื้นฐานไว้ในใจ เพื่อจะได้มีคำตอบที่ลงตัวและดูดีที่สุดนำไปใช้ในวันสอบจริง เพราะจะตระเตรียม ตัดตอนสักกี่ครั้งก็ย่อมทำได้ตราบเท่าที่ยังไม่ถึงวันสัมภาษณ์ คำถามยอดฮิต ก็ได้แก่ เหตุผลในการเลือกเรียนคณะนั้นๆ วิชาที่ชอบและไม่ชอบ อาชีพในฝัน ถ้าไม่ได้เรียนที่คณะนี้จะเลือกเรียนที่ไหน ถ้าระหว่างเรียนเกิดปัญหาที่มีผลต่อการจบ จะแก้ไขอย่างไร เป็นต้น แนวทางของคำตอบนั้น พยายามตอบเป็นกลางๆ คือไม่ได้ฟังดูดีมาก หรือห้วนจนเกินไป เพื่อความเป็นธรรมชาติ และไม่ดูเป็นสคริปต์มากนัก และที่สำคัญ ควรตอบคำถามทุกคำถามด้วยถ้อยคำชัดเจนและสุภาพ เพื่อแสดงความมั่นใจในตัวเองและความเคารพต่อกรรมการผู้สัมภาษณ์ 


ถ้ามีคำถามนอกเหนือจากที่เราคาดไว้ ก็ใช้เวลาอึดใจหนึ่งคิดให้ดีก่อนแล้วค่อยตอบ แต่อย่าใช้เวลานานเกินไปนัก เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าเราจนมุมกับคำถามทีได้รับ อันไหนที่เกินความรู้ที่จะตอบหรือไม่ทราบจริงๆ ก็ให้ตอบไปว่าเราก็มีความสนใจในประเด็นนั้นอยู่เช่นกัน ว่าจะค้นคว้าเพิ่มเติม เป็นการทำให้เราดูเป็นคนใฝ่รู้และเปิดใจแก้ไขข้อบกพร่องของตัวเอง และควรหลีกเลี่ยงการตอบคำถามโดยพาดพิงถึงบุคคลอื่นในทางลบ แม้เราจะนำมาใช้สนับสนุนคำตอบในแง่คิดที่ดีก็ตาม แต่การตำหนิผู้อื่นนั้น จะยิ่งเพิ่มภาพลบให้กับตัวเราเอง

การแต่งกายก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม นอกจากจะเป็นชุดนักเรียนตามระเบียบแล้ว ควรดูแลให้ชุดนั้นอยู่ในความเรียบร้อย ไม่หลุดลุ่ยหรือยับยู่ยี่ไม่น่าดู ทรงผมก็ควรจัดให้อยู่ทรงดูสะอาดตา ไม่หล่นมาปรกหน้าทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเสยผมหรือความวังกลในจุดนี้ระหว่างการสัมภาษณ์ เพราะอาการยุกยิก แคะ แกะ เกา นั้น เป็นพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะนอกจากจะทำให้เราดูเป็นคนที่มีบุคลิกไม่ดีแล้ว อาจก่อความรำคาญให้กับคู่สนทนาได้ ซึ่งในทีนี้ก็คือ กรรมการผู้สัมภาษณ์นั่นเอง 

สิ่งที่เราควรท่องไว้ในใจตลอดเวลาและควรยึดถือเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติ ไม่ให้ขาดตกเป็นอันดับหนึ่งนั้นก็คือเรื่องของมารยาท เพราะต่อให้เราตอบคำถามดีแค่ไหน หรือว่าแต่งตัวเนี้ยบเช่นไร แต่ถ้าไม่มีมารยาทหรือสัมมาคารวะแล้ว เป็นอันลบล้างความดีในข้ออื่นอย่างหมดสิ้นเลยทีเดียว นับตั้งแต่ก้าวเข้าห้องไป ควรยกมือไหว้และกล่าวคำสวัสดี ควรให้กรรมการเป็นผู้อนุญาตหรือเชิญให้เรานั่งก่อน แล้วจึงค่อยนั่ง จากนั้นก็ตอบคำถามด้วยท่าทางนอบน้อมแต่แฝงความเชื่อมั่น เพื่อไม่ให้เราดูเป็นคนขาดความมั่นใจจนเกินไป และตอบคำถามทุกคำด้วยกิริยาสุภาพและน้ำเสียงสดใส ไม่แข็งกระด้าง และพยายามควบคุมอารมณ์ให้นิ่ง อย่าตื่นเต้น หรือว่าประหม่าจนทำให้เราไม่มีสมาธิกับคำถาม 

จงบอกตัวเองก่อนก้าวเข้าห้องสัมภาษณ์ว่า “เราทำได้ เรื่องแค่นี้เอง” แล้วปล่อยใจให้สบาย ทำหน้าตาให้ยิ้มแย้ม แจ่มใส แล้วก้าวเข้าห้องด้วยความมั่นใจ ก็แหม เตรียมตัวมาดีซะขนาดนี้ ไม่มีอะไรเกินความสามารถของเราหรอก จริงไหม

ไม่มีความคิดเห็น: