วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

“แพลงกิ้ง” ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งเตือนก็ยิ่งอยาก..

สัปดาห์ที่ผ่านมาเจอน้องคนหนึ่งเอารูปที่ทำท่า “แพลงกิ้ง” ในร้านสะดวกซื้อมาให้ดูสองคน มองแล้วก็ตะลึงเล็กน้อย ถามว่าทำไมกล้าทำล่ะเนี่ย แล้วพนักงานในร้านเขาไม่งงหรือนั่น น้องคนนั้นตอบว่าเขาก็งงๆ ค่ะ แต่พอเห็นเราทำแล้วถ่ายรูปเสร็จแล้วก็ไป เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร

จากนั้น ก็พบน้องอีกคนหนึ่งทำท่าแพลงกิ้งแถวๆ ระเบียงให้ดู ดิฉันก็งงๆ ว่าทำกันตรงนี้เลยหรือ แต่น้องเขาก็สนุกสนานถ่ายรูปเสร็จก็เอาไปลงเฟซบุ๊คหน้าตาเฉย





ในขณะที่สังคมออนไลน์ก็มีสารพัดท่าแพลงกิ้งให้เห็นมากมายเกลื่อนโลกไซเบอร์

เช้าวันต่อมาก็มีข่าวจากทั้งกระทรวงวัฒนธรรม และกรมสุขภาพจิตออกมาเตือนกลุ่มคนที่เล่นแพลงกิ้งว่าให้ระมัดระวัง หวั่นเกิดอุบัติเหตุและโศกนาฏกรรม แล้วก็จริงเพราะมีหนุ่มชาวออสเตรเลียวัย 20 ปี ก็ตกลงมาจากระเบียงชั้น 7 จนเสียชีวิต เหตุเพราะเขาพยายามปีนขึ้นไปแพลงกิ้งนั่นเอง

กระแสการเล่นแพลงกิ้งเป็นแฟชั่นที่เข้ามาในไทย ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มวัยรุ่นไทย นักท่องอินเตอร์เน็ตและเฟซบุ๊คกำลังฮิตทำ Planking (แพลงกิ้ง) หรือการทำตัวให้เป็นแผ่นกระดาน ซึ่งถูกขยายความเป็นท่าแกล้งตาย เป็นท่ายอดฮิตจากต่างประเทศ ด้วยท่านอนราบคว่ำหน้า แล้วทำท่าเกร็งตัวแข็งวางแขนไว้แนบลำตัวบนพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยเฉพาะพื้นที่แปลกๆ ที่พยายามสรรหายิ่งแปลกยิ่งรู้สึกว่าเท่ห์

ในเมืองไทยฮิตกันถึงขนาดมีการตั้งกลุ่มแพลงกิ้งไทยแลนด์ขึ้นมา มีสมาชิกเกือบ 10,000 คน ซึ่งนอกจากจะนิยมในกลุ่มวัยรุ่นวัยคะนองทั้งนักเรียน นักศึกษา นักท่องเน็ตแล้ว ยังระบาดในกลุ่มศิลปินดารา นักร้อง นักแสดง ที่ต่างก็พากันโชว์และแชร์รูปแพลงกิ้งให้ชมกันอย่างมากมาย

เรียกว่าใครพยายามหาท่าที่แปลกแหวกแนวมากเท่าไรยิ่งได้รับคำชมว่าเจ๋งมากเท่านั้น

ที่ขยายความอย่างรวดเร็วนอกจากสื่ออินเตอร์เน็ต ก็ผ่านตามสื่อสารมวลชนที่มีการนำเสนอข่าวการทำท่าบนสถานที่ต่างๆ ที่ไม่คิดว่าจะกล้าทำ ออกมาโพสต์โชว์อย่างต่อเนื่อง ก็เป็นตัวกระตุ้นอีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน

อย่างกรณีเรื่องพระทำแพลงกิ้งก็กลายเป็นข่าวก็สร้างความตกอกตกใจ เพราะไม่เหมาะสม แต่ขณะเดียวกันเมื่อถูกนำเสนอเป็นข่าวเรื่องนี้ก็เลยยิ่งกระตุ้นเข้าไปอีก

เรื่องแพลงกิ้งเป็นกระแสอย่างรวดเร็ว ที่จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่เรื่องใหญ่

ที่ผ่านมาสังคมไทยก็เรียนรู้เรื่องกระแสแฟชั่นที่เกิดขึ้นในบ้านเราหลายต่อหลายครั้ง ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ถ้ายิ่งเป็นข่าว หรือมีใครออกมาเตือนหรือห้ามแล้วล่ะก็มักจะกลายเป็นยิ่งโหมกระแส และกลายเป็นยิ่งยุเข้าไปอีก

กรณีที่อยากเล่นแล้วไม่เป็นอันตราย ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนคงไม่เป็นปัญหา แต่ปัญหาที่น่ากังวลก็คือ เด็กและเยาวชนจำนวนมากที่อยากเลียนแบบ รวมไปถึงพ่อแม่นึกสนุกอยากให้ลูกทำบ้าง จึงจัดท่าทางให้ลูกเองอีกต่างหาก

ฉะนั้น อยากฝากคำเตือนสำหรับคนที่อยากจะให้เด็กแพลงกิ้ง

หนึ่ง ปล่อยให้เขาทำถ้าเขาอยากทำเอง อย่าไปบังคับเพราะเห็นแก่ความสนุกของพ่อแม่เพื่ออยากถ่ายรูปเอาไปลงเฟซบุ๊คเท่านั้น

สอง ลองถามความเห็นของเขาก่อนว่าคิดอย่างไรเมื่อเห็นท่าแพลงกิ้งต่างๆ มากมาย และอธิบายถึงที่มาที่ไปให้เด็กเข้าใจด้วยว่าเขาทำกันทำไม ทำเพื่ออะไร ทำเพื่อโชว์และแชร์ก็ต้องบอกด้วย

สาม สอนให้เล่นอย่างปลอดภัย ไม่แผลงจนเกินไป ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยและไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ที่สำคัญอย่าทำเพราะถูกยุจากเพื่อน เช่น แน่จริงไปทำตรงนั้นตรงนี้ ทั้งที่เป็นพื้นที่อันตราย เช่น บันไดสะพานลอย หรือขอบรั้ว โดยวัยที่คึกคะนองก็อาจยอมไม่ได้เมื่อมีเพื่อนท้า ฉะนั้นต้องตระหนักในเรื่องนี้ด้วย

สี่ ต้องเข้าใจพื้นฐานอารมณ์ของเด็กและวัยรุ่นด้วยว่า อย่างไรเขาก็ชอบเรื่องท้าทาย สนุกสนาน การห้ามก็เหมือนกับยิ่งยุให้เขาอยากทำมากขึ้น

แทนที่จะห้าม ซึ่งจะกลายเป็นยุ เราเปลี่ยนมาเป็นแนะนำว่าถ้ารักจะทำก็ขอให้ทำอย่างปลอดภัยและอยู่ในกรอบของความพอดีไม่สร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น จะดีกว่าไหม ?


credit: ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: