วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แนะนำ วรรณกรรมสำหรับเด็ก แบบคนมีกึ๋น โดยพี่ มศว


1.) ตอนนี้กำลังเรียนคณะอะไร สาขาอะไรอยู่?
ตอบ คณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เจ้าค่ะ (วิชาเอกนี้มีที่เดียวในประเทศไทย น่าภูมิใจมั้ยล่ะเอ้อ) ชื่อเรียกย่อๆในคณะคือ "เอกวรรณกรรมฯ"  "เอกวรรณฯ" หรือ "CL"  (Children's Literature)
สำหรับคณะนี้ ต้องเลือกวิชาเอกตั้งแต่เลือกคณะเลยนะเจ้าคะ จริงๆแล้วเอกอื่นเข้ามาแล้วย้ายเอกได้(ย้ายคณะยังได้แล้ว เอากะเขาสิ) แต่ต้องทำเกรดให้ถึงตามที่อาจารย์แต่ละเอกท่านกำหนด
แต่เอกวรรณกรรมสำหรับเด็กนั้น... ไม่มีการย้ายเข้านะคะ ต่อให้4.00มา ท่านก็ต้องไปสอบใหม่ ยื่นคะแนนใหม่ "เพื่อแสดงความตั้งใจจริง"
(อย่าขำไป เพื่อนร่วมรุ่นดอสคนนึงก็ซิ่วจากเอกภาษาจีนคณะเดียวกัน เพื่อมาสอบเข้าเอกวรรณกรรมสำหรับเด็กมาแล้ว)

2.) สาขาที่เรียน เรียนยังไง เรียนอะไรบ้าง?

ตอบ สั้นๆก็เรียนเกี่ยวกับสื่อสำหรับเด็ก (เน้นวรรณกรรมเป็นหลัก)
ตอบยาวๆ ก็เอาน้ำเอาขนมมานั่งฟังนะฮะ
เริ่มจาก
ปี1
เข้ามาปีแรก แฮปปี้ดี๊ด๊ากับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย กับวิชาเอกสามตัวรวด! (และวิชาพื้นฐานอีกพอเบื่อ)
เทอม1ท่านจะได้พบกับ

วรรณกรรมสำหรับเด็ก : เป็นวิชาพื้นฐานของเอกเราฮะ คือเรียนว่าวรรณกรรมสำหรับเด็กคืออะไร มีที่มาอย่างไร ลักษณะเป็นยังไงบ้าง แบ่งจำพวกได้แค่ไหน ฯลฯ

คติชาวบ้าน : AKA วิชาการเมืองไทยศึกษา.... เพราะนอกจากจะได้เรียนคติชาวบ้านตามชื่อวิชาแล้ว เราจะได้ถกเรื่องการเมืองปัจจุบันควบไปด้วย

ประวัติวรรณกรรมสำหรับเด็ก : วิชานี้เนื้อหาบางส่วนจะทับซ้อนกับวิชาวรรณกรรมสำหรับเด็ก แต่จะลงลึกกว่า อารมณ์เรียนประวัติศาสตร์ในมุมมองของวรรณกรรม

ที่เหลือเป็นวิชาพื้นฐานฮะ มีภาษาไทย ภาษาอังกฤษ(แบ่งsecตามคะแนนpre-test) พละ คอมพ์ อะไรก็ว่าไป แต่รับรองว่าไม่ยาก เรียนม.ปลายผ่านมาได้ก็เรียนวิชาเหล่านี้ได้ฮะ

เทอม2  (ขอพูดถึงแต่วิชาเอกล่ะเน้อ)
วรรณกรรมคลาสสิคสำหรับเด็ก : ใครชอบอ่าน ได้อ่านกันจุใจ ดอสอ่านจนเอียนตัวหนังสือไปพักใหญ่ แต่วิชานี้ไม่ได้แค่อ่านนะฮะ ต้องเรียนประวัติของวรรณกรรมชิ้นนั้นๆ และวิเคราะห์วรรณกรรมเบื้องต้นได้ด้วย (วิชาที่เรียนมาเทอม1จะถูกนำมาใช้ทันที ดังนั้นจงตั้งใจซะตั้งแต่เนิ่นๆ)

การเขียนเรื่องสำหรับเด็ก : เริ่มได้เขียนกันแล้วล่ะ (จริงๆก็เขียนกันมาตั้งแต่เทอม1 แค่วิชานี้จะเริ่มเจาะลึก "การเขียน" กันสักที)

ปี2
ปีนี้ไม่มีวิชาพื้นฐานแล้ว เข้าเอกกันอย่างมีความสุข(???)
สองเทอมรวมกัน เรียนได้ดังนี้ฮะ
ภาษาอังกฤษเฉพาะทาง : เรียนภาษาอังกฤษสำหรับการอ่านวรรณกรรม ชื่อวิชาและคำอธิบายดูไฮโซ แต่ไม่ยากอย่างที่คิดนะ

พัฒนาการของเด็ก : วิชานี้เรียนคล้ายๆหมอ แต่ฮาร์ดคอร์น้อยกว่า เรียนตั้งแต่พัฒนาการของตัวอ่อนในท้องแม่ จนถึงจิตวิทยาเด็กวัยรุ่น สนุกสนานบนความทุกข์ของตัวเอง(เวลาอ่านหนังสือสอบ)
วรรณกรรมกับสังคม : สำหรับดอส คิดว่ามันคือเอารากฐานความรู้จากวิชาคติชาวบ้าน มาต่อยอดกับการวิเคราะห์ที่ได้มาจากวิชาวรรณกรรมคลาสสิคฯ แต่คราวนี้เน้นสังคมไทยและวรรณกรรมที่ร่วมสมัยกว่า

บันเทิงคดีสำหรับเด็ก
และ สารคดีสำหรับเด็ก
 : สองวิชานี้เรียนตรงตามชื่อฮะ เน้นที่หนังสือภาพ เป็นวิชาที่เกี่ยวเนื่องกัน เพราะนอกจากจะเรียนวันเดียวกัน(เช้า-บ่าย) แล้ว ยังต้องวาดรูปเยอะอีกด้วย แต่วาดไม่เป็นไม่ต้องห่วงฮะ อาจารย์ท่านจะสอนเทคนิคการสร้างภาพประกอบแบบอื่นด้วย เช่น ภาพตัดปะ ภาพถ่าย ฯลฯ สองวิชานี้ เกรดไม่ได้วัดกันแค่ที่ความสวยงาม เนื้อหาต้องดีด้วย

วิวัฒนาการวรรณกรรมสำหรับเด็ก
 : เป็นวิชาที่ เราจะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตัวเราเอง เพราะการเรียนส่วนใหญ่จะต้องค้นคว้าข้อมูลเพื่อไปทำproject มีทั้งแบบกลุ่มและเดี่ยว เป็นวิชาที่จะได้ความรู้มากถ้าตั้งใจฟังเพื่อนpresent ด้วย (อย่าฟังแต่อาจารย์แล้วเมินเพื่อน)

วรรณกรรมร่วมสมัย : เป็นภาคต่อของวรรณกรรมคลาสสิคฯ แค่อาจจะเรียนสนุกกว่า เพราะเรื่องมันร่วมสมัยกับเรามากกว่า

บทกวีสำหรับเด็ก : ตามชื่อฮะ
*ปี2 แทบจะไม่มีวิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัยแล้ว แต่เราต้องเลือก "วิชาโท" นะฮะ

ปี3 
นิทานและการเล่านิทาน : เรียนเป็นกึ่งๆworkshop เน้นปฏิบัติจริง
หนังสือและสื่อสมัยใหม่สำหรับเด็ก หรือ วรรณกรรมศาสนา : สองตัวนี้เป็นวิชาเอกเลือก ให้เลือกเรียนตัวใดตัวหนึ่ง (ถึงฟิตอยากเรียนทั้งคู่ก็ลงควบไม่ได้ เพราะเรียนเวลาเดียวกัน)
วารสารสำหรับเด็ก : "ตัวแม่" ของปี3... มีทั้งงานเดี่ยว และงานกลุ่ม(ทั้งรุ่น) ที่ต้องตั้งกองบก. กันเอง แล้วผลิตวารสารออกจำหน่ายจริงๆ (วารสาร"กาลครั้งหนึ่ง" กำเนิดมาจากวิชานี้แล)

ต่อจากนี้เป็นวิชาของปี3เทอมปลาย และปีสี่ จะขอพูดถึงคร่าวๆแล้วกันนะฮะ (เพราะยังเรียนไม่ถึง ไม่อาจเจาะลึกได้)
ปีสามเทอมปลายจะมีวิชาวิเคราะห์วรรณกรรม วิชาการออกแบบภาพประกอบหนังสือสำหรับเด็ก และ การผลิตวรรณกรรมฯ

ส่วนปีสี่เทอมต้นหลักๆจะมีวิชาสัมมนา ที่ต้องทำวิจัยส่วนตัวแล้วจัดงานนำเสนอร่วมกันทั้งรุ่นตอนปลายเทอม
นอกจากนี้ก็มีวิชาเลือกของเอก คือ การเขียนการ์ตูน การแปล การเขียนบทละคร การสร้างเสริมนิสัยรักการอ่าน
ปีสี่เทอมปลาย มีวิชาหลักคือสารนิพนธ์ ทำงานวรรณกรรมสำหรับเด็ก1ชิ้น  และวิชาเลือกอีก

3. สาขาที่เรียนเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง?
ตอบ ได้ทั้งใช้และไม่ได้ใช้ เราอาจจะกลายเป็นนักวรรณกรรม(หรือนักเขียน)ร้อยล้าน ครูอนุบาล นักเล่านิทาน(อาชีพนี้เลี้ยงตัวได้จริงๆ มีรุ่นพี่พิสูจน์มาแล้ว) ทำงานฟรีแลนซ์ แอร์โฮสเตส นางงาม หรือแต่งงานมีลูก เอาวิชาที่เรียนไปเลี้ยงลูกให้โตมาเป็นคนมีคุณภาพของสังคม
เอกนี้เรียนอย่างเป็ด... คือรู้ทั่วไปหมด แต่อาจจะไม่ลึกนัก ขึ้นอยู่กับการขวนขวาย และความถนัดส่วนบุคคล ความรู้ที่เรียนมา ต้องนำไปต่อยอดจึงจะใช้ได้ในการทำงานจริงๆฮะ (อันที่จริง ทุกสาขาอาชีพก็เป็นอย่างนี้นะ)
ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยเราได้มากคือวิชาโทฮะ เลือกดีๆ อย่าเรียนเพราะเอาเกรด เราเข้ามหาวิทยาลัยมาหาความรู้ฮะ ไม่ได้หาเกรดA

ส่วนเรื่องเรียนแล้วเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง สุดท้ายมันก็ขึ้นอยู่กับตัวเราล่ะนะ  (ตอบเกรียนอีกแน่ะ)
 
4. บอกเคล็ดลับการเรียนในสาขานี้อย่างคนมีกึ๋นมา 1 ข้อขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน
เฮ้ย!
นั่นมันคำขวัญวันเด็ก(ปีไหนสักปี.... จำได้อยู่ปีเดียว)

เอาจริงๆขอแค่ "รัก" ในสิ่งที่เราเรียน ก็เกินพอแล้วฮะ

5.อยากบอกน้องๆ ที่จะเลือกคณะนี้ว่า??
อย่าเลือกเพราะแค่อยากเอนท์ติด อย่าเลือกแค่เพราะคุณชอบอ่านหนังสือ อย่าเลือกถ้าเห็นว่ามันเป็นแค่ทางผ่านสู่ใบปริญญา
อย่าเห็นว่ามันหางานง่าย ทำงานกับเด็ก ยังไงก็ทำได้
มันตกงานง่ายนะ.... เพราะคนทั่วไปเขาก็คิดแบบนี้ ทำงานกับเด็ก จ้างใครก็ได้ จ้างคนจบตรีทำไม แพง
อย่าเรียนหวังรวย มันไม่ค่อยรวย...
หากไม่รักจริง อย่าเลือกฮะ

อย่ามาเยอะ ขอพูดอะไรดีๆบ้างแล้วกัน

เรียนเอกนี้ เก่งไม่พอ ต้องเป็นคนดีด้วยนะฮะ
คนดีที่ว่าคือ มีความรับผิดชอบ ส่งงานสม่ำเสมอ ไม่เห็นแก่ตัว(โดยเฉพาะกับเพื่อนร่วมรุ่น) อย่าหวงวิชา เอกนี้รุ่งหรือร่วงอยู่ที่ไอเดียก็จริง แต่ถ้าไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีความสม่ำเสมอ ก็ไม่มีใครอยากทำงานด้วย (รวมถึงไม่มีอาจารย์ท่านไหนอยากรับงานที่ส่งช้า... บางวิชาหักวันละเกรดนะจ๊ะ)

เตือนอีกข้อคือ อย่าใจร้อน
เรียนเอกนี้ต้องอดทน เห็นบางคนเข้ามาแล้วบ่นว่าทำไมไม่ได้เรียนการเขียน ทำไมต้องเรียนประวัติ เรียนวิชาพื้นฐาน
ดอสเอาวิชามาลงให้เห็นเป็นปีๆ ให้เห็นว่าการเรียนมันต้องเป็นขั้นเป็นตอน คนเราไม่ได้เกิดมาเป็นอัจฉริยะกันทุกคน บางเรื่องมันต้องค่อยเป็นค่อยไป ถ้าใจร้อนอยากลองวิชา เขียนมาให้อาจารย์อ่าน ท่านก็ไม่ว่าหรอก... ไม่จำเป็นต้องเขียนเฉพาะในคาบเรียนซะหน่อย

และ ข้อสุดท้ายที่สำคัญยิ่ง จงอย่าหยิ่ง!
หยิ่งมื่อไหร่ ตาจะมองสูง อะไรเล็กๆ เตี้ยๆ เรี่ยดิน ไม่เห็นหรอก
แต่อย่าลืมนะว่า เราเรียนวรรณกรรมสำหรับเด็ก... เด็กๆ เขาตัวเล็ก
ระวังจะมองไม่เห็นพวกเขาล่ะ  

,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,,

นานๆ ที จะอัพอะไรมีสาระ... แทคนี้ดองไว้นานแล้ว ออกมาปัดฝุ่น แก้ไขสักที
หวังว่าคงจะได้ประโยชน์กันนะขอรับ

ไม่มีความคิดเห็น: