วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ชี้ 'แก็ต/แพ็ต' ตกต่ำต้องพลิกเป็นโอกาส



            "คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ" แนะ สทศ.-สพฐ.ร่วมมือพลิกวิกฤติ ผลสอบแก็ต/แพ็ตตกต่ำเป็นโอกาส ให้ สทศ.ชี้จุดอ่อนแต่ละเนื้อหา แยกเป็นเขตพื้นที่ฯ แล้ว สพฐ.ไปจัดทำแผนแก้ปัญหาให้ตรงจุด มองกรณี สทศ.แนะ สพฐ.ปรับระบบวัดผลข้อสอบอัตนัยไม่ใช่ประเด็น เพราะหากเด็กนักเรียนมีความเข้าใจในเนื้อหา ไม่ว่าข้อสอบปรนัยหรืออัตนัยก็ทำได้

            ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้ประกาศผลการทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป (แก็ต) และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (แพ็ต) ครั้งที่ 1/2555 และผลสอบ 7 วิชาสามัญที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าการสอบแก็ต/แพ็ตมีผลการสอบเฉลี่ยทุกวิชาตกต่ำเมื่อเทียบกับผลสอบดังกล่าวทุกๆ ปีที่ผ่านมา รวมถึงผลสอบวิชาแพ็ต 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ที่ตกต่ำกว่าทุกวิชา และยังมีการสอบ 7 วิชาสามัญที่จัดสอบในปีแรก ก็พบวิชาคณิตศาสตร์มีคะแนนตกต่ำกว่าทุกวิชาเช่นกัน ว่า ตนคิดว่าเรื่องผลสอบตกต่ำนี้คงต้องแก้ปัญหาร่วมกันระหว่าง สทศ. และต้นสังกัดสถานศึกษาอย่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

            คณบดีคณะครุศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า ปรากฏการณ์ผลสอบตกต่ำดังกล่าว ตนไม่อยากให้มองว่าต้นเหตุมาจากหลักสูตร ระบบการเรียนการสอนและตัวครู เพราะผลสอบต่างๆ จะดีขึ้นหรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารที่ต้องจริงจังกับการเรียนการสอนและการทำหลักสูตร ไม่ใช่สนใจแค่เรื่องการบริหารบุคลากรและงบประมาณอย่างเดียว ส่วนความคิดการปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อกระตุ้นผลการเรียนนั้น เบื้องต้นคงต้องมีการประเมินผลก่อนว่าโรงเรียนได้ปฏิบัติตามหลักสูตรมากน้อยแค่ไหน แล้วค่อยไปรื้อหลักสูตรต่อไป อย่าง ไรก็ตามกรณี สทศ.เสนอให้ สพฐ.ปรับระบบการวัดประเมินผลในห้องเรียนให้มีการวัดผลแบบอัตนัยมากขึ้นนั้นตนคิดว่าคงไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะหากเด็กนักเรียนเข้าใจเนื้อหาจริง ไม่ว่าข้อสอบแบบปรนัยหรืออัตนัยก็จะสามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ตาม วิกฤติผลสอบนี้อยากให้ สพฐ.ใช้เป็นโอกาสในการแก้ปัญหา ไม่ใช่ละเลยปล่อยให้เกิดแล้วผ่านไป

            ทั้งนี้ เบื้องต้นต้องให้ สทศ.รวบรวมและแจกแจงรายละเอียดผลสอบก่อน ทั้งดูว่ากลุ่มวิชาใดมีเนื้อหาที่มีช่วงคะแนนตกต่ำที่สุด ดูว่าเขตพื้นที่ฯ ใดอ่อนวิชาอะไรและเนื้อหาใดบ้าง จากนั้นค่อยมาจัดทำแผนพัฒนาตรงจุดอ่อนนั้น ซึ่ง สพฐ.ก็ต้องกำหนดเป็นนโยบายแก้ปัญหา เพื่อมอบต่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ไปจัดทำแผนร่วมกับโรงเรียนต่อไป

            "นอกจากนี้ยังต้องมีนโยบายจับคู่โรงเรียนพี่โรงเรียนน้องเพื่อทำความร่วมมือทางวิชาการกัน และแลกเปลี่ยนแนวทางการเรียนการสอนที่ดี อย่างไรก็ตาม หากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมมือแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง ตนก็เชื่อว่าผลการเรียนของนักเรียนก็จะดีขึ้นเอง".
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ไม่มีความคิดเห็น: