วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เตรียมพร้อมอ่านอย่างไรให้จำแม่น?


หากคุณเป็นวัยเรียนคนหนึ่งที่ประสบปัญหา “เปิดหนังสืออ่านไม่นานมักรู้สึกเคลิ้มง่วง ตาจะปิดเสียให้ได้ หรือ อ่านเท่าไหร่ก็ไม่จำ” ลองสำรวจสภาพแวดล้อม พร้อมเช็คร่างกาย และจิตใจ เพราะนั่นอาจเป็นสาเหตุสำคัญ!

สิ่งที่ควรคำนึงถึงอันดับแรกคือ “สถานที่” ควรเลือกห้องที่รับลม ปลอดโปร่ง มีแสงพอเหมาะ และไม่เป็นทางเดินผ่านของผู้คนบ่อยนัก สงบเงียบไร้สิ่งรบกวนสมาธิ รวมทั้งลักษณะของโต๊ะ และเก้าอี้เอื้อต่อการลุกยืน หรือ นั่งสะดวกสบาย รองรับอิริยาบถได้เหมาะสม จะช่วยให้ไม่เครียดง่าย และมีสมาธิขึ้น
ต่อมาคือ “เวลา” โดยก่อนเข้านอนช่วง 20.00-22.00 น. หรือ ยามเช้าตรู่หลังตื่น 05.30-07.00 น. ซึ่งผ่านการพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว ร่างกายไม่อ่อนล้า ความคิดจะนิ่งไม่ฟุ้งซ่านกับเรื่องใด เหมาะสำหรับหยิบหนังสืออ่าน และจดจำเนื้อหา
“พักสายตาเป็นระยะ” ทุก ๆ 40-50 นาที ควรผ่อนคลายด้วยการมองไกล ๆ หรือ มองต้นไม้ใบไม้สีเขียว ประมาณ 3-5 นาที หรือ อาจใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ประคบดวงตา ประมาณ 2-3 นาที จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา และทำให้เลือดหมุนเวียนมาเลี้ยงดวงตาได้ดี ทั้งยังคลายง่วง และลดการเพลียตา
ที่สำคัญควรนั่งอ่านหนังสือโดย “ตำแหน่งหนังสือควรห่างจากระยะสายตาประมาณ 30 เซนติเมตร”ไม่ควรนอนอ่าน เพราะสายตาต้องปรับระดับการโฟกัสตัวหนังสือขึ้น-ลงมากจนล้าได้ง่าย และอาจทำให้เคลิ้มหลับโดยไม่รู้ตัว
เมื่อร่างกาย และจิตใจพร้อม สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการเริ่มเปิดรับ และจดจำ ขณะเดียวกัน ต้องขยัน และมีวินัยในการทบทวนบทเรียนสม่ำเสมอด้วย เพื่อสะสมเป็นคลังความรู้ไว้หยิบออกมาใช้สอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

Credit เดลินิวส์
 

ไม่มีความคิดเห็น: