วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

แนะนำ สาขา วิศวกรรมชีวการแพทย์

  วิศวกรรมชีวการแพทย์ หรือบางที่เรียกว่า ชีวเวช (biomedical engineering) หรือ วิศวกรรมการแพทย์ (medical engineering)  เป็นสาขาวิชาที่นำเอาความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เช่น ความรู้กลศาสตร์ของไหล นำมาใช้กับการทำหัวใจเทียม หลอดเลือดเทียม , แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (mathematical modeling) ความรู้ทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ มาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เพื่อออกแบบ สร้างหรือพัฒนาซอฟต์แวร์ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน สามารถใช้งานได้จริง รวมถึงการศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อน และต้องการขั้นตอนการผลิตที่มีมาตรฐาน และ ประสิทธิภาพสูง เช่น นำมาอธิบายปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง, ความรู้ทางกลศาสตร์และคอมพิวเตอร์ใช้ในการหุ่นยนต์นำการผ่าตัด เทคโนโลยีในเครื่องมือผ่าตัด เครื่องส่องดูอวัยวะในร่างกาย อุปกรณ์จ่ายยาอัตโนมัติ ข้อต่อหรืออวัยวะเทียม เครื่องวิเคราะห์สัญญาณหัวใจหรือสมอง อุปกรณ์ตรวจสอบระบบน้ำตาลในเลือด ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์ การออกแบบสร้างอุปกรณ์พิเศษที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษา การตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ไปจนถึงการสังเคราะห์โพลิเมอร์นำส่งยาเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงการศึกษาและวิจัยอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทางการแพทย์ต่างๆ 
                   สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์เป็นสาขาวิชาที่บูรณาการศาสตร์ต่างๆ ต่อไปนี้ วิศวกรรมศาสตร์ ทั้งไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ เครื่องกล อิเล็กทรอนิกส์ นาโน วัสดุ หรือแม้แต่ความรู้ทางวิศวกรรมโยธาก็มีประโยชน์ในสาขานี้ค่ะ รวมถึงความรู้ในสาขาแพทยศาสตร์ ชีววิทยา เคมี ชีวเคมี เภสัชศาสตร์ รังสีวิทยา เทคนิคการแพทย์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และอื่นๆ เพื่อนำความรู้มาใช้พัฒนาหรือสร้างเครื่องมือ ซอฟต์แวร์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะค่ะ
                  ก็อย่างที่เรารู้กันอยู่ว่า การรักษานั้นต้องใช้เครื่องมือ ตั้งแต่ตรวจหาโรค วิเคราะห์ผล ลงมือทำการรักษา จนถึงการดูแลไม่ให้กลับมาเป็นโรคอีก เครื่องมือ เทคโนโลยีและซอฟท์แวร์ทั้งหมดนั่นแหละค่ะที่วิศวกรสาขานี้ จะเป็นผู้เกี่ยวข้อง
ตอนที่เรายังไม่มีสาขานี้ ก็ต้องใช้วิศวกรในสาขาอื่น (เช่น ไฟฟ้า เครื่องกล คอม ) ซึ่งไม่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะลงไปในเรื่องของชีววิทยาและระบบร่างกายของคน หรือมีหมอเป็นผู้ทำการวิจัยซึ่งไม่มีความสามารถในด้านวิศวกรรมเพียงพอ หรือให้นักเทคนิคการแพทย์ขยับจากผู้ใช้เครื่องมือ มาทดลองสร้างเครื่องมือซะเอง หรือต้องจ้างวิศวกรชาวต่างชาติมา แต่เราเองก็มีประสิทธิภาพมากพอที่จะพัฒนาในส่วนได้ด้วยตนเองนะคะ เทคโนโลยีของเราอาจจะยังตามเค้าอยู่มาก แต่ถ้าเราไม่เริ่มก้าวกันตั้งแต่วันนี้ แล้วเมื่อไรที่เราจะตามหรือแซงหน้าเค้าได้ละคะ
               สำหรับน้องๆคนไหนที่มีความคิดอยากช่วยเหลือหรือมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพกายและใจของผู้ป่วยทั้งหลายซึ่งก็คือเราๆทุกคน แต่ว่ายังมีความคิดสับสนเพราะไม่ชอบงานในงานบริการในลักษณะนั้นของพยาบาล หมอ นักสาธารณสุข และอื่นๆ ..  " วิศวกรรมชีวการแพทย์ " ก็คงเป็นอีกทางเลือกที่จะทำให้น้องได้มีส่วนร่วมในการช่วยหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยวิธีและความถนัดของเรานะคะ แต่ก็ต้องเน้นว่าต้องชอบวิศวกรรมและเรื่องราวทางการแพทย์จริงๆนะคะ ไม่งั้นสาขานี้จะเป็นนรกดีๆนี่เอง เพราะว่ามันก็เฉพาะทางลงไปในระดับหนึ่งแล้วค่ะ
                   ซึ่งจากที่กล่าวมาเห็นได้ว่าวิศวกรรมชีวการแพทย์เป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สุขภาพและด้านการแพทย์ เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของคนไทยและมนุษยชาติค่ะ

ตัวอย่างที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายของงานด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ อันนี้คร่าวๆเลยนะ ได้แก่
การสร้างอวัยวะเทียม (Artificial Organs) : ผิวหนังเทียม ลิ้นหัวใจเทียม
การสร้างอุปกรณ์ตรวจวัดทางชีววิทยา (Biosensors) : ที่เห็นกันทั่วๆไปก็คือ เครื่องตรวจวัดน้ำตาลในเลือดนั่นเองค่ะ ก็สามารถนำมาวัดสารอื่นๆได้อีกมากมาย
Computer integrated surgery : แขนหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ระบบนำทางการผ่าตัด
Neural network : เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จะช่วยตรวจสอบหรือทำให้การทำงานของคุณหมอสะดวกมากขึ้น อย่างเช่น การทำนายการเกิดโรคมะเร็งซ้ำโดยอาศัยจากข้อมูลการรักษา, ทำนายโรคจากอาการ
Image processing : การประมวลภาพจากเครื่องCT Scan, MRI มาประมวลให้สะดวกกับการวิเคราะห์ผล เช่น โปรแกรมตรวจหาบริเวณของการเกิดมะเร็ง จะเห็นภาพของมะเร็งเด่นชัดขึ้นมา
Signal processing : เป็นการนำสัญญาณมาประมวลผลหาความผิดปกติของคลื่นจากร่างกาย หรือ นำไปประยุกต์กับapplicationอื่นๆ เช่น การตรวจจับสัญญาณกระพริบตาในผู้ป่วยที่พิการทางด้านการเคลื่อนไหว ขยับได้ตั้งแต่คอขึ้นมา เพื่อใช้ในการเปิด-ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า, ตรวจจับสัญญาณสมองเมื่อเกิดอาการหลับระหว่างการทำงานหรือขับรถ
อุปกรณ์การแพทย์ : การพัฒนา strethoscope โดยการติดเครื่องบันทึกเสียงสามารถเก็บเสียงหัวใจผู้ป่วยในรูปแบบของไฟล์ mp3 ได้, เครื่องMonitoringผู้ป่วย วัดความดันโลหิต ชีพจร และออกซิเจนในเลือด
ระบบนำส่งยา : การพัฒนาโพลิเมอร์นำส่งยามะเร็ง(chemo)ให้เข้าสู่บริเวณเซลล์มะเร็งให้มากที่สุดโดยไม่ทำลายเซลล์ปกติอื่นๆ
ไฟฟ้า : การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าในผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต, เครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker)
เป็นต้น

                  สาขานี้เค้าเรียกกันว่า ' Engineering For Life ' ค่ะ ตอนเรียนเนี่ยเรียนพื้นฐานกันทุกวิชา ทุกสาขา แต่ว่าสุดท้ายแล้วแต่ละคนก็แยกกันไปทำโครงงานและงานวิจัยในสาขาที่ตัวเอง สนใจค่ะ ก็อย่างที่เห็นนั่นแหละค่ะว่าสามารถแยกย่อยลงลึกไปได้หลายทาง แล้วเครื่องมือแต่ละชิ้นนั้นก็ไม่ได้ใช้พัฒนากันแค่สัปดาห์ สองสัปดาห์ แต่ต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ หลายๆชิ้นก็เป็นปีๆทีเดียวค่ะ
*  ระดับปริญญาตรี
ปีการศึกษา 50 แห่งแรกเลยก็คือมีที่ มหาวิทยาลัยมหิดลที่เป็น วศ.บ.(ชีวการแพทย์) โดยตรง 
ส่วนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทราบมาว่าให้เลือกภาคตอนปีสอง
ในปีการศึกษา 51 มีที่มศว. องครักษ์แล้วค่ะ
ส่วนของเอกชน มีมหาวิทยาลัยรังสิต ชื่อภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และชีวการแพทย์
ได้ข่าวมาว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆกำลังดำเนินการเปิดกันอยู่หลายแห่งทีเดียวค่ะ ลองติดตามกันดูนะคะ

ระดับป.โทและป.เอก


ม.มหิดล ป.โท เปิดเป็นแห่งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2541 เปิดมากว่าสิบปีแล้วค่ะ เป็นหลักสูตรนานาชาติ
โดยในช่วงแรกได้รับความร่วมมือจาก Imperial College University of  London และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
หลักสูตรป.เอกเปิดรับสมัครปีนี้แล้วค่ะ 
เชียงใหม่ก็มีป.โท นานาชาติเหมือนกันคะ
จุฬาฯทั้งป.โทและป.เอกในชื่อ ชีวเวช
บางมดมีป.โทสาขาที่ใช้ชื่อว่า biological engineering   
ล่าสุดปี 52 ธรรมศาสตรเปิดแล้วค่ะ ในชื่อ Medical Engineering วิศวกรรมทางการแพทย์

         อีกทั้งยังมีที่เป็นวิทยาศาสตร์บัณฑิต ด้วยนะคะ ชื่อวิทยาศาสตร์การแพทย์ ของมหาวิทยาลัยนเรศวร และ วิทยาศาสตร์ ชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิตค่ะ ของมหาวิทยาลัยคริสเตียนก็มีนะคะ
ป.โทมีที่ จุฬาฯ ชื่อ สหสาขาวิศวกรรมชีวเวช ด้วย

* วิชาที่เรียน  ที่แน่นอนว่าจะต้องไม่ธรรมดา
เป็นวิศวะ ชีวการแพทย์ ก็ต้องเรียนวิศวะ เสริมด้วยชีวะ และเรื่องการแพทย์แน่ๆ
. . เรื่องราวของชาววิศวะเลยโดนจับโยงเข้าสู่ร่างกายตัวเอง . .
อย่างเช่น การหาความต้านทานไฟฟ้าของร่างกายมนุษย์  หาความต่างศักย์ในเซลล์ การศึกษาของไหลในเส้นเลือดของคน
ฟิสิกส์ที่หาแรงตึงเชือกกัน เราก็มาหาแรงที่กล้ามเนื้อมัดนี้มัดนั้นออกแรงในการยกของ เป็นต้น
แต่ว่าพื้นฐานก็ต้องเรียนเหมือนๆกันนะคะ เพียงแต่การประยุกต์ใช้งานจะต่างกัน
การเรียนของเรานั้นได้รับความร่วมมือจากหลายคณะของมหาวิทยาลัยมหิดลหลักๆก็จะเป็น
คณะวิทยาศาสตร์ ในเรื่องการเรียนการสอนวิชาพื้นฐาน และการทดลอง
คณะแพทยศาสตร์(ที่มหิดลมีหมอถึง 3 คณะ คือ ศิริราช รามา วชิระ และ 4 สถาบันร่วมของ พระบรมราชชนก) ในเรื่องของข้อมูลเชิงการรักษา การปรึกษาเนื่องจากหมอเป็นผู้ใช้เครื่องมือจริงในการปฏิบัติงาน และคำแนะนำเกี่ยวกับคนไข้
คณะสัตวแพทยศาสคร์ เกี่ยวกับสัตว์ทดลองที่ต้องทดสอบการใช้งานของเครื่องมือ
คณะเภสัชฯ เรื่องยาและระบบนำส่งยา
คณะเทคนิคการแพทย์ ในการร่วมมือการวิจัย
และคณะอื่นๆ อีกมากมาย
                    อย่างที่ทราบกันดีว่ามหาวิทยาลัยมหิดลเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในด้านการแพทย์มาอย่างยาวนาน มหาวิทยาลัยก็ได้ให้การสนับสนุนทางภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์เป็นอย่างดี เพื่อให้มีการพัฒนาในด้านการแพทย์ต่อไปให้ทันต่างประเทศค่ะ ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศหลายๆที่ ก็จะเปิดสาขานี้อยู่ในโรงเรียนแพทย์เลยนะคะ

ปี 1
วิชาที่เรียนรวมกันทั้งชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัย
- วิชาศึกษาทั่วไป (สังคม)
- ภาษาไทยและอังกฤษ
วิชาที่เรียนกันทั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์
- Calculus                                        แคลคูลัส
- Ordinary Differential Equation    สมการเชิงอนุพันธ์
- Physics 1 และ 2                           ฟิสิกส์
- Computer Programming               โปรแกรมภาษาซี
- Basic Engineering Practice          ปฎิบัติการหรือworkshop
- Engineering Drawing                    เขียนแบบวิศวกรรม
ปี 2
วิชาคณะวิทยาศาสตร์ที่ภาควิชาอื่นๆไม่ได้เรียนค่ะ
- Foundation of  Life     ชีววิทยา
- Organic Chemistry    เคมีอินทรีย์
- Anatomy                    กายวิภาคศาสตร์
- Physiology                 สรีรวิทยา
วิชาของชาววิศวะ และวิศวกรรมไฟฟ้า
- Engineering Maths    เลขของชาววิศวะ
- Meterials                    วัสดุวิศวกรรม
- Probability                  ความน่าจะเป็น
- Electric Circuit Analysis     การวิเคราะห์วงจรไฟฟ้า
- Introduction to Biomedical Eng.
- Biomechanics 1 และ 2        ชีวกลศาสตร์
- Computational Methods for Biomedical Eng.    วิธีคำนวณสำหรับชาวbiomed
- Electronics in Medicine       อิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์
- Biomedical Eng. Lab 1          

ปี 3 วิชาของภาคแทบทั้งหมดเลยล่ะคะ
- Biochemistry           ชีวเคมี  
- Biomedical Eng. Lab 2
- Biomedical Measurement & instrumentation      การวัดและเครื่องมือวัดทางชีวการแพทย์
- Biomedical Signals & Systems                            ระบบและสัญญาณทางชีวการแพทย์
- Biomedical Thermodynamics                               อุณหพลศาสตร์ทางชีวการแพทย์
- Control systems                                                     ระบบควบคุม
- Design for Biomedical Engineering                      การออกแบบสำหรับวิศวกรรมชีวการแพทย์
- Digital Systems & Microprocessors                     ระบบดิจิตอลและไมโครโพรเซสเซอร์
- Introduction to Biomaterials & Biocompatility      ชีววัสดุและการใช้แทนกันได้ทางชีววิทยาขั้นแนะนำ
- Philosophy, Ethics & Laws for Engineers            ปรัชญา,จรรยาบรรณและกฎหมายสำหรับวิศวกร
- วิชาเลือกเสรี
Summer ปี 3   เราจะต้องไปฝึกงานกันค่ะ
ปี4     เลือกวิชาตามสาขา แล้วก็ทำ project

                การเรียนของเราไม่เพียงแต่เข้มข้น ถึงน้ำถึงเนื้อถึงกระดูกเท่านั้นนะคะ แต่ยังมีกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และเสริมความคิดนอกห้องเรียนด้วย project หลากหลายและ การเข้า lab ของอาจารย์แต่ละท่านด้วยค่ะ
                  วิศวกรรมชีวการแพทย์เป็นสาขาที่เปิดกว้างสำหรับผู้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆที่พร้อมจะประยุกต์มาใช้งานจริงให้เกิดประโยชน์และมีคุณค่า โดยที่นักศึกษาจะสามารถเลือกสิ่งที่ตนถนัดมาใช้ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการศึกษาและทำงาน แต่ก็ต้องยอมรับนะคะว่าสาขานี้ยังใหม่มากในประเทศไทย
                  มักจะมีน้องๆถามเข้ามาเสมอเลยว่า ยากมั้ยคะ?  ขอบอกเลยนะคะว่ายากค่ะ เพราะต้องรู้หลายๆด้าน มีความรู้แค่มุมใดมุมหนึ่งก็สร้างเครื่องมือได้ไม่มีประสิทธิภาพ  ถ้าน้องๆคนไหนที่อยากจะสร้างเครื่องมือเป็นของตัวเอง หรือวิจัยการรักษาใหม่ๆแล้ว ก็ต้องทุ่มเทและให้เวลากับมันจริงๆ ถ้าใครยังไม่เทใจให้กับศาสตร์นี้เต็มร้อยล่ะก็ พี่แนะนำให้ไปเรียนวิศวกรรมสาขาอื่นที่สนใจ หรือเรียนคณะทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขก่อนก็ได้ค่ะ ลองดูว่าอะไรคือสิ่งที่ตัวเองสนใจนะคะ
        ถึงแม้ว่าจะเพิ่งเปิด แต่ได้รับความสนใจอย่างมาก และเมื่อดูจากคะแนนที่ภาคนี้มาเป็นที่ 1 ในบรรดาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล  โดยคะแนน admission เป็นดังนี้
ในปีการศึกษา 2550 อยู่ที่ประมาณ 73xx - 63xx  ( รุ่นที่ ๑ )
ในปีการศึกษา 2551 อยู่ที่ประมาณ 71xx - 66xx
ในปีการศึกษา 2553 อยู่ที่ประมาณ 81xx-66xx
ถ้าใครสนใจอยากเรียนลองอ่านและหารายละเอียดเพิ่มเติมดูนะคะ ตามเวบไซต์ของมหาวิทยาลัยต่างประเทศยังมีข้อมูลอีกมากเลยค่ะ และเรื่องสุดท้ายที่มีคนถามถึงมากอีกเช่นกัน คือ งาน

B uild
M edical
E xcellent
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
-   คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ้างอิงจาก
- เอกสารหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

www.domo409.wordpress.com อันนี้เป็นเวบที่พี่รุ่น ๑ ได้รวบรวมข้อมูล E-book บทความ และเวบไซต์เอาไว้ ลองเข้าไปอ่านดูได้นะคะ

สายงานที่รองรับ
1. เรียนต่อ
            ตอนนี้ในประเทศมีหลายที่ให้นักศึกษาสามารถศึกษาต่อได้ อย่างที่มหิดลมีหลักสูตร ป.โท และกำลังจะเปิด ป. เอก และยังมีที่อื่นๆอีกหลายที่เช่น จุฬา บางมด เชียงใหม่ ลาดกระบัง สงขลา ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าสาขานี้กำลังเริ่มเป็นที่รู้จักกัน อย่างเด็กที่จบจาก ป. โท จากสาขานี้ยังไม่ตกงานสักคน และมีบริษัทจากที่ฮ่องกงโทรมาถามว่ามีเด็กจบออกไปอีกไหม อยากได้มาทำงานที่บริษัท และถ้าจะไปเรียนต่อต่างประเทศ สาขานี้มีที่ให้น้องเรียนต่อได้มากมาย  สาขาวิชานี้เป็นที่สนใจอย่างมากในต่างประเทศทีเดียวค่ะ  ไปดูหลักสูตรในต่างประเทศ เปิดกันเยอะมากเลยค่ะ แทบจะทุกมหาวิทยาลัย 

2. ทำงาน
2.1 ทำงานบริษัทและโรงพยาบาล
                เนื่องจากความรู้ที่เราได้ศึกษาจากสาขานี้เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีได้เอง จึงแตกต่างจากการไปเรียนรู้แค่การใช้งานเครื่องมือเหมือนในสาขาอื่นๆ อย่างสาขาพวกอุปกรณ์การแพทย์ หรือเทคนิคการแพทย์นั้น นักศึกษาจะได้เรียนรู้ว่าเครื่องมือแพทย์นั้นทำงานอะไร แล้วใช้อย่างไร แต่ถ้าจบจากสาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์จะทราบถึงการทำงาน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือเหล่านั้นเพื่อให้เราสามารถพัฒนาและ ปรับปรุงเครื่องมือเหล่านั้นได้เอง กล่าวคือเราสามารถสร้างและผลิตอุปกรณ์ที่ทำงานลักษณะนั้นได้เอง โดยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ เพราะฉะนั้นงานที่รองรับนักศึกษา นอกจากจะมีบริษัทด้านการผลิตอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ บริษัทด้านยา ทั้งฝ่ายผลิต ฝ่ายพัฒนางานวิจัย(R&D) ฝ่ายขายผลิตภัณฑ์ ฝ่ายซ่อมบำรุง ฝ่ายจัดการระบบและเทคโนโลยี ที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญในการผลิต
2.2 เปิดบริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์เอง เพราะขณะนี้ตลาดด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศเป็นที่ต้องการสูงมาก เนื่องจากเราต้องนำเข้าเครื่องมือแพทย์มาซึ่งมีราคาแพง
2.3 ถ้าผู้เรียนชอบในสายวิชาการ ก็ทำงานตามศูนย์วิจัยซึ่งมีมากมายในปัจุบัน ทั้งส่วนของโรงพยาบาลและของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นmtec, nectec,biotec หรือศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์เป็นต้น

เรื่องงานก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีน้องๆถามกันมามาก พี่ก็จะขอตอบเอาไว้ตรงนี้เลยแล้วกันนะคะ
เราต้องยอมรับว่าสาขานี้เป็นสาขาที่ใหม่มากในประเทศไทย ถ้าเราจะไปหาข้อมูลตามบริษัทที่รับแล้วล่ะก็มีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลยที่จะ required วิศวกรรมชีวการแพทย์ เพราะสาขานี้ยังใหม่และไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับคนไทย ซึ่งในส่วนนี้ทางเราก็กำลังดำเนินการประชาสัมพันธ์กันอยู่ อีกทั้งบริษัทอุปกรณ์การแพทย์ที่ตั้งอยู่ในไทยส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เป็นเพียงบริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายเท่านั้น บริษัทส่วนใหญ่จึงไม่ได้จำเป็นจะต้อง required สาขานี้โดยตรง อาจจ้างวิศวกรไฟฟ้ามาแล้วนำเข้าอบรมเรื่องอุปกรณ์การแพทย์เพื่อทำงานในด้านการซ่อมแซมแทนก็ได้ และที่สำคัญคือ ในขณะนี้ยังไม่มีจำนวนคนที่จะสามารถป้อนให้กับตลาดแรงงานได้มากนักจึงไม่ต้องหวังจะเห็นชื่อสาขานี้โดยทั่วไป
แต่หากมองในมุมกลับกัน ในเมื่อตอนนี้ตลาดยังว่าง แปลว่าไม่มีคู่แข่ง ถ้าเรามีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำให้เค้ารับเราเข้าทำงานได้ เราก็ชนะได้สบายๆ เพราะทางบริษัทก็จะไม่ต้องเสียเงินไปกับการอบรมพนักงานโดยไม่จำเป็น และยังมีความเข้าใจในภาพรวมทั้งเรื่องของสุขภาพของคนและเทคโนโลยีอีกด้วย

สำหรับตลาดต่างประเทศ biomed เป็นที่ต้องการสูง ยิ่งเทคโนโลยีด้านอื่นก้าวเร็วเท่าไร biomedก็ยิ่งต้องล้ำกว่านั้น
เพราะส่งผลถึงสุขภาพ คุณภาพชีวิต และอายุขัยของประชากร
ในUSA Biomedical Engineerนั้นเคยขึ้นเป็น rank ที่ 3 ของอันดับเงินเดือนทุกสาขาของวิศวกร

ทั้งหมดนี้ก็เป็นรายละเอียดคร่าวๆ สำหรับน้องๆที่สนใจในสาขานี้ ผิดพลาดประการใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
ถ้ายังมีคำถามคาใจสงสัย หรืออยากให้อธิบายอะไรเพิ่มเติมก็ถามเข้ามาได้เลยนะคะ


Credit   http://my.dek-d.com/hwuy

ไม่มีความคิดเห็น: