วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

แฉรัฐบาลถังแตกถึงคิวกยศ.ถูกตัดงบฯกู้ยืมเรียน

รัฐบาลถังแตกตัดเงินกู้กยศ.6,700ล้าน ทำผู้กู้รายเก่านับแสนรายแห้วกู้ยืมเรียน ขณะที่ผู้กู้รายใหม่เป็นศูนย์ นักวิชาการจุฬาฯชี้การบริหารกองทุนล้มเหลวทวงเงินคืนไม่ได้ แถมลูกหนี้ก็ไร้สำนึกเบี้ยวเอาดื้อ ๆ
หลังจากสำนักงานกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) กระทรวงการคลัง ได้ตั้งกองทุน กยศ.เพื่อให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตั้งแต่ระดับ ม.ปลาย อาชีวศึกษา จนถึงอุดมศึกษา ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้กู้ยืมเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างเรียน ซึ่งนับจากการปล่อยกู้ครั้งแรกปี 2539 ถึงปัจจุบันมีการปล่อยกู้ให้นักเรียน นักศึกษามาแล้วกว่า 4.1ล้านราย ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงาน ในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 จะเป็นปีแรกที่กยศ.ถูกตัดงบฯมากที่สุด จากที่ตั้งของบฯไป จำนวน 23,500 ล้านบาท แต่ถูกปรับลดงบฯจำนวน 6,700 ล้านบาท ทำให้เหลืองบฯเพียง 16,800 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ในปีการศึกษา 2557 กองทุนไม่สามารถคงเป้าหมายผู้กู้ยืม กยศ.ทั้งรายเก่าและรายใหม่ได้ จากที่ตั้งเป้าที่จะให้กู้ยืมได้ 865,200 ราย โดยเป็นผู้รายเก่า 635,200 คน และผู้กู้รายใหม่ 230,000 คน แต่เมื่อถูกปรับลดวงเงินงบฯลงจะส่งผลให้ผู้กู้รายเก่าไม่สามารถกู้เงินได้ถึง141,671 ราย ขณะเดียวกันจะไม่มีผู้กู้รายใหม่เลย หรือ ผู้กู้รายใหม่เป็นศูนย์ราย
ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากที่ตนติดตามเรื่องโครงการเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา และได้ลงพื้นที่พูดคุยกับทางสถานศึกษา พบว่า ปีนี้รัฐบาลได้ตัดงบฯ กยศ.ออกไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า น่าจะเป็นเพราะรัฐบาลไม่มีเงินจริง ๆ หรือ เรียกง่าย ๆ ว่า ถังแตก เนื่องจากรัฐบาลนำเงินไปใช้ในโครงการประชานิยมต่าง ๆ มากมาย อย่าง โครงการจำนำข้าว ที่ตอนนี้กำลังมีปัญหาไม่มีเงินให้ชาวนาจนชาวนาต้องออกมาประท้วงและฆ่าตัวตาย และเมื่อรัฐบาลไม่มีเงินหรือเงินมีจำกัดก็มาตัดเงิน กยศ.หรือตัดเงินโครงการดูแลผู้สูงอายุไป ทั้งที่เงินเหล่านี้ไม่ควรจะถูกตัด นอกจากนี้อีกเหตุผลหนึ่งไม่ควรมองข้าม คือ การบริหารจัดการของ กยศ.ที่ล้มเหลว และมีโอกาสที่จะล้มละลายได้ เนื่องจากไม่สามารถจะท้วงหนีคืนได้อย่างที่ควรจะเป็น และเหตุผลที่สำคัญที่สุด คือ ลูกหนี้ กยศ. หรือ ผู้กู้ยืม ที่ไม่มีสำนึกความรับผิดชอบ เพราะจากที่เคยคุยกับเด็กที่กู้เงิน กยศ. ได้ฟังคำตอบถึงกับอึ้ง เพราะเด็กบอกว่า กยศ.เบี้ยวง่าย ไม่จ่ายคืนก็ได้ เพราะฉะนั้นจากนี้ไป กยศ.คงต้องมาดูเรื่องของการบริหารจัดการว่า การปล่อยกู้มีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ทำได้เพียงแค่ฟ้องร้องเด็กที่ไม่มาชำระหนี้และเรียกเด็กมาไกล่เกลี่ยเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: