วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

"มข.-มศว"ขานรับใช้โอเน็ต5วิชาทันที คัดแอดมิชชั่น"59-ลด"เครียด-วิ่งสอบ" กสพท ไม่มีปัญหา

"มข.-มศว"ขานรับใช้โอเน็ต5วิชาทันที คัดแอดมิชชั่น"59-ลด"เครียด-วิ่งสอบ" แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะปรับเกณฑ์แอดมิชชั่นกลางอย่างไร กสพท ไม่มีปัญหา  ไม่ได้ใช้คะแนนโอเน็ตในการคัดเลือก เพียงแต่ใช้เพื่อให้เด็กตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้มากที่สุด

เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ให้สัมภาษณ์กรณี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มีมติให้เริ่มลดวิชาทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) เหลือ 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทยและสังคมศึกษา ส่วน 3 กลุ่มสาระฯ ที่เหลือ ได้แก่ ศิลปะ พลศึกษาและสุขศึกษา และการงานอาชีพและเทคโนโลยี ให้โรงเรียนเป็นผู้จัดสอบ โดยเริ่มทันทีในปีการศึกษา 2558 ซึ่งจะสอบช่วงต้นปี 2559 ว่า นโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับผลการหารือในที่ประชุม ทปอ. เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทปอ.ได้พูดคุยว่าอยากให้เด็กสอบน้อยลงเพื่อลดความเครียด และให้มหาวิทยาลัยที่รับตรงมาก ยอมลดการรับตรง เด็กจะได้วิ่งรอกสอบน้อยลง ทปอ.เห็นด้วยกับการลดโอเน็ตเหลือ 5 วิชา และเห็นว่าเริ่มใช้ในการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา (แอดมิสชั่นส์) ได้ทันทีในปีการศึกษา 2559 เนื่องจากโครงสร้างค่าน้ำหนักไม่ต่างจากเดิม โดยปัจจุบันค่าน้ำหนัก 25% อยู่ที่ 5 กลุ่มสาระฯ ส่วน 3 กลุ่มสาระฯ อยู่ที่ 5% เท่านั้น เพียงแต่เปลี่ยนจาก สทศ.มาเป็นโรงเรียนเป็นผู้จัดสอบ 3 กลุ่มสาระฯดังกล่าว ทปอ.เห็นด้วยว่า 3 กลุ่มสาระฯเป็นวิชาทักษะชีวิต ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีบริบทที่ต่างกัน ดังนั้นโรงเรียนจึงควรเป็นผู้วัดผลเอง เด็กจะได้ไม่เจอคำถามแปลกๆ จาก สทศ.อีกว่าควรจะตอบอย่างไรดี ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าโรงเรียนพร้อมที่จะวัดผลวิชาทักษชีวิตเหล่านั้นอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าโรงเรียนจัดสอบเอง อาจช่วยเด็กด้วยการปล่อยคะแนน นายกิตติชัยกล่าวว่า เดิมโรงเรียนก็ปล่อยคะแนนเฉลี่ยสะสม (GPA) อยู่แล้ว ส่วน 3 กลุ่มสาระฯ เราคุยกันว่าแม้โรงเรียนจะช่วยเด็กด้วยการปล่อยคะแนนให้ 100% เต็ม ก็ไม่มีนัยที่จะส่งผลให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะ 3 กลุ่มสาระฯมีค่าน้ำหนักเพียง 5% เท่านั้น ดังนั้น มข.พร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวในปีการศึกษา 2558 โดยเชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบกับเด็ก ตรงกันข้ามเด็กจะลดความเครียดที่ไม่ต้องสอบถึง 8 กลุ่มสาระฯ

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี มศว กล่าวว่า ที่ถามว่า มศว พร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายในปีการศึกษา 2558 เลยหรือไม่นั้น เรื่องนี้ไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยใดมหาวิทยาลัยหนึ่งพร้อม แต่ต้องทำไปพร้อมกันทั้งหมด โดย ทปอ.เห็นด้วยที่จะลดวิชาสอบโอเน็ตเหลือ 5 กลุ่มสาระฯ โดยให้ค่าน้ำหนัก 25% ส่วนอีก 3 กลุ่มสาระฯ ให้ค่าน้ำหนัก 5% ซึ่งในที่ประชุม ทปอ.ที่ผ่านมามองว่าสัดส่วน 5% จาก 3 กลุ่มสาระฯน้อยมากจนไม่ส่งผลกระทบต่อการได้เปรียบเสียเปรียบ บางคนมองว่าน้อยมากจนไม่ใช้ 3 กลุ่มสาระฯเลยก็ได้ ขณะที่บางคนมองว่าอาจมีผลกระทบบ้าง เนื่องจากพ่อแม่ผู้ปกครองอาจกังวลมาตรฐานในการให้คะแนนของแต่ละโรงเรียนที่อาจไม่เป็นธรรม จึงเห็นว่าไม่ควรใช้ 3 กลุ่มสาระฯ
"มหาวิทยาลัยใช้ค่าน้ำหนัก 25% จาก 5 กลุ่มสาระฯ แต่อีก 3 กลุ่มสาระฯ ขณะนี้มีอยู่ 2 แนวทาง คือ ใช้ 3 กลุ่มสาระฯ ในสัดส่วน 5 % หรือไม่ใช้ ถ้าไม่ใช้จะไปให้ค่าน้ำหนักที่องค์ประกอบใดแทน จะเพิ่มค่าน้ำหนักที่คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรชั้น ม.ปลาย (GPAX), การวัดความถนัดทั่วไป (GAT) การวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) หรือไม่ ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบ เพราะยังไม่ได้พูดคุยกัน สำหรับกรณี ทปอ.มอบหมายให้ มศว วิจัย GAT-PAT นั้น มศว จะวิจัย 3 เรื่องคือ 1.ข้อสอบ GAT-PAT มีความเป็น Attitude Test หรือข้อสอบวัดปฏิภาณไหวพริบวัดแววหรือไม่ 2.GAT-PAT สัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในมหาวิทยาลัยหรือไม่ ถ้าไม่สัมพันธ์กัน ก็ต้องพัฒนาข้อสอบ และ 3.โอเน็ตสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการจบมหาวิทยาลัยหรือไม่ ถ้าไม่สัมพันธ์ ก็ต้องพัฒนาข้อสอบ ทั้งนี้ จะแล้วเสร็จปลายปี 2558 ซึ่งจะช่วยให้การตัดสินใจแม่นยำและลดการถกเถียงหรือการลองผิดลองถูกเพราะเป็นการหาคำตอบโดยมีงานวิจัยรองรับ

นพ.อาวุธ ศรีศุกรี เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) กล่าวว่า กสพท.ไม่มีปัญหา เพราะแม้จะลดสอบโอเน็ตเหลือ 5 กลุ่มสาระฯ ก็ยืนยันว่านักเรียนจะต้องมีคะแนนโอเน็ตขั้นต่ำ 60% ถึงจะมีสิทธิเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ของ กสพท. โดยจะใช้คะแนนที่ สทศ.จัดสอบเท่านั้น และคิดว่าการปรับครั้งนี้จะไม่เกิดผลกระทบ เพราะ กสพท.ไม่ได้ใช้คะแนนโอเน็ตในการคัดเลือก เพียงแต่ใช้เพื่อให้เด็กตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้มากที่สุด จึงใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณาเท่านั้น 

ไม่มีความคิดเห็น: