วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2558

อีกมุม 10 ปัญหา อุดมศึกษาไทย ถอยหลัง

รศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ให้ทัศนะอีกมุมปัญหาทำให้อุดมศึกษาไทยถอยหลัง
1.การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยไทย: มหาวิทยาลัยของรัฐ ถูกมติ ครม. เมื่อปี 2542 ให้ทยอยออกนอกระบบ รัฐตัดงบประมาณลง ต้องเน้นการเลี้ยงตนเองได้ ต้องเพิ่มการหารายได้ เพิ่มปริมาณทุกมิติ ภาระงานสอนเพิ่มขึ้น แต่งานวิจัยและการพัฒนาเท่าเดิม ระบบยังไม่นิ่ง ทำให้เสียเปรียบเมื่อต้องแข่งขันกับต่างชาติ จึงไม่แปลกที่อันดับโลกหรืออันดับต่างๆของมหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งร่วงลง
2.มุ่งหวังประโยชน์ส่วนตน : อุดมศึกษาไทยมีการบริหารงานที่เปลี่ยนไปจากอดีต มีการทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมน้อยลง มุ่งเน้นประโยชน์ส่วนตนมากขึ้น จิตวิญญาณและอุดมการณ์ความเป็นครูและจิตสาธารณะน้อยลง ต่างคนต่างอยู่ การแข่งขันกันเองสูง การเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น เหตุผลต่อเนื่องมาจากข้อ 1
3.มัวเมาในอำนาจบริหาร : การผูกขาดอำนาจของผู้บริหาร มีระบบสภาเกาหลังในหลายมหาวิทยาลัย การเล่นเก้าอี้ดนตรีของฝ่ายบริหารผลัดการครองอำนาจ มีระบบเกาหลังที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นผู้เลือกอธิการบดี หลังจากนั้น อธิการบดีและทีมบริหาร ก็กลับมาเลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัยอีกที เป็นปลาว่ายวนในอ่าง อธิการบดีหรือกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิบางมหาวิทยาลัย อยู่ในตำแหน่งนานถึง 5 สมัยซ้อน หรือจนลุกจากเตียงไม่ได้ ซ้ำร้าย มีการวนเวียนตำแหน่งไปที่มหาวิทยาลัยอื่นๆที่ร่วมวงเป็นพันธมิตรเกาหลังด้วย เช่น อธิการมหาวิทยาลัย A ไปเป็นกรรมการสรรหาอธิการมหาวิทยาลัย B ก็มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน เมื่อครบวาระก็ใช้กลไกเกาหลัง สลับที่แลกตำแหน่งกัน
4.คนรุ่นใหม่ถูกปิดกั้น : อาจารย์รุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนร่วมเรื่องการบริหารมหาวิทยาลัยยาก เพราะเหตุผลข้อ 3 ส่วนใหญ่ทำหน้าที่ทำงานสอน วิจัย และบริการวิชาการตามปกติ หากมีขวัญกำลังใจดี ก็พัฒนาตนเองจนเป็นศาสตราจารย์สร้างชื่อเสียงแก่หน่วยงานและประเทศชาติ หากท้อถอยก็ไหลออกไปอยู่ในองค์กรอื่นหรือภาคเอกชน
5.ผู้มีอำนาจเพิกเฉย : ผู้บริหารจากกระทรวงทบวงกรม ที่มีอำนาจตรวจสอบ ควบคุมทิศทางมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่นิ่งเฉย หรือบอกว่าตนเองไม่มีอำนาจ เพราะต่างก็จ้องจะมาเป็นประธานสภามหาวิทยาลัยเมื่อตนเองเกษียณอายุราชการ หรือระหว่างรับราชการก็เข้ามาเป็นกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ควบตำแหน่งหลายแห่ง เมื่อเกิดปัญหาการตรวจสอบทุจริตหรือการประพฤติมิชอบที่มีการร้องเรียนเข้ามาที่ตนเองก็น้ำท่วมปาก เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เกิดระบบการเกาหลัง 3 เด้ง เกรงใจ ปล่อยปะละเลย จนมีข่าวการทุจริตในหลายมหาวิทยาลัย เช่นข่าวดังที่สุดในช่วงนี้คือ การยักยอกทรัพย์ 1600 ล้านบาทของ สจล.(ลาดกระบัง)
6.งานเอกสารล้นมือ : ผู้บริหารจากกระทรวงทบวงกรมนอกจากจะไม่สามารถตรวจสอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยตามเหตุผลข้อ 5 ได้แล้ว ยังส่งงานด้านเอกสารมาเพิ่ม มีงานประกันคุณภาพ งานตรวจสอบด้านต่างๆ การเพิ่มขั้นตอนระบบราชการ ซึ่งปัจจุบันงานเอกสารของอาจารย์ผู้น้อยทั่วประเทศเกินความจำเป็น เป็นตัวฉุดรั้งงานสอนและวิจัย จนมีการเรียกร้องให้คืนเวลาส่วนนี้ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยไปมุ่งสอนวิจัยเพื่อยกระดับอุดมศึกษา
7.ระบบพนักงานมหาวิทยาลัย : กล่าวคือ ตั้งแต่มี มติ ครม. ปี 2542 ให้ทุกมหาวิทยาลัยเตรียมออกนอกระบบ และยกเลิกการบรรจุข้าราชการโดยให้จ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยด้วยระบบสัญญาจ้าง เรียกว่าพนักงานมหาวิทยาลัย โดยให้สภาแต่ละมหาวิทยาลัยมีอิสระในการบริหารงานบุคคล จึงทำให้กลุ่มอาจารย์ที่เข้ามาด้วยระบบใหม่นี้ ไม่กล้ามีปากมีเสียง เพราะอาจถูกเลิกจ้าง ไม่ต่อสัญญา ไล่ออก ซึ่งมีกรณีตัวอย่างเกิดขึ้นและปรากฏในสื่อสาธารณะบ่อย ขวัญกำลังใจน้อยลง สิทธิ์รักษาพยาบาลแบบข้าราชการไม่มี ต้องไปใช้ประกันสังคมของกระทรวงแรงงาน จนทำให้ อาจารย์หลายกลุ่มที่ทนระบบใหม่นี้ไม่ได้ ทยอยลาออกไปสมัครงาน สอบเป็นข้าราชการในกรมกองอื่น หรือลาออกไปอยู่ในภาคเอกชนแทน (สมองไหลออก)
8.แบ่งแยกชนชั้น เน้นพูดไม่เน้นทำ: ในมหาวิทยาลัยเองก็มีการแบ่งแยกระหว่าง ข้าราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานเงินรายได้ ลูกจ้าง แม้ตำแหน่งอาจารย์เหมือนกันหากสถานะต่างก็ได้รับการปฏิบัติต่างกัน เงินเดือนไม่เท่ากันในวุฒิการศึกษาเดียวกัน ที่ประชุมอธิการบดีของมหาวิทยาลัยไทยแยกเป็น 3 กลุ่ม ไม่รวมเป็นกลุ่มเดียว งบประมาณจากรัฐกระจายไปไม่ทั่วถึงและเป็นธรรม ทำให้มหาวิทยาลัยขนาดเล็กลำบากลงไปเรื่อยๆ และมีวัฒนธรรมองค์กรใหม่คือ มีแต่คนบ่น แต่ไม่มีคนลงมือทำ
9.ระบบการรับนักศึกษา : การสอบรับนักศึกษาเข้ามาเรียน มีการเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อขยายโอกาสการศึกษา มีการสอบซ้ำซ้อนหลายรอบเกินความจำเป็น สร้างภาระผู้ปกครอง และบางรายวิชาควบรวมเช่น วิชาฟิสิกส์ เคมี ชีวะวิทยา รวมเป็น 100 คะแนน เท่ากับภาษาไทย สังคม ทำให้เด็กได้คะแนนสูงและเมื่อเลือกเข้ามาเรียนผิดสาย ก็เกิดปัญหา เด็กที่เรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีผลการเรียนด้านวิทยาศาสตร์ไม่ดี
10.โลกาภิวัตน์ : มหาวิทยาลัยต้องพยายามที่จะหาวิธีการจัดการเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีงานทำและมุ่งสู่งานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อประเทศ และสามารถแข่งขันได้โดยเร็ว ทั้งนี้การศึกษาการวิจัยและพัฒนาทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ซึ่งเรายังเปลี่ยนแปลงภายในยังไม่สมบูรณ์ จึงต้องเดินตามหลังโลกแบบทิ้งห่างไปเรื่อยๆ ก็คงได้แต่หวังว่า การปฏิรูปประเทศครั้งนี้ จะนำการเปลี่ยนแปลงดีๆ มาสู่ระบบอุดมศึกษาไทย
Credit  มติชน

ไม่มีความคิดเห็น: