วันศุกร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ไม่บังคับสอบ O-NET แต่เด็กเสียสิทธิ


"ชินภัทร"ย้ำเงื่อนไข20%ถ่วงGPAจบช่วงชั้นขั้นพื้นฐาน  
     เมื่อวันที่ 24 ก.ค.55 นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่องการใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เป็นองค์ประกอบหนึ่ง ในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ทั้งระดับประถมศึกษา ม.ต้น และ ม.ปลาย โดยจะใช้ผลการเรียนของผู้เรียนที่ประเมินโดยสถานศึกษา และคะแนน O-NET ประกอบกันในสัดส่วน 80:20 ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 เป็นต้นไปนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขอทำความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครองว่า ประกาศดังกล่าวระบุชัดเจนว่า O-NET ไม่ได้เป็นเงื่อนไขของการจบช่วงชั้น แต่เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของนักเรียน ดังนั้นคะแนนเฉลี่ยสะสมรายกลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือ GPA จะต้องได้รับการถ่วงน้ำหนักจากคะแนน O-NET 
     "เราจำเป็นต้องมีการถ่วงน้ำหนัก เพื่อให้มาตรฐานในการวัดและประเมินผลในระดับชาติ มีส่วนในการปรับการให้คะแนนของทางโรงเรียนด้วย ดังนั้นหากโรงเรียนใดที่มีการวัดผลที่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานใกล้เคียงกับคะแนน O-NET มากๆ โอกาสที่นักเรียนจะได้คะแนนเฉลี่ยใกล้เคียงกับ GPA ที่ได้รับจากโรงเรียนก็จะมีสูง แต่หากโรงเรียนใดปล่อยเกรด ก็จะทำให้คะแนน GPA ของเด็กลดลง เนื่องจากโรงเรียนอาจจะให้เกรดสูงเกินไป" นายชินภัทร กล่าว
     เมื่อถามว่านักเรียนทุกคนจำเป็นต้องสอบ O-NET หรือไม่ นายชินภัทร กล่าวว่า สพฐ.ไม่ได้บังคับ แต่ถ้านักเรียนคนใดไม่สอบก็จะไม่มีค่าน้ำหนัก 20% มาถ่วงน้ำหนักคะแนน GPA และในยุคปัจจุบันเป็นยุคที่ทุกคนต้องใช้ความพยายามในการรักษาสิทธิของตนเอง อีกทั้งทุกคนก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ระบบการรับเข้าศึกษาต่อในชั้นเรียนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ม.1 ม.4 และระดับอุดมศึกษา มีเงื่อนไขที่จะใช้คะแนน O-NET พิจารณาเข้าเรียน ดังนั้นทุกคนต้องมีหน้าที่ในการรักษาสิทธิของตัวเอง 
     "ที่ผ่านมานักเรียนที่ไม่เข้าสอบ O-NET ส่วนใหญ่มีเหตุสุดวิสัย ดังนั้นในปีนี้ สพฐ.จึงเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ว่า ในเมื่อมีการกำหนดที่จะนำ O-NET ไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ทาง สทศ.จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสได้มีคะแนน O-NET โดยจะต้องเตรียมการที่จะมีการจัดสอบ O-NET รอบพิเศษ แต่จะเปิดให้เฉพาะนักเรียนที่มีเหตุสุดวิสัยเท่านั้น ซึ่งที่ประชุมได้มอบให้ สทศ.ไปพิจารณาเตรียมการแล้ว เพราะไม่อยากให้เด็กได้รับผลกระทบจากการที่ไม่มีโอกาสได้เข้าสอบในครั้งแรก" นายชินภัทร กล่าว



Credit  สยามรัฐ

ไม่มีความคิดเห็น: