วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2555

รู้จักไหม "การศึกษาตลอดชีวิต" ป.ตรี ชื่อนี้แห่งเดียวในไทย


สาขาวิชาการศึกษาตลอดชีวิต ชื่อสาขาแปล๊กแปลก ในคณะศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ต้องมีน้องๆ ชาว Dek-D ตั้งกระทู้ถามทุกปีว่าคือสาขาอะไร นี่ต้องเรียนกันไปตลอดชีวิต ไม่มีจบเลยไหมเนี่ย  วันนี้พี่เกียรติได้ไปขอข้อมูลจากรุ่นพี่ผู้เรียนจริงมาแล้ว พี่เขาก็เรียนจบแล้วนะ ไม่ได้เรียนไปตลอดชีวิตไม่จบเสียทีแต่อย่างใด ฮ่าๆๆ สาขานี้อยู่ในคณะศึกษาศาสตร์ แต่เรียน 4 ปีค่ะ


เด็กดีดอทคอม :: รู้จักไหม "การศึกษาตลอดชีวิต" ป.ตรี ชื่อนี้แห่งเดียวในไทย   
       สาขาวิชาการศึกษาตลอดชีวิต มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพที่เข้าใจถึงการเรียนรู้ของคนเราทุกคน ว่าไม่ได้จบกันเพียงในโรงเรียน หรือแค่วัยเรียนเท่านั้น แต่ทุกคนสามารถ "เรียน" กันได้ตลอดชีวิต จากทุกสถานในโลก ทุกแหล่งการเรียนรู้ ตามโอกาส ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม มีทั้งคนที่ขาดโอกาสในการเรียนได้เรียนเพิ่มพูน คนทำงานที่ต้องได้รับการอบรม นักเรียนที่ต้องออกไปเรียนรู้จากนอกห้องเรียน ฯลฯ  เรียกว่า เด็กจนชราขนาดไหน ก็ต้องเรียนรู้กันตลอดทั้งชีพนี้เลยค่ะ

          นักศึกษาในสาขานี้จึงมีความสามารถในการจัดกิจกรรมเรียนรู้ให้แก่ทุกคนที่อยากจะรู้ คนที่อยากจะอบรม คนที่ต้องการการศึกษา ในโอกาส เวลา และสถานที่ที่เหมาะสม (ถ้าเป็นคุณครูก็จัดสอนกันในโรงเรียนใช่ไหมล่ะ แต่ชนชาวการศึกษาตลอดชีวิต จะเป็นนักกิจกรรมที่จัดกิจกรรมกันได้ทุกทีเลยล่ะ) 

         ดังนั้น นักศึกษาสาขานี้ก็จะต้องจัดกิจกรรมกัน เรียนทฤษฎีแล้ว ก็ต้องไปออกพื้นที่จริงสักหน่อย! (เห็นว่าปี 3 จะลงพื้นที่มากที่สุดล่ะ) แต่น้องๆ ไม่ต้องห่วงว่าต้องไปลุยโคลนออกป่ากันตลอดนะ เขาบอกว่าจัดกิจกรรมได้ทุกที่ ดังนั้นพิพิธภัณฑ์ วัด ที่ท่องเที่ยว ที่ทำงานของหน่วยงานไหนๆ ก็ไป(อาจ)ขอไปได้ อิอิ ได้รับประสบการณ์ไม่น้อยทีเดียว


ชาวการศึกษาตลอดชีวิตจะได้เรียนเรื่องรูปแบบการศึกษา ที่มีทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย นอกจากนี้ยังได้ศึกษาการเรียนรู้แบบต่างๆ ที่จัดทั้งในชุมชน ในหน่วยงาน และหลักการจัดกิจกรรมแก่กลุ่มคนวัยต่างๆ
          
        เมื่อจบไปสามารถประกอบอาชีพ นักวิชาการศึกษา นักจัดกิจกรรม ฝ่ายอบรมในหน่วยงาน นักทรัพยากรบุคคล และอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่แม้ว่าสาขานี้จะไม่ได้เน้นให้ไปเป็นครู แต่ก็สามารถเทียบโอนประสบการณ์ใบประกอบวิชาชีพครูได้ (เพราะโดยพื้นฐานแล้วต้องเรียนวิชาของคณะศึกษาศาสตร์นั่นเอง) แต่ต้องไปหาที่ฝึกสอนเองหลังเรียนจบ อย่างน้อย 1 ปีเช่นกัน โดยส่วนมากจึงไปทำงานอื่นๆ ในแนวนักกิจกรรมหรือเรียนต่อกันมากกว่าค่ะ 

เด็กดีดอทคอม :: รู้จักไหม "การศึกษาตลอดชีวิต" ป.ตรี ชื่อนี้แห่งเดียวในไทย


รายวิชาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการศึกษา 
         "ในห้องเรียนอาจารย์ก็จะสอนว่าภูมิปัญญาคืออะไร เราจะไปศึกษาเรื่องภูมิปัญญาได้อย่างไร มีเทคนิคอะไรบ้างในการลงชุมชน เช่น วิธีพูดกับคนในชุมชน การเขียนแผนที่เดินดิน การเขียนผังชุมชน การทำปฏิทินฤดูกาล ผังเครือญาติ เป็นต้น หลังจากที่เราเรียนทฤษฎีแล้ว เราก็ต้องลงชุมชนเพื่อศึกษาเรื่องที่เราเสนออาจารย์ไว้ งานส่วนใหญ่จะเป็นวิชากลุ่มมากกว่า เพราะนักการศึกษาตลอดชีวิตมีหน้าที่อำนวยความสะดวก (facilitator) จึงต้องฝึกหลักความร่วมมือจากทุกคนในกลุ่ม บางกลุ่มก็ไปถึงลพบุรี เพชรบุรี จนเชียงใหม่ ตามแต่อยากจะไปกัน เวลาทำงานก็ใช้เวลาตั้งแต่ 3 วันจนเป็นสัปดาห์ก็มี ซึ่งก็ต้องมีการวางแผน ดูว่าจะต้องไปขอข้อมูลกับใครบ้าง จะกินอยู่ นอนหลับอย่างไร จะเดินทางอย่างไร ฯลฯ จนในที่สุดทำรายงานออกมาเป็นรูปเล่มที่สวยงาม งานในแต่ละวิชาของสาขา ก็จะมีขั้นตอนเรียนคล้ายๆ กันแบบนี้ ต่างแต่หลักทฤษฎีของวิชานั้นๆ..."

เด็กดีดอทคอม :: รู้จักไหม "การศึกษาตลอดชีวิต" ป.ตรี ชื่อนี้แห่งเดียวในไทย


      สาขาวิชาการศึกษาตลอดชีวิต: Lifelong Education เปิดสอนในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรียนที่วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ (ทับแก้ว) นครปฐม ตลอด 4 ปีค่ะ
         สาขาที่ใกล้เคียงคือ สาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พี่เกียรติว่าโดยหลักสูตรแล้ว น่าจะบอกว่าเป็นฝาแฝดกันก็ยังได้นะ อิอิ)



เป็นสาขาที่น่าสนใจใช่ไหมล่ะ 
การศึกษาตลอดชีวิต เพื่อคุณภาพชีวิตของชาวไทยทุกคน

ไม่มีความคิดเห็น: