วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

"วิศวกรรมเครื่องกล" นอกจากกินเหล้าแล้ว มันทำอะไรกันมั่ง

ตอนนี้กำลังเรียนคณะอะไร สาขาอะไรอยู่?
ตอนนี้จบแล้วครับ ผมจบวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมเครื่องกลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘ และ วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขา Advacned Manufacturing Technology เมื่อปีที่แล้วครับ
แต่รอบนี้จะพูดถึงวิศวกรรมเครื่องกลอันเป็นพื้นฐานหลักของผมก่อนครับ
----------------------------
สาขาที่เรียน เรียนยังไง เรียนอะไรบ้าง?
ผมไม่รู้หรอครับว่าที่โรงเรียนพิเศษเขาสอนให้คุณท่อง สูตรอะไรมาบ้าง แต่ที่แน่ ๆ ลืมมันไปได้เลยถ้าคิดว่าจะเรียนวิศวกรรมศาสตร์ครับ เพราะถ้าแค่จำได้แต่ไม่เข้าใจก็เตรียมตัวเข้าโลงครับ
การเรียนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ในแต่ละสาขาอาจจะแตกต่างกัน ออกไป แต่มีสิ่งที่เหมือนกัน คือการเรียนเพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปของแนวคิดทางวิศวกรรมแต่ละอย่าง เพื่อที่จะได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อไปได้อย่างถูกต้องเหมาะสมครับ
เคยมีคนมาถามผมครับว่า ทำยังไงให้ความจำดี เรียนวิศวกรรมศาสตร์ได้ ผมเผาให้ฟังตรงนี้เลยนะครับว่าความจริงแล้ว พวกวิศวกรอย่างผมไม่ค่อยคิดจะจำอะไรกันหรอกครับ เพราะเรามีข้อมูลที่ต้องหยิบมาอ้างอิงใช้เป็นเ่ล่ม ๆ ดังนั้น วิศวกรคือนักเปิดตารางหาข้อมูลตัวยงครับ
นอกจากนี้ ในการทำงานของเรา มีตัวแปรไม่ทราบค่ามากมาย ดังนั้นในหลาย ๆ ครั้งเราจะทำงานกันด้วยวิธี "ลองผิดลองถูก" และชอบการสมมติเรื่องราวให้มันง่ายต่อการคิดมากขึ้นครับ ดังนั้นเราจึงเรียกได้ว่า "นักมั่วและเดาอย่างมีหลักการ" ครับ
แต่อ้อ ในงานหลาย ๆ จุดของเราที่มีความเสี่ยงอันจะก่อให้เกิดอันตรายจนถึงแก่ชีวิตเนี่่ย เราก็ไม่กล้ามั่วกันหรอกนะ พลาดมาทีก็ได้ย้ายไปนอนซังเตแหละคุณ
วิชาที่เรียนอาจจะพูดได้ว่า
ปี ๑ เรียนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ + แคลคูลัส
ปี ๒ เรียนวิชาพื้นฐานทางวิศวกรรม + สมการพีชคณิต / เมทริกซ์ / สมการเชิงอนุพันธ์
ปี ๓ เรียนวิชาเฉพาะทางของสายตัวเอง + ระเบียบวิธีเชิงตัวเลข (สถิติอาจจะไปโผล่ที่ปีไหนก็ได้ แต่อยู่แถว ๆ ปี ๒-๓ นี่แหละ)
ปี ๔ ทำโปรเจค + เรียนวิชาเฉพาะทางชั้นสูงของสายตัวเอง
ปี ๕ - ๘ แปลว่าซิ่วหนิ
ปี ๙ คุณใช้เวลาเรียนเกินโควตา กลับไปขายเต้าหู้เถอะ
----------------------
สาขาที่เรียนเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง?
สมัยผมอยู่ ม ๖ ผมตัดสินใจแล้วครับว่าจะเรียนสาขานี้ แต่พอน้องโรงเรียนมาถามว่า "พี่  แล้วมันทำอะไรมั่งหล่ะพี่" ผมก็ตอบไปอย่างมั่นใจ "ออกแบบเครื่องจักรกลสิวะ"
พอขึ้นปี ๑ เจอน้องถามคำถามเดิมครับ แต่คำตอบนั้น ชักไม่มั่นใจ เพราะเริ่มรู้แล้วว่ามันกว้างกว่านั้น เลยตอบไปว่า "ไม่รู้หว่ะ"
สุดท้ายจบปี ๒ ถึงได้เข้าใจและตอบคำถามน้องได้ว่า "ที่ไหนมีพลังงานและการเคลื่อนไหว ที่นั่นมีพวกกู"
 ใช่แล้วครับ ความจริงแล้ว งานของวิศวกรเครื่องกลนั้นครอบจักรวาลเลยครับ ลงไปได้ตั้งแต่ก้นบึ้งของมหาสมุมร (เรือดำน้ำ) ไปจนสุดขอบจักรวาล (ยานอวกาศ) และรอบ ๆ ตัวพวกคุณก็มีงานของพวกผมนะ
 บ้านเราเนี่ย ร้อนจะตายชัก ยังไงก็ต้องมีพัดลม หรือมีแอร์กันมั่งแหละน่า
  พัดลม พวกผมเรียนกันในฐานะ Fluid Machinary หรือจักรกลของไหล (แต่ไปหนักปั๊มหรือคอมเพรสเซอร์มากกว่า) 
 แอร์ เป็นวิชาเลือกครับ แต่ผมเรียนในวิชา Refrigeration and Air Conditioning (อันนี้บังคับ) กับ Air Conditioning ครับ
  ระบบท่อน้ำในบ้าน ก็สามารถอธิบายได้ในวิชา กลศาสตร์ของไหล และบางคนอาจจะเรียนวิชา Piping มาด้วยสิ
  เอางี้ดีกว่า อะไรที่ไม่มีพลังงานและการเคลื่อนไหว ไม่ใช่สิ่งที่วิศวกรเครื่องกลจะลงไปเสือกได้ครับ
กว้างดีไหมหล่ะ (ให้รู้ซ่ะมั่ง ไม่ใช่ขี้เหล้าได้อย่างเดียว)
-----------------------
บอกเคล็ดลับการเรียนในสาขานี้อย่างคนมีกึ๋นมา 1 ข้อ
อย่างที่บอกในข้อแรก ๆ แหละครับว่า ต้องเรียนด้วยความเข้าใจมากกว่าแค่จำ
ที่สำคัญต้องรักมันด้วยครับ ถ้าคุณรักในสิ่งที่เรียน ยังไงก็สนุกแหละ เชื่อสิ
ที่สำคัญ ความสนุกของวิศวกรรมศาสตร์คือการได้ลงปฎิบัติครับ ซึ่งเราจะได้เห็นว่า ไอ้ที่เราปวดหัวเรียน ๆ กันมาเนี่ย พอเอาไปใช้จริงแล้วมันเป้นยังไงกันมั่ง 
นอกจากนี้เราอาจจะได้มีโอกาสไปพบเจอกับอะไรที่คนอื่นเขาไม่เคยเจอไม่เคยเห็นครับ
ผมเคยไปตะลุยโรงซ่อมเครื่องบินของการบินไทยมาแล้วหล่ะ ไปดูเครื่องบินที่เขาแกะออกมาเป็นชิ้น ๆ เหลือแต่โครง แค่เคยนั่งเก้าอี้ชั้น First Class เรอะ เฉย ๆ เพราะผมเอาตูดไปหย่อนลงบนเก้าอี้นักบินมาแล้ว "นุ๊ม นุ่ม"
สมัยฝึกงานที่เขื่อนศรีนครินทร์ ผมก็ลุยมาทั่วแหละ ลงไปตรวจอุปกรณ์ใต้แนวเขื่อน ปีนท่อส่งน้ำสูง ๒๕๐ เมตร เพื่อขันน็อต ที่ตัวใหญ่กว่ากำปั้นผมเสียอีก มองลงมา ตึง ๕ ชั้นมันเล็กนิดเดียวเอง "โอ๊ะ ลมเย็นจัง เหอ ๆ ๆ"
-----------------------
อยากบอกน้องๆ ที่จะเลือกคณะนี้ว่า??
ใช่ครับ วิศวกรเป็นสาขาที่ใช้การคำนวนสูงมาก แต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องคำนวนได้เก่ง ได้แม่นหมดหรอกครับ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว เราใช้เครื่องคิดเลข/คอมพิวเตอร์ช่วยการคำนวนหมดแหละครับ
คณิตศาสตร์ที่เรียน ๆ มา ใช่ครับ ยากมหากาฬ โหดหินทมิฬชาติ แต่สุดท้ายแล้ว มีตารางช่วยหมดแหละครับ
สิ่งที่สำคัญไปกว่าการคำนวนสำหรับวิศวกรคือการตีความหมายจากการคำนวนครับ
สมมติว่าค่าที่ได้มาคือ 50
50 นิวตัน กับ 50 กิโลกรัม มันคนละเรื่องกันเลยนะครับถึงแม้ว่าหน่วยของแรงกับมวลนี้จะมีความสัมพันธ์ กันก็เถอะ แต่มันยังเป็นคนละตัวอยู่ดี หรือถ้าเราไปใส่ค่าว่า 50 มิลลิเมตร แทนที่ค่า 50 เมตร ความแตกต่างของสองค่านี้มันคือพันเท่านะครับ และถ้านี่เ็ป็นการออกแบบสิ่งก่อสร้างหล่ะก็ มันเจ๊งอย่างไม่ต้องสงสัยครับ
นอกจากนี้ การคิดคำนวนอย่างมีที่มาที่ไปและมีลำดับขั้นตอนนั้น สำคัญที่สุดเลยครับ เพราะนี่คือชีวิตครับ ซึ่งการจะทำได้นั้น ต้องมีความเข้าใจในทฤษฎีที่นำมาใช้อย่างยวดยิ่งเลยครับ
นอกจากนี้ วิศวกรต้องเป็นนักประยุกต์ที่ชาญฉลาดด้วยครับ รู้จักคิดว่าจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่รู้อย่างไร หรือรู้ว่าจะใช้ความรู้ที่มีแก้ปัญหาอย่างไรครับ
โดยเนื้องานที่แท้จริงแล้ว วิศวกรเป้นนักแก้ปัญหาครับผม
------------------------------
โอกาสสำหรับวิศวกร (เพิ่มเติม)
 นี่อาจจะเรียกว่าอภิสิทธิ์พิเศษสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมอย่าง หนึ่งเลยก็ว่าได้ครับคือมีโอกาสถูกส่งไปดูงานสูงกว่าชาวบ้านครับ (แต่ไม่ทุกคนหรอกนะ แล้วแต่บริษัทด้วย แต่ทั่วไปแล้ว โอกาศสูงกว่าคนอื่นเขา)
นอกจากนี้ วิชาชีพวิศวกรรมนั้น จัดได้ว่าเป็นเสาค้ำจุนระบบเศรษฐกิจวิชาชีพหนึ่งครับ ทุกที่ที่มีการผลิต ล้วนต้องใช้งานวิศวกร และนั่นส่งผลให้่วิศวกร เป็นที่ต้องการไปทั่วโลกครับ
ถ้าคุณเป็นวิศวกรที่มีทักษะทางภาษาดี มีหลาย ๆ ประเทศที่อ้าแขนรอรับคุณครับ เช่นออสเตรเลียครับ
"Join us engineers, let's go to creat the world"



ภาพนี้ถ่ายมาจากบนหอคอยระบายความร้อนของโรงไฟฟ้ากังหันกาซ ริมแม่น้ำทอแรนซ์ เมืองแอดิเลด รัฐเซาท์ ออสเตรเลียครับ สูงจากพื้นดินประมาณ ๑๐๐ เมตร ซึ่ง ถ้าไม่ใช่วิศวกร ยากที่จะได้พบเจอภาพแบบนี้นะเอออ


edit @ 15 Sep 2009 14:41:06 by Brandy Frisky
edit @ 22 Aug 2011 00:49:41 by Brandy Frisky

ไม่มีความคิดเห็น: