วันจันทร์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2555

ชมพู่ “มิสวีลแชร์” กายไม่พร้อมแต่ใจพร้อม!!


“เฮ่อ...เสียดายจัง!” หลายคนคงคิดเหมือนๆ กันเมื่อได้เห็นเธอคนนี้ส่งยิ้มสดใส โบกมือรับตำแหน่งสาวงามพร้อมสายสะพายอย่างภาคภูมิใจ แต่ร่างกายท่อนล่างกลับขยับเขยื้อนไม่ได้ ต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าจากรถวีลแชร์ขับเคลื่อนให้สามารถเดินทางไปในที่ต่างๆ 
       แต่จากวินาทีนี้เป็นต้นไป มิสวีลแชร์ไทยแลนด์ปี 2012 คนนี้จะเปลี่ยนความคิดของคุณเสียใหม่ จะทำให้หลายๆ คนมองข้ามข้อจำกัดทั้งหมดทั้งปวงที่มี แล้วหลงเหลือไว้แค่เพียงความรู้สึกชื่นชมในความคิด ความสามารถ และจิตใจที่เข้มแข็งของเธอคนนี้ อย่างช่วงหนึ่งของบทสัมภาษณ์ที่บอกเอาไว้ด้วยน้ำเสียงเริงร่าว่า “ไม่ต้องสงสารก็ได้นะ เพราะตอนนี้หนูไม่ได้เศร้าแล้วค่ะ เข้มแข็งแล้ว ก็แค่เดินไม่ได้ ไม่เป็นไรเลย”
       


       
       “ชมพู่-ภัทราวรรณ พานิชชา” คือเจ้าของคำพูดอันทรงพลังเหล่านั้น ทุกถ้อยคำที่ออกมาจากปากของหญิงสาววัย 21 คนนี้ เห็นได้ชัดว่าช่างไม่มีจริตจะก้าน ไม่ต้องเสียเวลาประดิดประดอยให้ดูสวยหรู แต่สามารถสื่อถึงความกล้าหาญในแบบที่เธอเป็นออกมาได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะท่าทีมุ่งมั่นและแววตาเปี่ยมไปด้วยพลังของเธอ องค์ประกอบทุกอย่างที่หลอมรวมเป็นผู้หญิงคิดบวกซึ่งอยู่ตรงหน้าตอนนี้ได้ อาจเป็นเพราะเธอผ่านพ้นช่วงเวลาที่แสนยากลำบาก ช่วงเวลาที่ต้องต่อสู้กับโชคชะตาและความโศกเศร้าเสียใจที่สุดในชีวิตมาแล้ว จากอุบัติเหตุบนท้องถนนเมื่อ 4 ปีก่อนซึ่งพลิกชีวิตไปทั้งชีวิต
       
       เดินไม่ได้ ร้องไห้คืนเดียวก็พอ!
       “ตอนแรกที่ฟื้นขึ้นมา ขยับตัวไม่ได้เลยค่ะ กะพริบตาได้อย่างเดียว อาการหนักมากๆ จริงๆ ในใจตอนนั้นคิดแค่ “ขอโทษๆๆ ขอโทษที่เป็นแบบนี้ ขอโทษที่ทำให้ทุกคนเดือดร้อน” ตอนที่รถพยาบาลพาเราขึ้นไป เราสะลึมสะลือแต่พอรู้ตัว จำได้ว่าคุณอาของเราที่เป็นนางพยาบาลอยู่ในรถคันนั้นด้วย อากำลังช่วยบีบเครื่องช่วยหายใจให้เราแล้วก็ร้องไห้ไปด้วย ตอนนั้นหนูรู้สึกเสียใจมากๆ ที่ทำให้เขาเสียใจ และทำให้เห็นเลยว่าเขารักเราขนาดไหน

        
       
       ชมพู่พาเราย้อนเวลากลับไปเมื่อช่วงวัย 16 ย่าง 17 ปีของตัวเอง ขณะนั้นเป็นช่วงปิดเทอม แต่หญิงสาววัยแรกแย้มอย่างเธอและเพื่อนๆ ยังคงมีชีวิตผูกพันอยู่บนเส้นทางระหว่างบ้านและโรงเรียน จึงขับรถมอเตอร์ไซค์กลับจากทำกิจกรรมตามปกติ “ซ้อนกันมา 3 คน หนูนั่งอยู่ข้างหลังสุด แล้วสิบล้อก็มาชนท้าย” น้ำเสียงของคนเล่าดูราบเรียบ คล้ายกับเรื่องราวดังกล่าวเป็นเพียงอดีตที่ผ่านมานานมากแล้ว หรืออาจเป็นเพราะเธอเก็บความเศร้าเสียใจไว้ในส่วนลึกของจิตใจ ลึก...จนยากที่จะมีสิ่งใดมากระทบกระเทือนให้เสียน้ำตาได้อีกแล้ว
         
       
       อุบัติเหตุครานั้น มีเด็กสาวม.4 ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด 3 คน คนขับซึ่งนั่งด้านหน้าสุด ได้แผลถลอกปอกเปิกกลับบ้านไป คนที่สองกระดูกขาหัก ส่วนคนสุดท้ายอาการหนักสุด เพราะรับแรงกระแทกจากรถคันใหญ่ไปเต็มๆ ทำให้ทุกวันนี้ร่างกายตั้งแต่สะโพกลงไปไร้ความรู้สึกและขยับเขยื้อนไม่ได้ ทำได้เพียงกระดิกขาด้านขวาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลายคนที่ต้องเผชิญชะตากรรมพลิกผันแบบนี้ ร้อยทั้งร้อยคงคิดว่า “ตายเสียยังดีกว่า” แต่หญิงสาวตัวเล็กๆ คนนี้ กลับไม่เคยคิดเช่นนั้นเลย

         
       
       “ตอนนั้นอาการหนักมากจริงๆ ตัวทั้งตัวขยับไม่ได้เลย ผงกหัวได้อย่างเดียว คิดแค่ว่ารอดมาได้ก็บุญแล้ว เพราะตอนแรกๆ แค่นั่งยังทำไม่ได้ด้วยซ้ำค่ะ คุณหมอบอกว่าต้องลองทำกายภาพดูก่อนประมาณ 6 เดือน แล้วจะให้คำตอบได้ว่าจะเดินได้ไหม เราก็ลองทำทุกอย่างให้เส้นประสาทมันฟื้นตัว ระหว่างทำกายภาพไป ก็คิดแค่ว่าต้องกายภาพให้รีบนั่งให้ได้ ให้ยืนให้ได้ ทำตามสเต็ปไปทีละนิด เราเองก็ยังมีหวังอยู่ว่าจะเดินได้ แต่พออยู่กับขาที่เดินไม่ได้หลายๆ เดือนเข้า มันก็เริ่มชิน 

         
       
       แต่พอวันหนึ่ง หมอเดินมาบอกว่าเราจะเดินไม่ได้แล้วนะ เราก็เสียใจมากเหมือนกันค่ะ คิดดูว่าจากเป็นคนที่เดินได้ปกติ แล้วต้องมาเดินไม่ได้ (ยิ้มบางๆ) ร้องไห้หนักมากเลยวันนั้น แต่ว่าร้องอยู่คืนเดียวนะคะ หลังจากนั้นก็ไม่ร้องแล้ว ร้องแล้วมันเหนื่อย แล้วก็ไม่รู้ว่าร้องไปแล้วมันจะได้อะไรขึ้นมา ร้องไห้ไปก็เดินไม่ได้เหมือนเดิม ก็เลยหยุดร้อง แล้วก็คิดว่าเดินไม่ได้ก็ไม่เป็นไร” น้ำเสียงของชมพู่ไม่มีความรู้สึกตัดพ้อต่อว่าเจือปนอยู่เลย ตรงกันข้าม กลับแฝงไปด้วยแววตาเข้าใจโลกอย่างเปี่ยมล้น
         
       
       “ตลอดเวลาที่นอนอยู่โรงพยาบาล ไม่เคยคิดอยากฆ่าตัวตายเลยค่ะ เพราะว่ารักตัวเอง (หัวเราะ) ครอบครัวเราเองก็ดูแลเราเป็นอย่างดีมาตลอด ทั้งคุณยาย ย่า อา น้า ทุกคนที่ช่วยกันเลี้ยงหนูมา ทุกคนมาดูแลหนูหมดเลย ก็เลยไม่ได้คิดว่าเราลำบากตรงไหน ออกจะสบายด้วยซ้ำ (ยิ้ม) 
       ชีวิตนี้มันอาจจะเป็นชีวิตของเราก็จริง แต่มันก็ไม่ได้มีแค่เราคนเดียวค่ะ ยังมีครอบครัวเรา ยังมีพ่อแม่พี่น้องอีกตั้งเยอะที่รักเรา ทำไมเราต้องคิดว่าเราตายไปเสียยังดีกว่าด้วยเราน่าจะมองว่าคนอื่นเขารักชีวิตเราขนาดไหน เขาพาเราไปส่งโรงพยาบาล เขาทำทุกอย่างเพื่อให้เรากลับคืนมา ถึงเราจะเป็นแบบไหน ครอบครัวเราก็ยังรักเราค่ะ แล้วทำไมเราจะต้องคิดไม่ดีด้วย ตอนนั้นคิดแค่ว่า เราอยู่เพื่อคนที่เขารักเราดีกว่า” ว่าแล้วเธอก็กะพริบตาไล่ความรู้สึกที่รื้นขึ้นมาให้หายไป
       
       


       เลิกถามว่า “ทำไม?”

       “ครอบครัวเป็นกำลังใจสำคัญจริงๆ ค่ะ...สำคัญที่สุดเลย” ชมพู่อธิบายเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้เธอผ่านพ้นทุกอุปสรรคและมีกำลังใจมาได้จนถึงทุกวันนี้ด้วยปลายเสียงสั่นนิดๆ และด้วยพลังใจอันแสนอบอุ่นนี้เองที่ช่วยให้เธอหลุดพ้นจากความสับสน และเลิกถามตัวเองด้วยคำว่า “ทำไม?” เสียที
        
       
       คิดว่าทำไมเราถึงเกิดมาโชคร้ายจัง เราอุตส่าห์เป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน ไม่เคยทำอะไรที่ไม่ดีเลย ทำไมต้องเป็นเรา ทำไมต้องเกิดขึ้นกับเรา ก็รู้สึกน้อยใจกับโชคชะตาเหมือนกันว่าชาติก่อนเราไปทำบาปอะไรไว้นะ มีแต่คำว่า “ทำไมๆๆ” อยู่ในหัวเต็มไปหมด แต่พอคิดได้ว่าจะเอาเวลามาคิดว่าทำไมไปเพื่ออะไร ยังไงมันก็ไม่มีวันมีเหตุผลดีๆ ตอบเราได้หรอก ก็เลยบอกตัวเองว่าเราอาจจะเคยทำกรรมไว้ในอดีตชาติก็เลยต้องมาชดเชยในชาตินี้ก็ได้” 

         
       
       ที่คิดได้แบบนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณอาของชมพู่ ซึ่งเป็นนางพยาบาลประจำโรงพยาบาลขอนแก่นเป็นคนเฝ้าไข้เธอ ท่านเป็นคนธรรมะธัมโม จะคอยเอาหนังสือธรรมะมาให้อ่านเป็นประจำ จนวันหนึ่งชมพู่ก็เห็นแสงสว่างของชีวิต ถึงแม้จะยังโกรธคนขับรถสิบล้อคันนั้นอยู่บ้าง แต่ตอนนี้ เธอปล่อยวางได้ทุกอย่างแล้ว
         
       
       “จริงๆ แล้วตอนนั้นหนูก็โกรธนะคะที่คนขับรถสิบล้อเขาให้การว่าพวกหนูขับตัดหน้าเขา เพราะมันไม่ใช่ความจริงเลย เขาบอกว่ารถเขาน้ำมันเบรกไม่ดี แล้วเราไปขับตัดหน้าเขาพอดี ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเราขับไม่ถึง 40 ด้วยซ้ำ ขับมาช้าๆ ตามทาง เพียงแต่ว่าไม่ได้ขับชิดเลนซ้ายสุด เพราะตรงไหล่ทางมีรถจอดอยู่ แล้วมันเป็นถนนเล็กๆ เป็นทางระหว่างบ้านไปโรงเรียน ก็เลยมีที่อยู่แค่นั้น แล้วรถสิบล้อก็มาชนท้าย เราไม่ได้ทำอะไรผิดเลยจริงๆ” ปลายเสียงของเธอเบาลงอย่างเห็นได้ชัด

         
       
       เราได้ค่าเสียหายหกแสนจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างของรถสิบล้อคันนั้น เพราะเราไม่ได้ฟ้องร้องค่ะ ตอนนั้นหนูป่วยอยู่โรงพยาบาล ญาติๆ ทุกคนไปเฝ้า ไม่มีเวลาไปขึ้นศาล อีกอย่าง คุณอาเขาค่อนข้างเป็นคนธรรมะธัมโมด้วย บอกว่าไม่ต้องไปเอาเรื่องเขาหรอก ให้อโหสิกรรมไป หนูก็เลยโอเค พยายามคิดว่าโกรธไปมันก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมา แล้วก็อ่านหนังสือธรรมะบ่อยมากช่วงนั้น ก็เลยไม่รู้สึกโกรธอะไรแล้วค่ะ ส่วนเพื่อนเราเอง เราไม่โกรธอยู่แล้ว เพราะเราไปด้วยกัน คงไม่มีใครอยากให้เป็นแบบนี้ เพื่อนก็คงไม่อยากให้รถชนเหมือนกัน”
         
       
       แต่ไม่ว่าจะคงความโกรธเอาไว้ในใจหรือไม่ ชีวิตหลังประสบอุบัติเหตุของชมพู่ก็ต้องเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับอยู่ดี เธอต้องนั่งวีลแชร์ไปตลอดชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไข และแน่นอนว่ามันคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของคนคนหนึ่งเลยทีเดียว

         
       
       ถ้าเป็นเมื่อก่อน อยากทำอะไร เราก็ทำเองได้ ไม่ต้องขอให้ใครช่วย แต่พอมาเป็นแบบนี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดเลย โชคดีที่ก่อนออกจากโรงพยาบาล เราฝึกตัวเองมาระดับหนึ่งแล้ว ช่วยเหลือตัวเองได้ทุกอย่างแล้ว รู้ว่าต้องเข้าห้องน้ำยังไง ที่บ้านก็ทุบห้องน้ำสร้างใหม่หมด ทำทางลาดรองรับ เราก็เลยปรับตัวได้ค่ะ 
       แต่ก็จะมีบ้างที่รำคาญตัวเองว่า โอ๊ย! ทำไมเดินไม่ได้ เดินได้สักทีๆ (เอามือเขย่าขาตัวเอง) ทำไมทำอะไรก็ช้าไปหมด แล้วยิ่งแต่ก่อนเป็นคนใจร้อนมากๆ ด้วย แต่พอมาเป็นแบบนี้ เราก็ต้องพยายามใจเย็นลง เพราะเราต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ก็ต้องทำตัวให้มันน่ารัก น่าช่วยเหลือ จริงไหมคะ” เธอหันมายิ้มพร้อมมอบคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบจากคู่สนทนา “แต่หลังๆ ก็ชินแล้วค่ะ อย่างแบบนี้ก็ชินแล้ว (หัวเราะ)”

         
       “แบบนี้” ที่ชมพู่พูด หมายถึงสถานการณ์ในวันนี้ วันรับพระราชทานปริญญาบัตรของรุ่นพี่ร่วมคณะและสถาบันเดียวกับเธอ ถึงแม้ว่าเธอจะต้องอยู่ในห้องประชุมเล็กๆ ที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน อัดแน่นกันเป็นปลากระป๋องเพื่อรอให้บัณฑิตรับพระราชทานปริญญาบัตรเสร็จสิ้น จึงออกมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกร่วมกันตามประสาเพื่อนฝูง แต่ก็ไม่ทำให้รอยยิ้มบนใบหน้าของหญิงสาวคนนี้เจือจางลงไปเลย
       


 
      ชีวิตแค่โดนทำร้าย!!
       ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดกับร่างกายของเธอเท่านั้น แต่ยังส่งผลมาถึงจิตใจด้วย โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องเข็นรถไปตามท้องถนน ใช้ล้อเทียมขาแทรกไปตามสถานที่ต่างๆ ทันทีที่สายตาหลายต่อหลายคู่ปะทะเข้ากับม่านตาของเธอ ชมพู่ก็รู้สึกได้ทันทีว่ามันไม่เหมือนเดิม และไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป อยู่ที่ว่าจะยิ้มรับเรื่องราวต่างๆ ได้มากน้อยแค่ไหนต่อจากนี้ เท่านั้นเอง
        
       
       ช่วงแรกๆ ที่นั่งวีลแชร์แล้วถูกคนมอง ก็รู้สึกเหมือนกันว่าทำไมต้องมอง แต่คิดไปคิดมา เราก็แปลกว่าคนอื่นจริงๆ น่ะแหละ (ยิ้มขำๆ) ถ้าถามหนู จริงๆ แล้วหนูก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่เวลาถูกมองนะ แต่ก็เข้าใจค่ะ เพราะถ้าเป็นแต่ก่อน ตอนยังเดินได้ปกติ ถ้ามีคนนั่งวีลแชร์มาแบบนี้ เราก็คงมองเหมือนกัน ก็ยังดีค่ะที่ส่วนใหญ่มองแล้วยิ้มให้ แต่ก็จะมีเหมือนกันคนที่มองเราหัวจรดเท้าแล้วก็ทำปากบิด้วย (หัวเราะ) ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน คือเขาอาจจะทำไปโดยไม่รู้ตัว แต่มันก็แอบทำให้เรารู้สึกแย่นะ ก็จะมีคำถามในใจว่า “ทำไมอ่ะ” (ยิ้ม) แต่สุดท้ายก็ปล่อยไปค่ะ ช่างเขา
         
       
       เราต้องเข้าใจว่าคนเราถูกเลี้ยงดูมาแตกต่างกันอยู่แล้ว เพราะงั้น ไม่ต้องไปสนใจคนอื่นที่เขามองเราไปในทางไม่ดีจะดีกว่าค่ะ อาจจะคิดไปว่าเขาคงไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้ หรือความเป็นเรามันอาจจะแปลกสำหรับเขา แต่เรื่องดีๆ ก็มีเยอะเหมือนกันนะ คนที่เห็นเราแล้วยิ้มให้ก็มี ส่วนเรื่องอะไรที่มันไม่ดี เราก็อย่าไปเก็บมาใส่ใจ เพราะถ้าเราเก็บทุกสายตาที่มองมาคิด เราก็คงจะไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต ทุกวันนี้ ถึงจะถูกมองแบบไหน ก็แล้วไง (ยิ้มกว้าง) เราก็แค่ไม่สนใจ แค่นั้นจบ”
         
       
       สายตาอีกหนึ่งคู่ใหญ่ๆ ที่ถูกมองแล้วเจ็บปวดไม่แพ้กันคือ “มุมมองของสังคม” ที่ชอบเหมารวมว่าคนพิการน่าเห็นใจ น่าสงสาร หนักหน่อยก็บอกว่าน่าสมเพช คนที่เคยมีความคิดเหล่านี้หมุนวนอยู่ในหัวหรือยังคงมีอยู่จึงควรเปลี่ยนทัศนคติแคบๆ ของตัวเองใหม่ได้แล้ว
         
       
       ชีวิตนี้ มันคงไม่มีใครอยากถูกมองด้วยสายตาสงสารหรอกค่ะ (ยิ้มปลงๆ) แต่ว่าด้วยภาพลักษณ์ของเราอาจจะทำให้คนอื่นรู้สึกเห็นอกเห็นใจได้ง่าย ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะให้มองคนพิการด้วยสายตาแบบใหม่บ้างเหมือนกันนะ ไม่จำเป็นต้องสงสารเราก็ได้ แต่อยากให้เข้าใจมากกว่า ถ้าจะช่วยเหลือ ก็อยากให้ช่วยเหลืออย่างเข้าใจ” 

        
       
       หรือแม้แต่คำพูดบางคำที่คนทั่วๆ ไปคิดว่าเป็นประโยคแสดงความเห็นใจ หวังดี และต้องการปลอบโยน แต่หากพูดออกมาโดยไม่เข้าใจความรู้สึกของคนพิการจริงๆ บางครั้งเจตนาดีๆ เหล่านั้นก็อาจกลายเป็นน้ำผึ้งอาบยาพิษได้เช่นเดียวกัน อย่างที่ชมพู่พบเจอมาตลอดทั้งที่ไม่เคยอยากได้ยินมันเลย
         
       
       “ที่เจอบ่อยๆ คือคนที่ชอบพูดกับเราว่า “โอ๊ย!...น่าเสียดายจัง น่าสงสารจังเลยเนอะ” เราก็...(ย่นคิ้ว) เอ!...ไม่ต้องสงสารก็ได้นะ บางคนก็จะบอกว่า “อย่าเศร้านะ สู้ๆ นะ” หนูอยากจะบอกว่าหนูไม่ได้เศร้าแล้วค่ะ เพราะตอนนี้เราเข้มแข็งแล้ว แค่เดินไม่ได้ ไม่เป็นไรเลย” ชมพู่ยิ้มบางๆ พร้อมประโยคทิ้งท้ายด้วยโทนเสียงไม่แตกต่างจากประโยคอื่นๆ ที่พูดมา แต่กลับทำให้สัมผัสได้ว่า หัวใจของเธอช่างยิ่งใหญ่และเข้มแข็งเสียจริงๆ
         
       
       ทั้งหมดที่เล่ามาถือเป็นการทำร้ายจากคนในสังคมโดยไม่เจตนา ทำร้ายด้วยความหวังดี แต่มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่ชมพู่เอ่ยปากว่า “เป็นประสบการณ์ที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิต” เธอเองก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าผู้พูดมีเจตนาดีหรือไม่ดี แต่ที่แน่ๆ มันทำร้ายจิตใจกันมากเกินไปจริงๆ!!
         
       
       “หนูเคยเอ็นท์ติดมหาวิทยาลัยประจำจังหวัดที่หนึ่ง ตอนสอบสัมภาษณ์เขาพูดกับเราตรงๆ เลยว่า ทำไมไม่ลองไปเรียนมหาวิทยาลัยเปิดดูล่ะ ไม่ลองไปเรียนรามฯ หรือ ม.สุโขทัย ก็ได้ จะได้สะดวกสำหรับคุณ เพราะที่นี่บางตึกก็ไม่มีลิฟต์นะ ต้องขึ้นบันไดไปเรียน 4 ชั้นเลยนะ แล้วใครจะมาช่วยยก อาจารย์ที่สัมภาษณ์พูดกับหนูอย่างนี้เลย (ยิ้มเศร้าๆ) มันทำให้หนูเสียใจมากนะคะ คือตอนประกาศผลออกมา เขาให้เราสอบติดแหละ แต่คิดดูว่าเขาพูดขนาดนี้แล้ว มันหมดกำลังใจค่ะ (ถอนหายใจเบาๆ) เพราะเราตั้งใจมากในการที่จะสอบเข้า แล้วเราก็สอบเข้าได้เหมือนคนปกติด้วย เขาก็ไม่น่าจะพูดอย่างนี้ เขาน่าจะให้โอกาสเราบ้าง
        
       
       คำพูดกระแทกใจจากอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่งในวันนั้น ทำให้ชมพู่ต้องเปลี่ยนเส้นทางชีวิตที่วางไว้ใหม่ ตัดสินใจสอบตรงเพื่อเข้าเรียนคณะศิลปศาสตร์ มุ่งศึกษาด้านภาษา แต่อาจเพราะโชคชะตาและด้วยเหตุผลหลายๆ อย่างที่สั่งสมอยู่ในใจตั้งแต่วันที่เดินไม่ได้ ท้ายที่สุดเธอจึงตัดสินใจเลือกคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์เป็นคำตอบสุดท้าย ด้วยไฟแรงกล้าว่าจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคม และอาจรวมถึงอาจารย์ท่านนั้นด้วย
        
       
       “ได้ลองอ่านข้อมูลดูก็รู้สึกว่าคณะนี้ตรงกับเรามากๆ ออกไปแล้วสามารถทำงานเกี่ยวกับเรื่องดูแลสวัสดิการให้คนอื่นได้ ตรงกับที่เราอยากช่วยเหลือให้คนพิการได้รับโอกาสให้เทียบเท่ากับคนปกติ แล้วก็อยากช่วยเหลือคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนพิการ ทั้งคนยากคนจนด้วยค่ะ ก็เลยเลือกคณะนี้ หนูว่าโอกาสเป็นเรื่องสำคัญมากๆ โดยเฉพาะกับคนพิการ ทั้งเรื่องที่หนูเจอมากับตัว ที่ถูกมหาวิทยาลัยปฏิเสธเพราะมองว่าคนพิการเป็นภาระ 
       
       ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้สถานศึกษาหลายๆ ที่มอบโอกาสให้แก่คนพิการมากกว่านี้ค่ะ ทั้งโรงเรียนประถมฯ มัธยมฯ ตอนนี้หลายโรงเรียนยังไม่มีนโยบายรับคนพิการเข้าเรียน หรือถ้ามีก็กำหนดเลยว่าโรงเรียนนี้รับเฉพาะเด็กพิการทางสายตานะ โรงเรียนนี้รับเฉพาะเด็กพิการที่นั่งวีลแชร์ ทำให้คนที่เป็นแบบนี้เหมือนไม่มีสิทธิเลือกที่เรียนด้วยตัวเองเท่าไหร่ ทั้งที่จริงๆ แล้วคนพิการก็ไม่ได้อยากจะแปลกแยก ยังอยากเรียนกับคนปกติทั่วไปนะ โดยเฉพาะระดับมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นขั้นที่สำคัญของชีวิต คิดดูว่าถ้าพิการแล้วยังไม่มีโอกาสได้เรียนที่ดีๆ พิการแล้วยังความรู้ต่ำอีก ก็จะยิ่งหางานยากกว่าคนปกติเข้าไปใหญ่” 
       


       
ทำได้มากกว่าขายลอตตารี่
       เวลาพูดถึงคนพิการ ถ้าไม่นึกถึงอาชีพ “คนขายลอตตารี่” คนส่วนใหญ่คงนึกไปถึง “ขอทาน” ไปเลย ชมพู่เองก็เข้าใจมุมมองแบบนี้ดี เธอยิ้มรับอย่างที่ทำมาตลอดบทสนทนาและเปิดใจพูดถึงมุมมองของคนพิการในแบบที่อยากให้เห็น อยากให้สังคมเข้าใจ
        
       
       “คนส่วนใหญ่อาจจะเห็นคนพิการในมุมนั้นบ่อย เพราะมันมีให้เห็นทั่วไปว่าทำอาชีพแบบนี้อยู่เยอะจริงๆ แต่ก็ยังมีคนพิการคนอื่นๆ อีกเยอะแยะนะคะที่เขามีหน้าที่การงานดีๆ ในสังคม เป็นประชาสัมพันธ์บ้าง เป็นพนักงานบัญชีบ้าง หลายคนเป็นโปรแกรมเมอร์ยังมีเลย แต่คนอื่นๆ อาจจะไม่ค่อยได้เห็นในมุมนี้เท่าไหร่ 
        
       
       คนพิการทุกคนยังทำงานหลายๆ อย่างได้เหมือนกับคนปกติเลยค่ะ คือเราอาจจะเดินไม่ได้ บางคนอาจจะตาบอด แต่เราก็ยังมีความรู้ความสามารถเทียบเท่าคนปกติอยู่นะ ถึงเราพิการ แต่เราไม่ได้พิการทั้งตัว มันไม่จำเป็นว่าต้องมองส่วนที่เราด้อย ทำไมต้องมองแต่ส่วนที่เราพิการ มันยังมีอีกตั้งหลายส่วนที่ยังใช้ได้ ถึงขาเราจะพิการ แต่มือเราก็ยังขยับได้ ตายังมองเห็น หูยังปกติ ทุกอย่างยังใช้การได้ดี บางทีอาจจะดีกว่าคนปกติด้วยซ้ำไป ยังพร้อมทำสิ่งดีๆ ในสังคมเหมือนกับทุกคนๆ อยู่เหมือนกัน”
        
       
       และนี่คือหนึ่งในเหตุผลหลักๆ ที่ชมพู่ตัดสินใจกรอกใบสมัครในเวทีสาวงาม Miss Wheelchair Thailand ประจำปี 2012 ซึ่งจัดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อประกาศให้โลกได้รู้ว่าคนพิการก็มีความสามารถ มีศักยภาพ มีหัวใจที่สู้ไม่ถอย ไม่ได้ด้อยไปกว่าคนอื่นๆ ในสังคมเลยแม้แต่นิดเดียว
        
       
       “สโลแกนของมิสวีลแชร์คือ “มากกว่าสายสะพายและมงกุฎ” เพราะสายสะพายและมงกุฎเป็นแค่ของรางวัลค่ะ แต่สิ่งที่เราได้รับมากไปกว่านั้นคือ “โอกาส” เวทีนี้ให้โอกาสคนพิการได้แสดงศักยภาพ ความรู้ความสามารถที่เทียบเท่ากับคนอื่น ให้สังคมได้รับรู้ ที่มากไปกว่านั้นอีกคือ “ความภาคภูมิใจ” เพราะการที่จะมายืนอยู่บนเวทีได้แบบนี้ เราต้องก้าวผ่านความกลัวภายในจิตใจของเราออกมาให้ได้ ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งก่อน แล้วยิ่งมาเจอเพื่อนๆ ที่เป็นเหมือนๆ กันยิ่งทำให้เรามีกำลังใจค่ะ เราได้มาแชร์ความรู้สึก แชร์ชีวิตของแต่ละคนว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทำให้รู้สึกว่า อืม!...มันไม่ได้มีแค่เรานะที่ลำบาก เพื่อนๆ ก็ลำบากเหมือนกัน แต่ทุกคนก็สู้ชีวิตเหมือนๆ กัน
        
       
       ฝันให้ไกลแล้วไปให้ถึง ได้สักครึ่งก็ยังดี... คือคติประจำใจที่ชมพู่ยึดถือในชีวิตมาตั้งแต่ไหนแต่ไร จนถึงวันนี้เธอก็ยังยึดมั่นในความคิดแบบเดิม คือวาดฝันไว้ไกลถึงการได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเรียกร้องสิทธิและกำหนดนโยบายต่างๆ ในรัฐสภา “อยากทำงานในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ค่ะ เพราะสังคมเรา ถ้าอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ หนูคิดว่าต้องเริ่มตั้งแต่เรื่องร่างนโยบาย เรื่องกฎหมายกันเลย และถ้าทำได้อย่างที่ฝันไว้จริงๆ ก็คงดีใจมาก โดยเฉพาะปัญหาช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย เป็นปัญหาใหญ่ในสังคมเลยอยากให้คนที่เดือดร้อนทุกๆ คนในสังคม ไม่เฉพาะแค่คนพิการ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นค่ะ” เธอประกาศความฝันด้วยแววตามุ่งมั่น
        
       
       แต่ก่อนจะเดินทางไปถึงฝั่งฝัน ชมพู่ยังมีฝันเล็กๆ ตามรายทางอีกมากที่ยังอยากทำให้สำเร็จ โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติต่อคนพิการในสังคมที่เธอเฝ้าฝันอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงโดยเร็วที่สุด หรืออย่างน้อยๆ ขอแค่เข้าใจกันมากขึ้นก็ยังดี
       
       ไม่อยากให้มองว่าเราแปลกแยกหรือแตกต่างค่ะ อยากให้มองว่าเราก็เหมือนๆ กับทุกๆ คน มีความรู้ ความสามารถ ความคิด และมีหัวใจเหมือนกันกับทุกๆ คน ไม่อยากให้มารู้สึกสงสารหรือสมเพช อยากให้มองเราด้วยความเข้าใจ มองเราเหมือนเป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งดีกว่าค่ะ อาจจะไม่จำเป็นต้องมาชื่นชมอะไรเราก็ได้ แค่อย่าเหยียดว่าเราด้อยกว่า แค่มองเราเหมือนคนทั่วไปก็พอค่ะ
       


       ไม่มีเหตุผลที่จะไม่มีความสุข
       ถ้าไม่เจอกับตัวไม่รู้หรอก! คงเป็นคำพูดที่เหมาะที่สุดแล้วสำหรับสถานการณ์ที่ชมพู่และกลุ่มเพื่อนซึ่งใช้วีลแชร์ต่างขาอยู่ทุกวันนี้ต้องพบเจอ ทุกคนต้องเผชิญกับความยากลำบากสารพัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่ปัญหาเรื่องทางลาดตามท้องถนนที่ไม่ค่อยจะมี ไปไหนมาไหนทีก็ต้องยกรถเข็นขึ้นลงบันไดหลายๆ ชั้น หรือถ้าเลือกที่จะเข็นรถไปตามทางเท้าก็มีความเสี่ยงที่จะถูกรถมอเตอร์ไซค์ซึ่งขับบนนั้นเฉี่ยวชนเอาอีก จะหนีขึ้นรถเมล์ก็ไม่รอดเพราะมันลำบากเกินไป แม้กระทั่งหนทางที่คิดว่าสะดวกสบายที่สุดอย่างแท็กซี่ ยังพบกับความทรหดได้เลย หากโชคร้ายเจอโชเฟอร์แล้งน้ำใจเข้าพอดี
        
       
       “รถเมล์นี่ไม่ได้เลย ไม่รู้ว่าจะขึ้นยังไงค่ะ เพราะมันไม่มีทางลาดให้รถเข็นขึ้นไปได้ แต่ถ้าเป็นต่างประเทศ เขาก็จะมี ก็แอบหวังว่าประเทศไทยจะมีบ้าง แต่ก็คงอีกนานมั้งคะ (ยิ้มปลงๆ) เพราะขนาดคนธรรมดาจะขึ้น ยังต้องแย่งกันขึ้นเลย ประเทศเรามีคนเยอะด้วยค่ะ อาจจะจัดการยากนิดหนึ่ง แต่ถ้าเกิดวันหนึ่งมีรถเมล์แบบนั้นจริงๆ ก็น่าจะสะดวกดีนะคะ หนูก็คงใช้บริการ เพราะมันก็สะดวกแล้วก็ถูกด้วย ทุกวันนี้ต้องขึ้นแท็กซี่ไปไหนมาไหน ก็แพงพอสมควร
        
       
       แล้วส่วนใหญ่คนพิการจะรายได้ต่ำ แต่ค่าใช้จ่ายสูงกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว ตอนนี้ก็เลยมีนโยบายผลักดันให้กรุงเทพฯ มี Taxi on demand เหมือนที่ประเทศเกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์มี เป็นแท็กซี่สำหรับคนพิการโดยตรงเลย ตัวรถจะมีทางลาดขึ้นไป จะสะดวกสำหรับคนพิการมาก ไม่ต้องมาคอยลำบากยกตัวเองเข้าไปในรถ หรือมายกรถเข็นขึ้นแท็กซี่หลังจากขึ้นรถไปแล้วอีก แล้วเดี๋ยวนี้แท็กซี่ติดแก๊สกันหมดแล้ว ก็เลยพับรถเข็นไปเก็บไว้ท้ายรถไม่ได้แล้ว คนขับก็จะพับรถเข็นมาเก็บไว้ข้างในรถ หรือบางคันก็ตัดปัญหา ไม่รับคนพิการไปเลยก็มี หนูเองก็โดนบ่อยค่ะ เราโบกแล้วไม่จอด ขับผ่านเราไปเลยตั้งหลายคัน เจอคันที่ใจร้ายก็มี เห็นเราโบกรถอยู่คนเดียว จอดให้นะคะ แต่ไม่มาช่วยยกรถเลย ไม่ถามด้วย ปล่อยให้เราทำเอง”
        
       
       ด้วยข้อจำกัดต่างๆ นานาในบ้านเรา จึงอาจเป็นเหตุผลข้อใหญ่ๆ ที่ทำให้คนพิการจำนวนไม่น้อย เลือกใช้ชีวิตจับเจ่าอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปพบปะพูดคุยกับใคร แต่ถ้าผู้ใหญ่ในสังคมหันมาแก้ไขปัญหาตรงนี้เมื่อไหร่ ชมพู่เชื่อว่าจะทำให้คนพิการหลายๆ คนมีความสุขกับชีวิตได้มากขึ้นกว่าเดิมจนเทียบไม่ติดเลยทีเดียว
        
       
       “คนพิการที่ชอบไปเที่ยวก็มีเยอะแยะค่ะ เพื่อนๆ ที่ประกวดมิสวีลแชร์บางคนเป็นไกด์ก็มี (ยิ้ม) มันไม่จำเป็นว่าคนพิการต้องเก็บตัว แต่บางครั้งที่เขาเก็บตัว อาจจะเป็นเพราะสถานที่หลายๆ ที่มันไม่สะดวกสำหรับเขาไงคะ บางคนอาจจะไม่ค่อยมีตังค์ จะออกไปไหนก็ยากลำบาก หนูเคยเห็นมีคนนั่งวีลแชร์คนหนึ่งเข็นรถไปตามถนนสุขุมวิท ตรงเกาะกลางถนนเลย มันทำให้เราเห็นว่าคนพิการทุกคน เขาอยากจะไปได้ทุกที่นั่นแหละค่ะ แต่บางที่มันไม่เหมาะ มันไม่มีทางลาด มีแต่บันได มันก็เลยลำบากที่เขาจะออกมาใช้ชีวิตในสังคม ไม่ใช่ว่าเขาไม่อยากออกมานะหนูว่า แต่ว่ามันมีข้อจำกัดในชีวิตมากมายที่คนทั่วไปอาจจะยังไม่เข้าใจ
        
       
       ส่วนรายที่ไม่ได้พิการมาแต่กำเนิด แต่เดินไม่ได้เนื่องจากเกิดจากอุบัติเหตุเช่นเดียวกับชมพู่ แล้วเลือกที่จะเก็บตัวอยู่คนเดียวเพราะยอมรับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตไม่ได้นั้น มิสวีลแชร์คนนี้บอกว่าเธอคงพูดอะไรไม่ได้มากในฐานะที่เป็นคนนอก แต่ถ้าจะให้แนะนำจากประสบการณ์ ครอบครัวเท่านั้นที่จะเยียวยาโรคทางใจให้แก่พวกเขาได้
        
       
       “คนพิการก็เหมือนคนป่วยทั่วๆ ไปค่ะที่จะรู้สึกน้อยใจเป็นพิเศษ ญาติๆ ก็ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ แต่ไม่ใช่ถึงขั้นโอ๋นะ แค่ให้เขารู้สึกถึงความรักก็พอแล้ว ความรักภายในครอบครัวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดแล้วค่ะ แล้วก็อยากจะให้มองว่ายังมีคนที่แย่กว่าเราอีกมาก แต่คนเหล่านั้นเขายังสามารถยืนหยัดต่อสู้ ยังออกมาใช้ชีวิต ยังมีความสุขดีกับชีวิตในทุกๆ วัน เราเองก็ต้องทำแบบนั้นบ้าง ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องท้อแท้น่ะค่ะ มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย
        
       
       เพราะคิดได้อย่างนี้ ชมพู่จึงสามารถใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ พาตัวเองไปในทุกที่ที่ใจอยากไป “ไปห้างฯ ไปดรีมเวิลด์กับเพื่อนๆ แล้วก็ไปเยาวราช เยาวราชนี่ไปเกือบทุกอาทิตย์เลยค่ะ ไปทุกที่ที่เราไปได้ ที่ไหนที่สามารถให้วีลแชร์ไปได้ อาจจะลำบากนิดหน่อยหรือต้องยกรถขึ้นลงบ้าง แต่หนูก็พร้อมจะไปค่ะ” วิถีชีวิตที่เลือกทำในวันนี้ เธอบอกว่าไม่ได้ “พยายาม” ใช้ชีวิตให้เป็นเหมือนปกติ แต่แค่ใช้ชีวิตให้เป็นอย่างที่เคยเป็นมา อย่างที่ก่อนหน้าจะเดินไม่ได้เคยทำ แค่นั้นเอง ส่วนใครจะหยิบแนวคิดนี้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตบ้าง ชมพู่ก็ยินดี ไม่มีสงวนลิขสิทธิ์
        
       
       “ถ้าวันนี้มีใครมองเราแล้วทำแบบเราบ้าง หนูคงจะรู้สึกดีมาก โดยเฉพาะเพื่อนๆ ที่พิการ เพราะมันหมายความว่าเขาจะสามารถมีความสุขในการใช้ชีวิตได้เหมือนเรา เหมือนที่หนูมีความสุขอยู่ทุกวันนี้” 
       
       ตั้งแต่เริ่มจนจบบทสนทนา เรายังมองไม่เห็นเลยว่าสาวน้อยที่อยู่ตรงหน้าตอนนี้มีส่วนไหนในร่างกายที่ผิดแผกไปจากคนอื่นๆ ทั่วไป มองเห็นแต่เพียงรอยยิ้มสดใส แววตาเปี่ยมไปด้วยพลัง ความคิดความอ่านที่เฉียบคม เข้มแข็ง และแฝงไปด้วยความกล้าหาญจนน่านับถือ กลับกลายเป็นตัวเราเองเสียอีกที่ต้องย้อนกลับมามองดูตัวแล้วถามว่า ทุกวันนี้ร่างกายสมบูรณ์พร้อม แต่ปล่อยให้จิตใจพิการกันมานานขนาดไหนแล้ว? 
       


       
       
       
       ---ล้อมกรอบ---
       เรื่องรัก น้อยนิด...มหาศาล
       เมื่อถามตรงๆ ก็ตอบกันตรงๆ ถามชมพู่ว่าที่ร่างกายเป็นแบบนี้ เคยรู้สึกท้อแท้บ้างไหมว่าจะหาคนรู้ใจได้ลำบากยิ่งขึ้น สาวน้อยได้แต่ยิ้มเย็นๆ เช่นเคยแล้วตอบด้วยน้ำเสียงไม่ยินดียินร้ายว่า 
        
       
       เปอร์เซ็นต์ที่คนจะเข้ามาจีบ มันคงจะน้อยลงจริงๆ แหละ เพราะเราเป็นแบบนี้ คงไม่ค่อยมีใครอยากจะมาดูแล มันลำบากกว่าคนปกติ แต่ก็ไม่เป็นไร (ยิ้มกว้าง) ความรักมันไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตค่ะ เราไม่จำเป็นต้องคิดว่าเราจะหาแฟนยากหรือไม่ยาก คือถ้าจะมีคนมารักเราจริงๆ มันก็มีเอง เราคงไม่จำเป็นต้องใฝ่หาอะไร 
       ความรักเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยเติมเต็มให้ชีวิตมีความสุขสดชื่นในชีวิตมากขึ้น แต่ก็ไม่อยากให้คนที่เป็นแบบนี้ไปโฟกัสเรื่องนั้นมาก มากถึงขนาดทำให้จิตตกว่า พิการแล้วจะไม่มีใครมาชอบ ผู้ชายจะไม่รักหรือหาแฟนยาก (หัวเราะ) มันไม่ใช่ค่ะ ชีวิตมันไม่ได้มีแค่เรื่องความรัก มันมีอย่างอื่นอีกตั้งหลายอย่างที่ทำให้เรามีความสุขได้ ถึงไม่มีใครมารักมาชอบก็ไม่เป็นไร เรายังมีครอบครัวเราที่รักเราซึ่งเป็นความรักที่บริสุทธิ์กว่าอยู่แล้ว” 
       
       นิยามความรักของชมพู่สั้นๆ ง่ายๆ คือ “ไม่ทำให้อีกฝ่ายเสียใจ” ส่วนสเปกนั้น ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ “ไม่มีเลยค่ะ เรื่องหน้าตานี่ ไม่มีสเปกเลยจริงๆ เมื่อก่อนตอนยังเดินได้ ก็เคยมีแฟนแล้วก็ไม่มีใครหล่อเลยนะ (ยิ้ม) มันไม่จำเป็นต้องหล่อค่ะ ชอบคนที่อยู่ด้วยแล้วมันคลิก ชอบคนตลกค่ะ หน้าตายังไงก็ได้ แต่อยู่ด้วยแล้วเรามีความสุข และเขารักเรา เท่านั้นก็พอแล้ว” 
       


       ประวัติส่วนตัว
       ชื่อ-สกุล: ชมพู่-ภัทราวรรณ พานิชชา 
       อายุ: 21 ปี 
       ส่วนสูง: 169 ซม. 
       น้ำหนัก: 48 กก. 
       การศึกษา: นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
       ความสามารถพิเศษ : ร้องเพลง 
       รางวัลที่ได้รับ: ตำแหน่งดาวประจำคณะสังคมสังเคราะห์ศาสตร์ และตำแหน่งรองอันดับหนึ่งดาวมหาวิทยาลัย, Miss Wheelchair Thailand 2012 
       
       ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LITE
       ภาพโดย... ศิวกร เสนสอน

ไม่มีความคิดเห็น: