วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

เฮฮา...ตามประสาพยาบาล


ธ่เอ้ย….มหาบัณฑิต
เมื่อคณะพยาบาลศาสตร์เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทสาขาบริหารการพยาบาลภาคสมทบ คือเรียนเสาร์-อาทิตย์ ทำให้มีพี่ๆผู้ตรวจการพยาบาล และหัวหน้าหอผู้ป่วยไปสมัครเรียนกันหลายคน  แม้อายุบางคนจะใกล้ 50 หรือบางคนก็เลยไปแล้วแต่อายุเป็นเพียงตัวเลข     คุณพี่ทั้งหลายมุ่งมั่นและขยันมากจนน้องๆร่วมรุ่นยอมแพ้เลยหล่ะ
                        เมื่อถึงวันสำคัญที่สุดคือวันรับปริญญามหาบัณฑิต  งานนี้ก็ต้องสวยสุดเช่นกัน  จึงรีบจองคิวร้านแต่งหน้าทำผมที่ดังที่สุดในหาดใหญ่ เพราะน้องบัณฑิตใหม่ปริญญาตรีก็เยอะขืนจองช้าได้คิวตอนตี 1 ตี 2 ก็ไม่ต้องนอนกัน
                            ด้วยความโชคดี พี่เอ ของเราได้คิวตอนตี 5 คาดว่าแต่งหน้าทำผมเสร็จมาใส่ครุยถ่ายรูปตอนเช้าๆกำลังสวยพอดี เมื่อถึงวันนัด พี่เอก็ไปก่อนเวลานิดหน่อย บรรยากาศในร้านคึกคักมาก  มีช่างแต่งหน้าสิบกว่าคน ช่างทำผมก็เป็นสิบเช่นกัน ทุกคนยุ่งมาก  แต่ยังมีน้องๆที่ได้คิวก่อนยังแต่งไม่เสร็จก็เยอะ  พี่เอจึงนั่งจิบกาแฟคุยกับคนโน้นคนนี้ที่นั่งรออยู่ไปเรื่อยๆ ( ช่วงรับปริญญา ร้านนี้จะมีน้ำชา กาแฟ ไว้บริการบัณฑิตและผู้ปกครองหรือแฟนที่ไปนั่งรอด้วย )   
                               เวลาผ่านไปชั่วโมงกว่า พี่เอเริ่มสงสัย  เอ๊ะทำไมนัดไม่เป็นนัด น้องบางคนได้คิวทีหลัง ก็เห็นช่างมากวักมือเรียกไปนอนที่เตียงแต่งหน้าแล้ว   เล่นเส้นกันรึเปล่าเนี่ย   เมื่อทนไม่ไหวพี่เอจึงเดินเข้าไปถามเด็กที่จัดคิวทันที
                            พี่เอ :  น้องๆ  ทำไมไม่ถึงคิวพี่ซักทีหล่ะ
                             เด็กจัดคิว : (แปลกใจ)  อ้าวพี่มาแต่งหน้าเหรอคะ
                              พี่เอ  : (ชักโมโห ) ก็ใช่สิ เนี่ยพี่ได้คิวตอนตี 5 ด้วยซ้ำ น้องก็ลัดคิว 
                                        เรียกคนอื่นที่มาทีหลังไปตั้งหลายคนแล้วนะเนี่ย
                            เด็กจัดคิว : ( ตกใจ )
อุ๊ยตาย  ขอโทษจริงๆค่ะพี่ขา หนูนึกว่าพี่เป็น  
                                        ผู้ปกครองบัณฑิต มานั่งรอลูกสาวน่ะค่ะ ขอโทษจริงๆค่ะ
                                         เดี๋ยวช่างคนไหนว่างแล้ว หนูจะเรียกพี่ทันทีเลยค่ะ
.....................................................................................................................................................
เรื่องของ ได-แอก ( diag = diagnosis )
ส่วนใหญ่บุคลากรทีมสุขภาพ มักจะพูดทับศัพท์ ไทยคำ อังกฤษคำ จนเป็นเรื่องธรรมดา ครูบาอาจารย์ได้ย้ำแล้วย้ำอีกว่า เวลาพูดกับผู้ป่วยหรือญาติ ให้ระวังเผลอพูดศัพท์ทางการแพทย์ แต่ก็ยังเผลอจนเป็นเรื่องจนได้
มีผู้ป่วย admit ใหม่ เตียง 4 มาด้วยปวดท้อง ท้องเสีย พ่อผู้ป่วยมาเฝ้าลูกชายอยู่ข้างเตียงด้วยความห่วงใย ตอนเย็น นศพ.จะมารับ case จึงหันไปถามพยาบาลที่เคาน์เตอร์
นศพ. “พี่ๆ case นี้ diag อะไร
พยาบาล “ diarrhea ค่ะ
สักครู่ แพทย์ใช้ทุน ก็เดินมาที่เตียง 4 และถามคำถามเดิม “พี่ๆ case นี้ diag อะไร? ”
“ diarrhea ค่ะ ”
อีกแป๊บเดียว พยาบาลหัวหน้าทีมเพิ่งกลับจากทานข้าว ได้ยินแว่วๆ ว่ามีผู้ป่วยรับใหม่จึงเดินเข้าไปทักทายผู้ป่วยที่เตียง 4
“ เพิ่งมาใหม่ใช่มั้ยคะ เป็นอะไรมาเอ่ย? ”
ผู้ป่วยไม่ตอบ หัวหน้าทีมจึงส่งเสียงดังถามไปที่เคาน์เตอร์ “ น้องๆ คนไข้ เตียง 4 diag อะไร?
พ่อผู้ป่วย (หลังจากยืนฟัง หมอ กับ พยาบาลพูดกันอยู่นาน)จึงตะโกนด้วยความโมโหว่า
“ พวก มึ ง แดก อะไรกัน ลูก กูร ก็ แดกไอ้นั้นแหละ ”
..................................................................................................
นี่แหละน๊า …. คบเด็ก….สร้างบ้าน          ( ward  เด็ก 2 เล่าให้ฟังค่ะ)
          ปกติหอผู้ป่วยเด็ก เป็นที่ทราบกันดีว่าพยาบาลจะยุ้งยุ่ง  จะเจาะเลือด จะให้น้ำเกลือ จะฉีดยาแต่ละครั้ง ต้องวุ่นวาย และใช้เวลามากกว่าคนไข้ผู้ใหญ่ เพราะเด็กจะตั้งหน้าตั้งตาร้องกรี๊ด..กรี๊ด ตั้งแต่เห็นชุดสีขาวแล้วหล่ะ
       คนไข้เด็กบางคนก็เข้าๆออกๆโรงพยาบาลจนซี้กับพี่ๆเจ้าหน้าที่ทุกคน  ศัพท์ต่างๆที่หมอ ที่พยาบาลพูดกัน เค้าก็เข้าใจ บางครั้งก็สามารถไหว้วานให้ช่วยทำโน่นทำนี่ได้  เช่น ไปเอาของเล่นมาให้น้องๆ  ไปปิดพัดลม  ช่วยเฝ้าเคาน์เตอร์ให้หน่อย เป็นต้น ซึ่งเค้าจะรีบทำด้วยความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมและได้ช่วยงานพี่ๆ
           เวรบ่ายวันหนึ่งประมาณ  6 โมงเย็น เจ้าหน้าที่บางส่วนก็ไปพักทานข้าว คนที่เหลือก็วุ่นอยู่กับการแทงน้ำเกลือ การให้เลือด  การฉีดยา การเจาะเลือด  ที่เคาน์เตอร์ไม่มีใครอยู่  พยาบาลหัวหน้าเวรกลัวจะไม่ทันเห็นถ้าผู้ตรวจการพยาบาลมา  round ward  เพราะตนเองจะต้องรายงานยอดผู้ป่วยและสถานการณ์ต่างๆของ ward จึงได้เรียก น้องเอ คนไข้ขาประจำซึ่งอายุ 12 ปีแล้วมาขอความช่วยเหลือ
พยาบาล   :  น้องเอขา ช่วยดูด้วยนะคะ เดี๋ยวถ้า Sup มา ช่วยวิ่งมาบอกพี่ด้วยนะคะ
น้องเอ      :   ต้องบอกทำไมอ่ะ
พยาบาล   :   อ๋อ พี่ต้องรายงานเหตุการณ์พี่เค้าน่ะค่ะ
    ประมาณ 1 ทุ่ม พยาบาลเริ่มสงสัยว่า ทำไมวันนี้ ผู้ตรวจการยังไม่มา จึงเรียกน้องเอ ซึ่งเดินไปมาอยู่แถวเคาน์เตอร์มาถาม
พยาบาล   :  น้องเอขา   ยังไม่เห็น Sup มาเหรอคะ
น้องเอ      :   อ๋อ มาตั้งนานแล้ว คับ
พยาบาล   :  ( ตกใจ ) อ้าว  แล้วทำไมน้องเอไม่มาเรียกพี่หล่ะ
น้องเอ    :   ก็เห็นพี่ยุ่งอยู่  เอเลยรายงาน Supให้แล้ว
พยาบาล   :   ( ตกใจยิ่งขึ้น )  ว๊าย  น้องเอรายงานอะไรไปคะ
น้องเอ   :    เอบอกว่า พยาบาล wardนี้นะ ทำงานหนัก  เหนื่อยก็เหนื่อย น่าสงสารมากเลย ไม่ค่อยมีเวลาได้พัก   บางวันก็ไม่ได้กินข้าว เป็นโรคกระเพาะไปหลายคนแล้ว น่าจะขึ้นเงินเดือนให้เยอะๆนะ
พยาบาล   :  โอยโย๋  แล้วพี่เค้าว่าไง
น้องเอ   :   พี่เค้าบอกว่า ขอบใจนะหนู  เดี๋ยวค่อยโทรมาใหม่ค่ะ     
..........................................................................................................................................................
พยาบาลใหม่กับคนไข้โรคหัวใจ
ประมาณเดือนเมษาของทุกปีจะมีพยาบาลจบใหม่เข้ามาปฏิบัติงาน ณ หอผู้ป่วยต่างๆ จึงมักจะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับน้องใหม่อยู่เสมอ
              วันหนึ่งมีคนไข้ผู้ชายรับใหม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ  ก่อนจะไปซักประวัติ รุ่นพี่ก็แนะนำคร่าวๆว่านอกจากประวัติทั่วๆไปแล้ว คนไข้
โรคหัวใจเราจะต้องถามเกี่ยวกับอาการเจ็บหน้าอก     ใจสั่นและหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ซึ่งเป็นอาการเฉพาะด้วย     น้องพยาบาลใหม่หายไปสักครู่ก็เดินหน้าแดงกลับมา  รุ่นพี่สอบถามได้ความดังนี้      หลังจากซักประวัติไปได้บางส่วน  น้องพยาบาลใหม่ก็ยิงคำถามเฉพาะโรคทันที
พยาบาล ไม่ทราบว่า เคยมีอาการใจสั่นมั๊ยคะ
คนไข้ : ก็มีบ้าง
พยาบาล : เอ่อ ..เป็นบ่อยมั๊ยคะ
คนไข้ : ก็ไม่บ่อยหรอก ส่วนใหญ่จะเป็นเวลาเห็นพยาบาลสวยๆน่ะ
พยาบาลรู้ว่าถูกแซว แต่ก็ไม่สนใจ ทำหน้าที่ซักประวัติต่อ
พยาบาล : แล้วมีอาการเจ็บหน้าอกมั๊ยคะ
คนไข้ : โอ๊ย ไม่เจ็บหรอกหน้าอก เจ็บใจมากกว่า ที่พบกันช้าไป
พยาบาล : ขอโทษนะคะ มีประวัติหน้ามืดบ้างมั๊ยคะ
คนไข้ : แหม หนูถามน่าเกลียดจัง ลุงมีคุณธรรม จริยธรรมพอ และกลัวติดคุกข้อหาพราก ผู้เยาว์ ด้วย ลุงไม่หน้ามืดแบบนั้นหรอก
.....................................................................................................................................................
Credit โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

ไม่มีความคิดเห็น: