วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

“เลือกเรียนผิด คิดจน(เกือบ)โดนไทร์”


สำหรับบล็อก “รอดไทร์ในยามคับขัน” ผู้เขียนจะพยายามรวบรวมปัญหาต่างๆที่ได้ประสบพบเจอในฐานะนักศึกษากฎหมาย ที่เรียนยืดเยื้อมาเจ็ดปี ปัญหาไม่ได้มีเรื่องเดียว แต่จะใช้วิธีการเขียนเรียบเรียงไปบทละหัวข้อปัญหา สำหรับบทแรกนี้จะเป็นเรื่องการเลือกคณะ
ไม่ว่าจะเพราะกระแส ความอยากลองดี อิทธิพลจากครอบครัว หรืออะไรก็ตาม ตอนสมัครเอนทรานซ์ ข้าพเจ้าก็เลือกคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์เพียงคณะเดียว เพราะคิดว่าคงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดแล้ว ประสบการณ์ที่ได้รับรู้มาจากรุ่นพี่ส่วนใหญ่ไม่ใช่หลักสูตรในภาพรวมแต่เป็นการเรียนกฎหมายตัวแรกอัไนได้แก่แพ่งหลักทั่วไปอันเป็นวิชาพื้นฐานกฎหมาย และคนเฉื่อยๆแบบข้าพเจ้าที่แม้กระทั่งสมัครสอบเอนทรานซ์ยังต้องให้เพื่อนเตือนจึงไม่แปลกอะไรที่ไม่ทราบว่าสัดส่วนของวิชาทางแพ่งมีมากกว่าทางมหาชนที่ชอบเรียน
เมื่อเข้ามาเรียน แพ่ง:หลักทั่วไป เป็นวิชาที่ปี1 หลักสูตร47 เป็นวิชากฎหมายเพียงวิชาเดียวที่ปี1 ต้องเจอในเทอมแรก สำหรับข้าพเจ้าในเวลานั้น เนื้อหาวิชาไม่ได้หนักเกินไป ไม่ได้รู้สึกว่ามันยากอะไร ตั้งใจเรียน ตั้งใจอ่านหนังสือ ขยันที่สุดในชีวิต และคิดว่าคะแนนคงออกมาดีแน่ๆ แต่ผลสุดท้ายกลับตกด้วยคะแนน 57% (ต้องได้60ขึ้นไป) สำหรับคนที่เคยเรียนเก่งมาตลอดโดยไม่เคยพยายามอะไรและลำดับคะแนนสอบเข้าเป็นอันดับ3คณะ เรื่องนี้ทำให้เสียเซลฟ์มาก เสียใจมากจนเทอมถัดมาไม่เข้าเรียนเลยเพราะไม่เห็นคุณค่าของความพยายามอีกต่อไป แต่ก็ยังสอบนิติกรรมสัญญาในเทอมสองผ่านมาได้ด้วยคะแนน 65/100 โดยเข้าเรียนไปเพียงสองสามครั้ง และอ่านหนังสือไม่กี่วัน “การสอบผ่านอาจเป็นความสำเร็จ แต่การสอบผ่านครั้งนี้ นับเป็นหายนะครั้งใหญ่ในชีวิต เพราะทำให้ข้าพเจ้าหมดศรัทธาต่อความพยายามโดยสิ้นเชิง และหลงคิดไปว่าจะเรียนกฎหมายรอดแน่ๆโดยใช้ความพยายามเพียงแค่นี้” และเมื่อเรียนปีสองที่ต้องเรียนวิชากฎหมายเป็นวิชาบังคับ 5 ตัวก็เริ่มเกิดอาการเบื่อหน่ายไม่เข้าเรียน ผลคือ ผ่านแค่ลิเมิดตัวเดียว แต่กว่าจะรู้ผล ก็เดือนกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ใกล้สอบเทอมสองแล้ว ค่อนข้างจะสายเกินแก้สำหรับเทอมสองที่ไม่ตั้งใจเรียนอีกเช่นกัน แล้วยิ่งเจอวิชาจำพวกเอกเทศสัญญาที่ไม่ชอบด้วยแล้ว ส่งผลให้เทอมนั้นตกหมดทุกตัว และกว่าจะรู้ตัวมันก็สายเกินซิ่วเสียแล้ว
ผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าสองปีมันสายเกินซิ่วตรงไหน เพราะไม่ซิ่วก็ยืดเยื้อถึงเจ็ดปี แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนั้น สำหรับผู้เหขียนที่เรียนช้ากว่าคนอื่นหนึ่งปีเพราะตอนม.ปลายเป็นนร.แลกเปลี่ยน กำลังเห็นเพื่อนรุ่นเดียวกันจะขึ้นปีสี่ก็ย่อมมีอีโก้เป็นธรรมดา ซิ่วสองปีนับว่าช้ามากแล้ว และตอนที่รู้สึกว่าไม่ไหวคือเมื่อคะแนนเทอมสองออก เท่ากับว่าไม่ได้ซิ่วเพียงสองแต่ต้องซิ่วถึงสามปี เพราะตอนนั้นเริ่มสมัครกันก่อนเดือนตุลา ทำให้สุดท้าย ผลของการดื้อในตอนนั้นต้องเรียนยืดเยื้อมาถึงปีที่เจ็ด ต้องผ่านการสอบอย่างโชกโชนหลายครั้ง หนักกว่าคนอื่นมากตรงที่มีของเก่ามาทบด้วยในทุกๆเทอม
สิ่งที่อยากแนะนำก็คือ ถ้าคุณผ่านแพ่งในเทอมแรกก็ดีไป ถ้าตก… อย่านิ่งนอนใจว่าใครๆก็ตกเหมือนรุ่นพี่บอกแล้วก็ชิลต่อ ให้รีบเช็คตัวเองว่าชอบเรียนกฎหมายจริงหรือไม่? หรือแค่พยายามชอบ? ทำอย่างไรถึงรู้ มหาวิทยาธรรมศาสตร์เปิดมาตอนแรกด้วยคอนเส็ปตลาดวิชาอยู่แล้ว เข้าไปเรียนแบบ sit-in อาจารย์ท่านไม่ว่าหรอก ลองหาเวลาว่างไปเข้าวิชาปีสองดูซักครั้ง โดดไปทำอย่างอื่นยังทำได้ แค่นี้ไม่เยอะหรอก เข้าไปนั่งฟังๆดูว่าชอบมั้ย รับได้มั้ยกับการเรียนแบบสื่อสารทางเดียว แบบที่อาจารย์บรรยายตลอดเวลา ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าคณะเราคนเยอะ วิชาส่วนมากอาจารย์ท่านจะเข้ามาบรรยายอย่างเดียว อ าจารย์กับนักศึกษาไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กันเท่าไร อาจารย์บางท่านถือไมโครโฟนบุกเข้าไปถาม แต่ก็ส่วนน้อยจริง ส่วนตัวผู้เขียนชอบแบบอาจารย์ถามเยอะๆมากกว่าบรรยายอย่างเดียวจึงง่วงและแพ้ทางมาก
ที่พูดมาทั้งหมดอยากจะสื่อกับผู้อ่านว่า ถ้าใครมาถึงจุดที่ไม่ไหวแล้ว อย่าถือศักดิ์ถือศรีนักเลย ย้ายคณะเหอะ ปีสองก็ยังทัน เสียเวลาแป๊บเดียวไปเรียนสิ่งที่ถนัดและตรงกับไลฟ์สไตล์มากกว่า เพราะมันอาจจะไม่ใช่แค่ห้าปีเหมือนที่คุณคำนวณไว้ตอนแรกก็ได้ เรียนคณะนี้ ไม่ใช่แค่เก่งแค่หัวดีแล้วจะสอบผ่าน ยิ่งคนที่เคยได้อะไรง่ายๆแล้ว การเรียนคณะนี้ไม่ได้ต้องการความเก่งเลิศอะไรมากมาย แต่ต้องอดทน และมีความอึดในการอ่านหนังสือ มีความสม่ำเสมอและมีวินัย ถ้าไม่ใช่สไตล์การเรียนของคุณ ก็เปลี่ยนใจเสียเถิด ถ้าอยู่ต่อก็ต้องฝืนใจตัวเองอีกมาก แต่ถ้าคุณตัดสินใจแล้วว่าจะสู้ซักตั้ง

ไม่มีความคิดเห็น: