วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เทคนิคการเตรียมตัวสอบ ผู้สอบผ่าน ผู้ช่วยผู้พิพากษาสนามใหญ่ จากเด็ก ม.ปลายเกรดไม่ถึง 2.00 แอดก็ไม่ติด !!

 
...จากประสบการณ์เตรียมสอบสนามใหญ่ โดย...คุณ อภิรัฐ บุญทอง (Apirath Boonthong) ผู้สอบผ่านข้อเขียนผู้ช่วยผู้พิพากษา (สนามใหญ่) สนามล่าสุด 1 ใน 15 คน!!!

        ทักทาย 
        หลังจากผลการสอบข้อเขียนในการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาสนามใหญ่ ๒๕๕๕ ที่สอบผ่าน ๑๕ คนและการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการอัยการในตำแหน่งอัยการผู้ช่วยสนามใหญ่ ๒๕๕๕ ที่สอบผ่าน ๘๗ คน ประกาศลงอินเตอร์เน็ตแล้วปรากฏว่ามีชื่อผม นอกจากเสียงชื่นชมยินดีของพี่ๆเพื่อนๆและน้องๆที่มีไมตรีต่อผมอย่างมากมายนั้น ก็ยังมีคำถามจากหลายต่อหลายท่านอีกว่าผมเตรียมตัวอย่างไรจึงสามารถสอบผ่านได้ทั้งสองสนาม
 
 
 
 
 
 
 
 
ซ้ำยังยุแกมบังคับให้ผมเขียนบทความขึ้นเพื่อเป็นการแนะแนวทางการเตรียมตัวสอบ ซึ่งผมก็ได้บอกเลี่ยงไปเพราะผมรู้ตัวเองดีว่าผมไม่มีความสามารถมากพอที่จะไปแนะนำใครได้ แต่กระนั้นก็ยังมีเพื่อนๆอีกหลายคนถามและขอให้ผมถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ ผมจึงตัดสินใจเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อตอบคำถามของเพื่อนๆ แต่ผมไม่ถือว่าเป็นการสอนหรือแนะนำใครนะครับ ผมขอถือว่าเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ให้กันและกันจะดีกว่า
 

       ผมขอออกตัวไว้ในที่ตรงนี้ก่อนเลยว่าผมเองนั้นไม่ใช่คนเก่งหรือมีสมองดีกว่าคนอื่นๆ ซึ่งผมขอยืนยันนั่งยันและนอนยันว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะหลักฐานทางทะเบียนการศึกษาในอดีตนั้นสามารถยืนยันได้ว่าผมเป็นคนหัวไม่ดี สมัยเรียนมัธยมต้นตลอดถึงมัธยมปลายที่โรงเรียนนครสวรรค์นั้นแต่ละภาคการศึกษาเกรดเฉลี่ยผมไม่เคยถึง ๒.๐๐ จบม.ปลายก็สอบเอ็นทรานซ์ไม่ติด จึงไปเรียนนิติศาสตร์ที่รามคำแหงซึ่งก็เรียนจบมาแบบโนเนมเกรดเฉลี่ย ๒.๗๖ ไม่ได้มีเกียรตินิยมอะไรพ่วงท้ายมาด้วย มาเรียนเนติบัณฑิตก็ใช้เวลาตั้ง ๒ ปีแถมได้ลำดับกลางๆไม่ได้ติดท๊อบเท็นอะไรอย่างคนอื่นเขา สอบผู้ช่วยฯผมต้องใช้ความพยายามถึง ๔ ครั้ง สอบอัยการฯต้องใช้ความพยายามถึง ๒ ครั้งกว่าจะสอบติด ทุกครั้งที่สอบตกผมมีน้ำตาเกือบทุกครั้งจนทำให้ผมนึกถึงคำพูดของรุ่นพี่คนหนึ่งที่สอบอัยการได้ไปแล้วเมื่อปี ๒๕๔๓ ว่า “ถ้าเปรียบการสอบเป็นการรบ ก็เป็นนักรบที่แผลเต็มตัว” เห็นได้ว่าคนเก่งกว่าผมมีอีกมากมายเหลือเกิน แต่สิ่งหนึ่งที่มั่นใจมากเหลือเกินว่าผมมีสิ่งหนึ่งที่ไม่เป็นรองใครอย่างแน่นอน นั่นคือความอดทนอดกลั้นต่อความเสียใจและความพยายามต่อสู้กับความท้อแท้มาตลอด ดังนั้นการเขียนของผมครั้งนี้ขอถือว่าเป็นการให้กำลังใจต่อคนที่ผิดหวังในการสอบไม่ว่าจะสนามใดก็ตามขอให้มีกำลังใจต่อสู้และพยายามต่อไป ผมเคยได้รับคำปลอบใจเมื่อเกิดความผิดหวังจากพี่ๆที่ผมเคารพรักว่า “ชัยชนะนั้นได้มาโดยการที่เราไม่เคยยอมแพ้” “ความพยายามอาจไม่ประสบผลสำเร็จไปทุกครั้ง แต่ความสำเร็จต้องผ่านความพยายามมาแล้วทุกครั้ง” ถ้อยคำเหล่านี้ผมขอส่งต่อไปถึงทุกคนที่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงด้วยครับ
สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ของผมที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง ขอให้อ่านอย่างระมัดระวัง ผมจะพยายามเขียนอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่อยากให้ทุกท่านเข้าใจว่าการเตรียมตัวสอบของแต่ละคนไม่ใช่สูตรสำเร็จ เนื่องจากชีวิตของแต่ละคนมีองค์ประกอบไม่เหมือนกัน ขอให้ท่านนำประสบการณ์เหล่านี้ไปประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวของท่านเองครับ และการเขียนนี้ผมจะขอถ่ายทอดอย่างไม่แต่งเติมหรือเขียนให้ดูเว่อร์อย่างที่บางคนชอบพูดอวดหลังจากสอบได้แล้ว ผมขอถ่ายทอดประสบการณ์ตามความเป็นจริงล้วนๆนะครับ

           ๑. การวางแผน
           สำหรับผมคิดว่าขั้นตอนของการวางแผนสำคัญที่สุด เพราะเราสามารถกำหนดแผนการของชีวิตตัวเองได้อย่างเป็นระบบ ชีวิตก็จะไม่สับสนวุ่นวายดำเนินไปอย่างเป็นปกติและเป็นระบบของมันอย่างเป็นธรรมชาติ ผมเองเวลาทำอะไรชอบทำให้เป็นระเบียบและมีวินัยอย่างสม่ำเสมอ การเตรียมตัวสอบก็เช่นกันหากเราวางแผนได้ละเอียดมากเท่าไรภาพก็จะออกมาชัดเจนมากเท่านั้น โดยผมจะวางแผนจากกว้างไปหาแคบกล่าวคือจากปีเป็นเดือนและเป็นวัน
           เมื่อเรากำหนดเป้าหมายแล้วว่าเราจะสอบเพื่อเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาและอัยการผู้ช่วย ผมก็ศึกษาข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวกับการสอบ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบต่างๆที่เกี่ยวกับการสอบคัดเลือกว่าการที่จะเข้าสอบได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง โดยท่านสามารถหาได้ในเว็บไซต์ของหน่วยงานนั้นๆ (www.ojc.coj.go.th และwww.cmiss.ago.go.th)
ขั้นตอนต่อไปผมก็ตรวจสอบเกี่ยวกับการสอบว่าข้อสอบที่เราต้องการจะเอาชนะให้ได้นั้นเป็นอย่างไร สอบกี่วัน วันละกี่ข้อ วิชาอะไรบ้าง ให้เวลาสอบกี่ชั่วโมง สอบประมาณช่วงเดือนไหนแล้วคำนวณดูว่ามีเวลาเหลืออีกกี่วันแล้วนับถอยหลังจากวันที่วางแผนนี้ไปถึงวันสอบ เราจะทราบเวลาที่เหลือในการเตรียมตัวสอบสำหรับใช้ในการทำตารางอ่านหนังสือของเราได้ โดยผมจะเขียนรายละเอียดต่างๆลงในไดอารี่ให้ละเอียด
เมื่อเรารู้ข้อมูลข้างต้นแล้วผมจะเลือกหนังสือที่จะให้อ่านสำหรับเตรียมตัวสอบ โดยจะลิสต์ออกมาเลยว่าวิชาใดออกข้อสอบกี่ข้อ อยู่ในข้อใดของข้อสอบ แล้วผมจะใช้หนังสือเล่มไหนในการเตรียมสอบ (หนังสืออะไรบ้างนั้นดูหัวข้อถัดไปครับ)
           เมื่อได้ชื่อหนังสือที่จะใช้อ่านแล้วผมจะไปซื้อมาจัดเข้าชั้นหนังสือเรียงตามวันสอบและเรียงตามข้อของแต่ละวันของการสอบเลย ต่อไปก็สำรวจหนังสือแต่ละเล่มว่ามีกี่หน้าผมจะต้องใช้เวลาอ่านหนังสือเล่มนั้นกี่วันสำหรับการอ่านรอบแรก เมื่อทำอย่างนี้ครบทุกเล่มแล้วผมจะจัดเรียงในไดอารี่เลยว่าวันใดจะอ่านหนังสือวิชาใดจากหน้าไหนถึงหน้าไหน เขียนให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะละเอียดได้ รอบแรกอาจให้เวลาหลายวันเนื่องจากผมต้องอ่านอย่างละเอียดทุกตัวอักษร พออ่านรอบแรกครบทุกเล่มที่จัดอยู่ในชั้นจนครบแล้วก็ย้อนกลับมาอ่านเล่มที่หนึ่งใหม่ โดยรอบที่สองนี้ก็ใช้เวลาน้อยลงและทำอย่างนี้ไปจนครบถึงวันสอบ การวางแผนเช่นนี้ทำให้รู้ได้ว่าผมจะอ่านหนังสือได้กี่รอบกว่าจะถึงวันสอบ
           เมื่อวางแผนอย่างนี้ได้แล้วจะเป็นแผนรายปีและรายเดือนว่าจะต้องอ่านอย่างไร แต่คราวนี้มาถึงรายวันบ้าง ในแต่ละวันผมจะถือว่าหัวใจของการเตรียมตัวสอบนั้น ๑ ดวงมี ๔ ห้องคือ ตัวบท หนังสือ คำพิพากษาใหม่ๆ และข้อสอบเก่า ในวันหนึ่งๆนี้ผมจะแบ่งเวลาให้กับหัวใจทั้งสี่ห้องอย่างครบถ้วน ไม่ขาดตกบกพร่องในเรื่องใดเลย ซึ่งรายละเอียดในเรื่องต่างผมจะกล่าวในหัวข้อต่อไป แต่คร่าวๆได้ว่าช่วงเช้าผมจะดูตัวบท กลางวันอ่านหนังสือ ค่ำๆอ่านคำพิพากษาใหม่ๆ ดึกๆก่อนนอนก็จะทำข้อสอบเก่า

           ๒. การเลือกหนังสือเพื่ออ่าน
           ในการเลือกหนังสือเพื่ออ่านสอบนั้น อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่าผมไม่ได้สอบครั้งเดียวติด ผมจึงผ่านการลองผิดลองถูกอ่านหนังสือหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นคำบรรยายเนติฯ หนังสือที่อาจารย์พิมพ์ขายเองออกมาเป็นคำอธิบาย รวมตลอดทั้งหนังสือตระกูลพิสดารทั้งหลายที่หลายคนเรียกว่าจูริสนั่นแหละครับ ผมอ่านมาหมดแล้ว ซึ่งคราวนี้ก็แล้วแต่ความชอบของแต่ละคนแล้วละครับ
แต่สำหรับผมผมขอเล่าประสบการณ์อย่างนี้ดีกว่า ในการสอบครั้งแรกนั้นผมเพิ่งจบเนติฯ มาหมาดๆ ด้วยความที่ไฟแรงผมตะลุยอ่านคำบรรยายเนติฯทั้งหมดเพื่อเตรียมตัวสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาในปี ๒๕๕๑ ครั้งนั้นผมอ่านแต่คำบรรยายอย่างเดียวจริงๆ หนังสืออื่นไม่ได้แตะต้องเลย ต้องยอมรับว่าใช้เวลานานมากกว่าจะอ่านจบทุกวิชาสักรอบหนึ่ง ซึ่งในการสอบครั้งนั้นผมสอบได้ ๑๓๘ คะแนน ในการสอบครั้งถัดมาคำบรรยายผมมันล้าสมัยและอีกอย่างหนึ่งมันเละผมจึงซื้อหนังสือเป็นเล่มๆที่เนติฯจัดพิมพ์มาอ่าน เกือบจะทุกวิชา ผลการสอบคือผมตกอีกเหมือนเดิมได้ ๑๒๖.๕ คะแนน เลยมานั่งทบทวนดูว่าทำไมถึงสอบไม่ผ่านซักกะทีเลยพบว่าตนเองไม่แม่นยำเนื่องจากไม่ชอบอ่านฎีกา ครั้งต่อไปจึงเริ่มหาหนังสือที่เน้นแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลักก็ไปเจอหนังสือตระกูลพิสดารหรือที่เรียกกันว่าจูริสนั่นแหละครับ ผลสอบรอบที่สามนี้ออกมาก็ตกอีก ได้ ๑๒๗.๕ คะแนน เลยมาสำรวจตนเองว่าทำไมถึงตกอีก ก็มาพบตัวเองอีกว่าเราจำไม่แม่นเพราะขาดการเชื่อมโยงข้อมูลในประเด็นต่างๆ การอ่านไม่เป็นระบบ กระบวนการคิดไม่มีระบบ อ่านไปเรื่อยขีดไปเรื่อยไม่มีหลักการ ครั้งที่สี่ที่สอบได้นี้ก็อ่านจูริสอีกแต่อ่านอย่างมีระบบขึ้นซึ่งรายละเอียดจะขอกล่าวในหัวข้อที่ ๔ นะครับ คราวนี้ก็อยู่ที่ท่านแล้วนะว่าจะอ่านหนังสือเล่มไหน
           ผมขอสรุปดังนี้ว่า ในครั้งที่ผมสอบผ่านทั้งสองสนามนี้ผมเลือกหนังสืออ่านดังต่อไปนี้ครับ ๑.) นิติกรรม,สัญญา,หนี้,ละเมิด,เอกเทศสัญญา,ทรัพย์ ผมอ่านจากแพ่งพิสดารครับ ส่วนครอบครัว ผมอ่านหลักกฎหมายครอบครัว ของท่านอาจารย์ประสบสุข บุญเดช, มรดก ผมอ่านหนังสือของท่านอาจารย์หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์ ครับ ๒.) กฎหมายอาญา ผมอ่านคำบรรยายเนติฯของ ท่านศาสตราจารย์ ดร.เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ และอาญาพิสดารครับ ๓.) วิฯแพ่ง, วิฯอาญา ผมอ่านตระกูลพิสดารทั้งหมดครับ ๔.) พยาน ผมอ่านหนังสือของท่านศาสตราจารย์พิเศษจรัญ ภักดีธนากุล และจูริสประกอบกันครับ ๕.) รัฐธรรมนูญ,ปกครอง,พ.ร.บ.อัยการฯ อ่านหนังสือของท่านสุริยา ปานแป้น ๖.) พระธรรมนูญศาลยุติธรรมและวิแขวง อ่านของท่านอาจารย์ธานิศ เกศวพิทักษ์ ๗.) ล้มละลาย(วิชาเลือกผมเลือกล้มละลายนะครับลืมบอกไป) อ่านหนังสือของอาจารย์เอื้อน ขุนแก้วกับจูริสประกอบกันครับ ๙.) การค้าระหว่างประเทศ อ่าน หนังสือของท่านอาจารย์อรรถนิติ ดิษฐอำนาจและของอาจารย์ชวลิต อรรถศาสตร์ครับ ๑๐.)ภาษาอังกฤษ ตัวใครตัวมันครับ ฮ่าๆๆๆ
นี่เป็นแนวทางเท่านั้นนะครับ ไม่ได้รับรองว่าต้องอ่านหนังสือตามที่ผมแนะนำนี้เท่านั้นจึงจะสอบได้ แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคลครับ

            ๓. การอ่านตัวบท
            การอ่านตัวบทนี้ผมจะให้ความสำคัญพอประมาณโดยผมจะอ่านในช่วงเวลาเช้า โดยดูว่าในวันนั้นตามตารางอ่านหนังสือของผมนั้นจะต้องอ่านวิชาใด ผมก็จะอ่านตัวบทในวิชานั้นให้จบเสียก่อน
วิธีอ่านของผมคือจะอ่านเหมือนอ่านหนังสือ อ่านทำความเข้าใจเป็นเรื่องๆ ไม่ได้ท่องแบบคำต่อคำ และในการอ่านรอบแรกจะอ่านคร่าวๆทุกมาตราเสียก่อนอย่างไวๆ โดยในมาตราสำคัญจะขีดเส้นและทำไฮไลไว้ โดยในการทำไฮไลนั้นผมจะใช้หลายสี เนื่องจากหากอ่านตัวบททั้งหลายแล้วจะเห็นได้ว่ากฎหมายแต่ละมาตราจะมีส่วนเหตุและส่วนผลอยู่ในมาตรานั้นๆเอง ผมก็จะใช้ไฮไลคนละสีกัน หากมาตราใดมีส่วนที่แบ่งย่อยๆได้ผมก็จะเขียนเลข ๑,๒,๓...กำกับไว้เพื่อความสะดวกในการอ่านทำความเข้าใจในการอ่านครั้งต่อไป
เทคนิคอีกอย่างหนึ่งที่อยากเล่าก็คือเวลาอ่านตัวบทรอบหลังๆที่ไม่ต้องขีดเส้นหรือทำไฮไลแล้วนั้น ผมอ่านตัวบทออกเสียงเพื่อบันทึกลงในโทรศัพท์ไว้สำหรับตอนไม่ได้นั่งอ่านหนังสือ ผมก็จะเอาหูฟังเสียบหูไว้แล้วเปิดเสียงตัวเองฟังไปด้วยเวลาไม่ได้อ่านหนังสือ เช่น เวลาเดินไปข้างนอก ทานข้าว อาบน้ำ (ถอดหูฟังแล้วเปิดลำโพงนะครับ เดี๋ยวพัง อิอิ) หรือออกกำลังกาย จะช่วยให้เราจำเป็นเสียงได้เลย
อีกประการหนึ่งในเวลาที่ผมอ่านหนังสือนั้นผมจะปิดตัวบท ไม่ได้เปิดตัวบทไปด้วยเนื่องจากผมต้องการที่จะนึกตัวบทเองในขณะที่อ่านหนังสือ เมื่อหนังสือกล่าวถึงเนื้อหาในมาตราใดผมจะพยายามนึกตัวบทมาตรานั้นๆให้ออก แต่ถ้านึกไม่ออกก็จะเปิดดูทันทีเพื่อให้จำได้อีกครั้ง

           ๔. การอ่านหนังสือ
           การอ่านหนังสือของผมนั้นจะอ่านตามตารางที่กำหนดไว้ในปฏิทิน โดยจะอ่านเรียงวิชาตามวันสอบคือ กฎหมายแพ่งฯ กฎหมายอาญา กฎหมายพิเศษ กฎหมายวิธีพิจารณาความ และอ่านเรียงข้อของข้อสอบในแต่ละวัน หากใครไม่ทราบว่าข้อสอบออกเรียงข้ออย่างไรให้อ่านข้อสอบเก่าดูนะครับ
ในการอ่านนั้นผมจะอ่านเป็นระบบโดยอ่านรอบแรกผมจะอ่านแล้วขีดเส้นใต้เนื้อหาที่สำคัญไว้ด้วยดินสอ โดยใช้ไม้บรรทัดวางไปทีละบรรทัดเจอบรรทัดไหนสำคัญก็จะขีดเส้นใต้ไว้ ในการขีดรอบแรกนี้ผมจะขีดให้เยอะที่สุด ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าขีดแทบจะทุกหน้า แต่ขีดในส่วนสำคัญๆของแต่ละหน้า เวลาอ่านประเด็นใดที่เชื่อมโยงกันก็จะเขียนคำเชื่อมในแต่ละประเด็นไว้ เช่น และ หรือ แต่ถ้า อีกทั้ง อย่างนี้เป็นต้น เพื่อให้เกิดความคิดเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ หากเจอฎีกาใดที่คล้ายๆกันก็จะเขียนกำกับไว้ว่าให้ไปดูฎีกาที่เท่านั้นหน้านั้น อย่างนี้เป็นต้น
ในการอ่านรอบที่สองจะใช้เวลาน้อยกว่าการอ่านรอบแรกเพราะผมจะอ่านเฉพาะที่ได้ขีดเส้นใต้ไว้ในการอ่านรอบแรก โดยรอบที่สองนี้ผมจะใช้ปากกาไฮไลระบายไว้โดยจะใช้หลายๆสี ซึ่งแต่ละสีของผมก็จะมีความหมายที่ผมเข้าใจได้เอง การไฮไลนั้นไม่ได้ไฮไลทั้งหมดที่ขีดเส้นใต้ ผมจะเลือกระบายในส่วนที่เป็นสาระสำคัญจริงๆเท่านั้น โดยจะใช้สีต่างกันในส่วนต่างๆ เช่นในกรณีของผม สีชมพู จะเป็นการไฮไลข้อกฎหมายที่ตัวบทได้เขียนไว้หรือส่วนที่เป็นการแปลกลับตัวบท กล่าวคือเป็นหลักกฎหมายตามตัวบทนั่นเอง, สีเขียว ผมจะไฮไลข้อกฎหมายที่ศาลฎีกาได้ตีความตัวบทและอธิบายข้อกฎหมายในเรื่องต่างๆไว้ซึ่งไม่มีในตัวบท, สีส้ม ผมจะไฮไลส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงของคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ ที่เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องจำเป็นพิเศษ
ในการอ่านรอบที่สามผมจะใช้เวลาอ่านน้อยกว่ารอบที่สองลงไปอีกเพราะแทบจะไม่ต้องทำอะไรกับหนังสือแล้ว แต่ก็มีขั้นตอนที่สำคัญอยู่คือผมจะใช้ปากกาหมึกเจลทำเครื่องหมายดอกจันไว้ที่หน้าเลขคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ โดยหากน่าสนใจมากก็ ๕ ดอก สำคัญน้อยก็ ๓ ดอก ไม่สำคัญแต่ก็ไม่ควรมองข้ามก็ ๑ ดอก อย่างนี้เป็นต้น และในการอ่านรอบที่สามนี้ผมจะใช้ปากกาเจลนี้ตีกรอบถ้อยคำที่เป็นกุญแจคำ (key word) ของแต่ละฎีกาที่ผมเห็นว่าควรจำให้ได้ไว้ เพื่อไว้ท่องตอนใกล้ๆสอบ
การอ่านรอบที่สี่เป็นต้นไปนี้แทบจะไม่ได้ทำอะไรกับหนังสือเลย ผมจะอ่านเฉพาะที่ไฮไลไว้ด้วยสีเขียว แทบจะไม่อ่านสีอื่นเลยเนื่องจากสีชมพูก็เป็นตัวบทที่ได้อ่านทุกเช้าอยู่แล้ว ส่วนสีส้มเป็นข้อเท็จจริงซึ่งผมไม่มีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจอะไร นอกจากจะเป็นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผมกาไว้ ๕ และ ๓ ดอก ผมจะอ่านทั้งหมดทุกสี
สิ่งที่ผมอยากเสริมอีกหน่อยก็คือหนังสือกฎหมายนั้นที่จะต้องใช้สอบมันมีมากเหลือเกิน หากเราอ่านหนังสือช้าจะทำให้กว่าจะกลับมาทวนรอบที่สองหรือรอบที่สามใช้เวลานานเกินไป แล้วจะส่งผลต่อความทรงจำระยะยาวด้วย ผมจึงหาหนังสือที่เกี่ยวกับการอ่านเร็วมาศึกษาวิธีการ พบว่าเมื่อผมได้ลองปฏิบัติตามขั้นตอนของวิธีการอ่านเร็วสามารถทำให้ผมอ่านหนังสือได้ไวขึ้นจากเดิม แม้ไม่ถึงขนาดอ่านได้เหมือนอย่างคนที่อ่านเร็วที่สุดในโลก แต่ระดับที่ผมทำได้ก็ถือได้ว่าน่าพอใจ ผมสามารถอ่านหนังสือจำนวน ๕๐๐ หน้าในรอบแรกที่ต้องอ่านด้วยขีดด้วยจบภายในเวลา ๔ ถึง ๕ วัน แค่นี้ผมก็พอใจแล้ว รอบที่สองและสาม ๕๐๐ หน้าผมอ่านในเวลา ๒ ถึง ๓ วัน รอบที่สี่เป็นต้นไปผมสามารถอ่านได้เล่มละ ๑ ถึง ๒ วันเท่านั้น และผลที่ตามมาคือกว่าจะถึงวันสอบผมอ่านหนังสือได้ไม่ต่ำกว่า ๕ รอบ เรื่องนี้ขอยกผลงานให้กับหนังสือเกี่ยวกับการอ่านไวเลยละครับ ใครสนใจก็ลองหาอ่านดูได้ไม่ยากครับ

          ๕. การอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา
          คำพิพากษาศาลฎีกานั้นสำคัญมากสำหรับการสอบในสนามผู้ช่วยผู้พิพากษา ส่วนสนามใหญ่อัยการผู้ช่วยสิ่งที่ผมอ่านเพิ่มเติมคือคำชี้ขาดความเห็นแย้งของอัยการสูงสุดและข้อหารือที่ได้จัดพิมพ์ไว้ในหนังสืออัยการนิเทศ
คำถามที่พบมากที่สุดก็คือคำพิพากษาศาลฎีกานั้นผมอ่านย้อนหลังไปกี่ปี คำตอบนี้ในส่วนตัวผมเองไม่ได้อ่านย้อนหลังเลย เนื่องจากหนังสือที่ผมใช้อ่านส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ครั้งใหม่เกือบจะล่าสุด เช่น จูริสที่ผมอ่านก็เป็นฉบับปรับปรุงในปี ๒๕๕๕ ดังนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผมอ่านก็จะเป็นของปี ๒๕๕๔ จนถึงเล่มที่ออกปัจจุบันจนถึงวันสอบ คือติดตามอ่านไปข้างหน้าเพื่ออัพเดทข้อมูลเอง
คำถามต่อไปคือว่าอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาของสำนักงานศาลหรือของเนติฯ ส่วนตัวผมอ่านทั้งสองสำนักครับ เพราะว่าสองสำนักนี้บรรณาธิการเป็นคนละชุดกันและฎีกาบางตัวไม่ซ้ำกันบางตัวก็ซ้ำกันแต่การย่อก็ไม่เหมือนกัน แต่ผมไม่ได้ซื้อนะครับผมไม่ค่อยมีตัง จึงอาศัยถ่ายเอกสารจากห้องสมุดเอา โดยเลือกถ่ายเฉพาะบางตัวที่น่าสนใจ และถ่ายเฉพาะส่วนที่เป็นย่อสั้น ส่วนบางตัวอ่านย่อสั้นไม่เข้าใจก็จะถ่ายย่อยาวไว้ด้วย ส่วนฎีกาที่อยู่ในเว็บไซต์ของศาลฎีกานั้นผมไม่ได้อ่านครับ ขี้เกียจค้นจริงๆ
เมื่อถ่ายมาแล้วผมก็จะอ่านโดยขีดแล้วก็ไฮไลและกาดอกจันเหมือนการอ่านหนังสือนั่นแหละครับ และที่สำคัญคือผมจะเขียนชื่อวิชาและเรื่องไว้ที่หัวกระดาษ เพื่อประโยชน์ที่จะจัดเรียงเป็นรายวิชาให้เป็นหมวดหมู่และใช้ตัวหนีบหนีบไว้ เพื่อความสะดวกในการค้นหาและหยิบมาอ่านเป็นรายวิชาไปได้
แหล่งฎีกาที่ผมรวบรวมอีกแหล่งหนึ่งก็คือบทบรรณาธิการของคำบรรยายเนติฯทั้งสองภาคนั่นแหละครับ ผมไปตามถ่ายเอกสารไว้ตั้งแต่สมัย ๖๐ จนถึง ๖๕ ของทั้งสองภาคเลย แล้วมาเข้าเล่มกระดูกงูไว้อ่าน ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรพลาดจริงๆครับ ท่านอาจารย์ประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์ท่านได้รวบรวมแต่เฉพาะเรื่องสำคัญๆไว้ทั้งนั้น แต่ละปีอาจจะมีฎีกาที่ซ้ำกันบ้างแต่ผมก็ถือว่าได้อ่านทวนหลายๆรอบ ก็ดีครับจำแม่นดี

           ๖. การฝึกทำข้อสอบเก่า
            หัวข้อที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้นเป็นส่วนของการรับข้อมูล (input) แต่ในส่วนการถ่ายทอดข้อมูล (output) ในสมองของเราออกไปนั้นหากเราไม่ได้ฝึกฝนให้ดี สิ่งที่อ่านมาทั้งหมดก็แทบจะไม่มีประโยชน์ ดังนั้นการฝึกทำข้อสอบเก่าก็นับว่าเป็นขั้นตอนที่จำเป็นมากสำหรับการสอบในระดับนี้ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ขอบเขตของเนื้อหาที่ออกสอบ รู้จักการจับประเด็น รู้จักการเรียบเรียงคำตอบ
การทำข้อสอบของผมไม่ได้ทำมาก แต่จะทำบ่อยๆครับ โดยการนั่งเขียนข้อสอบจริงๆไม่ใช่อ่านข้อสอบเก่าเฉยๆ ต้องเขียนด้วย โดยฝึกเขียนก่อนนอนวันละ ๓ ข้อใช้เวลา ๑ ชั่วโมง เท่ากับข้อละ ๒๐ นาที ซึ่งจะทำให้เราสามารถเขียนข้อสอบได้ไว เนื่องจากเวลาสอบจริง ๑๐ ข้อ ๔ ชั่วโมงนั้นเฉลี่ยแล้วจะต้องทำข้อละ ๒๔ นาที ผมจึงไม่มีปัญหาเรื่องการเขียนไม่ทัน อย่าลืมนะครับการไม่ตอบสัก ๑ ข้อสำหรับคนหัวไม่ดีอย่างผมนั้นเท่ากับปีหน้าสอบใหม่ ดังนั้นผมจะเน้นการเขียนข้อสอบให้ทันเป็นสำคัญ
           คำถามที่พบคือตอบแบบวางหลักหรือตอบแบบฟันธงคือคละเคล้าหลักกฎหมายไปกับข้อเท็จจริง ส่วนตัวผมต้องแยกเล่าให้ฟังดังนี้ครับ ในการสอบผู้ช่วยฯนั้นผมเห็นว่าข้อสอบส่วนใหญ่ประเด็นจะเยอะมาก หากตอบวางหลักก่อนผมคิดว่าผมทำไม่ทันแน่ๆ ผมจึงตอบข้อสอบแบบปรับหลักกฎหมายไปกับข้อเท็จจริงเลย แต่ในบางข้อก็มีครับที่ประเด็นไม่เยอะมากหากมีเวลาผมก็วางหลักกฎหมายก่อนแล้วอธิบายตัวบทโชว์ไปสักหน่อยแล้วจึงฟันธง แต่เป็นส่วนน้อยนะครับสำหรับการสอบผู้ช่วยฯ ซึ่งต่างกับการสอบอัยการฯเลย ตอนสอบอัยการนั้นผมเห็นว่าประเด็นของข้อสอบน้อยกว่าของผู้ช่วยผู้พิพากษาพอสมควร หลายข้อมีเวลาวางหลักกฎหมายก่อนและสามารถเขียนอธิบายหลักกฎหมายนั้นได้ด้วยแล้วจึงฟันธง อีกอย่างเรื่องนี้แล้วแต่สไตร์ของแต่ละบุคคลครับ
การตอบข้อสอบนั้นผมจะมีคำขึ้นต้นให้ดูสละสลวยนิดนึงคือ “กรณีตามปัญหามีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า...” หากตอบแบบวางหลักก็ต่อด้วย “ตามประมวล...มาตรา...มีหลักกฎหมายว่า” แล้วก็วินิจฉัยไปครับ หากตอบแบบฟันธงก็ “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่...เป็นการ...ทั้งนี้ตามประมวล...มาตรา...” และเมื่อวินิจฉัยเสร็จก็ฟันธง “ดังนั้น...” อะไรก็ว่าไป
ในขั้นตอนการวินิจฉัยนั้นผมจะพยายามนึกคำในตัวบทเอามาใส่ให้มากที่สุด นึกถึงหลักกฎหมายในประเด็นที่คำถามชี้ให้ตอบเอามาตอบให้มากที่สุด และกุญแจคำหรือคำสำคัญในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผมได้ตีกรอบไว้ตอนอ่านรอบที่ ๓ นั่นแหละครับเอามาใส่เลยวางโชว์เลยครับถ้าจำได้ ซึ่งในการสอบครั้งนี้ผมวางอย่างนี้ไปหลายข้อเหมือนกัน

          ๗. ในช่วงสัปดาห์แห่งการสอบ
          ในช่วงระหว่างสัปดาห์ของการสอบในแต่ละวันคือระยะเวลาก่อนวันสอบ๕ วันนี้เป็นเวลาที่เครียดที่สุด เพราะสิ่งที่ผมอ่านมาทั้งหมดมันมากมายเหลือเกิน จำได้ไม่มีทางหมด และข้อสอบจะออกตรงที่จำได้หรือไม่ กังวลไปหมดครับช่วงนี้ ในช่วงเวลาอย่างนี้ถ้าขาดการวางแผนทบทวนเนื้อหาให้ดีสิ่งที่สร้างมาต้องพังแน่ๆ ผมเลยวางแผนอ่านหนังสือเรียงตามข้อไปครับ อ่านให้จบให้ได้วันละเล่ม ช่วงนี้ตัวบทไม่ได้อ่านแล้ว อ่านหนังสือก็อ่านตรงที่ไฮไลสีเขียวๆเท่านั้น กับฎีกาที่มีดอกจัน ๓, ๕ ดอก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่รวบรวมเอาไว้ก็เอามาอ่านในวิชาที่ใกล้จะสอบก่อน อ่านเฉพาะที่ไฮไลไว้ บทบรรณาธิการก็เอามาอ่านที่ไฮไลสีเขียวไว้ ทำอย่างนี้จนถึงวันสอบครับ แม้กระทั่งเช้าวันสอบผมก็ยังนั่งอ่านฎีกาเด็ดผักบุ้งของผมไปเรื่อยๆพยายามจำให้ได้ให้หมด แต่มันจำได้ไม่หมดหรอกครับสมองคนน่ะ พอถึงเวลาเที่ยงก็ปลงครับออกอะไรก็ออกมาช่างครับปล่อยวาง

           ๘. ในห้องสอบ
           ในวันสอบเตรียมบัตรประจำตัวสอบและปากกาไปให้พร้อมนะครับ ไปถึงห้องสอบก่อนเวลาสอบสักครึ่งชั่วโมง พอเข้าห้องสอบก็จัดแจงข้าวของเครื่องใช้ถุงปากกา ขวดน้ำ บัตรประจำตัวสอบและบัตรประชาชนไว้ในที่ที่ควรไว้ ไม่ให้เกะกะตอนเขียนข้อสอบ เขียนเลขประจำตัวสอบบนปกสมุดคำตอบ เสร็จแล้วนั่งนิ่งๆสูดหายใจลึกๆทำสมาธิครับ ไม่ต้องไปมองกรรมการคุมสอบ แม้จะสวยขนาดไหนก็ตาม อิอิ
พอกรรมการบอกให้เริ่มทำข้อสอบได้ผมจะใช้วิธีทำไปทีละข้อครับ ไม่ได้อ่านข้อสอบหมดทุกข้อแล้วค่อยทำ ผมอ่านข้อทำข้ออย่างนี้ไปจนครบ ๑๐ ข้อ แต่ผมจะทำข้อที่ตนเองมั่นใจก่อน เช่น วันแรกผมก็ข้ามไปทำกฎหมายอาญาก่อน แล้วมาทำข้อทรัพย์ ครอบครัวมรดก นิติกรรมสัญญา เอกเทศสัญญาเรียงกันไปตามความถนัดอย่างนี้ และทำอย่างนี้ทุกวันครับ ไม่ได้ทำจากข้อ ๑ ไปถึงข้อ ๑๐
การแบ่งเวลาทำข้อสอบผมจะเฉลี่ยเวลาให้พอดีโดยกะเวลาข้อละประมาณ ๒๔ นาที โดยผมจะใช้นาฬิกาที่เป็นเข็มครับ ไม่ใช่นาฬิกาที่เป็นดิจิตอล เพราะนาฬิกาที่เป็นเข็มมันจะกะช่องทุกๆ ๕ นาทีได้ง่ายกว่า ไม่ต้องมานั่งบวกเลข โดย ๔ ช่องเท่ากับ ๒๐ นาที ดังนั้นถ้าทำข้อสอบข้อนึงใช้เวลาเกิน ๔ ช่องไปแล้วเท่ากับว่าควรรีบเขียนให้เสร็จเพราะเกิน ๒๐ นาทีไปแล้ว และคิดง่ายๆโดยหากเวลาเลยไปสองชั่วโมงแล้วควรทำให้ได้ ๕ ข้อแล้ว เพราะนั่นเท่ากับเวลามาครึ่งทางแล้ว หากข้อไหนทำจนนาฬิกาเดินไปเกิน ๔ ช่องแล้วยังไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จข้ามไปก่อนครับ ไปทำข้ออื่นก่อน คิดง่ายๆว่าทำสองข้อ ข้อละ ๕ คะแนน ยังดีกว่าทำได้ ๙ ข้อนึง อีกข้อนึง ๐ จริงมั้ยครับ หากไปทำข้อใหม่แล้วเวลาเหลือแล้วจึงกลับมาทำข้อที่ค้างไว้ก็ไม่เสียหาย
           คำถามต่อไปคือเขียนสั้นหรือยาวแค่ไหน ผมเองเขียนข้อสอบไม่ยาวไม่สั้นครับ แต่ก็ไม่เคยนับบรรทัด คิดง่ายๆว่าตอบมากก็โอกาสผิดมาก ตอบน้อยก็โอกาสถูกน้อยหรือตกประเด็นบางประเด็นไป ดังนั้นเขียนให้ตรงประเด็นและเขียนให้ชัดเจนโดยใช้คำในตัวบทและคำในคำพิพากษาให้ครบถ้วนในประเด็นที่คำถามชี้ให้ตอบเป็นดีที่สุด จะสั้นจะยาวกี่หน้าก็ช่างมันครับ

          ส่งท้าย...
          ที่เล่าให้อ่านนี้ก็เป็นประสบการณ์ส่วนตัวของผมนะครับ ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จที่จะรับประกันได้ว่าทำแบบนี้แล้วจะสอบได้ ผมอยากให้ลองพูดคุยกันคนที่สอบได้ท่านอื่นๆด้วยว่าแต่ละท่านมีเทคนิคการเตรียมตัวสอบอย่างไร แล้วนำมาปรับใช้กับตัวท่านเองนะครับ
          อีกอย่างคือการสอบนั้นก็เป็นเกมส์อย่างหนึ่งครับ นอกจากความสามารถแล้วยังต้องอาศัยดวงด้วย แม้ท่านเตรียมตัวมาดีแค่ไหนหนังสืออ่านมาตั้งหลายรอบ แต่ถ้าข้อสอบออกมาตรงที่ท่านอ่านไปแล้วแต่ลืม อย่างนี้มันเป็นเรื่องที่ต้องทำใจน่ะครับ คนสอบตกไม่ได้หมายความว่าไม่เก่งหรือไม่มีความรู้นะครับ แค่จังหวะมันไม่ใช่ของเราเท่านั้นเอง อย่างผมเองก็ตกมาตั้งหลายรอบ รุ่นที่ได้ ๑๐๒ คนก็ตกไปแต่กลับมาสอบได้รุ่นที่สอบได้ ๑๕ คน คนสอบมันก็กลุ่มเดิมๆนี่แหละครับ รอจังหวะเวลาของเราเท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องทำคือหาข้อบกพร่องของตัวเอง และพัฒนาให้สม่ำเสมอ อย่าทิ้งและอย่าท้อครับ การสอบเป็นแค่เกมส์เกมส์หนึ่ง แพ้เกมส์นี้ไม่ได้หมายความเราจะแพ้ตลอดไป หากเรายังฝึกซ้อมอยู่เสมอครับ ขอเป็นกำลังใจให้เพื่อนๆทุกท่านพยายามให้ถึงจุดหมายให้ได้ครับ
สุดท้ายนี้หากข้อเขียนชิ้นนี้มีประโยชน์อยู่บ้างขอให้กุศลครั้งนี้ได้รับแก่บิดามารดาของผมซึ่งเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังและให้กำลังใจผมตลอดมาครับ ส่วนข้อผิดพลาดประการใดผมขออภัยและรับไว้แต่ผู้เดียวครับ 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น: