วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เคล็ดลับ! พิชิตทุนเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำ 3 ต้นแบบ “แพทย์-วิศวะ-รัฐศาสตร์” ชี้ช่องทาง



นางสาวรัชวรรณ เจิดเสริมอนันต์ นักศึกษาทุนโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOD)
       
       
       เปิดใจนิสิตทุนจาก 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทย “จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์-พระจอมเกล้าพระนครเหนือ” ถึงเคล็ดลับ-การเตรียมความพร้อม-แนวคิด การพิชิตทุนเต็มอัตรา! นิสิตทุนแพทย์จุฬาฯ เผยแนวทางสู่ความสำเร็จ “คณะไหน” ก็ไม่หวั่น ด้าน มธ. แนะ 3 คุณสมบัติสำคัญ โดยเฉพาะเด็กชนบท “เตรียมพร้อมอยู่เสมอ-ใฝ่รู้-ทะเยอทะยาน” เรียนแบบ “เข้าใจแก่น” ได้ทุนไม่ยาก โอด PR ไม่ทั่วถึง-เด็กเสียโอกาสทางการศึกษา ขณะที่ “ภวัต ตรัยพัฒนากุล” คว้าทุนตั้งแต่ ป.ตรี-ป.โท และกำลังเตรียมตัวพิชิตทุนปริญญาเอก เพื่อไปสู่จุดหมายที่ตั้งไว้!
      
       ปัจจุบันช่องทางในการเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษามีหลากหลายช่องทาง รวมถึงการผุดของทุนการศึกษาที่เปิดโอกาสให้แก่เด็กที่มีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นทุนเรียนดี, ทุนยากจน, ทุนเฉพาะจังหวัด, ทุนเฉพาะคณะ ฯลฯ ดังนั้น นักเรียนที่กำลังจะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาจึงควรเปิดรับข้อมูล และเตรียมความพร้อม เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการมุ่งสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน
      
       ทีม special scoopให้ความสำคัญกับเส้นทางการศึกษาและเคล็ดลับในการพิชิตทุนซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับเด็กรุ่นหลังต่อไป จึงได้พูดคุยแบบเจาะลึกกับนักศึกษาทุนของ 3 คณะดัง จาก 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ เริ่มจากทุนโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOD) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปริญญาตรี และทุนการศึกษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ในระดับปริญญาโท และทุนโครงการนักศึกษาเรียนดีจากชนบท หรือ “ช้างเผือก” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
      
       แนวทางสู่ความสำเร็จ “คณะไหน” ก็ไม่หวั่น
        
      
       นางสาวรัชวรรณ เจิดเสริมอนันต์ นักศึกษาทุนโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOD) ประจำปี 2552 ขณะนี้เรียนปี 3 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำน้องๆ ที่ต้องการเตรียมความพร้อมสู่รั้วมหาวิทยาลัยว่า ก่อนอื่นต้องถามตัวเองว่าอยากเข้าคณะไหน จากนั้นให้หาข้อมูลอยู่เสมอ เพราะข้อมูล รายละเอียด โควตาต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงปีต่อปี รวมถึงการสอบชิงทุนจะต้องสอบอะไรบ้าง 2. แบ่งสัดส่วนเวลาให้เหมาะสม กำหนดเป้าหมายที่แน่นอนไว้ เพราะว่าบางคนท้อ บางคนก็ผัดวันประกันพรุ่งจึงไม่สำเร็จ และที่สำคัญคือการให้กำลังใจตัวเอง
      
       “บางครั้งการอ่านเพียงอย่างเดียวก็จำไม่ได้ จึงควรทำโจทย์อย่างน้อย 50 ข้อควบคู่กับเรื่องที่เราอ่านไป จะทำให้รู้ว่าเนื้อหาออกมาแนวไหน เน้นอะไรบ้าง แล้วจึงอ่านอีกครั้งตั้งแต่ต้น-จนจบ พร้อมกลับมาทำโจทย์ทั้งหมดอีกครั้ง”
      
       ในส่วนของเธอเองเริ่มหาข้อมูลตั้งแต่ ม.4-ม.5 แล้วได้เตรียมความพร้อมให้ตรงตามคุณสมบัติที่คณะนั้นๆ ต้องการ รวมถึงการสอบตรง ฯลฯ จากนั้นมองว่าคณะไหนมีเปอร์เซ็นต์ติดสูงสุด ระหว่างที่หาข้อมูลจึงพบว่า โครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOD) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเปิดให้ทุนกับ จ.สมุทรปราการ อ.พระประแดง ที่ตนอยู่ เลยเห็นว่าโอกาสทางการศึกษามาถึงแล้ว
      
       แพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน พัฒนาชุมชน
        
      
       นักศึกษาทุนโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOD) เล่าต่อว่า แม้จะทราบว่ามีการเปิดให้ทุน ODOD ในอำเภอช่วงเรียนอยู่ ม.6 แต่เธอมีการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ ม.4 แล้ว ทั้งเรื่องของการอ่านหนังสือ และเรียนพิเศษ อีกทั้งทางสาธารณสุขของทางอำเภอพระประแดงจะเรียกตัวผู้ที่มีสิทธิเข้ามาชิงทุนมาติวพิเศษให้โดยเฉพาะ จากอาจารย์ที่เชี่ยวชาญในวิชาต่างๆ มาสอนเทคนิคในทุกๆ วิชาที่จะสอบ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียน ซึ่งรายละเอียดแต่ละอำเภอจะต่างกันไป
      
       สำหรับขั้นตอนการสมัครชิงโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOD) รับอำเภอละ 1 คน คุณสมบัติด้านเกรดเฉลี่ยผู้สมัครต้องเกิน 3.5 ขึ้นไปทุกเทอม จากนั้นให้ส่งคะแนนความถนัดแพทย์ รวมถึงการส่งคะแนนความถนัดทั่วไป (GAT : General Aptitude Test) ความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT : Professional and Academic Aptitude Test) ประกอบการพิจารณา
      
       อย่างไรก็ดี ทุน ODOD ของแต่ละจังหวัดจะมีโควตาร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างกัน อย่างคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ทุน ODOD ไว้ 8 จังหวัดเท่านั้น ประกอบด้วย สมุทรปราการ, ชลบุรี, ระยอง, ตราด, จันทบุรี, นครนายก, อยุธยา, นครปฐม ในปีที่สมัครเปิดรับ 20 ทุน ขณะที่คณะแพทย์มี 300 คน โดยกำหนดอำเภอไว้ชัดเจน เกณฑ์การเลือกให้ทุนจะดูอำเภอที่มีจำนวนแพทย์ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งตอนนั้นเธอเรียนอยู่ที่เซ็นโยเซฟ บางนา สายวิทย์-คณิต และเป็นคน จ.สมุทรปราการ อ.พระประแดง ซึ่งเป็นอำเภอที่จุฬาฯ เปิดให้ชิงทุน ODOD
      
       เมื่อเข้ามาเรียนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการ ODOD จะมีคลาสเรียนเสริม เรียกว่าติว ODOD พิเศษกว่านักศึกษาปกติ จะติววิชาที่เรียนทั่วๆ ไป สำหรับนำไปใช้งานในอนาคต หรือการสอบ เช่น เรียนวันจันทร์ ก็จะมีการจัดติวทบทวนซ้ำวิชาที่เรียนในวันอังคาร ซึ่งจะไม่เป็นการบังคับ แล้วแต่สมัครใจ มองว่าโชคดี และแม้จะจัดการติวเพื่อเด็ก ODOD แต่เด็กนักเรียนปกติก็สามารถมาร่วมติวได้ด้วย
      
       ก่อนเลือกเรียน “หมอ” ให้ถามตัวเองดีๆ
        
      
       นางสาวรัชวรรณเล่าถึงการเข้าถึงทุนของเด็กในอำเภอพระประแดงว่า ส่วนใหญ่คนจะไม่รู้จักทุนโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOD) จึงมีคนมาสมัครไม่มาก ประกอบกับเรื่องระยะเวลาในการใช้ทุนที่มากถึง 12 ปี ยิ่งทำให้คนเข้าชิงทุนไม่มากนัก ส่วนของตนเองได้คุยกับครอบครัว แล้วเห็นว่าการกลับมาใช้ทุนที่อำเภอของตนเองเป็นเรื่องที่ไม่ลำบาก เนื่องจากใกล้บ้าน และเป็นอำเภอของเราเอง
      
       ส่วนอนาคตวางแผนเมื่อเรียนจบแล้วก็จะกลับไปทำงานที่อำเภอสักพัก แล้วค่อยหาว่าตนถนัดอะไร อยากไปด้านไหน แล้วอาจไปเรียนต่อเฉพาะทาง แล้วค่อยกลับมาใช้ทุนต่อ แต่ไม่ได้มองทุนเรียนต่อไว้ เพราะคิดว่าในช่วงเวลานั้นน่าจะมีกำลังทรัพย์ที่จะจ่ายได้เอง และคิดว่าการที่เป็นนักเรียนทุน ODOD ไม่ได้ทำให้ตนเองมีโอกาสในการทำงานมากกว่าเพื่อนๆ ที่จบมาพร้อมๆ กัน
      
       “สำหรับเด็กที่อยากเรียนแพทย์ อยากให้ถามตัวเองว่าอยากเป็นแพทย์จริงๆ รึเปล่า เพราะตอนเรียนก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว อยากให้น้องๆ เขียนเอาไว้เลยว่าอยากเป็นแพทย์เพราะอะไร แล้วติดเอาไว้ดู เพื่อจำเอาไว้ จะได้ไม่ต้องมาถามตัวเองว่าทำไมถึงเลือกเส้นทางนี้ พอเสร็จแล้วก็หาข้อมูลว่าที่ไหนมีข้อดี ข้อเสียอะไรบ้าง เพราะแต่ละที่ก็มีลักษณะการสอบที่ต่างกัน จากนั้นก็เริ่มเตรียมอ่านหนังสือ” นักศึกษาทุนโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน (ODOD) ระบุ
        

 
นายภวัต ตรัยพัฒนากุล นักศึกษาทุนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปริญญาตรี และทุนการศึกษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อศึกษาต่อ ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที)
        
        
       จุดเปลี่ยนเรียน ปวช.พระนครเหนือ
        
      
       นายภวัต ตรัยพัฒนากุล นักศึกษาทุนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ปริญญาตรี และทุนการศึกษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อศึกษาต่อ ณ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ในระดับปริญญาโท เล่าถึงจุดเริ่มต้นการปฏิบัติตน การเรียนที่ส่งผลให้พิชิตทุนการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก้าวเข้าสู่รั้วพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กระทั่งจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีที่นี่ว่า ได้เข้าเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือในด้านเครื่องกล ทำให้มีความรู้ในด้านทฤษฎี และปฏิบัติที่แน่น ทำให้ได้เปรียบเด็กที่เรียนในระดับมัธยมศึกษา
      
       เนื่องจากการสอนของที่นี่จะเป็นการเรียนในแบบผู้ใหญ่ เช่น การเรียนวิชาคณิตศาสตร์จะเรียนทีเดียว 3 ชั่วโมง ต่างจากมัธยมที่เรียนประมาณ 50 นาที หรืออย่างการสอบก็จะให้แสดงวิธีทำ ไม่ได้สอบแบบกากบาท นั่นเป็นจุดที่ทำให้ได้เรียนรู้จริง
      
       ขณะที่เรียนอยู่ ม.3 จะต้องเลือกว่าจะเข้าเรียนต่อในสายสามัญ หรือสายอาชีพ ซึ่งตัวเขามีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเข้าเรียน ปวช. แต่คุณพ่อเชื่อมั่นว่า หากจะเรียนด้านวิศวะ ควรมีความรู้ มีการเตรียมความพร้อมทั้งในด้านปฏิบัติ และวิชาการ ซึ่งคุณพ่อเชื่อมั่นในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่นิยมเรียกกันว่า เทคนิคไทย-เยอรมัน และพอตัวเองได้มาเรียนเพียง 1 เดือน ก็รู้สึกชอบ เนื่องจากที่นี่ให้ความรู้ทั้งในด้านปฏิบัติ และวิชาการแน่นมาก ไปไกลกว่าเด็กที่เรียนสายสามัญจนจบ ม.6
      
       “เข้าใจแก่น” ได้ทุนไม่ยาก
        
      
       จากตอนที่เรียนจบระดับ ปวช. ตนได้คะแนนเป็นที่ 1 ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จึงให้เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่นั่นได้เลย ในแต่ละปีจะรับโควตาที่มาจากเครือเดียวกันสาขาละประมาณ 20 คน ส่วนเพื่อนๆ ที่เรียนมาด้วยกัน แม้ไม่ได้โควตาแต่ส่วนใหญ่ก็สอบตรงเข้ามาเรียนได้ เนื่องจากได้เปรียบด้านความรู้และการปฏิบัติที่แน่น
      
       ขณะที่ตนเรียนในระดับปริญญาตรี สาขาเครื่องกล ก็ได้คะแนนดี ทำให้ได้ทุนประมาณ 6 เทอม จากที่เรียนรวม 8 เทอม ซึ่งในแต่ละปีทุนจะต่างกันตามงบประมาณ อย่างบางปีให้ทุนเดียวกันมากถึง 7-8 คน ขณะที่อยู่ปี 3 ตนก็ได้ยื่นขอทุนของทาง ISUZU และได้ทุนมูลค่า 80,000 บาท จำนวน 2 ทุน
      
       อย่างไรก็ดี นายภวัตเผยถึงเคล็ดลับการเรียนดี และส่งผลให้ได้ทุนว่า มีหัวใจหลักอยู่ที่คำว่า “ต้องขยัน” ซึ่งประกอบด้วย
      
       1. อ่านหนังสือล่วงหน้า อย่างในช่วงปิดเทอม ขณะที่เพื่อนๆ ไปเที่ยวเล่น ตนได้อ่านหนังสือล่วงหน้า และทำโจทย์ เรียนด้วยตนเอง พอเปิดเทอมก็พร้อมสอบกลางภาค เมื่อเปิดเรียน อาจารย์สอนก็เป็นการทบทวนความรู้ ส่วนที่ไม่เข้าใจก็สอบถามอาจารย์
      
       2. ตั้งใจเรียนในห้องเรียน
      
       3. ช่วงจะสอบก็นำความรู้ที่สะสมมาทบทวน ตั้งใจอ่าน ไม่ใช่ว่ามาอ่านเพียงไม่กี่วันก่อนสอบ แบบอัจฉริยะข้ามคืน
      
       4. บางครั้งการจะประสบความสำเร็จต้องใช้ความสามารถ+ความเฮง อย่างตนก็จะสวดมนต์เสมอ และเชื่อว่าจะช่วยเสริมกัน เนื่องจากโจทย์ด้านนี้จะมีการพลิกแพลงตลอดเวลา ไม่ตายตัว ก็ต้องใช้ดวงประกอบด้วย
      
       “การได้ทุนมองว่าเป็นผลพลอยได้ แต่สิ่งสำคัญคือการเข้าใจ และสามารถนำความรู้มาใช้ได้จริง ไม่ได้เรียนเพื่อสอบ อย่างตนเองเมื่อได้คะแนนดี จึงค่อยเริ่มมองหาทุน และเมื่อได้ทุนแล้วก็ไม่คิดจะไปหาทุนเพิ่มขึ้น เพราะเห็นว่าควรแบ่งให้เพื่อนๆ ด้วย”
      
       เคล็ดลับพิชิตทุน QUEEN
        
      
       หลังจากจบปริญญาตรี และตัดสินใจจะเรียนต่อในระดับปริญญาโท ก็มุ่งหาทุนการศึกษา โดยตั้งใจว่าจะไม่ใช้เงินของพ่อแม่ เนื่องจากเห็นว่าใช้เงินของท่านมามากแล้ว ดังนั้นจึงหาทุนด้านวิศวกรรมศาสตร์ แล้วยื่นสมัครตามเกณฑ์ ประกอบกับตอนปริญญาตรีเขาทำเกรดมาดีโดยตลอด จึงได้เปรียบ และเมื่อยื่นสมัครขอทุนการศึกษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อศึกษาต่อ ณ สถาบันเอไอทีก็ได้รับทุนเต็มจำนวน รวมมูลค่าเกือบ 1 ล้านบาท
      
       ปัจจุบันจบปริญญาโทแล้วก็กำลังมองหาทุนในการศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก เพราะมีความตั้งใจอยากเป็นอาจารย์ โดยเริ่มจากมองหาประเทศที่อยากศึกษาต่อ แล้วจึงมองหาทุน จากนั้นก็เตรียมความพร้อมให้เข้าตามคุณสมบัติที่กำหนด ซึ่งจากการเรียนแบบเข้าใจ และรู้จริง ความรู้จึงอยู่กับตัวเรา พร้อมที่จะนำมาใช้เสมอ
      
       “การเรียนด้านวิศวะว่าด้วยการศึกษาธรรมชาติ อ้างอิงกับความจริง หากเข้าใจและคิดเป็นระบบ ก็จะสามารถทำได้ และเชื่อว่าการติวหนังสือให้เพื่อนๆ จะช่วยให้ตนเองเข้าใจอย่างแท้จริง จะทำให้รู้ว่าขาดตรงจุดไหน ซึ่งเป็นการช่วยทั้งเพื่อนและเรา ซึ่งวิชาที่ด้านวิศวะควรเน้น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการสอบทุนก็คือ พื้นฐานคณิตศาสตร์, ฟิสิกส์ และภาษาอังกฤษ ซึ่งภาษาอังกฤษเป็นวิชาที่เด็กวิศวะไม่ค่อยชอบ แต่การชิงทุนเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากหลายแห่งมีการใช้ภาษาอังกฤษ”
      
       เปิดใจเด็ก “ช้างเผือก” มธ.
        
      
       ด้าน นายวิทยา นามคำ นักศึกษาทุนโครงการนักศึกษาเรียนดีจากชนบท หรือ “ช้างเผือก” จ.ศรีสะเกษ ระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าศึกษาปี 2550 จบการศึกษาปี 2554 ปัจจุบันทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลในบริษัทเอกชน จังหวัดสมุทรสาคร เล่าถึงการก้าวเข้าสู่ความสำเร็จในการพิชิตทุนของธรรมศาสตร์ว่า ช่วงที่ตัวเขาศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทย์-คณิต โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ทราบว่าทาง ม.ธรรมศาสตร์เปิดให้ทุนโครงการนักศึกษาเรียนดีจากชนบท หรือที่นิยมเรียกว่าโครงการ “ช้างเผือก” ให้แก่เด็กที่มีภูมิลำเนาใน จ.ศรีสะเกษ จากอาจารย์แนะแนวที่โรงเรียน นั่นจึงเป็นการจุดประกายให้ร่วมเข้าชิงทุน โดยสมัครกับทางโรงเรียน จากนั้นโรงเรียนจึงส่งนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์เข้าร่วมชิงทุน
      
       หลังจากผ่านเกณฑ์คุณสมบัติมีสิทธิ์เข้าชิงทุน ก็เดินทางมาสอบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยข้อสอบจะเป็นเชิงข้อสอบเชาวน์ มีสอบคณิตศาสตร์, ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ หลังจากได้รับการคัดเลือกถึงรอบสุดท้ายเหลือ 10 คน จากผู้เข้าสอบ 500 คน ทางมหาวิทยาลัยจะเดินทางมาสัมภาษณ์ และดูความเป็นอยู่ของเด็กที่บ้านโดยตรง มีการพูดคุยกับผู้ปกครอง เด็ก และเพื่อนบ้าน เพื่อคัดเลือกเหลือเพียง 5 คนเท่านั้น จึงมองว่าการที่อาจารย์เข้ามาถึงบ้าน เป็นตัวบ่งชี้ว่าทุนนี้ไม่ได้วัดที่ตัวคะแนนการสอบเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงภาพรวมของตนด้วย
      
       สำหรับโครงการช้างเผือกเป็นโครงการที่ให้เต็มจำนวน ทั้งค่าเทอม รวมถึงค่าใช้จ่าย 4,000 บาทต่อเดือน กรณีที่เรียนไม่ถึง 20 วันจะให้ค่าใช้จ่ายที่ 2,000 บาท และรวมค่าตำราให้ด้วย แต่หากลองวิเคราะห์จะพบว่าในบางครั้งอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในเมือง ทางบ้านจึงต้องสามารถช่วยเหลือได้บ้าง จึงคิดว่าทุนนี้ไม่ได้เลือกเด็กที่มีฐานะยากจนมาก จนทางบ้านไม่สามารถช่วยเหลือเด็กได้ และไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุดถึงมีโอกาสสมัครชิงทุน เพราะเกรดเฉลี่ยได้ไม่ถึง 3 ก็สามารถเข้าชิงได้แล้ว
      
       3 คุณสมบัติ “เตรียมพร้อมอยู่เสมอ-ใฝ่รู้-ทะเยอทะยาน”
        
      
       ส่วนวิธีการที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการชิงทุน เริ่มจากการเตรียมความพร้อมเหมือนตอนที่จะแอดมิสชันกลาง หรือต้องการสอบตรงในมหาวิทยาลัยต่างๆ เนื่องจากช่วงที่ตัวเขาทราบว่ามีทุนการศึกษาก็อยู่ ม.6 แล้ว หากไม่มีการอ่านหนังสือเตรียมสอบไว้เป็นทุนเดิมก็คงเตรียมตัวไม่ทันแน่นอนและไม่ทราบมาก่อนว่าการสอบชิงทุนในครั้งนี้จะต้องสอบอะไรบ้าง
      
       แต่ด้วยการที่มีการเตรียมเพื่อจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ส่งผลให้ช่วงสอบชิงทุนในครั้งนั้นเขารู้สึกว่าทำข้อสอบได้เยอะ และสิ่งที่เด็กควรจะมีคือ การใฝ่หาความรู้ ไม่ได้ปล่อยให้ข้อมูลวิ่งมาหา แต่ควรใฝ่หาข้อมูลอยู่เสมอเพื่อเพิ่มโอกาสให้ตนเอง อีกทั้งควรมีความทะเยอทะยาน มองให้ไกล
      
       เมื่อได้รับทุนแล้วพอเข้ามาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ปฏิบัติตนให้อยู่ในเกณฑ์ และมีการเข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษาเสมอ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือการปรับตัวของเด็กที่มาจากต่างจังหวัดให้สามารถอยู่ในสังคมที่แตกต่างได้ โดยเฉพาะสังคมของคนกรุงเทพฯ มิฉะนั้นก็จะทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในที่สุด เหมือนกรณีเพื่อนชาวเขาที่ได้ทุนโครงการเดียวกัน เมื่อมาเจอสังคมที่ต่างกันมาก ไม่สามารถปรับตัว และความรู้สึกของตนเองได้ จึงตัดสินใจกลับไปที่หมู่บ้านในที่สุด
      
       “จบการศึกษามาแล้วเกือบ 1 ปี มองว่าการที่เป็นเด็กทุนโครงการช้างเผือกโอกาสในการได้งานไม่ต่างจากเพื่อนๆ ที่เรียนมาด้วยกัน เนื่องจากในทรานสคริปต์ไม่ได้ระบุว่าเป็นเด็กทุน หรือเป็นเด็กเรียนปกติ จึงไม่มีผลต่อการพิจารณารับเข้าทำงาน หรือศึกษาต่อแต่อย่างใด ส่วนผมมีความตั้งใจว่า เมื่อเรียนจบจะกลับไปพัฒนา ทำงานที่บ้าน เป็นข้าราชการ จึงเลือกเรียนรัฐศาสตร์” นักศึกษาทุนโครงการนักศึกษาเรียนดีจากชนบท หรือ “ช้างเผือก” จ.ศรีสะเกษ เล่าให้ฟัง
      
       PR ไม่ทั่วถึง-เด็กเสียโอกาสทางการศึกษา 
        
      
       อย่างไรก็ดี นักศึกษาทุนโครงการนักศึกษาเรียนดีจากชนบท หรือ “ช้างเผือก” จ.ศรีสะเกษ กล่าวถึงภาพการเข้าถึงข้อมูลของเด็กใน จ.ศรีษะเกษ ว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างมาก ที่เด็กส่วนใหญ่ในจังหวัดไม่ทราบว่ามีทุนการศึกษาที่ให้เฉพาะจังหวัดของตน หรือมีทุนในรูปแบบต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้แก่เด็กด้อยโอกาส หรือเด็กที่มีการศึกษาดี มีความตั้งใจ แต่อาจไม่มีกำลังทรัพย์ หรือความพร้อมในบางด้าน แต่หากมีการประชาสัมพันธ์ทั่วถึงจะสร้างโอกาสให้เด็กเป็นอย่างมาก ซึ่งตัวเขาถือเป็นผู้ที่ได้ทุนที่มาจากโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ซึ่งผ่านมานานมากแล้ว
      
       “การที่เด็กไม่รู้ทำให้พลาดโอกาสทางการศึกษา ส่งผลให้เด็กส่วนใหญ่ในจังหวัดมักมอง หรือฝันได้ไกลแค่การเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาภายในจังหวัด หรือภูมิภาคเท่านั้น และหากมีการประชาสัมพันธ์ก่อนล่วงหน้า เด็กก็จะมีเวลาในการเตรียมความพร้อมสอบชิงทุน”

ไม่มีความคิดเห็น: