แนะเด็ก ม.ปลาย เลือกเรียนต่อระดับอุดมศึกษา “สาขาอาชีพแห่งอนาคต” มั่นใจหางานง่าย รายได้สูง เป็นที่ต้องการของตลาดหลังเปิด AEC ขณะที่สาย “สังคมศาสตร์” ล้นตลาด-เสี่ยงตกงาน ผู้ก่อตั้ง www.eduzones.com ชี้ “4 ทักษะ” ตรงใจนายจ้างรับเข้าทำงาน ด้าน ม.หอการค้าไทย ระบุรัฐต้องส่งเสริมด้าน “วิทยาศาสตร์” แก่สถาบันอุดมศึกษา ทีม special scoop ได้นำเสนอเรื่องระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามาแล้ว 3 ตอน ตอนแรก “ม.เอกชนป่วน! หลายแห่งรอปิดกิจการ หลังถูก ม.รัฐเปิดภาคพิเศษชิงตลาดนักศึกษาจบใหม่” ตอนที่ 2 “สกอ.ตีตรา “ป.ตรี” จบศูนย์ฯ หวั่นไร้คุณภาพ สภาอุตฯ แจงวิธีคัดเลือก “เด็กเจ๋ง” เข้าทำงาน” ตอนที่ 3 เจาะลึก 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำบุกตลาดอาเซียน โชว์จุดเด่นทุกสถาบัน-มธ.เจ๋ง! เป็นที่ 2 ของโลก ส่วนตอนที่ 4 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายจะนำเสนอสาขาอาชีพแห่งอนาคตเพื่อให้นักเรียนชั้น ม.6 ที่กำลังจะก้าวสู่รั้วมหาวิทยาลัยได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการเลือกสาขาที่ตลาดแรงงานต้องการ และเมื่อเลือกเรียนไปแล้วย่อมไม่ตกงาน แถมมีโอกาสสร้างรายได้ที่สูงกว่าในระดับปริญญาตรีด้วยกัน แม้ที่ผ่านมาอัตราการว่างงานของประเทศไทยจะยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ไม่ถึง 300,000 คน แต่พบว่าบัณฑิตที่จบมาในแต่ละปี โดยเฉพาะสาขายอดฮิตบางสาขา หากต้องการทำงานตรงสายที่เรียนมา ก็มีโอกาสน้อย ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากตลาดรองรับจำกัด เช่น คณะนิเทศศาสตร์มีบัณฑิตที่จบออกมาในแต่ละปีหลายแสนคน แต่ตลาดกลับมีการเปิดรับไม่ถึง 50% ของจำนวนบัณฑิตที่ผลิตออกมา ดังนั้นจึงต้องหันไปทำอาชีพอื่นแทน และการที่ผู้ประกอบการมีตัวเลือกมาก จึงส่งผลให้มีการจ้างงานในอัตราที่ต่ำ ขณะที่บางสาขาอาชีพกลับขาดแคลน อย่างไรก็ดี การตัดสินเลือกเรียนสาขาอาชีพแห่งอนาคต ที่มีข้อมูลชี้ชัดย่อมเป็นเครื่องมือหรือเข็มทิศในการวางแผนชีวิตและสามารถตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และอนาคตของบัณฑิตไทยได้อย่างเหมาะสม “วิทยาศาสตร์สุขภาพ” สาขาอาชีพแห่งอนาคต โดยทีมข่าว special scoop เลือกที่จะสัมภาษณ์ผู้บริหารของเว็บไซต์ www.eduzones.com เนื่องจากเว็บไซต์นี้ก่อตั้งขึ้นมาจากความร่วมมือของคณะอาจารย์ จากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ รศ.ดร.สุรศักดิ์ วัฒเนสก์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ม.เชียงใหม่, ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, รศ.ดร.ประทีป จันทร์คง อดีตผู้อำนวยการสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ , รศ.ดร.ดำรงค์ วัฒนา รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, ผศ.นพ.ดร.ดำรงศักดิ์ บุลยเลิศ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และ ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ กรรมการตรวจสอบการทำงาน ระบบแอดมิสชัน กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการให้บริการข้อมูลทางการศึกษา และกระจายโอกาสทางการศึกษา ด้วยการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อนักเรียน นักศึกษา ครู-อาจารย์ และผู้เกี่ยวข้อง โดยจัดทำเป็นโปรแกรมและข้อมูลให้บริการฟรีกับสมาชิกทุกคน โดยในเว็บไซต์นี้จะเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจทางการศึกษาได้เป็นอย่างดี เช่น มีการจัดทำแบบประเมินโอกาสในการเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยตามคณะและสาขาที่ต้องการ, การประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีการเปิดสอบตรง, การสำรวจคณะหรือมหาวิทยาลัยที่เด็กชอบและอยากเข้าเรียน หรือการจัดทำข้อมูลตามหลักวิชาที่เกี่ยวข้อง บอกถึงสาขาอาชีพแห่งอนาคตที่นักเรียนควรเลือกเรียน และตลาดแรงงานต้องการ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อวงการการศึกษาของไทย ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการศึกษาอิสระ ผู้ก่อตั้ง www.eduzones.com กล่าวว่า ได้ทำการวิเคราะห์ถึงอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดในอนาคต โดยนิยาม “สาขาอาชีพแห่งอนาคต” ว่าเป็น “สาขาที่หางานง่าย รายได้สูง” จะอยู่ในสายงานของ “วิทยาศาสตร์สุขภาพ” ได้แก่ แพทย์, พยาบาล, เภสัช, เทคนิคการแพทย์ ฯลฯ เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สำหรับบัณฑิตในสายงานนี้จบการศึกษาออกมาในแต่ละปีมีเพียง 30,000 คนเท่านั้น เหตุผลหนึ่งมาจากต้นทุนในการผลิตสูง แม้ปัจจุบันจะมีหลายแห่งเปิดเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก จึงถือเป็นโอกาสของผู้ที่เลือกเรียนและให้ความสำคัญกับการหางานง่าย มีรายได้สูง ซึ่งจบออกไปโอกาสตกงานน้อย โดยเฉพาะเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเปิดให้ 7 อาชีพเคลื่อนย้ายแรงงานได้ โดยมีสาขาที่เกี่ยวข้องกับ “วิทยาศาสตร์สุขภาพ” อยู่กว่าครึ่ง ได้แก่ พยาบาล, ทันตแพทย์, แพทย์ ส่วนที่เหลือเป็นด้านวิศวกร , สถาปนิก, นักสำรวจ, นักบัญชี ทั้งนี้ คาดว่าอาชีพที่มีแนวโน้มจะเคลื่อนย้ายจากไทยสู่อาเซียนสูงก็คือพยาบาลและด้านเทคนิคการแพทย์ในประเทศไทย เนื่องจากรายได้ในประเทศไม่สูง และไม่ได้รับเกียรติมากเท่าที่ควร ต่างกับประเทศในกลุ่มอาเซียนบางประเทศ อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ที่ให้รายได้พยาบาลและด้านเทคนิคการแพทย์ในอัตราที่สูง ขณะที่แพทย์ และทันตแพทย์ของไทยเป็นอาชีพที่สังคมไทยให้ความนับถือ ให้เกียรติ และมีรายได้ที่ดี ไม่ต่างจากประเทศในกลุ่มอาเซียนมากนัก จึงอาจทำให้มีการเคลื่อนย้ายน้อยกว่า ดร.วิริยะแนะว่า ปัจจัยที่ต้องคำนึงก่อนตัดสินใจเลือกสาขาที่เรียน หรืออาชีพในอนาคต สิ่งสำคัญที่สุดคือ บุคลิก เช่น หากเป็นคนไม่ชอบพูด การประกอบอาชีพพนักงานขายก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรฝืนทำ เรียนไปก็จะเหนื่อย ประการต่อมาต้องดูที่ศักยภาพและทักษะในตัวเอง ส่วนประการสุดท้ายต้องประเมินความรู้ด้านวิชาการของผู้ที่จะเรียน หากชอบเรียนภาษา หรือเก่งภาษาก็ควรส่งเสริมให้เรียนด้านนั้น “หากได้เรียนในสิ่งที่รัก ก็จะมีความสุข ส่วนผู้ปกครองก็ควรให้คำแนะนำลูกจากการที่ลูกเลือกแล้ว อาจเกิดความสับสนว่าเหมาะกับเค้าหรือไม่ ซึ่งผู้ปกครองต้องพิจารณาจากลักษณะความเป็นตัวเค้า เพื่อใช้แนะนำ แต่หากไม่รู้จะเรียนอะไร หากต้องการเพียงจบมาได้งานทำ และมีเงินเดือนสูง ก็แนะนำให้เลือกสาขาอาชีพแห่งอนาคต” ดร.วิริยะ ระบุ | ||||
4 ทักษะชี้วัดการได้งาน อย่างไรก็ดี การพัฒนาคนเพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และในสังคมโลก จะต้องมีทักษะ 4 ด้าน ดังนี้ 1. ทักษะการเรียนรู้ การค้นคว้า หาความรู้ พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา มีความตื่นตัว มากกว่าเก่งเพียงการจดจำเท่านั้น 2. ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่สอนคนให้มีทักษะด้านนี้เท่าไรนัก 3. ทักษะการสื่อสาร ในที่นี้ไม่ใช่แค่จำเป็นต้องได้หลายภาษาเท่านั้น แต่ต้องมีทักษะในการสื่อสารที่ดี ทั้งการสื่อด้วยภาพ เสียง การสนทนา ฯลฯ ในรูปแบบของการนำเสนอ การพูดคุยให้เกิดความเข้าใจอันดี สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ง่าย เป็นผู้นำที่สามารถจูงใจพนักงานได้ เป็นต้น สำหรับทักษะในการสื่อสารนั้นจะต้องใช้เวลาในการฝึกฝน ซึ่งประเทศอาเซียนในกลุ่มอาเซียน อย่างสิงคโปร์ให้ความสำคัญในด้านทักษะการสื่อสารตั้งแต่ 6 ขวบ ให้สามารถมีทักษะสื่อสารได้ และให้เรียนรู้หลายภาษา 4. ด้านคุณธรรม จะเป็นตัวนำพาชีวิตของคน ทั้งนี้ในเรื่องของคุณธรรมจะเป็นสิ่งที่ถูกบ่มเพาะให้ออกมาจากจิตใจ เห็นคุณค่า แล้วจะเป็นสิ่งที่ยั่งยืน ไม่ใช่การเรียนแล้วนำไปสอบเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันแม้เด็กบางคนจะได้คะแนนวิชาจริยธรรม ศีลธรรมเต็ม ก็ไม่ได้เป็นตัววัดว่าจะเป็นคนที่มีคุณธรรมในสังคม เนื่องจากระบบการศึกษาของไทยเน้นแต่การจำ และคิดวิเคราะห์เป็นหลัก “สิงคโปร์เป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับระดับโลก เนื่องจากมีการฝึกฝนตั้งแต่เล็กให้มีความซื่อสัตย์ สุจริต หากคนไหนทุจริตจะไม่มีใครในสังคมยอมรับ จนต้องออกไปหางานทำยังต่างประเทศ” โดยในเรื่องของทักษะทั้ง 4 ด้านจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอาชีพแห่งอนาคตมาก ไม่ว่าจะทำงานด้านไหนก็ตาม ทั้งนี้ เมื่อนำทักษะทั้ง 4 ด้านมารวมกับความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ ก็จะเกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้น โดยเฉพาะอาชีพอิสระ เช่น ในอดีตไม่มีการ์ตูนแอนิเมชัน, line หรือแอปพลิเคชัน โปรแกรมการสนทนาระหว่างกันผ่านสมาร์ทโฟน เป็นต้น แต่ปัจจุบันก็ได้เกิดอาชีพดังกล่าวนี้แล้ว “สังคมศาสตร์” ล้นตลาด-เสี่ยงตกงาน ดร.วิริยะยังกล่าวถึงองค์ประกอบในการพิจารณาแนวโน้มของตลาดว่า วิเคราะห์จากตัวเลขบัณฑิตที่จบออกมาในแต่ละสาขามีจำนวนมากเท่าไรในแต่ละปี เทียบกับความต้องการในสายงาน ประกอบกับจำนวนประชากรโลก จากนั้นมองเรื่องแนวโน้มของโลก อย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมองถึงปัจจัยการเข้าถึงในราคาที่ต่ำลง ไม่ว่าจะเป็นส่วนของอุปกรณ์คลื่นความถี่ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ฯลฯ ปัจจัยด้านเทคโนโลยีจะส่งผลให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ขึ้นจำนวนมาก ดังนั้น ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีจึงเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นต่ออาชีพในอนาคตอย่างแน่นอน ประกอบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่มีความผันผวน เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เมื่อเทียบจากอัตราตัวเลขบัณฑิตที่จบออกมาในสายสังคมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, ภาษาศาสตร์, ศิลปศาสตร์ ฯลฯ รวมแล้วกว่า 500,000 คนในแต่ละปี ขณะที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. รับเพียง 5,000 คนเท่านั้น การที่จะเข้าสู่อาชีพราชการจึงเป็นเรื่องยาก ส่วนของเอกชน โดยเฉพาะขนาดย่อม ก็ไม่จำเป็นต้องใช้บัณฑิตที่จบจากคณะรัฐศาสตร์ แม้จะจบออกมาด้วยคะแนนที่ดีก็ตาม ก็มักจะเน้นด้านทักษะในการทำงานมากกว่า ซึ่งอนาคตใบปริญญาพวกนี้อาจไม่มีประโยชน์มากนัก และหลายแห่งจะใช้แรงงานคนลดลง เพราะหันไปใช้เทคโนโลยีแทน จึงส่งผลให้แนวโน้มในอนาคต การทำงานจะเป็นลักษณะธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมมากขึ้น หรือรับงานอิสระ 1 คน 1 กิจการ เป็นต้น | ||||
อุดมศึกษาเน้นหาเด็ก ไม่สนตลาดงาน ดร.วิริยะระบุถึงสาเหตุที่ทำให้อัตราของบัณฑิตที่จบออกมาของมหาวิทยาลัย หรือวงการศึกษาของไทยไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดจริง เกิดจากการที่ไม่มีการพูดคุยถึงความต้องการของตลาด ก่อนที่จะเปิดรับนักศึกษาเข้าเรียน ควรจะกำหนดเปิดสอนสาขาไหน จำนวนเท่าไร เพื่อให้สอดคล้องกับตลาดงานในประเทศ และทั่วโลกในแต่ละปี ไม่ได้ดูดีมานด์ไซส์ แต่กลับผลิตตามซัปพลายไซส์ ซึ่งมักจะถูกกำหนดตามกำลังการผลิตของแต่ละแห่งมากกว่า การมาร่วมมือในการขับเคลื่อนการศึกษาทั้งระบบ การที่วงการศึกษาของไทยในระดับอุดมศึกษาไม่มีการร่วมกันคิดถึงเรื่องของปริมาณการผลิตนักศึกษาให้ตรงต่อความต้องการของตลาดงานเป็นหลัก ส่งผลให้ปัจจุบันในบางสาขาวิชามีบัณฑิตที่จบออกมามากเกินความต้องการของตลาดงาน และบางสาขากลับผลิตบัณฑิตออกมาได้น้อยกว่าความต้องการของตลาด จนเกิดภาวะขาดแคลน อย่างไรก็ตาม เมื่อมองจากค่านิยมของสังคมไทยพบว่ายังคงนิยมศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามากถึง 60% ขณะที่สัดส่วนสายอาชีพอยู่ที่ 40% จึงส่งผลให้ผลิตบุคลากรที่มีทักษะในการทำงานได้น้อย เนื่องจากระบบการศึกษาของไทยนิยมสอนให้บัณฑิตทำข้อสอบได้ แต่ทำงานไม่เก่งเท่าที่ควร หรือขาดทักษะในการทำงาน แนะรัฐส่งเสริมด้าน “วิทยาศาสตร์” สอดคล้องกับที่ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า ตลาดวิทยาศาสตร์สุขภาพยังเป็นที่ต้องการ เนื่องจากเมื่อมองจากตัวอย่างเช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เข้าถึงทุกพื้นที่ จะมีหมู่บ้านหลายพันหมู่บ้าน มีสถานีอนามัยหลายพันแห่ง มีโรงพยาบาลที่ต้องการบุคลากรด้านสาธารณสุข วิทยาศาสตร์สุขภาพจำนวนมาก ดังนั้น ผู้ที่จบด้านนี้ก็จะเป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีภาวะการตกงานไม่มากนัก อีกทั้งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการให้บริการด้านสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพติด 1 ใน 10 ของโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านการรักษา หรือการพักฟื้นหลังจากรักษา และอีกส่วนคือการบริการด้านการผ่อนคลาย อย่างการนวด สปา ความงาม ศัลยกรรม ซึ่งเป็นบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สุขภาพ ดังนั้น การส่งเสริมให้เกิดการสร้างบัณฑิตที่จบด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่ดี อาจส่งเสริมทั้งส่วนของมหาวิทยาลัยรัฐบาล โดยการเปิดเพิ่มภาคพิเศษ โครงการพิเศษ หรือในส่วนของภาคเอกชน อาจส่งเสริมโดยการลดภาษีนำเข้าเครื่องมือ เป็นต้น และอาจลดการเปิดเพิ่มในโครงการพิเศษ ภาคพิเศษของด้านสังคมศาสตร์ลง อย่างไรก็ดี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยในหัวข้อ "มองต่างมุม พ่อแม่-ลูกว่าด้วยอาชีพในฝันและวันเวลาที่มีให้กัน" ในเขตกรุงเทพมหานคร พบว่า ผู้ปกครองร้อยละ 36.1 อยากให้บุตรหลานมีอาชีพแพทย์ รองลงมาคือ นักธุรกิจ ร้อยละ 29.4 ครู อาจารย์ นักวิชาการ ร้อยละ 26.3 อยากให้เป็นพยาบาล ร้อยละ 12.4 เป็นตำรวจ ร้อยละ 12.1 และรองลงมาอยากให้ประกอบอาชีพข้าราชการ, ทหาร, วิศวกร, ทนายความ, ผู้พิพากษา, อัยการ, พนักงานธนาคาร, นักบิน, แอร์โฮสเตส ขณะที่ต้องการอยากให้เป็นนักการเมืองมีเพียงร้อยละ 0.4 ด้านความคิดเห็นของเด็กหรือบุตรหลานวัยไม่เกิน 19 ปี พบว่า ร้อยละ 30.8 อยากเป็นนักบิน, แอร์โฮสเตส รองลงมาอยากเป็นดารา นักร้อง นักแสดง ร้อยละ 29.1 อยากเป็นแพทย์ ร้อยละ 28.9 นักธุรกิจ ร้อยละ 25.7 อยากเป็นตำรวจ และรองลงมาอยากเป็นพยาบาล, ครูอาจารย์, นักวิชาการ, ทหาร, วิศวกร, พนักงานธนาคาร ร้อยละ 24.4 ร้อยละ 0.2 อยากเป็นนักการเมือง |
วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556
แนะเด็ก ม.ปลายเรียน “อาชีพแห่งอนาคต”มั่นใจไม่ตกงาน-รายได้สูง-ตลาด AEC ต้องการ!
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น