วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

ปฏิวัติหัวนักเรียนไทย อ้างกระทบสิทธิมนุษยชน


 หลังจากมีการยุติการใช้ไม้เรียวในการลงโทษเด็กนักเรียนลงก็มีการเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งล่าสุดได้มีการเรียกร้องเรื่องทรงผมนักเรียนที่ผู้ชายต้องสั้นเกรียน ผู้หญิงต้องสั้นเท่าติ่งหู ว่าเรื่องนี้มีการลิดรอนสิทธิมนุษยชนมากเกินไป ทำเอานักเรียนที่รักสวยรักงามต่างยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ที่จะได้ไว้ผมยาวแบบไม่ต้องแอบอาจารย์ฝ่ายปกครอง
       
       นักเรียนผู้ปกครองเรียกร้องสิทธิมนุษยชน
       ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้รับการร้องเรียนจากนักเรียนและผู้ปกครอง ว่าการกำหนดทรงผมของนักเรียน คือนักเรียนชายต้องตัดผมสั้นเกรียน และนักเรียนหญิงต้องตัดผมสั้นเห็นติ่งหู กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยบางโรงเรียนได้อนุโลมให้นักเรียนที่เรียนนาฏศิลป์สามารถไว้ผมยาวได้ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ กรรมการสิทธิมนุษยชนได้พิจารณาและเห็นว่าไม่เป็นการจำกัดสิทธิ เพราะมีกฎระเบียบที่โรงเรียนสามารถอนุโลมได้จึงส่งเรื่องให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบ ซึ่งทาง ครม. ได้ส่งเรื่องต่อให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาเรื่องดังกล่าว
       
       ศิริพร กิจเกื้อกูล รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับแบบทรงผมของนักเรียน นักศึกษา อธิบายแนวความคิดนี้ว่ากระทรวงศึกษากำลังรวบรวมกฎระเบียบเกี่ยวกับทรงผมที่ออกมาหลายฉบับมายกร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ให้เหลือเพียงฉบับเดียว โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และประโยชน์สูงสุดของนักเรียน แต่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ เพราะถือว่าระเบียบต่าง ๆ ดีอยู่แล้ว เพียงแต่นำมาปรับปรุงให้เหมาะสมตามสถานการณ์ปัจจุบันเท่านั้น
       
       ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการได้ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ไม่มีเหตุผลที่จะไปกำหนดอย่างนั้น เพราะสิ่งที่สำคัญคือสิ่งที่อยู่ข้างในมากกว่านั่นคือเรื่องของความรู้ในหัวสมอง ส่วนเรื่องของทรงผมนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะไปตั้งกฎกติกา กำหนดกฎเกณฑ์อะไรซึ่งไม่ค่อยมีเหตุผลมากนัก
       
       กฎระเบียบมีอยู่แล้วเกี่ยวอะไรกับสิทธิมนุษยชน?
       ด้านอาจารย์ภัคญดา กิตติสุทธกุล อาจารย์ฝ่ายกิจกรรมนักเรียน ได้เล่าถึงความรู้สึกว่า ไม่เห็นด้วยหากนักเรียนจะต้องไว้ผมยาว เพราะทางโรงเรียนได้มีกฎเกณฑ์ให้นักเรียนได้ฝึกทำตามระเบียบ ทำตามข้อบังคับ เพื่อเป็นการฝึกให้ตัวนักเรียนเองมีระเบียบวินัย ทุกสถานที่มีกฎระเบียบในตัวอยู่แล้ว เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะได้ไม่ทำอะไรที่ตามใจตัวเอง เพราะว่าการทำตามกฎระเบียบของโรงเรียนนั้นเป็นการฝึกความอดทน หากในอนาคตได้มีการปรับเปลี่ยนให้นักเรียนนั้นสามารถไว้ผมยาวได้ ก็คงต้องยามรับตามกฎระเบียบ ตามนโยบายที่ทางกระทรวงกำหนดมา

 
  หลายเสียง หลายความเห็น
       เสียงส่วนหนึ่งที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องทรงผมของนักเรียน ส่วนมากไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกการตัดผมนักเรียนชายสั้นเกรียนและนักเรียนหญิงต้องสั้นเท่าติ่งหู แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงจริง ๆก็ต้องยอมรับตามกฎระเบียบแบบใหม่
       
        วรรณเพ็ญ อยู่ทอง ผู้ปกครองโรงเรียนหอวังนนทบุรี กล่าวว่า หากนักเรียนสามารถไว้ผมยาวได้มันจะเป็นอะไรที่ไม่น่าดู ความเป็นนักเรียนไทย ความน่ารัก น่าเอ็นดูของเด็กไทยก็จะหายไป ไม่อยากให้เด็กโตก่อนวัย อยากให้เด็กไทยเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ตามวัยของตัวเขาเองเป็นลำดับไป ไม่ใช่ปล่อยให้มีอิสระมากเกินไป ควรมีกรอบให้เด็กบ้าง แต่ต้องไม่ใช่ตีกรอบให้เขาเลย เราต้องให้เขาตีกรอบด้วยตัวเอง แต่ต้องอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่
       
       นฤนาฏ ธิดา นักเรียนโรงเรียนหอวังนนทบุรีเล่าว่า กฎก็ต้องเป็นกฎ โดยปกติจะทำถูกต้องตามกฎระเบียบของโรงเรียนอยู่แล้ว เพราะหากเราทำผิดกฎระเบียบเราก็ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ทำอะไรก็ไม่ได้ เมื่อถูกครูจับได้ ก็ต้องไปตัดผมให้ถูกระเบียบอยู่ดี สู้ทำให้ถูกระเบียบตั้งแต่แรกไปเลยดีกว่า เชื่อว่านักเรียนทุกคนอยากไว้ผมยาวเพื่อความสวยงามและตามแฟชั่นอยู่แล้ว หากมีกฎที่สามารถไว้ผมยาวได้จริง ๆ ก็อยากให้อยู่ในขอบเขต ไม่ใช่จะยาวเท่าไหร่ก็ได้ เพราะเมื่อเราโตขึ้นเราก็สามารถไว้ยาวเท่าไหร่ก็ได้ตามใจชอบ กฎที่มีอยู่นั้นดีอยู่แล้วเพราะดูเป็นระเบียบเรียบร้อยดี
       
       สุทธิพงษ์ ขวัญเมือง นักเรียนโรงเรียนวัดบาง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า จริง ๆ ก็อยากไว้ผมยาว ไม่ชอบทรงนักเรียนเท่าไหร่มันดูแปลก ๆ มองไปทางไหนก็เหมือน ๆ กันหมด แต่ก็ต้องยอมรับเพราะมันเป็นกฎระเบียบของโรงเรียน เราก็ไปทำอะไรไม่ได้ นอกจากจะมีกฎที่ออกมาให้ไว้ผมยาวได้ ซึ่งผมและเพื่อน ๆ ก็จะไว้กัน โดยปกติก็ไม่ได้ตัดผมทรงนักเรียนอยู่แล้ว จะตัดทรงรองหวีมากกว่าเพราะมันดูเหมือนทรงนักเรียน เพียงแค่ไม่เกรียนติดหนังหัว แต่หากถูกอาจารย์จับได้ก็จะถูกตัดผมแล้วให้ไปตัดเป็นทรงนักเรียนมา
       
       หัวไทย ไม่ใช่หัวนอก
       หากเรื่องทรงผมนักเรียนได้ผ่านการอนุมัติจากกระทรวงศึกษาธิการเชื่อได้เลยว่าจะต้องมีเสียงเรียกร้องสิ่งต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตัวชุดนักเรียน เรื่องสีผม ฯลฯ ไม่ต่างอะไรกับต่างประเทศที่จะแต่งชุดอะไรไปเรียนก็ได้ ไว้ผมทรงอะไรก็ได้ ทำสีอะไรก็ได้ แต่ความต่างของนักเรียนไทยกับนักเรียนต่างประเทศนั้นต่างกันมากจะให้นักเรียนไทยใส่ชุดไปเที่ยวก็คงไม่ใช่ กฎของประเทศไทยเป็นอย่างนี้ติดต่อกันมาหลายต่อหลายรุ่น
       
       สำหรับเรื่องการเรียนคงไม่เกี่ยวอะไรกับทรงผม อยู่ที่ตัวเด็กมากกว่าว่ามีความคิดอย่างไร แล้วผู้ใหญ่ในประเทศจะสามารถยอมรับความคิดของเด็กได้หรือไม่ การศึกษาไทยควรให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นแล้วรับฟัง เมื่อเด็กพูดจบก็ปล่อยผ่านเหมือนไม่เคยได้ยิน
       

 
       นี่เป็นเพียงมุมมองของแต่ละคนที่จะมองว่าเรื่องของทรงผมนักเรียนไทยนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ต่างคนต่างความคิด อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ตาม แต่หากปรับเปลี่ยนจริง ๆ ก็คงต้องอยู่ในระเบียบและกรอบ ไม่ใช่ให้อิสระแก่เด็กนักเรียนมากจนเกินไป       

       “คิดว่าเรื่องนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน เพราะว่าไม่ได้เป็นการคุกคามหรือการไปล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แต่อย่างใด แต่ว่าเป็นการฝึกให้นักเรียนมีการเคารพกติกาของสังคม ให้เข้าใจถึงระเบียบการอยู่ร่วมกันมากกว่า หากมีการปรับเปลี่ยนจริง ๆ น่าจะมีผลกระทบต่อการเรียนอย่างมาก เพราะเป็นการให้อิสระกับนักเรียนมากเกินไป หากปล่อยให้มีอิสระมากเกินไปก็อาจจะทำอะไรที่เกินขอบเขตได้ เช่นการรักสวยรักงาม ทำตามแฟชั่น หากมีมากเกินไปโดยไม่มีกฎระเบียบก็อาจทำให้มีผลกระทบต่อการเรียนอย่างแน่นอน โดยสิ่งเหล่านี้อาจจะไปลิดรอนเวลาของการเรียนของตัวนักเรียน
       
       ส่วนเรื่องของการใช้ไม้เรียวในการทำโทษนักเรียนนั้นส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วย ควรจะมีอยู่ ไม่สมควรให้ยกเลิกการใช้ไม้เรียว เพราะการใช้ไม้เรียว เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าครูไม่สามารถจัดการชั้นเรียนได้ จึงต้องใช้อำนาจเผด็จการกับนักเรียนที่ไม่มีทางต่อสู้ การตีสั่งสอนไม่จำเป็นต้องตีแรงหรือตีหลายๆที แต่ขึ้นอยู่กับว่าก่อนจะตีได้มีการอบรมสั่งสอนให้นักเรียนเห็นและยอมรับในสิ่งที่เขาทำว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เด็กก็จะรู้สึกเสียใจในการกระทำเพื่อที่จะได้ไม่ทำผิดอีก ผิดกับการลงโทษที่ครูใช้อารมณ์ต่างหากที่ทำให้เด็กซึมซับพฤติกรรมที่ก้าวร้าวสะสมไว้ ไม่เฉพาะแต่การทำโทษด้วยไม้เรียว อาจเป็นการพูดกระแทกแดกดันของครูก็อาจทำให้เด็กได้รับความเจ็บปวดมากเสียกว่าการถูกดีด้วยไม้เรียว”

Credit  Manager.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: