วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

ศธ.ชงครม.ขอ400ล้าน ดัน"1อำเภอ1ทุน"รุ่น4 ตั้งศูนย์ในรร.แก้ติดเกม


ศธ.เสนอ ครม. 8 มกราฯ ของบ 400 ล้านดัน "1 อำเภอ 1 ทุน" รุ่น 4 ขยายให้เด็กเก่งเรียนสาขาขาดแคลนในต่างประเทศ รองรับประชาคมอาเซียน

จากกรณีนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทักท้วงว่าการจัดเก็บข้อมูลสถิติการออกกลางคันของนักเรียน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไม่สะท้อนสถานการณ์จริง เพราะจากการเก็บข้อมูลร่วมกับนักวิชาการด้านเด็กและเยาวชน พบว่านักเรียนถูกผลักออกจากระบบการศึกษามีแนวโน้มสูงขึ้น ยิ่งกว่านั้นพบปัญหาเด็กตั้งครรภ์ในวัยเรียน เด็กติดเกมและเล่นเฟซบุ๊กหนักขึ้น อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กออกกลางคันเพิ่มขึ้นนั้น

เมื่อวันที่ 1 มกราคม นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้สัมภาษณ์ว่า สพฐ.คงต้องไล่เช็กระบบการเก็บข้อมูลเด็กออกกลางคันของ สพฐ.ว่าดูจากตัวไหน แต่ตามหลักการจัดเก็บข้อมูล โดยปกติจะใช้วิธีการคิดจำนวนนักเรียนแบบชั้นเคลื่อน คือติดตามข้อมูลเด็กปีแรกที่เข้าเรียนจนจบการศึกษาในรุ่นชั้นปีเดียวกัน (Cohort) ถ้าหากจัดเก็บข้อมูลแบบชั้นเคลื่อนแล้ว พบว่าข้อมูลสถิติเด็กออกกลางคันลดลงโดยไม่ถึง 0.44% แล้วนายสมพงษ์มองว่าน่าจะคลาดเคลื่อนนั้น ก็คงต้องมีหลักฐานและสมมติฐานที่ชัดเจนมายืนยัน จะมาใช้ความรู้สึกส่วนตัวคงไม่ได้ 

"สพฐ.คงไม่ทบทวนระบบการจัดเก็บข้อมูล ถ้านายสมพงษ์มีข้อมูลเด็กออกกลางคัน ก็อยากให้เสนอมา เพื่อจะได้ตีกรอบ วิเคราะห์ และช่วยเหลือเป็นรายพื้นที่ไป ซึ่งข้อมูลที่นายสมพงษ์มีอาจเป็นข้อมูลเด็กออกกลางคันที่กระจุกอยู่ในตัวเมือง แต่ภาพรวมโดยทั่วไปเราช่วยเหลือดูแลครอบคลุมทุกพื้นที่อยู่แล้ว ทั้งนี้ถ้าหากมีข้อมูลก็อยากให้ทำหนังสือเสนอมาที่ สพฐ. เพื่อจะได้จัดเสวนาพูดคุยเป็นการเฉพาะ" นายชินภัทรกล่าว 

ด้านนายรังสรรค์ มณีเล็ก ที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ สพฐ. กล่าวว่า ข้อมูลที่ สพฐ.จัดเก็บเป็นข้อมูลที่ส่งมาจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) โดยเขตพื้นที่ฯรับรองข้อมูลแล้ว สามารถย้อนกลับไปตรวจสอบได้ว่าเด็กที่ออกกลางคันเป็นใครบ้าง และออกกลางคันโดยสาเหตุอะไร ส่วนข้อมูลของนายสมพงษ์ ตนไม่ทราบ แต่ตนก็ระวังเรื่องนี้อยู่ 

ที่ปรึกษา สพฐ.กล่าวว่า การจัดเก็บข้อมูลออกกลางคันของ สพฐ. จัดเก็บปีละ 2 ครั้ง โดยจัดเก็บทุกวันที่ 10 มิถุนายน และวันที่ 10 พฤศจิกายน ซึ่งของเดือนพฤศจิกายนจะเป็นการตรวจทานข้อมูลอีกครั้งเพื่อดูว่าข้อมูลช่วงครึ่งปีหลังเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามการจัดเก็บข้อมูลสถิติของทางราชการ จะยึดข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายนเป็นหลัก เพราะเป็นข้อตกลงของทุกสังกัด ทั้งนี้ ขณะนี้ข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2555 จัดเก็บเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ระหว่างการประมวลผล ตนจึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าข้อมูลการออกกลางคันของนักเรียนสังกัด สพฐ.เพิ่มขึ้นหรือลดน้อยจากข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2555 อย่างไร

"ขอย้ำว่าข้อมูลสถิติของเด็กออกกลางคัน ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2555 เป็นข้อมูลของปีการศึกษา 2554 ฉะนั้นที่นายสมพงษ์ระบุว่าสถานการณ์การออกกลางคันของเด็กในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ก็อาจเป็นไปได้ เพราะสำหรับผมพูดถึงข้อมูล ณ วันที่ 10 มิถุนายน 2555 ซึ่งเป็นข้อมูลของปีการศึกษา 2554 ส่วนนายสมพงษ์อาจพูดถึงข้อมูลของปีการศึกษา 2555 อย่างไรก็ตามการเสนอแนะของนายสมพงษ์ เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องให้เพิ่มเติมทุนการศึกษาให้แก่เด็กยากจนเทอมละประมาณ 2,000-3,000 บาท เพราะจากการศึกษานโยบายเรียนฟรี 15 ปี พบว่าส่งผลให้เด็กออกกลางคันด้วยสาเหตุยากจนลดน้อยลง ฉะนั้นข้อเสนอขอให้ทุนการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ก็มีความเป็นไปได้มาก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สพฐ.จัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมให้เด็กยากจนระดับประถมศึกษา 1,000 บาทต่อคนต่อปี และเด็กมัธยมศึกษาตอนต้น คนละ 3,000 บาทต่อคนต่อปีอยู่แล้ว ส่วนเด็กมัธยมศึกษาตอนปลายไม่จัดอยู่ในการศึกษาภาคบังคับ จึงไม่ได้รับ" นายรังสรรค์กล่าว 

นายรังสรรค์กล่าวว่า ประเมินผลจึงต้องยืดหยุ่น เพราะหากไปคิดเด็กไม่เข้าห้องเรียน เป็นการขาดเรียน ก็คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเด็กออกกลางคันได้ ซึ่งหลัง สพป.เชียงใหม่ เขต 1 ดำเนินโครงการ พบว่าจำนวนเด็กออกกลางคันลดลงมาก ส่วนตัวมองว่าการจะแก้ไขปัญหานี้ได้จะต้องจำแนกตามสาเหตุและดำเนินการแก้ไขตามสาเหตุนั้นๆ 

"สำหรับปัญหาเด็กติดเกมและติดเฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นนั้น ยอมรับว่ามีแนวโน้มตามนั้น แต่การเข้าถึงไอทีก็ยังไม่ง่าย ฉะนั้นปัญหานี้จึงมักเกิดกับเด็กในเมืองมากกว่า" ที่ปรึกษา สพฐ.กล่าว

ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้ตนจะเสนอโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่น 4 ประจำปีการศึกษา 2556 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยในปีนี้ จะขยายทุนโครงการดังกล่าวออกเป็น 2 ประเภท คือ 1.ทุนประเภทที่เปิดโอกาสให้เด็กยากจน แต่เรียนดี และจะเปิดรับสมัครนักเรียนตามหลักเกณฑ์เดิม คือครอบครัวมีรายได้รวมไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี และเกรดเฉลี่ยต้องไม่ต่ำกว่า 3.00 เน้นให้ไปเรียนในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และเนื่องจากเกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงคิดเพิ่มทุนประเภทที่ 2 คือ เปิดโอกาสสำหรับเด็กทั่วไปที่มีความรู้ความสามารถ แต่จะต้องเลือกเรียนในสาขาด้านวิทยาศาสตร์เป็นหลัก เบื้องต้นจำนวนทุนของแต่ละประเภทจะอยู่ที่ประเภทละ 928 ทุน แต่หาก ครม.พิจารณาแล้วเห็นว่าอาจจะเป็นภาระกับงบประมาณก็อาจปรับลดจำนวนทุนตามความเหมาะสม 

"ทุนประเภทที่สองจะเน้นคัดเด็กเก่งและหัวกะทิจริงๆ ไปเรียน อาจจะต้องกำหนดเกรดเฉลี่ยที่สูงขึ้น ไม่มีการจำกัดรายได้ครอบครัว แต่ต้องไปเรียนในสาขาที่รัฐบาลกำหนดในประเทศใดก็ได้ เพราะเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราจะได้มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถช่วยพัฒนาประเทศ ขณะเดียวกันปีนี้จะเน้นเรื่องเตรียมความพร้อมของเด็กเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นที่ผ่านมา คือ พบว่าเด็กที่ไปเรียนในประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร บางประเทศกำหนดว่าเด็กจะต้องสอบภาษาบ้านเขาให้ได้ก่อน ซึ่งเมื่อเตรียมตัวไม่พอ และเร่งส่งเด็กไปก่อน สุดท้ายก็เรียนไม่ได้ ต้องเลิกเรียน ขณะเดียวกันต้องให้เด็กได้เรียนรู้การปรับตัวที่จะอยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่างด้วย" นายพงศ์เทพกล่าว 

นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัด ศธ. กล่าวว่า คาดว่าในวันที่ 8 มกราคม ศธ.จะเสนอที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการกรณีขอเพิ่มทุน 2 ประเภท สำหรับเด็กยากจนและเด็กทั่วไปในโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน จากเดิมปีที่ผ่านมามีการปรับแก้หลักเกณฑ์ให้เด็กทั่วไปสามารถสอบชิงทุนดังกล่าวได้ จึงเป็นการแย่งที่นั่งเด็กยากจน ซึ่งนายพงศ์เทพมองว่าควรแยกทุนระหว่างเด็กเก่งและเด็กยากจน ดังนั้น ศธ.จึงเสนอเพิ่มทุนเป็น 2 ประเภท ทั้งนี้หลังจาก ครม.เห็นชอบก็จะเร่งจัดทำหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนักเรียนทุน โดยทุนสำหรับเด็กทั่วไปจะให้เฉพาะสาขาขาดแคลน อาทิ นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ พยาบาล ซึ่งหลักเกณฑ์และสาขาที่จะได้รับทุนนั้นคาดว่าจะจัดทำแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมนี้ จากนั้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ก็จะเริ่มกระบวนการคัดเลือกนักเรียนทุน ซึ่งจำนวนนักเรียนที่ได้รับทุน 928 คน รวมทั้งสองประเภท 1,856 ทุน คาดว่าต้องใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท 

ปลัด ศธ.กล่าวว่า ปัญหาของนักเรียนทุนโครงการนี้ ส่วนใหญ่พบว่าไม่เก่งภาษาอังกฤษ ทำให้ปรับตัวลำบาก จึงพบว่านักเรียนทุนกว่า 20% หลังจากได้รับทุนไปเรียนแล้วต้องกลับมาเรียนในประเทศ เพราะไม่สามารถปรับตัวได้ อย่างไรก็ตามในการคัดเลือกปีนี้จะขยายประเทศที่จะไปเรียนเพิ่มขึ้นจากเดิมมีประมาณ 8 ประเทศ โดยเพิ่มประเทศในกลุ่มยุโรป เพื่อรองรับนักเรียนทุนประเภททั่วไปในการไปเรียนในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ด้วย 

นางพนิตากล่าวว่า ส่วนกรณีที่นายสมพงษ์ระบุว่าเด็กตั้งท้องในวัยเรียนมีจำนวน 1.5 แสนคนนั้น ที่ผ่านมาตนวางแผนที่จะจัดตั้งศูนย์คุ้มครองดูแลสวัสดิภาพเด็กและเยาวชนในโรงเรียน ทำหน้าที่เฝ้าระวังและช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งสมัยที่เป็นปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดตั้งศูนย์ลักษณะดังกล่าวเพื่อช่วยแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี ดังนั้นจึงคิดว่าภายในเร็วๆ นี้ จะมีการหารือกับผู้บริหาร ศธ.ในการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาเด็กติดเกมและเด็กตั้งท้องในวัยเรียน

ไม่มีความคิดเห็น: