วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

เรียนวิทยาศาสตร์ไปทำอะไร? : ชีววิทยา


"จริงๆผมฝันมาตั้งแต่แรกแล้วว่าอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่ตั้งแต่เข้าสายวิทย์มา พอเกรดออกมาดีหน่อย เพื่อน อาจารย์ เขาก็ เชียร์ ให้ไปหมอ ไปทันตะ เภสัช ซะหมดเลยอะครับ  (คล้ายๆกับค่านิยมก็ว่าได้)"

- คือ พี่อยากจะบอกน้องว่า "นักวิทยาศาสตร์" เป็นคำที่กว้างมาก คนที่ไม่ได้เรียนจบ ป.ตรี วิทยาศาสตร์มา ก็ทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นนักวิจัยในแล็บต่างๆ หรือวิจัยภาคสนามได้เหมือนกันนะ อย่างอาจารย์ที่วิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ หลายๆ ท่านก็เรียนหมอมาก่อน แล้วพอเรียนจบก็ขอเข้าบรรจุเป็นอาจารย์ สอนพวกกายวิภาค สรีรวิทยา จุลชีววิทยาการแพทย์ พยาธิวิทยา ฯลฯ ระหว่างนั้นหลายท่านก็ต้องเรียนต่อ ป.เอก ไปด้วย (เป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การประเมินอาจารย์ครับ)

- อีกอย่าง "นักวิทยาศาสตร์" เรียนข้ามสายกันได้ คนที่เรียน ป.ตรี จุลชีววิทยา อาจไปเรียนต่อ ป.โท ด้านที่เกี่ยวข้องกันค่อนข้างน้อย (เช่น ระบาดวิทยา หรือสาธารณสุข) แล้วย้ายไปทำงานด้านนโยบายด้านการสาธารณสุข อยู่กับหน่วยงานระหว่างประเทศ ไม่ได้จับต้องแล็บเท่าไหร่อีกเลยก็ได้เช่นกัน

- ยกตัวอย่างเช่น มีรุ่นพี่คนนึง เรียนจบ ป.ตรี คณะเกษตร วิชาพืชสวน ตอนที่พี่เจอเขานี่เขาเรียน ป.เอก อยู่ ไปทำวิจัยด้านไอศครีม =)

"ตอนนี้ผมต้องการคนชี้นำเรื่องอนาคตหลังจากเข้าไปเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ มากๆเลยครับ"

- พี่ไม่แน่ใจว่าจะชี้นำน้องได้มาก-น้อยแค่ไหน ส่วนนึงเพราะตอนนี้น้องยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นค้นหาตัวเอง แล็บจุลฯ อาจเป็นแบบที่เราคาดหวังไว้ หรือเราอาจไม่ได้สนุกกับมันอย่างที่เราหวังไว้ก็ได้ ...

- เวลาที่น้องเรียน ป.ตรี ช่วงปี 2 - ปี 4 น้องจะได้เรียนจุลชีววิทยาหลายๆ สาขา ต่างๆ กันไป ซึ่งแต่ละสาขาจะช่วยให้น้องค่อยๆ รู้ตัวว่าน้องชอบและถนัดทางด้านไหน รวมถึงน้องจะได้เรียนวิชาเลือกอื่นๆ นอกคณะ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ค้นหาตัวเองอีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้น สักวันนึงเราอาจค้นพบตัวเองว่าเราถนัดและมีความสุขกับสิ่งอื่นมากกว่า ดังนั้นเส้นทางที่เราคาดหวังไว้ในตอนนี้ กับเส้นทางที่เราก้าวเดินอย่างมีความสุขในอนาคต อาจเป็นทางสายเดียวกันหรือไม่เป็นก็ได้

- สมมุติว่าน้องยังชอบทางจุลชีววิทยาอยู่นะ (เพราะเพื่อนหลายๆ คน ก็ชอบทางนี้จริงๆ) พี่ไม่แน่ใจว่าในอนาคต ถ้าน้องจะเป็นนักวิจัยจริงๆ น้องจะวิจัยจุลชีววิทยาทางไหน (หรือจะยังอยากเป็นนักจุลชีววิทยาหรือเปล่า) แต่ถ้าเป็นทางการแพทย์ พี่มองว่าการเรียนพวกเทคนิคการแพทย์ หรือเรียนแพทย์ไปเลย (ถ้าใจของน้องพร้อมจะเรียนน่ะนะ) จะได้เปรียบหลายอย่าง เช่น

   - เวลาจะขออนุญาตุเก็บตัวอย่างเลือดหรือสารคัดหลั่งต่างๆ จากคนไข้ มาตรวจหาเชื้อ และทำวิจัยเชื้อต่อไปนั้น หากเราเป็นหมอ การขออนุมัติจะสะดวกขึ้น เพราะคณะกรรมการจริยธรรมจะมองว่าเรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ (ด้วยประสบการณ์วิชาชีพความเป็นแพทย์) และเราสามารถมาควบคุมงานตรงนี้เองได้ (เพราะทำหัตถการเป็นอยู่แล้ว)

   - งานแล็บในโรงพยาบาลก็ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ลองดูประกาศรับสมัคร จนท. ห้องแล็บในโรงพยาบาลก็ได้ครับ ตอนนี้ทุกที่บังคับให้จบเทคนิคการแพทย์ และมีใบประกอบวิชาชีพทั้งนั้น... และมันจะมีหลักสูตรเฉพาะวิชาชีพบางหลักสูตรที่คนนอกสาขาเทคนิคการแพทย์เข้าเรียนไม่ได้ (เช่น ประกาศนียบัตรบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ http://www.grad.mahidol.ac.th/grad/curriculum/view.php?lang=th&pid=183) และเทคนิคการแพทย์จะเชี่ยวชาญเรื่องการตรวจและวินิจฉัยเชื้อโรคเป็นอย่างมาก ในขณะที่หลักสูตรของคณะวิทยาศาสตร์จะไม่มีส่วนประกอบในด้านนี้ครับ

   - เอ้อ แต่มีเพื่อนคนนึง จบเทคนิคการแพทย์ จุฬาฯ แล้วคงไม่อยากทำแล็บในโรงพยาบาล เลยเบนเข็มไปเรียนต่อด้านโภชศาสตร์ ตอนนี้ทำงานอยู่ในแล็บอาหาร มันย้ายข้ามสายแบบนี้ได้เหมือนกัน

- ส่วนถ้าน้องอยากเรียนด้านจุลชีววิทยาอุตสาหกรรม หรือสิ่งแวดล้อม พี่คงแนะนำอะไรน้องไม่ได้ เพราะแทบไม่เคยเจอคนในสายงานนี้เลย และตัวเองก็ไม่ได้จับแล็บเลยตั้งแต่เรียนจบ ป.ตรี และช่วงที่เรียน ป.ตรี ก็เคยไปดูงานในโรงงานแค่หนเดียวเท่านั้น คงต้องอาศัยพวกพี่ๆ คนอื่นมาช่วยตอบกันต่อไป

- สาขาที่เรียน ป.ตรี ก็เป็นส่วนหนึ่งนะ แต่การหางานที่เราชอบก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ในช่วงที่ผ่านมานี้ พี่เจอคนในสาขาวิชาชีพด้านการแพทย์หลายๆ คนที่มาบ่นเรื่องงานให้ฟัง พี่ที่เป็นเภสัชฯ ก็เคยบ่นว่าถ้ามีลูกหลาน อย่าให้มาเรียนเภสัชฯ เด็ดขาด รุ่นน้องที่เป็นหมอฟันก็เคยบ่นว่าเบื่อดราม่าในโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่อนามัยก็บ่นว่างานหนักเหมือนหมอ พี่ที่เป็นเทคนิคการแพทย์ก็เคยบ่นว่าไม่มีความสุข และแน่นอน คนที่ได้ยินเสียงบ่นค่อนข้างบ่อยถึงบ่อยมากๆ ก็คือ หมอ สรุปว่า ทุกคน ไม่ว่าทำอาชีพไหน ก็มีโอากสบ่นด้วยกันได้ทั้งสิ้น :-P ...

- เมื่อเราบ่น ก็แปลว่าเราไม่มีความสุข ดังนั้นคำตอบของชีวิต คือ ทำงานที่เราทำได้แล้วไม่บ่น หรือบ่นน้อยที่สุด =)


...
- แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าเรียนวิทยาศาสตร์ที่จุฬาฯ แล้วจะไม่ดีนะ ประเด็นที่พี่ยกมามันแค่เป็นเรื่องของสถานการณ์ที่การมี "ใบประกอบวิชาชีพ" ทำให้เราได้เปรียบ ... ยังมีอีกหลายสถานการณ์ที่การไม่ได้เรียนหมอ หรือเทคนิคการแพทย์ ไม่ส่งผลต่อหน้าที่การงานของเราเท่ากับความสำเร็จด้านการทำวิจัยหรือการทำงานในปัจจุบัน จึงขอยกกรณีศึกษาของคนที่เรียนจบแล้วมาทำงานด้านนักวิจัยมาสักหน่อย (และอาจเอาชีวิตส่วนตัวมาแฉ) ดังนี้...

- เพื่อนพี่คนนึง เรียนจบ ป.ตรี ชีววิทยา เกรด 3 กลางๆ จบแล้วจะต่อแพทย์ New Tract แต่ไม่ติด เลยเปลี่ยนไปเรียน ป.โท Biotech จุฬาฯ (เน้นพวกวิจัยยีนอะไรสักอย่างในกุ้ง) ซึ่งเป็นสาขาที่ชอบพอๆ กัน ช่วงที่เรียน ป.โท ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ได้ทุนตลอดหลักสูตร และมีอาจารย์จากต่างประเทศจองตัวไปทำแล็บด้วยที่โน่น ตอนนี้เรียน ป.เอก อยู่แถวสแกนดิเนเวีย มีเงินเก็บจากส่วนที่เหลือของเบี้ยเลี้ยงนักศึกษาต่างชาติพอสมควร ... เงินเดือนของเขาน่าจะอยู่ที่ราวๆ 1 แสนบาท (แต่อยู่ที่โน่น ค่าครองชีพก็สูงตามอ่ะนะ)

- เพื่อนอีกคนนึง เรียนจบ ป.ตรี ชีววิทยา เกรด 3 กลางๆ เหมือนกัน จบแล้วไปเรียนต่อ ป.โท ทางพยาธิวิทยา เรียนอยู่หลายปี ระหว่างนั้นยากจนหน่อย แต่ใช้ชีวิตคุ้มค่ามาก ระหว่างที่เรียน ป.โท ไปนำเสนอผลงานที่ญี่ปุ่นรอบนึง ที่อเมริกาอีกรอบนึง พอจบ ป.โท แล้ว ใช้เวลาหางานนานสุดๆ ... 1 วัน ได้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สอนนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์  ... ทำงานวิจัยบ้าง เพราะเคยมาปรึกษากับพี่เรื่องการออกแบบการทดลองและคำนวณตัวอย่างอยู่ แต่ไม่รู้ว่าโปรเจคได้รับการอนุมัติหรือยัง... ตอนนี้เงินเดือนเขายังไม่เยอะมาก ราวๆ 15000 บาท แต่เขาก็กำลังวางแผนอยู่ว่าจะเรียนต่ออะไรดี ระหว่าง แพทย์ (5 ปี) หรือไปเรียนต่อ ป.เอก ทั้งสองทางนี้มีทุนให้ แต่แนวโน้มคงไปทางแพทย์ก่อนแหละ

- เพื่อนพี่อีก 2 คน เรียนจบ ป.ตรี ชีววิทยา แล้วไปต่อ ป.โท ด้านเทคโนโลยีชีวภาพเหมือนกัน คนนึงมีทุน พสวท. อยู่แล้ว ส่วนอีกคน ให้ทางบ้านช่วยส่งเรียน ป.โท แล้วตอน ป.เอก เข้าไปได้ไม่ถึงเดือน อาจารย์ก็หาทุน คปก. มาให้ ทำให้ได้ทุนเรียนฟรีพร้อมมีเงินเดือน สบายไป ตอนนี้สาวนางแรกกำลังจะไปแลกเปลี่ยนแล็บที่ฝรั่งเศส ส่วนอีกคนอาจารย์น่าจะส่งไปอเมริกา แต่เข้าใจว่าอาจติดขัดนิดหน่อย เพราะบทความวิจัยยังไม่ตีพิมพ์ ถ้าตีพิมพ์อีกฉบับก็จะได้รับอนุมัติให้ไปยื่นขอวีซ่าได้ เจ้าหล่อนเลยต้องฮึดอีกพอสมควร >_<

- ตัวพี่เอง ตอนที่เรียน ป.ตรี แรกๆ ก็อยากเป็นนักวิจัยในแล็บแบบสุดขีด แต่ปรากฎว่าเกรดด้านวิทยาศาสตร์ ไม่เคยได้ A เลยในช่วงสองปีแรก (อย่างดีสุดก็ B หรือ B+) แต่เกรดพวกวิชาสังคมกับภาษา ได้ A บ้าง และเรียนแล้วรู้สึกสนุก เลยสงสัยว่า เลยสงสัยว่าตัวเองถนัดและชอบด้านไหนกันแน่ พอเรียนจบ ปี 4 มองว่าน่าจะไปในด้านที่ได้ใช้ทักษะหลายๆ อย่าง ปนกัน ประมาณว่าเป็นเจ้าหน้าที่วิชาการในองค์การระหว่างประเทศหรือพวก think tank ต่างๆ เลยไปเรียนด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เน้นทางระบาดวิทยา - ออกพื้นที่ ช่วงที่เรียนอยู่ก็พอทำวิจัยด้านอนามัยแม่และเด็กแถวชายแดนไทย-พม่า
- พอเรียนจบ ป.โท ก็ลงใต้ไปประสานงานโครงการวิจัยเหตุการณ์ไฟใต้ที่ปัตตานี แล้วอาจารย์ในคณะแพทย์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับโปรเจค ชวนให้อยู่ต่อ ตอนนี้พี่ทำงานอยู่ในคณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยในต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง เน้นด้านเป็นที่ปรึกษาด้านการวิจัย และช่วยวิเคราะห์สถิติ .. เมื่อปลายปี 53 อาจารย์หมอชวนพี่เข้าโครงการแลกเปลี่ยนนักวิจัยเป็นเวลา 10 เดือน (ชื่อตำแหน่งงาน พี่เป็น "ที่ปรึกษาด้านการวิจัย" น่ะ) ตอนนี้พี่กำลังโพสต์ข้อความนี้ถึงน้องจากประเทศบังกลาเทศ (อยู่เกือบครบโครงการแล้วแหละ อีก 10 วัน ก็จะกลับบ้านเราแล้ว)
- หลังจากกลับไปแล้วพี่จะต้องกลับมาทำงานใช้ทุนดูงานฯ ที่มหาวิทยาลัยต้นสังกัดเป็นเวลา 1 ปี ... ไม่แน่ใจว่าจะได้ปรับตำแหน่งขึ้นจาก "ผู้ช่วยวิจัย" เป็นตำแหน่งอื่นหรือเปล่านะ ...ช่วงนี้พี่ก็จะดูเรื่องเรียนต่อไปเรื่อยๆ ตัวพี่เองอยากเรียน ป.เอก แต่อาจารย์หมอฯ ท่านอยากให้พี่เรียนหมอ (อีก 5 ปี) ก่อนแล้วค่อยเรียน ป.เอก แต่ระหว่างเรียนคงมีเงินเดือนให้ ซึ่งไม่ว่าอย่างไร พี่ก็ว่าโอเคนะ... ถามว่าพี่ยังเป็น "นักวิทยาศาสตร์" อยู่ไหม พี่คิดว่าพี่ยังเป็นอยู่นะ ระบาดวิทยาฯ ที่พี่ทำอยู่นี่ก็เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง เป็นการผสมกันระหว่างวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ สถิติ และสังคมศาสตร์ครับ :)
- จริงๆ งานที่พี่ทำอยู่ตอนนี้ก็มีข้อจำกัดบ้าง ด้วยความที่ไม่ได้จบหมอ เวลาที่คุณหมอมาปรึกษาโดยละเอียดเรื่องการวิจัยขั้นตอนการรักษาต่างๆ พี่ก็ตามไม่ทัน หรือเวลามีโครงการอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนามฯ พี่ก็สมัครไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นหมอ - สัตวแพทย์ - เภสัชฯ
- แต่ก็ไม่เสียดายอะไรมากนะ ยังมีหนทางอื่นอีกเยอะ และไม่ได้เรียนหมอตั้งแต่เด็กๆ ก็ใช่ว่าจะมาเรียนหมอตอนโตแล้ว ทำงานไปแล้วไม่ได้นี่หว่า
....
ทีนี้ก็มาถึงข้อสรุป
"พี่ลองช่วยวาดภาพอนาคต& เงินเดือน ให้หน่อยได้ไหมครับ"
อย่างที่บอกไป ภาพอนาคต และเงินเดือนของน้อง พี่คงตอบได้ยากมาก กว่าน้องจะเรียนจบ ป.ตรี พวกพี่ๆ ก็คงแก่แล้ว ... แต่เอ้า พี่ขอสมมุติแบบนี้ละกัน

1. น้องเรียนจบ ป.ตรี สาขาจุลชีววิทยาจากจุฬาฯ เกรดได้ราวๆ 3.0 ภาษาอังกฤษดีพอสมควร (สอบ TOEFL paper-based ได้ราวๆ 575-600) แต่ไม่ได้ภาษาที่ 3 แล้วจะเรียนต่อ ป.โท ด้านจุลชีววิทยาการแพทย์เลย เรียนในเมืองไทย เพราะไม่ได้ทุนไปเรียน ป.โท เมืองนอก ... และไม่ได้เป็นเด็กในโครงการ พสวท. ที่อาจมีทุนให้ไปเมืองนอกในอนาคต

2. น้องรู้ตัวว่าอยากเป็นนักวิจัยแน่ๆ และอยากทำงานในมหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานวิจัยอื่นๆ ไม่ได้ไปบริษัทเอกชน แต่ยังไม่รู้ว่าอยากจะทำงานก่อนหลังจบ ป.โท แล้วค่อยต่อ ป.เอก หรือจะเรียนให้จบ ป.เอก รวดเดียวเลย

3. บ้านน้องมีฐานะกลางๆ เหมือนพวกพี่ๆ คือ ไม่ได้ขัดสนขนาดที่ว่าต้องออกมาทำงานโดยทันที แต่ไม่ได้รวยขนาดว่าสามารถส่งไปเรียน ป.โท ด้านวิทยาศาสตร์ที่อังกฤษได้ เลยเรียนต่อโทเมืองไทย

พี่ขอแต่งนิยายให้แก่ชีวิตของน้องในช่วงอายุ 22-30 ปี ดังต่อไปนี้

แบบที่ 1 เรียนจนจบ ป.เอก เลย

เมื่อน้องเริ่มเรียน ป.โท จุลชีววิทยาการแพทย์ น้องรู้สึกว่าตัวเองมาไม่ผิดทาง น้องทำเกรดในรายวิชาได้ดีมาก ได้เกรดเฉลี่ยทั้งปี 1 ป.โท ราวๆ 3.8 (หลายๆ คนได้ประมาณนี้นะ) ช่วงที่แลกเปลี่ยนแล็บ อาจารย์ท่านหนึ่งในหลักสูตรเห็นแวว ชวนให้รีบๆ ทำวิทยานิพนธ์ให้จบ ป.โท แล้วรีบเรียนต่อ ป.เอกในสังกัดของอาจารย์ ระหว่างที่ทำวิจัยในช่วงที่เรียนปี 2 - ปี 3 ของ ป.โท น้องทำงานได้ดีมาก ได้ไปนำเสนอในที่ประชุมวิชาการ 1 ครั้ง และได้ตีพิมพ์บทความอีก 1 เรื่องในวารสารระดับนานาชาติ ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ น้องใช้เวลาเรียน ป.โท ทั้งสิ้นสองปีครึ่ง (โดยใช้เงินของทางบ้านตลอด ถือว่าเป็นการลงทุนนิดนึง) และตัดสินใจเรียนต่อ ป.เอก ที่เดียวกัน สาขาเดียวกันเลย (จริงๆ ไปต่อเมืองนอกได้ แต่สมมุติว่าไม่ไปละกัน)

อาจารย์ที่ปรึกษา (ซึ่งตอนนี้คุ้นเคยกันระดับนึงแล้ว เพราะทำวิจัยด้วยกันมาราวๆ 1.5 ปี) ตัดสินใจรับน้องเข้าเรียนต่อปริญญาเอก โดยหาทุนเรียนปริญญาเอกให้ โดยทุนนี้จะช่วยเหลือน้องในเรื่องค่าเล่าเรียนและมีค่าขนมได้เดือนละเล็กน้อย (ราวๆ 9,000 บาท/เดือน) เรียน ป.เอก ผ่านไปได้ 1 ปี น้องสามารถนำเสนอบทความวิจัยในการสัมมนาภาค ครบ 4 ครั้ง โดยตอบคำถามได้หมด ผ่านโดยไม่มีปัญหา และสอบโครงการวิทยานิพนธ์ผ่านโดยไม่มีปัญหา... น้องเริ่มทำวิทยานิพนธ์ไปอีก 1 ปี ... เมื่อถึงเวลานั้นน้องจะอายุราวๆ 27 ปี... อาจารย์เห็นว่างานของน้องเริ่มเป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้นแล้ว เลยให้ไปนำเสนอโปสเตอร์ที่...อืม...ฝรั่งเศสละกัน แถมให้ไปดูงานอีกหน่อย....ราวๆ 2 สัปดาห์ ระหว่างอยู่ที่นั่นชีวิตสนุกปนหฤหรรษ์ แต่มีปัญหาบ้างเพราะคนที่นั่นพูดแต่ฝรั่งเศสกัน ไม่ค่อยพูดอังกฤษ ... น้องได้รู้จักเพื่อนนักวิจัยรุ่นเดียวกันหลายคน เริ่มได้เห็นโลกกว้างมากขึ้น...

จากนั้นก็กลับมาเมืองไทย ทำวิทยานิพนธ์ต่ออีก 1 ปี ...งานใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว อาจารย์มองว่าน้องยังไม่ได้ไปต่างประเทศแบบยาวๆ เลย เลยส่งน้องไปทำวิจัยที่สถาบันพาสเจอร์ที่ปารีสราวๆ 1 ปี น้องตัดสินใจไปด้วยความลิงโลด (ระหว่างนั้นได้เงินเดือนเรทพิเศษสำหรับไปเมืองนอกด้วยนะ ราวๆ เดือนละ 1200 ยูโร หรือ 60,000 บาทละกัน เพราะไปอยู่ฝรั่งเศส) คราวนี้น้องพูดฝรั่งเศสได้พอสมควรแล้ว เอาตัวรอดได้ เลยสนิทกับเพื่อนฝูงที่โน่นอย่างรวดเร็ว ปาร์ตี้กันแหลก (แต่เรื่องงานไม่เสียหายอะไรนะ) และเจอใครบางคนที่น่าจะใช่ที่นั่น เป็นสาวอเมริกาใต้ที่อยู่แล็บเดียวกัน (สมมุติมาจากเวเนซูเอล่าละกัน แจ่มดี) สนิทกันอย่างรวดเร็วและลึกซึ้ง ก่อนจะจากกัน น้องสัญญากับหล่อนเป็นมั่นเหมาะว่าจะกลับมาเจอกันอีก ไม่ว่าอยู่ส่วนไหนของโลก...

กลับมาเมืองไทย ใกล้จบ ป.เอก เข้าไปทุกขณะ และ มีเงินเก็บจากตอนอยู่ฝรั่งเศสราวๆ 250,000 บาท พอไปไหนมาไหนได้โดยไม่ลำบาก (ต่างจากชีวิตไส้แห้งตอน ป.โท โดยลิบลับ)...น้องคุย skype กับเจ้าหล่อนทุกวัน วันละราวๆ 30 นาที และรีบฮึดเรียนให้จบเพื่อจะได้ไปเจอเจ้าหล่อนอีก น้องสอบวิทยานิพนธ์ผ่านฉลุย จบปริญญาเอกตอนอายุราวๆ 29 ปี เมื่อจบมามีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ 3 ฉบับ เป็นที่น่าภูมิใจของอาจารย์ที่ปรึกษา ชวนให้ทำวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเดิมก่อนจะไปเป็นอาจารย์ แต่น้องปฏิเสธเนื่องจากอยากจะตามหัวใจไปอเมริกาใต้ ...เลยเขียนอีเมล์ไปหาแล็บวิจัยวัณโรคที่มหาวิทยาลัยโบลิวาร์ ณ กรุงคาราคัส ประเทศเวเนซูเอล่า ทางโน้นตอบรับมาเนื่องจากงานวิจัยก่อนหน้านั้นค่อนข้างดี และน้องพูดได้ 4 ภาษาแล้วในตอนนี้ เมื่อไปถึง น้องรีบไปหาสาวเวเนซูเอล่าคนนั้นที่เคยมีความหลัง...แต่ปรากฎว่า ความหลังเจอคนอื่นแล้ว...เป็นที่น่าช้ำใจมาก กลับเมืองไทยดีกว่า น้องเลยอยู่ทำวิจัยที่นั่นแค่ 6 เดือน ได้มาเปเปอร์นึง ระหว่างนั้นปาร์ตี้แหลกแบบไม่แคร์สื่อ เจอสาวละตินอีกคนที่นั่น ด้วยความที่อยู่ต่างบ้านต่างเมือง ไกลบ้าน และพ่อแม่ของชีชอบพอกับน้องเป็นอย่างดี แต่งงานที่โน่นเลย (จดทะเบียนกับกงศุลกิตติมศักดิ์ของไทย ณ กรุงคาราคัส)

กลับมาเมืองไทย (พาภรรยากลับมาด้วย) มีเงินเก็บเพิ่มมาอีกนิดหน่อย ได้งานทำเป็นนักวิจัยหลัง ป.เอก ที่แล็บเดิม เงินเดือนราวๆ 35,000 - 40,000 บาท รับสอนเลคเชอร์เป็นอาจารย์พิเศษบ้าง ในวัย 32 น้องมีรายได้โดยรวมต่อเดือนราวๆ 50,000 บาท เริ่มดาวน์บ้าน ดาวน์รถ มีลูกเป็นลูกครึ่งหน้าตาดีมาก ผ่านไปอีก 2 ปี น้องได้บรรจุเป็นอาจารย์ มีอายุราชการ โลดแล่นอยู่ในวงการวิชาการระหว่างประเทศอีก 20 กว่าปี จึง fully retire ...

แบบที่ 2 เรียนจบ ป.โท แล้วทำงานก่อน ค่อยไป ป.เอก
(ยังนึกไม่ออกอ่ะ เด๋ววันไหนเกิดไอเดียจะมาเขียนต่อนะ)



by  honjokun06

ไม่มีความคิดเห็น: