วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2555

World Bank และ EF ระบุแรงงานไทยมีศักยภาพแต่ขาดทักษะภาษาอังกฤษ


น่าเป็นห่วงหากจะก้าวไปสู่เสรีอาเซียน เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน แนะ รบ.ตื่นตัวและทำงานเป็นเอกภาพเดินหน้าพัฒนาทันที
     รศ.ดร.นันทนา คชเสนี ผู้อำนวยการบริหารเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN) เปิดเผยว่า สถานการณ์เตรียมพร้อมรับมือการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนของไทย ยังอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากหลายหน่วยงานมีความตื่นตัว แต่ยังไม่มีการรวมตัวกันเพื่อเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม โดยเฉพาะในวงการศึกษาไทยมองว่า ขณะนี้มีเวลาไม่มากแล้วสำหรับการปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนาการศึกษาที่มีคุณภาพสู่ระดับสากล ซึ่งสิ่งสำคัญ คือการมีนโยบายระยะยาวที่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อาทิ นโยบายการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ ระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) ซึ่งจะทำให้ได้บัณฑิตที่พึงประสงค์เหมาะกับตลาดอาเซียน และนโยบายการเพิ่มงบประมาณงานวิจัย ให้ได้ร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพื่อเป้าหมายการพัฒนาระยะยาว
     ขณะเดียวกันในส่วนของสถาบันการศึกษา ควรมีการจัดกลุ่มเพื่อค้นหาศักยภาพและเน้นการพัฒนาคุณภาพการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ลุกขึ้นมาร่วมกันหาจุดเด่น และจุดแข็งของตัวเอง เพื่อสร้างความเป็นเลิศทางการศึกษาเฉพาะทางนำสู่สายตาประชาคมอาเซียน เป็นต้น
     "สิ่งที่เห็นเวลานี้คือหน่วยงานต่างๆ ยังมัวแต่ทำการวิจัยหรือสำรวจการเตรียมความพร้อมแบบต่างคนต่างทำ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าไม่จำเป็นแล้ว เพราะเราไม่มีเวลาแล้ว ดังนั้นเราสามารถนำผลสำรวจอย่างเป็นทางการจากหลายหน่วยงานระดับโลกที่เผยแพร่ในปัจจุบัน นำมาใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการพัฒนาและแก้ไขข้อบกพร่องได้ เช่น ผลสำรวจล่าสุดในปี 2012 ของธนาคารโลก (World Bank) เกี่ยวกับทักษะแรงงานอาเซียนที่นายจ้างจาก 200 บริษัทในประเทศอาเซียนให้ข้อมูล พบว่า แรงงานไทยมีความโดดเด่นในเรื่องทัศนคติในการทำงาน เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานมาเลเซีย ขณะที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษเป็นจุดด้อยมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานอินโดนีเซีย เป็นต้น
     นอกจากนี้ยังมีผลสำรวจด้านทักษะภาษาอังกฤษจาก 44 ประเทศทั่วโลก จัดทำโดยโรงเรียนสอนภาษาระดับโลก เอ็ดดูเคชั่นเฟิร์ส (EF) พบว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 42 รองจากกัมพูชาที่อยู่ลำดับที่ 41 เวียดนาม ลำดับที่ 39 และอินโดนีเซีย ลำดับที่ 34 ขณะที่มาเลเซีย อยู่ในลำดับที่ 9
     อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายผลสำรวจที่ช่วยสะท้อนสภาพความเป็นจริง ซึ่งทุกฝ่ายต่างทราบกันดีอยู่แล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องมีการจัดทำการสำรวจ หรือวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อม หรือหาจุดด้อยต่างๆ อีกต่อไป แต่ควรหันมาจับมือกันและก้าวไปสู่การพัฒนาที่เห็นเป็นรูปธรรม" รศ.ดร.นันทนา กล่าว



Credit http://www.siamrath.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น: