วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2555

เจาะลึก 4 หลักสูตรแปลก ริมรั้ว มหาวิทยาลัยดัง

ส่งท้ายปีเก่า ยิ้มรับปีใหม่ "ไลฟ์ ออน แคมปัส จึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักสาขาการเรียนแปลกใหม่ บางสาขาหลายคนอาจจะไม่เคยรู้จักหรือไม่เคยได้ยินมาก่อน ซึ่งแต่ละสาขาวิชาที่กล่าวถึงนั้น ล้วนเป็นหลักสูตรใหม่ที่มีคุณภาพ เข้มข้นทุกหลักสูตร และพร้อมที่จะผลิตบัณฑิตออกสู่สังคม
 
       “ทัศนมาตรศาสตร์” วิชาเพื่อขจัดทุกปัญหาสายตา
      
       หลักสูตรทัศนมาตรศาสตรบัณฑิต (Doctor of Optometry, O.D.) มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างบุคลากรสาธารณสุขขั้นพื้นฐานทางสายตาให้เท่าเทียมกับนานาประเทศ และเพื่อสนองเจตนารมย์ของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นมหาวิทยาลัยรังสิต จึงจัดตั้งคณะทัศนศาสตร์ขึ้น เพื่อผลิตบุคลากร สาขานี้สนองนโยบายของรัฐบาลขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย
      
       “ดร.สุทธิลักษณ์ ณ ตะกั่วทุ่ง” อาจารย์ประจำสาขาคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายแนะนำถึงหลักสูตรทัศนศาสตร์ว่า เป็นหลักสูตรสำหรับคนที่สนใจเรียนเกี่ยวกับทางด้านสายตา ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นการตรวจและวินิจฉัยปัญหาทางด้านสายตาและสุขภาพตาอย่างเจาะลึกเพื่อเป็นตัวช่วยสำหรับผู้มีความผิดปกติทางด้านการมองเห็น
      
       “สาขาวิชานี้เน้นความเข้าใจในระบบลูกตาที่ซับซ้อนที่เน้นในการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และฟิสิกส์ ด้านแสงเลนส์สายตามาใช้ในการตรวจวินิจฉัยและแก้ไขปัญหาของระบบการมองเห็นของมนุษย์รวมไปทั้งการฝึกปฎิบัติการเรียนรู้เกี่ยวกับทั้งอุปกรณ์ต่างๆที่เข้ามาใช้ตรวจวัดสายตาด้วย ”
      
       อาจารย์ด้านทัศนมาตรศาสตร์ กล่าวให้เห็นชัดขึ้นว่า นักทัศนมาตรศาสตร์ไม่ได้ทำหน้าที่เฉพาะเกี่ยวกับสายตาเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการทำงานวิเคราะห์โรคจากลักษณะอาการ และระบุการดูแลสายตาที่ถูกต้องให้ผู้ป่วย ตลอดจนตรวจวัดสายตาและเลือกเลนส์ที่เหมาะสมให้ได้ ซึ่งหน้าที่ของการทำแว่นหรือเลนส์ ก็จะเป็นความถนัดของบุคลากรระดับช่างฝีมือ อย่าง ช่างประกอบแว่นสายตา และนักทัศนมาตรศาสตร์ก็จะตรวจเช็คลักษณะแว่นกับอาการป่วยสายตาว่าสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ ในขณะที่การรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่ดวงตาจะเป็นหน้าที่ของจักษุแพทย์

 
       วิศวกรรมการบินและอวกาศ สู่ “วิศวกร นักออกแบบเครื่องบิน”
      
       สถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศที่ผลิตวิศวกรการบินและอวกาศสำหรับพลเรือน นั่นคือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยชื่อ “ภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ” ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 ซึ่งเป็น นับจากเริ่มก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน ภาควิชาได้ผลิตบัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ ไปแล้ว กว่า 200 คน รวมทั้งมีการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบินและอวกาศอย่างต่อเนื่อง
      
       ปัจจุบันมีอาจารย์ ประจำทั้งหมด 28 คน มีความเชี่ยวชาญครอบคลุมด้านวิศวกรรมอวกาศยาน การดำเนินงานและการจัดการ เทคโนโลยีการบิน การบริหารองค์กรการบิน และเทคโนโลยีอวกาศ การเรียนการสอนในแต่ละหลักสูตร มี การผสมผสานด้วยทฤษฎีและการปฏิบัติเพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพด้านการบินและอวกาศโดยมีแนบคิดให้ นิสิตได้เรียนรู้จากการคิดและการปฏิบัติจริง “Learning by Doing
      
       ดร.ไชยวัฒน์ กล่ำพล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า สำหรับคณะวิศวกรรมการบินและอวกาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรขึ้นทั้งหมด 4 หลักสูตรคือ 1.หลักสูตร วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขา วิศวกรรมการบินและอวกาศ (B.Eng.Aerospace Engineering ) 2. หลักสูตร สองปริญญานานาชาติ (B.Eng.Aerospace Engineering & B.Bus.Manangement) 3. หลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขา เทคโนโลยีการบิน (B.S. Aviation Technology) และ4. หลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขา การจัดการการบิน (B.S. Aviation Management)
      
       “การเรียนวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขา วิศวกรรมการบินและอวกาศ หลักสูตรนี้ จะเรียนเกียวกับวิศวกรรมทางด้านการบินวิศวกรรมการบินและอวกาศยาน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าจบมาเป็น Engineer ด้านการบิน วิศวกรเป็นคนที่ทำตั้งแต่การออกแบบเครื่องบิน ทำเกี่ยวกับการ Maintenance เครื่องบินต่างๆ ซึ่งเป็นน่าที่ของ Mechanic และ Engineer ปี 1 จะเรียนรวมกับวิศวะภาคปกติ ปี 2 ถึงจะแยกสาขามาเป็นวิศวะการบิน แน่นอนว่าต้องทำเกรดให้สูง ๆ ถึงจะสามารถเข้ามาเรียนในภาคการบินได้ เวลาเรียนทั้งหมดจะใช้เวลาเรียน 4 ปี โดยเรียนที่วิทยาเขตบางเขน และวิทยาเขตกำแพงแสน ”

 
       “สาขาวิชาเศรษฐกิจพอเพียง” องค์ความรู้ตามแนวพ่อหลวง
      
       คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีความสนใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจน ได้มีการริเริ่มในการจัดทำหลักสูตรบริหารศาสตรบัณฑิต สาขาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นการทำวิจัยตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรบริหารศาสตรบัณฑิต สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งนับได้ว่าเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีเป็นแห่งแรก นำองค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้ศึกษาค้นคว้า มาเผยแพร่ให้เกิดการเข้าใจอย่างถูกต้องพร้อมที่จะนำไปปฏิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
      
       ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน คณบดีคณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า มีความสนใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้ทำการศึกษาวิจัยจนกระทั่งพัฒนาสู่การการจัดทำหลักสูตรบริหารศาสตร บัณฑิต สาขาเศรษฐกิจพอเพียง และได้เปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปีการศึกษา 2550 ที่ผ่านมา
      
       “เพื่อให้เป็นรูปธรรมจากการนำไปปฏิบัติจริง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานียังได้จัดตั้งชุมชนต้นแบบเพื่อใช้เป็นสถานที่ในการ เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงตามแบบวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่เกือบ 100 ไร่ สำหรับชุมชนต้นแบบใช้ทำกสิกรรมไร้สารพิษ รวม ทั้งใช้เป็นสถานที่พักอาศัยของนักศึกษา และกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับชาติ และเพื่อเป็นการต่อยอดและพัฒนาองค์ความรู้อย่างรอบด้าน และเป็นเป็นระบบ คณะ บริหาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจึงได้ร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศในการสร้าง และเชื่อมโยงเครือข่ายหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นรูปธรรมต่อไป”

 
       “ออกแบบพัสตราภรณ์” นักออกแบบสิ่งทอระดับนานาชาติ
       

       มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล็งเห็นความสำคัญมรดกศิลปะสิ่งทอของไทยในท้องถิ่นต่างๆ รวมไปถึงเครื่องแต่งกายของชนชาติอื่นๆ จึงเปิดสอน “สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์” ( Fine and Applied Arts) ขึ้น ภายใต้สังกัด คณะศิลปกรรมศาสตร์ ในปี 2552 โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับพัฒนาการของสิ่งทอ และเครื่องแต่งกายของไทย ตะวันออก และตะวันตกซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ และเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่สาธารณชน
      
       นักศึกษาสามารถสร้างสรรค์พัฒนาผลงานทางด้านพัตราภรณ์ ให้เข้ากับยุคสมัยและความต้องการของตลาดในปัจจุบัน มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์และศิลป์ของสิ่งทอ เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับ สามารถออกแบบสิ่งทอสำหรับอุตสาหกรรมระดับล่างๆ มีความรู้ในด้านการบริหาร การตลาด การเสนอผลงาน และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จำเป็นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป
      
       สำหรับในปีแรกๆ นักศึกษาจะเรียนพื้นฐานการออกแบบเหมือนกันพวกดรอว์อิ้ง เพ้นทิ่ง จากนั้นก็จะเริ่มเรียนพื้นฐานของเท๊กซ์ไทล์ อย่างทรานส์เฟอร์คือการรีดลายจากกระดาษบนผืนผ้าให้เกิดลวดลาย การสกรีน การทอ เรียกว่าจะรู้กระบวนการผลิตผ้าแต่ละชนิด บางมหาวิทยาลัยจะเน้นที่กระบวนการผลิตมากกว่าการออกแบบ แต่ซึ่งสาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นคือจะเน้นการออกแบบมากกว่า

ไม่มีความคิดเห็น: