วันศุกร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2557

จากเด็กธรรมดา สู่นางฟ้าสายการบิน

...ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยไม่ต้องพยายาม
ลองอ่านประสบการณ์ของ "นางฟ้า" ที่ได้ทุนจุฬาฯ-ชนบท คนนี้ดูครับ
ถาม : แนะนำตัวหน่อย
ตอบ : ชื่อ ชลธี โฮปด์ (นามสกุลเดิม ศรีทอง ) ชื่อเล่น อิ๋ว เป็นคนจังหวัดอุดรธานี จบจากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล ส่วนปริญญาตรี จบจากคณะนิเทศศาสตร์ สาขาประชาสัมพันธ์ โดยได้ทุนจุฬาฯ-ชนบท รุ่นที่ 21
ถาม : ปัจจุบันทำงานอะไร
ตอบ : เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (แอร์โฮสเตส) ของสายการบิน Etihad Airways ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของประเทศสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประจำอยู่ที่กรุงอาบูดาบี ปัจจุบันมีเส้นทางการบิน 82 แห่ง ครอบคลุม 5 ทวีป ได้แก่ ทวีปเอเชีย ยุโรป แอฟริกา อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ ตำแหน่งที่ทำอยู่คือ Food and Beverage Manager ซึ่งทำหน้าที่เป็น Leader ในการให้บริการผู้โดยสารในชั้นธุรกิจ รวมถึงดูแลเกี่ยว service issue คุณภาพของอาหารและเครื่องดื่ม และประเมินการทำงานของเพื่อนร่วมงานในชั้นธุรกิจด้วย
ส่วนเส้นทางที่ได้บิน เมื่อก่อนบินไปมาแล้วทุกเส้นทางของสายการบิน แต่ตอนนี้เหลือเฉพาะที่ต้องค้างคืนเท่านั้น ก็เกือบๆ 40 เส้นทาง ทั้งเอเชียและยุโรป ฝั่งเอเชียก็เช่น กรุงเทพฯ กัวลาลัมเปอร์ จาร์กาต้า มะนิลา โตเกียว นาโกย่า โซล ฯลฯ ส่วนฝั่งยุโรปก็มีบรัสเซล เจนีวา ลอนดอน แมนเชสเตอร์ ปารีส ฯลฯ
ถาม : เป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก ? 
ตอบ : จริง ๆ แล้วไม่ใช่อาชีพที่ฝันไว้ตั้งแต่เด็ก สมัยมัธยมปลายเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต เพราะอยากเป็นหมอฟัน แต่หลังจากที่ได้รับทุนจุฬาฯ - ชนบท มาเรียนในคณะนิเทศศาสตร์ ก็เริ่มมีความคิดอยากทำอาชีพนี้ เพราะเป็นอาชีพที่เปิดโอกาสให้เราได้ท่องเที่ยวและเรียนรู้วัฒนธรรมจากหลาย ๆ ประเทศ ได้ประสบการณ์การทำงานร่วมกับคนหลากหลายชาติและต่างวัฒนธรรม รวมถึงค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูง
ถาม : เตรียมตัวอย่างไรเมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะต้องเป็น “แอร์โฮสเตส” ให้ได้ 
ตอบ : หลังจากตัดสินใจที่จะทำอาชีพนี้ อย่างแรกที่เตรียมตัวคือเรื่องของภาษาอังกฤษ เพราะอาชีพนี้เป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษค่อนข้างมากโดยเฉพาะทักษะด้านการฟังและการพูด นอกจากนี้ก็มีเรื่องของสุขภาพ เพราะด้วยลักษณะงานที่ต้องบินและทำงานไม่เป็นเวลา ทุก ๆ เช้าจะตื่นมาวิ่งและช่วงเย็นจะไปว่ายน้ำเพราะการเป็นแอร์โฮสเตสต้องมีการสอบว่ายน้ำด้วย ซึ่งก่อนที่จะมาทำอาชีพนี้ ว่ายน้ำไม่เป็นเลยค่ะ กลัวจมน้ำมาก แต่ในเมื่อเราอยากทำอาชีพนี้ก็ต้องพยายามให้เต็มที่ เลยตัดสินใจไปเรียนว่ายน้ำ ต้องขอบคุณคุณครูและเพื่อน ๆ ที่ช่วยสอนจนทำให้สอบว่ายน้ำผ่าน
ถาม : พื้นฐานด้านภาษาอังกฤษสมัยเรียนเป็นยังไง ต้องพัฒนาเพิ่มเติมมากน้อยแค่ไหน
ตอบ : พื้นฐานด้านภาษาอังกฤษเมื่อเทียบกับเพื่อนในมหาวิทยาลัยแล้ว เรียกได้ว่าค่อนข้างอ่อน ทักษะการพูดและฟังคือสื่อสารได้ แต่ยังต้องพัฒนาอีกเยอะค่ะ เมื่อก่อนค่อนข้างอายที่จะพูด ก็เริ่มพัฒนาตัวเองจากการฝึกพูดกับเพื่อนทุกๆ เย็นเพื่อให้กล้าที่จะพูดมากขึ้น ฝึกฟังเพลงภาษาอังกฤษและพยายามทำความเข้าใจเนื้อหาของเพลง รวมถึงเริ่มอ่านนิยายเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนทักษะการเขียนในด้าน Gramma จะอ่านหนังสือด้วยตนเองและเมื่อไหร่ที่ว่างก็แวะไปหอกลาง ทำ self-study ค่ะ
ถาม : สำหรับผู้ที่อยากเป็น “แอร์โฮสเตส” ต้องมีคุณสมบัติและผ่านขั้นตอนอย่างไรบ้าง 
ตอบ : สำหรับน้อง ๆ ที่อยากทำอาชีพนี้ ต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ หมั่นหาข้อมูลว่ามีสายการบินไหนเปิดรับสมัครบ้าง คุณสมบัติคร่าว ๆ คือ 1. เตรียมความพร้อมทักษะด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งสำคัญมาก ๆ สายการบินของเอเชียส่วนใหญ่กำหนดคะแนนโทอิก (TOEIC) อย่างน้อย 600 คะแนนขึ้นไป สายการบินของยุโรปจะกำหนดคะแนนขั้นต่ำประมาณ 650 คะแนน แล้วแต่สายการบิน ส่วนสายการบินแถบตะวันออกกลางส่วนใหญ่ไม่กำหนดคะแนนโทอิกแต่จะให้เขียนเรียงความตามหัวข้อที่กำหนด 2. ต้องว่ายน้ำได้ ซึ่งระยะทางการสอบและเงื่อนไขขึ้นอยู่กับแต่ละสายการบิน ส่วนใหญ่ขั้นต่ำอยู่ที่ 50 เมตร 3. สุขภาพแข็งแรง 4. ส่วนสูงและน้ำหนักสัมพันธ์กัน ส่วนสูงอย่างน้อย 160 cm 5. หากมีความสามารถด้านภาษาอื่น ๆ ก็มักจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ เมื่อได้รับเลือกจากสายการบินแล้ว ต้องทำการตรวจร่างกายซึ่งส่วนใหญ่ทางสายการบินจะเป็นผู้รับผิดชอบส่งเราตรวจร่างกายกับโรงพยาบาลที่สายการบินรับรอง เมื่อผ่านการตรวจร่างกายแล้ว ต้องผ่านการเทรนในเรื่องของ Aircraft fleet, Aviation safety and security, General safety, Service และ First aid จึงจะสามารถขึ้นบินในฐานะลูกเรือ หรือพนักงานต้อนรับบนสายการบินได้ ซึ่งการเทรนทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่ใช้เวลาเดือนครึ่งถึงสองเดือน
ถาม : ฝากอะไรถึงน้อง ๆ ที่อยากเป็น “แอร์โฮสเตส”
ตอบ : ฝากถึงน้อง ๆ ที่อยากทำอาชีพนี้ การเป็นแอร์โฮสเตสถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ให้ค่าตอบแทนสูง มีสิทธิซื้อตั๋วเครื่องบินในราคาถูก เป็นอาชีพที่ทำให้เราได้เดินทางไปท่องเที่ยวในหลาย ๆ ประเทศ ได้เรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมทั้งจากเพื่อนร่วมงานและผู้โดยสาร เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับชีวิต แต่อีกด้านหนึ่งอาชีพนี้ก็เป็นอาชีพที่เราไม่สามารถทำไปจนเกษียณอายุการทำงานได้ โดยเฉพาะการทำงานกับสายการบินต่างชาติที่ไม่ได้ประจำอยู่ในประเทศไทย น้อง ๆ ที่อยากทำงานนี้ หากมีโอกาสได้ทำขอให้ตระหนักถึงข้อนี้อยู่เสมอ เพราะฉะนั้นในระหว่างที่ยังทำอาชีพนี้อยู่ต้องแบ่งรายรับส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินเก็บ อย่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย และอีกอย่างอาชีพนี้ทำงานไม่เป็นเวลา บางครั้งเราต้องทำงานในขณะที่หลายคนกำลังหยุดพักผ่อน บางครั้งต้องนอนกลางวันเพื่อที่จะตื่นมาบินตอนดึก ดังนั้นต้องหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะยังไงแล้วการมีสุขภาพที่แข็งแรงก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด 

ไม่มีความคิดเห็น: