วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

ฟังกันชัดๆ ทำไม"เด็กม.6" สอบตก"โอเน็ต"

ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ อะไรคือสาเหตุที่ผลการสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ของนักเรียนชั้น ม.6 จึงคะแนนตกต่ำลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับผลสอบล่าสุดปีการศึกษา 2554 ที่คะแนนอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยเกือบทุกวิชาใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ โดย

เฉพาะครั้งนี้มีนักเรียนสอบได้คะแนนต่ำสุดเป็น "ศูนย์" ในทุกวิชา ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ นักวิชาการด้านการศึกษา และวิทยากรบรรยายเกี่ยวกับข้อสอบโอเน็ตให้กับครูอาจารย์ในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทั้งของรัฐและเอกชน ได้ให้ทรรศนะต่อปัญหาดังกล่าว


- เหตุใดผลการสอบโอเน็ตของนักเรียนในระดับชั้นต่างๆ จึงตกต่ำลงมาก ทั้งที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตั้งเป้าว่าจะต้องเพิ่มให้ได้อย่างน้อย 3% ในปีการศึกษา 2554 ?

สาเหตุมาจากมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด หรือระดับความรู้ของนักเรียนที่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 กำหนดไว้ กับการสอนจริงของผู้สอนในโรงเรียนส่วนใหญ่ยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงส่งผลให้ความรู้ที่เกิดขึ้นในตัวนักเรียนอยู่ในระดับขั้นต่ำกว่าเกณฑ์ และยังส่งผลให้ผลการสอบวัดโอเน็ตไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานไปด้วย


ตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด คือการกำหนดให้นักเรียนผ่านการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เช่น การแสดงออกในการคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาอย่างมีแบบแผนด้วยตัวของผู้เรียนเอง ส่วนการสอนของครู ต้องออกแบบการสอนที่นำไปสู่การเรียนรู้ที่นักเรียนต้องคิด ปฏิบัติ และแก้ปัญหา เพื่อให้นักเรียนเป็นผู้สรุปความรู้ ความคิดรวบยอดจากการคิด การปฏิบัติ และสรุปเป็นหลักการด้วยตนเอง จึงจะตรงตามจุดประสงค์ที่มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดกำหนด

แต่ในสภาพจริงการสอนของครูไม่ได้มีการออกแบบการเรียนรู้ที่ใช้คำถามนำไปสู่การพานักเรียนคิดและลงมือทำด้วยตัวของผู้เรียนเอง แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการสอนแบบอธิบาย บอกเล่า ให้ท่องจำเนื้อหาที่ครูต้องการให้จำให้ครบถ้วน ซึ่งไม่ได้ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ การคิด การปฏิบัติ และการแก้ปัญหา สมองจึงไม่เรียนรู้ ไม่พัฒนา นักเรียนจึงสร้างความรู้เองไม่เป็น


- แสดงว่าโรงเรียนต่างๆ ยังไม่เข้าใจนิยามการให้นักเรียนสร้างความรู้เอง ไม่รู้ว่าจะต้องจัดการเรียนการสอนอย่างไร จึงจะได้ผลสัมฤทธิ์ ?


"ยังมีโรงเรียนจำนวนมากที่ยังเข้าใจไม่ชัดเจนว่า ความรู้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนหลังจากที่ได้เรียนรู้ผ่านขั้นตอนระดับการคิดวิเคราะห์ขึ้นไป ซึ่งผลที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนเหล่านี้กลายเป็นความรู้ในระดับต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตัวของผู้เรียนแต่ละคน ระดับความรู้ของนักเรียนแต่ละคนจึงมีความแตกต่างกัน ไม่เท่ากัน แต่ครูผู้สอนส่วนใหญ่กลับเข้าใจว่า เนื้อหาต่างๆ ทั้งจากในหนังสือเรียนก็ดี จากสื่อต่างๆ รวมถึงสิ่งที่นักเรียนได้พบได้เห็นนั้น เป็นความรู้ที่นักเรียนสามารถท่องจำ เพื่อให้กลายเป็นความรู้ของนักเรียน ทั้งที่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่ข้อมูลดิบทั้งสิ้น ยกเว้นข้อเท็จจริงบางส่วน ข้อมูลทั้งหลายจะกลายเป็นความรู้ก็ต่อเมื่อนักเรียนนำข้อมูลเหล่านั้นมาจัดกระทำให้เกิดความหมาย ด้วยการนำมาคิดวิเคราะห์และลงมือปฏิบัติเอง หลังคิด หลังปฏิบัติ นักเรียนจึงเกิดความเข้าใจว่าผลนั้นเกิดจากการคิดแบบใด ปฏิบัติใช้กระบวนการและแบบแผนใด ผลของความเข้าใจถึงจะกลายเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นในตัวนักเรียนแต่ละคน

- ผลการสอบโอเน็ตของนักเรียนที่ตกต่ำ เป็นเพราะข้อสอบยากเกินความรู้เด็กที่เรียนมาจริงหรือไม่ ?

ตอบได้เลยว่า ข้อสอบไม่ได้ยาก นักเรียนสามารถวิเคราะห์ข้อสอบได้ง่ายๆ ถ้าครูสอนให้นักเรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ขั้นสูงได้ ข้อสอบโอเน็ตนั้น วัดความรู้ตามระดับที่ตัวชี้วัดกำหนด ซึ่งความรู้ตามตัวชี้วัด ก็คือความรู้อันเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกระบวนการที่ครูผู้สอนออกแบบ ตามแนว Backward Design (กระบวนการที่ครูผู้สอนตั้งเป้าหมายหรือผลสำเร็จที่ต้องการไว้ก่อน แล้วย้อนกลับไปหาแนวทางและวิธีการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้) ตามที่หลักสูตรกำหนดไว้ และเรียกวิธีสอนหรือกระบวนการที่นำมาออกแบบแล้วนั้นว่า กิจกรรมการเรียนรู้
ดังนั้น ครูผู้สอนจึงต้องให้ความสำคัญกับกิจกรรมการเรียนรู้ให้มากที่สุดกับการสอนจริง นักเรียนก็จะเกิดความรู้อย่างมีคุณภาพแน่นอน

แต่ถ้าไปมุ่งสอนแต่ให้จำเพียงเนื้อหา จำตัวอย่าง จำรูปแบบ หรือจำแบบแผนเพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้นักเรียนไม่สามารถเข้าถึงความรู้ ปัญหาจึงไม่สามารถแก้ที่ตัวนักเรียนเพียงด้านเดียว แต่ต้องช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้ครูผู้สอนมีวิธีสอนให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าวข้างต้น จึงจะสนองเป้าหมายของหลักสูตร และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริงได้อย่างยั่งยืน


- หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ที่กระทรวงศึกษาธิการใช้อยู่ในขณะนี้ โรงเรียนได้นำมาใช้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ ?


โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนแล้ว นักเรียนยังไม่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ก็ถือว่ายังใช้หลักสูตรไม่สมบูรณ์ ขอให้ยึดหลักการสำคัญว่า เรียนอะไรคือเนื้อหา เรียนอย่างไรคือการออกแบบวิธีเรียนโดยใช้ผ่านกระบวนการ
เกิดความรู้ใดคือเพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้สรุปความรู้ ความคิดรวบยอดครบทุกมิติคุณภาพ และสรุปหลักการได้ตรงตามที่ตัวชี้วัดกำหนดด้วยตนเอง คุณภาพระดับใดคือการจัดทำเกณฑ์มิติคุณภาพเพื่อเป็นเป้าหมายของการพัฒนาให้นักเรียน
มีคุณภาพในระดับที่สูงขึ้น โอเน็ตวัดความรู้ใด ก็คือวัดความรู้ตามตัวชี้วัด ซึ่งเป็นความรู้อันเกิดจากกระบวนการ แต่อาจจะวัดความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริงในเนื้อหาประมาณ 10-20% เท่านั้น


นอกนั้นเป็นการวัดความรู้ตั้งแต่ระดับการคิดวิเคราะห์ขึ้นไป ดังนั้น ถ้าการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนใดยังมุ่งสอนแต่เนื้อหา แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนเหล่านั้นยังไม่รู้จักหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 อย่างแท้จริง จึงเป็นโรงเรียนที่ยังไม่ได้ใช้หลักสูตรอย่างสมบูรณ์นั่นเอง ต้องช่วยส่งเสริมและสนับสนุนเครื่องมือการจัดการเรียนรู้ให้กับครูผู้สอนให้มาก

- จะทำอย่างไรให้ผลสัมฤทธิ์การสอบโอเน็ตของนักเรียนเพิ่มขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ?

ขอให้โรงเรียนตรวจสอบศักยภาพที่แท้จริงของตนเองว่า มีศักยภาพหรือไม่ ถ้ามี อยู่ระดับใด ศักยภาพนั้นต้องเป็นภาพที่แท้จริง ไม่ใช่ภาพลวงตา เช่น ถ้าดูศักยภาพด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ให้ดูศักยภาพนักเรียนทุกคนว่า มีความรู้ครบทั้งด้านเก่งคิด เก่งดี เก่งปฏิบัติ  มีค่านิยมมุ่งมั่นให้ผลนั้นส่งประโยชน์ไปถึงสังคมได้จริงหรือไม่ ค่าเฉลี่ยของผลการสอบโอเน็ตของนักเรียนทุกคนทั้งโรงเรียนอยู่ในเกณฑ์ระดับใด ค่าเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ระดับชาติหรือไม่ ถ้าต่ำกว่าแสดงว่ามาตรฐานระดับโรงเรียนยังต้องพัฒนาอีกมาก และยังต้องยกระดับคุณภาพให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานระดับเขตพื้นที่การศึกษา และเกณฑ์มาตรฐานระดับชาติ อีกทั้งยังมีเกณฑ์มาตรฐาน


อีกหลายระดับที่โรงเรียนต้องไปให้ถึง เช่น มาตรฐานระดับอาเซียน และมาตรฐานระดับสากลที่เป็นเป้าหมายสำคัญ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารต้องเป็นผู้นำในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนอย่างจริงจังและเร่งด่วน

เครื่องมือสำคัญที่ช่วยส่งเสริมครูผู้สอนอย่างเป็นระบบได้ ก็คือแผนการจัดการเรียนรู้ที่ผ่านการออกแบบการเรียนรู้ตามแนวทาง Backward Design โดยใช้กระบวนการ GPAS และมีเกณฑ์มิติคุณภาพ เพื่อใช้ประเมินคุณภาพการแสดงออกของนักเรียนตามสภาพจริง ตามที่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 กำหนด จึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ อีกทั้งการยกระดับคุณภาพผู้เรียนเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ทุกโรงเรียนต้องเร่งพัฒนา เพื่อให้คุณภาพนักเรียนมีมาตรฐานระดับสากล ซึ่ง


ขณะนี้มีโรงเรียนจำนวนมากยังไม่มั่นใจว่าจะไปถึงได้อย่างไร ใช้เวลาอีกนานเท่าใด และจะสายเกินไปหรือไม่



′ผอ.หอวัง′ชี้ครูขาดแคลน ต้นเหตุนร.สอบตกโอเน็ต ปูดเด็กกว่า 1.65 แสนคน ทำคณิตได้แค่ 0-10 คะแนน

จากกรณีคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มีมติเห็นชอบให้จัดทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) รอบพิเศษ สำหรับนักเรียนชั้น ม.6 ม.3 และ ป.6 ที่เกิดเหตุสุดวิสัย เพื่อเยียวยาให้นักเรียน ม.6 มีคะแนนโอเน็ตไปใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางหรือแอดมิสชั่นส์ ประจำปีการศึกษา 2555 โดยเปิดรับสมัครโอเน็ตรอบพิเศษ ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม - 3 เมษายน ขณะเดียวกันสำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วิเคราะห์พบว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักเรียนชั้น ม.6 ทำคะแนน โอเน็ตตกต่ำ เนื่องจากโรงเรียนจำนวนหนึ่งใช้ครูอัตราจ้างทดแทนครูประจำที่ขาดแคลน ส่งผลให้นักเรียนมีความรู้ไม่แน่นพอนั้น 

นายพชรพงศ์ ตรีเทพา ผู้อำนวยการโรงเรียนหอวัง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 31 มีนาคมว่า ยอมรับว่าส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำให้คะแนน โอเน็ตของนักเรียนตกต่ำนั้น เกิดจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไม่ให้ความสำคัญกับการจัดสรรอัตราครู ปัจจุบันครูที่มีความรู้ความสามารถ เกษียณอายุราชการไปประมาณ 70,000 คน ทำให้โรงเรียนต้องใช้ครูอัตราจ้าง ซึ่งมีความรู้ไม่เพียงพอ และยังมีข้อจำกัดว่าครูอัตราจ้างจะได้รับเงินเดือนตายตัว คือเดือนละ 9,140 บาท ทำให้ไม่มีกำลังใจและสอนหนังสือไปวันๆ เท่านั้น นอกจากนั้นยังพบปัญหาระเบียบการสอบบรรจุครูของ ศธ. ไม่เอื้อให้โรงเรียนคัดคนเก่งที่ตรงตามความต้องการมาบรรจุเป็นครูได้ โดยกำหนดให้เขตพื้นที่การศึกษา คัดเลือกจากบัญชีของตัวเองก่อน หากจำนวนรายชื่อที่ขึ้นบัญชีไว้ไม่พอ ให้ไปดึงจากบัญชีของเขตพื้นที่ฯ อื่นมา ขณะที่ครูที่สอบได้ในอันดับแรกๆ มักจะเลือกไปลงโรงเรียนดังหมดแล้ว เมื่อไม่มีครู จำเป็นต้องไปดึงมาจากผู้ที่สอบได้ในลำดับท้ายๆ ต้องยอมรับว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยเก่งมาก และบัญชีเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด เมื่อมาเป็นครูได้ไม่เกิน 2 ปีจะขอย้ายกลับไปยังภูมิลำเนา 

"ปัญหานี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2546-2547 ที่รัฐบาลมีนโยบายลดอัตรากำลังคนภาครัฐ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนครูต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่ง สพฐ.เอง ก็รู้ปัญหาดี แต่ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ส่วนหนึ่งเพราะเอาการศึกษาไปผูกติดกับการเมือง และที่ผ่านมา ศธ. มีการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการ ศธ. บ่อย การดำเนินการต่างๆ ก็ไม่เกิดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการนำคะแนนโอเน็ตไปใช้ บางปีก็ใช้ บางปีก็ไม่ใช้ เด็กก็ไม่เห็นความสำคัญของการสอบโอเน็ต ผมเห็นว่า ศธ.ควรจะทำเป็นนโยบายที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปเลยว่าทุกโรงเรียนจะต้องใช้คะแนนโอเน็ต ในการเข้าเรียนต่อ ม.1 และ ม.4" ผู้อำนวยการโรงเรียนหอวังกล่าว 

นายพชรพงศ์กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นยังมีบางโครงการที่อาจจะส่งผลกระทบทำให้เกิดปัญหาครูไม่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น อาทิ โครงการครูคืนถิ่น ที่เปิดให้ครูขอย้ายกลับภูมิลำเนาได้ หากย้ายครูไม่ตรงตามวิชาเอกที่โรงเรียนต้องการ จะเกิดปัญหา เช่น ถ้าย้ายครูคหกรรม มาแทนครูคณิตศาสตร์ แบบนี้ไม่สามารถสอนได้อย่างมีคุณภาพ ต้องเปิดสอนตามหนังสือ และส่วนตัวยังเห็นด้วยว่าอีกสาเหตุที่ทำให้คะแนนโอเน็ตตกต่ำ เป็นเพราะครูที่สอนจริงๆ ไม่ใช่คนออกข้อสอบ แต่คนที่ออกข้อสอบกลับเป็นผู้ที่นั่งอ่านตำราแล้วมาออกข้อสอบ จึงไม่ตรงตามเนื้อหาสาระการเรียนรู้จริงๆ ทั้งที่จริงแล้วเด็กไทยไม่ได้ด้อยคุณภาพขนาดนั้น เพราะถ้าดูจากการสอบแข่งขันระดับโลก เด็กไทยก็ติดอันดับแทบทุกครั้ง 

ด้านนายองอาจ นัยพัฒน์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า การสอบโอเน็ตของนักเรียนชั้น ม.6 ถือว่าเป็นตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานได้เป็นอย่างดี โดยการสอบครั้งนี้ มีผู้เข้าสอบทั้งหมด 368,228 คน เกณฑ์กลางของคะแนนเฉลี่ยของแต่ละวิชาน่าจะอยู่ที่ 50% แต่ปรากฏว่าค่าเฉลี่ยของเด็กไทยเกือบทุกวิชา กลับไม่ถึง 50% โดยเฉพาะวิชาหลัก คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ โดยคณิตศาสตร์ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15 คะแนน จากคะแนนเต็มแต่ละวิชาอยู่ที่ 100 คะแนน

นายองอาจกล่าวต่อว่า จากข้อมูลที่ตนมียังพบว่ามีนักเรียนที่ได้คะแนนวิชาคณิตศาสตร์อยู่ในช่วง 0-10 คะแนนถึง 46.45% หรือคิดเป็นนักเรียน จำนวน 165,646 คน จากนักเรียนที่เข้าสอบทั้งหมด ส่วนวิทยาศาสตร์ มีนักเรียนถึง 52% ที่ได้คะแนนอยู่ในช่วง 20-30 คะแนน วิชาภาษาอังกฤษ ก็แย่พอกัน คือ มีนักเรียนถึง 58.28% หรือ 206,611 คน ที่ได้คะแนนอยู่ในช่วง 10-20 คะแนน ขณะที่พบว่ามีนักเรียนที่ได้คะแนนวิชาภาษาอังกฤษ อยู่ในช่วง 90-100 คะแนน เพียง 0.04% หรือคิดเป็นนักเรียนเพียง 148 คน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับนักเรียนที่เข้าสอบทั้งหมดกว่า 3.5 แสนคน และส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่เก่งอยู่แล้ว ทั้งนี้มีเพียงวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา วิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และวิชาศิลปะ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงคะแนน 40-50 คะแนน แต่สรุปภาพรวมแล้ว ไม่มีวิชาใดที่นักเรียนทำคะแนนได้เกิน 50% 

"เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าผลคะแนนที่ต่ำ เกิดจากปัญหาอะไร ซึ่งมี 2 ประเด็นใหญ่ที่ต้องคิด คือ 1.ข้อสอบของ สทศ.ยากเกินไป หรือคุณภาพการศึกษา การเรียนการสอนของบ้านเราย่ำแย่ แต่ส่วนตัว เชื่อว่าข้อสอบของ สทศ.จะคละกันไประหว่างยากและง่าย คงไม่ใช่ยากทุกข้อ ส่วนการที่ สทศ.กำหนดจุดตัดขั้นต่ำไว้นั้น ถือว่าถูกต้องตามหลักการวัดผลประเมินผล ซึ่งจุดตัดที่กำหนด จะไปสัมพันธ์กับความยากง่ายของข้อสอบ ขณะเดียวกันทุกคนต้องยอมรับว่าการจัดการศึกษาของบ้านเรายังมีช่องว่างระหว่างเด็กในเมืองกับเด็กในชนบท ดังนั้น ข้อสอบกลางที่ใช้จึงต้องมีความยากระดับหนึ่ง แต่ช่องว่างของคะแนนที่ออกมา ก็ไม่ควรจะมากขนาดนี้" นายองอาจกล่าว 

นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร สทศ. กล่าวต่อว่า เรื่องจุดตัดขั้นต่ำนั้น ตนเป็นคนให้นโยบายแก่ สทศ. ตั้งแต่รับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร สทศ.ว่า ให้ทำจุดตัดขั้นต่ำที่อิงเกณฑ์หรืออิงวัตถุประสงค์ของหลักสูตรจะดีกว่าอิงคะแนนเฉลี่ย ไม่มีความหมายทางวิชาการเท่าใดนัก เพียงแต่ที่เพิ่งออกมาแถลงข่าว ตนเข้าใจว่าเพิ่งมาคิดคำนวณเสร็จ แต่จากการเทียบเคียงกับผลคะแนนโอเน็ตของปีที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ต่างกันมากจนมีนัยยะที่สำคัญ 

"การที่จุดต่ำของวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ อยู่ที่วิชาละ 25 คะแนนสะท้อนว่า 3 วิชานี้มาตรฐานสูงหรืออีกนัยหนึ่งข้อสอบยาก ฉะนั้นถ้าเด็กทำคะแนนผ่านที่ 25 พอว่าความรู้พื้นฐานใช้ได้ ทั้งนี้ จุดตัด เกิดจากผู้ออกข้อสอบคิดกับครูผู้สอนว่าแต่ละวิชา นักเรียนควรจะได้กี่คะแนน ถึงจะผ่านเกณฑ์ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ หมายถึงมีความรู้พื้นฐานพอใช้ ซึ่งต่อไปจะต้องสร้างความเข้าใจเรื่องนี้กับ ผู้ออกข้อสอบและครูผู้สอนให้มากขึ้น" นายสมหวังกล่าว


ไม่มีความคิดเห็น: