วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

เตือนสติ! น้องใหม่ ระวังโดน “รีไทร์-เรียนไม่จบ”

เมื่อคุณได้รับจดหมายนี้ “พ้นสภาพนิสิตนักศึกษา” หรือเรียกสั้นๆ ให้เข้าใจง่าย “โดนรีไทร์” คุณจะทำยังไง?? จะจัดการยังไงกับชีวิต มันสับสนวุ่นวายมาก ใช่มั้ย ล้มแล้วลุกขึ้นมาอีกจะได้ไม่ แต่ก็กลัวจะอายรุ่นเดียวกันหรือรุ่นน้องที่เรียนอยู่ที่เดียวกัน
 
ถ้า“โดนรีไทร์” คุณจะทำยังไง?? จะจัดการยังไงกับชีวิต (ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต)
       วันนี้ Life On Campus มีแนะนำดีจากปากกูรูคนสำคัญในรั้วมหาวิทยลัย ผู้อยู่บื้องหลังการจัดการเรียนการสอนของนิสิตระดับปริญญาตรี ตั้งแต่เริ่มรับเข้าศึกษาจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา มาร่วมให้คำแนะนำและเตือนนิสิต นักศึกษาหลายคนกังวลกับปัญหาเรื่องการเรียนและการออกเกรด โดยเฉพาะน้องใหม่ชั้นปี 1 ที่ต้องใช้เวลาปรับตัวการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่เข้มข้นและยากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะส่งผลให้น้องใหม่หลายคนโดนรีไทร์โดนไม่รู้ตัว เพราะเกรดเฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์
      
       “เด็กสายวิทย์” มักโดนรีไทร์ จริงหรือ ?
       

       ผศ.ดร.ปานเพชร ชินินทร รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ยกตัวอย่าง ปีการศึกษา 2554 กรณีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยถูกรีไทร์ จำนวน 199 ราย หรือคิดเป็น 0.8% จากจำนวนนักศึกษาทั้งสิ้น 25,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก แบ่งเป็น คณะศิลปศาสตร์ 7 ราย คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม 29 ราย คณะเทคโนโลยีการเกษตร 17 ราย คณะ วิศวกรรมศาสตร์ 72 ราย คณะบริหาร ธุรกิจ 24 ราย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ 7 ราย คณะศิลปกรรมศาสตร์ 11 ราย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน 6 ราย คณะวิทยาศาสตร์ 20 ราย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 4 ราย และวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย 2 ราย
      
       แต่อย่างไรก็ตาม สถิติการรีไทร์นักศึกษามีแนวโน้มที่ลดลงโดยปีการศึกษา 2552 มีนักศึกษาถูกรีไทร์ 460 ราย ปี 2553 รีไทร์ 414 ราย ทั้งนี้นักศึกษาที่ถูกรีไทร์ส่วนใหญ่จะมีปัญหาในเรื่องวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์
      
       เปิดสอนปรับพื้นฐาน ก่อนเข้าเรียนภาคปกติ
      
       สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหานักศึกษาถูกรีไทร์ ในแบบฉบับ มทร.ธัญบุรี ผศ.ดร.ปานเพชร เผยว่า มหาวิทยาลัยควรเปิดสอนปรับพื้นฐานก่อนการเปิดภาคเรียนให้กับนักศึกษาเข้าใหม่ รวมถึงยังมีการเปิดห้องเรียนพิเศษให้นักศึกษาที่สนใจ เข้าเรียนในรายวิชาที่มีปัญหาอีกด้วย “ก่อนหน้านี้ตนได้เดินทาง ไปศึกษาดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ พบว่า การเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และ คณิตศาสตร์จะเน้นให้นักศึกษาทำการบ้าน เป็นหลัก ซึ่งตนจะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับคณะกรรมการบริหารงานวิชาการ เพื่อให้ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ทุกท่าน หลังให้ การบ้านนักศึกษาและนักศึกษาส่งการบ้าน เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะต้องทำเฉลยขึ้นเว็บไซต์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขโจทย์ที่ถูกต้อง ซึ่งตนเชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยแก้ไขจุดบกพร่องให้กับนักศึกษาได้”
 
       น้องใหม่ปี 1 ระวัง “ถูกรีไทร์” ไม่รู้ตัว
      
       นายสหัส ภัทรฐิตินันท์ ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(บางเขน) เปิดเผยเช่นเดียวกันว่า ปัจจุบันนี้ปัญหานักศึกษาถูกรีไทร์ส่วนใหญ่มักจะเป็นนักศึกษาชั้นปี 1 ที่ยังปรับตัวด้านการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยอย่างไม่ถูกต้อง เน้นทำกิจกรรม จนเสียการเรียน แถมลงเรียนตามเพื่อน โดยไม่ดูคะแนนของตนเอง ส่งผลทำให้ต้องเกรดต่ำกว่าเกณฑ์ เสี่ยงถูกรีไทร์
      
       "ก่อนที่จะขึ้นมาเป็นนักศึกษาปี 1 หลายคนเคยเป็นเด็กนักเรียนที่ชอบเรียนกวดวิชา เวลาไม่เข้าใจ เรียนไม่ทันก็ไปเรียนกวดวิชา แต่พอเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ไม่มีการเรียนกวดวิชาใดๆ ทั้งสิ้น นักศึกษาทุกคนจะต้องดูแลตัวเอง  โดยภาพรวมของนักศึกษาชั้นปี 1 ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังมากที่สุด หากวางแผนการเรียนไม่ดี ทำกิจกรรมจนลืมการเรียน ปล่อยชีวิตอิสระเกินไป จนไม่ใส่ใจการเรียน รับรองได้ว่า มีสิทธิ์เรียนไม่จบ”
      
       “ เรียนหนัก วิชายาก กิจกรรมเพียบ ส่อแวว เกรดตก”
      
       “วิชาเรียนของนักศึกษาชั้นปี 1 แบ่งออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ หมวดวิชาพื้นฐานทั่วไป ฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ ซึ่งถือว่า ยาก หลายคนไม่ได้เรียนมาโดยตรง หรือบางทีเรียยนมาโดยตรง แต่ก็ยังมีบ้างที่ไม่เข้าใจ บวกกับความยากขึ้นอีกด้วย และนอกจากนี้ยังมีหมวดวิชาบังคับ เป็นวิชาชีพของแต่ละคณะ ที่นักศึกษาต้องเรียนทุกตัว และสุดท้ายหมวดวิชาเลือกเสรี อยากเรียนอะไรก็ได้”ผอ.สำนักทะเบียนฯ มก. กล่าวถึง 3 หมวดวิชาเรียนของนักศึกษาชั้นปี 1
      
       ส่วนใหญ่วิชาพื้นฐานที่เด็กสายวิทย์ หนีไม่พ้นก็คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ซึ่งหลักสูตรวิชาเรียนนั้น จะคล้ายๆกันทุกมหาวิทยาลัย แต่ไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไรก็ตาม ถ้านักศึกษาปรับตัวไม่ได้ ไม่รู้จักแบ่งเวลา เรียนๆ เล่นๆ จะส่งทำข้อสอบได้ไม่ดีพอ
        ใน 1 เทอม มี 15 สัปดาห์ ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก นักศึกษาน้องใหม่เสียเวลาไปกับการทำกิจกรรมรับน้อง ไม่ว่าจะเป็น รับน้องมหาวิทยาลัย รับน้องคณะ รับน้องภาควิชา หรือแม้แต่รับน้องหอพัก แน่นอนว่า กิจกรรมเหล่านี้มีผลต่อนักศึกษาที่ยังปรับตัวไม่ได้ หลายคนทำกิจกรรมจนเหนื่อย ไม่มีเวลาทำการบ้าน หรือทบทวนตำราเรียน พอถึงเวลาสอบ ทำไม่ได้ ผลสอบออกไม่ดี ส่งผลให้คะแนนสอบเทอมต้นของนักศึกษาชั้นปี 1 มีปัญหาทันที"
 
       “ดรอป” ไม่น่ากลัว ลงเรียนใหม่ มีสิทธิ์ได้ A,B
      
       นายสหัส ชี้แจงว่า ถ้ารู้ตัวว่า คะแนนไม่ดี แนะนำให้ดรอปเรียน แต่เด็กส่วนใหญ่มักจะไม่ดรอป กลัวมีผลต่อทรานสคริป แต่ขอให้นึกถึงเรื่องเรียนก่อนจะดีกว่า เพราะบางทีการดรอปเรียนแล้วลงเรียนใหม่ อาจจะช่วยฉุดคะแนนให้สูงขึ้นมากกว่าเดิม
      
       “นิสิตนักศึกษาหลายคนกลัวคำว่า ดร็อป กลัวว่าจะตามเพื่อนไม่ทัน แต่อย่าลืมว่านิสิตนักศึกษาสามารถลงเรียนซัมเมอร์ได้ แถมยังได้คะแนนดีกว่าเรียนภาคเรียนปกติ เพราะปริมาณคนมีไม่มาก แถมการลงเรียนซัมเมอร์สามารถลงเรียนได้ไม่เกิน 2 วิชา ทำให้มีเวลาดูหนังสือได้เต็มที่ บางคนไม่มีความรู้เรื่องการลงเรียนรายวิชา ยังตื้อที่จะลงตามเพื่อน โดยที่ไม่ดูคะแนน ไม่ดีเกรดที่ออกมา สุดท้ายพอเกรดเฉลี่ยโดยรวมในปี 1 ออกมา ต่ำกว่าเกณฑ์ ก็ไม่พ้นที่จะต้องถูกรีไทร์"
      
       “อาจารย์ที่ปรึกษา” ผู้ช่วยคนสำคัญ
      
       นายสหัส กล่าวทิ้งท้ายว่า ผู้ช่วยคนสำคัญที่นักศึกษาส่วนใหญ่หลงลืมหรือลืมนึกถึง นั่นคือ “อาจารย์ที่ปรึกษา” ผู้ทำหน้าที่ดูแลนักศึกษาน้องใหม่ แนะนำชีวิตการเรียน“ในภาพรวมส่วนใหญ่ เวลาที่นักศึกษาใหม่มีปัญหาเรื่องการเรียน มักจะเดินเข้าหารุ่นพี่มากกว่าอาจารย์ที่ปรึกษา บางคนให้คำแนะนำที่ดี แต่บางคนกลับไม่รู้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่แนะนำน้องได้เลย ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุด คือ การเข้ามาผู้ใหญ่ นักศึกษาอาจจะต้องนัดเวลากับอาจารย์ พูดคุยถึงปัญหาไม่ว่าจะเป็นการเรียน การใช้ชีวิต หรือการอยู่ร่วมกับสังคมในรั้วมหาวิทยาลัยก็ตาม ผมเชื่อว่า คำแนะนำของอาจารย์จะดีกว่า คำแนะนำของรุ่นพี่ หรือเพื่อน
      
       นอกจากนี้ บทบาทของอาจารย์ที่ปรึกษานั้น จะต้องใส่ใจกลุ่มนักศึกษาที่ตนเองดูแล ให้เวลากับเด็กๆ และต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับเด็กๆ ผมเชื่อว่า อายุ วัยวุฒิ ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ เราสามารถปรับและจูนเข้าหากันได้ คำแนะนำดีจากอาจารย์ จะส่งผลดีให้กับตัวนักศึกษา”

ไม่มีความคิดเห็น: