วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เคล็ดลับสอบ O-NET ม.6 คณิต 100คะแนน เทคนิคเรียนเลขให้สนุก !!


ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ประจำปี 2555 ของนักเรียนชั้นม.6 ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดสอบ ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา ทางเว็บไซต์ สทศ. www.niets.or.th ภาพรวมคะแนนสอบโอเน็ต ป.6 ม.3 และม.6 ปีนี้ เริ่มดีขึ้น 


ที่สร้างกระแสฮือฮา การสอบโอเน็ต เด็กม.6 ในครั้งนี้ มีนักเรียนสอบวิชาคณิตศาสตร์ได้ 100 คะแนนเต็มถึง 3 คน หนึ่งในนั้นมี นายพงษ์เทพ เสนานุช หรือ "น้องซัน" วัย 18 ปี นักเรียนชั้น ม.6/10 โรงเรียนเลยพิทยาคม จังหวัดเลย 

ทั้งที่เป็นเด็กต่างจังหวัด แต่น้องซันก็ใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์จนชำนาญและทำคะแนนสอบได้ดี 

"น้องซัน" เผยถึงความรู้สึกที่สอบได้เต็ม 100 คะแนน ว่า ดีใจและภูมิใจที่สามารถทำคะแนนเต็มในวิชาคณิตศาสตร์ รู้ได้ทันทีว่าทำสอบได้เกือบทั้งหมด แม้จะไม่มั่นใจในบางข้อ แต่ในใจก็หวังไว้ว่าอยากได้คณิตเต็ม 100 ซักครั้งในชีวิต พอผลออกมาว่าได้คะแนนเต็ม จึงดีใจมาก พ่อกับแม่ก็พลอยดีใจไปด้วย ทั้งครู เพื่อน พี่ น้อง ได้เข้ามาแสดงความยินดี 



ซันเล่าต่อว่า ก่อนสอบเตรียมตัวอ่านคณิตศาสตร์ทีละบทอย่างละเอียด พยายามทำแบบฝึกหัด ฝึกทำโจทย์ในบทนั้นๆ จนมีความชำนาญ และยังฝึกทำโจทย์เลขของข้อสอบเอ็นทรานซ์เก่าๆ รวมทั้งข้อสอบวีเน็ต ของอาชีวศึกษา หรือ วิชาแพต 1 จนรู้สึกมั่นใจว่าเราทำได้แน่นอนแล้ว จึงค่อยไปอ่านวิชาอื่นๆ 


"ตอนฝึกทำโจทย์เลขจะรู้สึกสนุก เพราะได้เจอโจทย์แปลกๆ พยายามเรียนรู้เลขใหม่ๆ ตอนสอบมีกดดันบ้าง แต่จะไม่กดดันตัวเอง เพราะจะทำให้การสอบออกมาไม่ดี สำหรับเด็กหลายคนที่ไม่ชอบวิชาเลข อาจจะเป็นเพราะทำไม่ได้ จึงเรียนแบบไม่สนุก ผมแนะนำให้ทำโจทย์ง่ายๆ ก่อน ถ้าทำได้ก็จะรู้สึกชอบ"


พงษ์เทพบอกว่า ขณะที่เรียน ม.6 เทอม 1 จะฝึกทำแบบฝึกหัดเลขหนักมาก ประกอบกับอยู่ต่างจังหวัดทำให้มีเวลาว่าง หลังเลิกเรียนก็จะกลับบ้านอ่านหนังสือ จัดสรรเวลาให้ลงตัว เพราะมีเป้าหมายว่า จะเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


"มองว่าการกวดวิชาจะช่วยให้เด็กทำข้อสอบได้คะแนนดีขึ้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับตัวบุคคลด้วย หากตั้งใจจริงการกวดวิชาจะช่วยได้มาก ถือเป็นการต่อยอดความรู้ เพราะโจทย์เลขบางข้อจะยากมาก ต้องรู้เทคนิคการทำเยอะๆ จึงจะทำได้" 


บางคนอาจจะสงสัยว่า "เทคนิค" การทำคะแนนวิชาเลขให้ออกมาได้ดีต้องทำอย่างไร น้องซันบอกเทคนิคว่า ต้องเรียนเลขแบบไม่ให้เครียด และระหว่างเรียนก็จะทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วย เช่น เล่นกีฬา เข้าชมรมขับร้องประสานเสียง ที่สำคัญต้องแบ่งเวลามาทบ ทวนการเรียน ซึ่งจะมีพ่อแม่เป็นคนคอยช่วยดูแลด้วย 


"อยากให้เพื่อนๆ คิดว่า การเรียนไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิต แต่ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำได้ และไม่เสียการเรียน อยู่ที่การแบ่งเวลา ผมมีอาเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ เวลาทำเลขไม่ได้ก็จะถามได้ทันที ก็จะทำให้หมดเรื่องคาใจ ทำให้คณิตศาสตร์เป็นเรื่องสนุก อีกอย่างเวลาอ่านหนังสือจะดื่มน้ำมากๆ จะทำให้สดชื่น กระตุ้นสมอง วันไหนกินน้ำน้อยจะเบลอ เครียดๆ" 



การที่เด็กในเมืองมีโอกาสด้านการศึกษามากกว่าเด็กที่อยู่ต่างจังหวัด เรื่องนี้น้องซันมองว่า มีทั้งข้อได้เปรียบเสียเปรียบต่างกัน เด็กบ้านนอกจะมีเวลามากกว่า เพราะเลิกเรียนก็กลับถึงบ้านแล้ว มีเวลาทบทวนตำราเรียนมากกว่าเด็กที่อยู่ในเมือง ที่ต้องเสียเวลาอยู่กับการเดินทาง 


ในอนาคต "ซัน" อยากเรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจบการศึกษาแล้วอยากเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย หรือทำงานเกี่ยวกับสาขาที่เรียนมาในภาคเอกชน และจะเปิดติวให้รุ่นน้องแบบไม่คิดเงินด้วย


"ฝากบอกไปยังเพื่อนๆ ทุกคนว่า ถึงคะแนนจะน้อยก็ขอให้ตั้งใจเรียน เลือกในคณะที่ตนเองชอบ ทำตามที่ตั้งใจไว้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน" ซันกล่าวทิ้งท้าย


จากผลคะแนนโอเน็ตที่สูงกว่าเด็กในเมือง ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องวิเคราะห์เปรียบเทียบคะแนนโอเน็ตระดับชั้นม.6 ของนักเรียนในสังกัด เปรียบเทียบคะแนนระหว่างปี 2554 และ 2555 เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน 



นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า ภาพคะแนนโอเน็ต ม.6 โดยรวมดีขึ้น 6 วิชา จากทั้งหมด 8 วิชา วิชาที่คะแนนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ ภาษาไทย เพิ่มขึ้น 5.56% วิทยาศาสตร์ เพิ่มขึ้น 5.37% ศิลปะ 4.33% สังคมศึกษา เพิ่มขึ้น 3.07% ภาษาอังกฤษ เพิ่มขึ้น 0.37% และคณิตศาสตร์ 0.09%


ส่วนวิชาที่คะแนนลดลง คือ สุขศึกษา ลดลง 0.88% และการงานและอาชีพ ลดลง 3.01% แต่ในภาพรวมเฉลี่ยทุกวิชา คะแนนเพิ่มขึ้น 1.86%


สพฐ.วิเคราะห์โดยแยกคะแนนโอเน็ตตามขนาดของโรงเรียน คือโรงเรียนใหญ่พิเศษ ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก พบว่า คะแนนเฉลี่ยลดหลั่นไปตามขนาดโรงเรียน และยังได้เปรียบเทียบคะแนนโอเน็ตระหว่างโรงเรียนในเมืองและชนบท 


พบว่าคะแนนเฉลี่ยของโรงเรียนในชนบท คะแนนเฉลี่ยสูงกว่าในเมือง ซึ่งสพฐ.จะมอบให้สำนักทดสอบทางการศึกษาของสพฐ.ไปวิจัยเชิงลึกเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้คะแนนโอเน็ตของโรงเรียนในชนบทสูงกว่าโรงเรียนในเมือง



จากผลคะแนนโอเน็ตของเด็กในเมืองต่ำ ก็คงจะต้องย้อนกลับมาที่การพัฒนากระ บวนการเรียนรู้และวางแผนจัดการเรียนการสอนให้ดีขึ้นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: