วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

มารู้จัก “ทุนเรียนต่อต่างประเทศ”

มารู้จัก “ทุนเรียนต่อต่างประเทศ”  
เพราะเรื่องของค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องสำคัญต่อการตัดสินใจไปเรียนต่อต่างประเทศ“ทุนการศึกษา”เป็นอีกหนทางหนึ่งของนักเรียนต่างชาติ วันนี้จะมาเล่าเรื่องทุนเรียนต่อต่างประเทศให้ฟัง ว่ามีกี่ประเภท น้องๆที่อยากขอทุนแต่ไม่เคยขอมาก่อน หรือ ไม่แน่ใจว่า อย่างฉันนี่จะสมัครทุนกับเขาได้ไหม วันนี้จะมาแจงให้ฟังรวมถึงแนะนำ เคล็ดลับค้นหาทุน ข้อควรรู้  เมื่อรู้แล้วจะได้ดูทุนเป็นและเพิ่มโอกาสในการไปเรียนต่ออย่างสบายกระเป๋าป๊าม๊าด้วยจ้า
มาเริ่มกันที่
ประเภทของทุนการศึกษา
ไม่ใช่ว่าทุนการศึกษาที่แต่ละประเทศมอบให้นั้น จะเหมือนกันเสมอไปนะคะ ทุนแต่ละอันมีกฎเกณฑ์มากมาย อาจมีความแตกต่างในเรื่องของรายละเอียด สัญญาผูกมัด รวมถึงเงินสนับสนุน  ไปดูกันเลย
1.      ทุนแบบเต็มจำนวน

ทุนประเภทนี้ เป็นทุนการศึกษาที่เราชอบมากที่สุด เหตุผลนั้นแสนหวาน เพราะทุนครอบคลุมทั้งค่าใช้จ่าย ค่าเล่าเรียน ค่ากินอยู่ ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่างๆ  เรียกว่าออกให้หมด ภายในงบประมาณที่ทางเจ้าของทุนกำหนด  ทุนในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นอันนี้
ตัวอย่างทุน
Australian Development Scholarships (ADS) ที่มอบทุนการศึกษาจำนวนหลายทุนให้แก่นักศึกษาต่างชาติ ทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก โดยทุนนั้นครอบคลุมทั้งค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน ค่าตั๋วเครื่องบินไปกลับ รวมค่าที่พัก ค่าครองชีพ และค่าประกันสุขภาพ เป็นต้น

2.      ทุนแบบให้บางส่วน
เรียกอีกอย่างว่าทุนแบบไม่เต็มจำนวนนั่นเอง เป็นทุนที่เราจะต้องออกเงินในบางส่วนเองด้วย เช่น เจ้าของทุนจะจ่ายค่าเล่าเรียนให้เพียงแค่บางส่วน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆเราต้องออกเอง เช่น ค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นต้น เปรียบเหมือนไปเดทแล้ว ช่วยออกแต่ไม่ทั้งหมด  (ก็ยังดีกว่าไม่ได้ช่วยออกเลย)
ซึ่งทุนของมหาวิทยาลัยในต่างประเทศต่างๆ มักจะเป็นทุนในลักษณะเช่นนี้
ตัวอย่างทุน
            Business School MBA Scholarship (ของ Essex Business School) ประเทศอังกฤษ ที่จะให้เงินทุนจำนวน 1,000 ปอนด์ แก่นักต่างชาติที่ต้องการจะมาศึกษา MBA ในสถาบัน   โดยจำนวนเงินนี้ผู้ได้ทุนจะนำไปหักออกจากค่าเล่าเรียนทั้งหมด หรืออีกความหมายคือ ได้ส่วนลด 1,000 ปอนด์นั่นเอง
3.      ทุนแบบที่มีภาระผูกพัน
            โดยทุนแบบที่มีภาระผูกพันนั้น ก็คือ ทุนที่มีการกำหนดเงื่อนไขบางประการเอาไว้  เช่น จะต้องกลับมาทำงานในองค์กรของผู้ที่ให้เงินทุน หรือ ในระหว่างการศึกษานั้นจะต้องเรียนให้ได้ผลเรียนตามที่เจ้าของทุนกำหนดไว้ ไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับทุนต่อ  พูดง่ายๆ “เธอสัญญาแล้วนะว่าจะกลับมา”“สัญญานะว่าจะเป็นเด็กดี”
            ทุนลักษณะนี้มักเป็นทุนการศึกษาแบบที่เด็กไทยอย่างเรารู้จักกันเสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น ทุน KING หรือทุนเล่าเรียนหลวง ที่มอบให้กับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อไปศึกษาต่อในต่างประเทศโดยไม่จำกัดสาขาวิชาเรียน และประเทศที่ไปเรียน แต่มีภาระผูกพัน คือ จะต้องกลับมาทำงานในประเทศไทยเป็นระยะเวลาเท่ากับจำนวนปีที่ใช้ในการศึกษา ไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานในหน่วยงานทางราชการ) เป็นต้น

4.      ทุนแบบไม่มีภาระผูกพัน
เป็นทุนการศึกษาแบบทุนให้เปล่า หมายถึง มอบทุนให้ฟรีๆโดยที่ผู้สมัครไม่มีภาระทำอะไรคืนให้องค์กรเจ้าของเงินทุน หรือไม่มีเงื่อนไขใดๆให้ต้องปฏิบัติตาม

5.      ทุนประเภทอื่นๆ
มีทุนการศึกษาบางประเภทที่มีลักษณะนอกเหนือไปจากทุนแบบอื่น ซึ่งที่พบได้บ่อยๆคือ ทุนแบบที่นักเรียนจะขอได้ ก็ต่อเมื่อสามารถสมัครและเข้าไปเรียนหรือเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย หรือ ภาควิชานั้นๆ แล้ว ซึ่งหมายความว่า ถ้าหลังจากที่เรายื่นขอทุนไปแล้ว  แล้วเราไม่ได้   สิ่งที่เราต้องทำ คือ จ่ายค่าเล่าเรียนเองทั้งหมด หรือไม่ก็ต้องกลับบ้าน

คำศัพท์เกี่ยวกับทุนการศึกษา
            ในระหว่างที่น้องๆหาทุนการศึกษาในอินเตอร์เนตหรือหาอ่านจากประกาศต่างๆที่มีติดไว้ตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยนั้น น้องๆอาจจะเกิดอาการไม่เข้าใจหรืออาจจะพบกับคำศัพท์บางอย่างที่เกี่ยวกับทุนการศึกษาที่มีความคล้ายคลึงกัน และบางครั้งศัพท์เหล่านี้ก็เป็นตัวกำหนดลักษณะและประเภทของทุนด้วย 
            มาดูกันว่าศัพท์ที่น้องๆควรจะทราบไว้เกี่ยวกับทุนการศึกษามีอะไรบ้าง
คำศัพท์
ความหมาย
Scholarship            
ทุนการศึกษา, ทุนเล่าเรียน
Fellowship
เงินที่มอบให้โดยมหาวิทยาลัยหรือองค์กรต่างๆ เพื่อเป็นทุนในการเรียนต่อหรือทำการวิจัย
Grant
เงินช่วยเหลือ/ เงินสนับสนุน
Loan
เงินกู้ยืม (ต้องมีการใช้เงินคืนในภายหลัง)
Scholarship value
มูลค่าทุน
Scholarship covers/ Scholarship inclusions
ทุนส่วนนั้นครอบคลุมค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
Full scholarship
ทุนค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน
Partial scholarship
ทุนค่าเล่าเรียนบางส่วน
Tuition fees
ค่าเล่าเรียน
Waiver
การงดหรือละเว้น
Host Institution(s)
สถาบันหรือมหาวิทยาลัยที่เปิดรับสมัคร
Academic Year
ปีการศึกษา
Fields of study
สาขาวิชา หรือคณะต่างๆ (ที่ทุนนั้นๆจะครอบคลุม)
Full-time Programme
หลักสูตรการศึกษาแบบเต็มเวลา
Graduate / Postgraduate degree
การศึกษาระดับปริญญามหาบัณฑิต (ปริญญาโท-เอก)
Undergraduate degree
การศึกษาระดับปริญญาตรี ในสหราชอาณาจักร
มีระยะเวลา 3 ปีสำหรับสาขาส่วนใหญ่ ยกเว้น วิศวกรรมศาสตร์ กับสถาปนิกใช้เวลาเรียน 4 ปี
Sandwich courses เป็นหลักสูตรระยะเวลา 4 ปี โดยนักศึกษาต้องออกไปทำงานจริงประมาณ 1 ปี ในปีที่ 3 แล้วกลับมาศึกษาต่อในปีที่ 4 สำหรับนักศึกษาต่างชาติที่ต้องการเรียนหลักสูตรนี้ควรปรึกษากับสถาบันที่ต้องการศึกษา เกี่ยวกับกฎหมายการทำงานสำหรับนักศึกษาต่างชาติ
หลักสูตรปริญญาตรีมีหลายประเภท ได้แก่
·         หลักสูตรปริญญาตรีทั่วไป  (4 ปี  )
·         Foundation Degree หลักสูตรเรียนเพื่อปูพื้นฐานก่อนเรียน หลักสูตรปริญญาตรีทั่วไป
·         Higher National Certificate (HNC) หรือ  Diploma (HND)
Higher National Certificate (HNC)/Higher National Diploma (HND)
 Higher National Certificates หลักสูตร 1 ปี และ Higher National Diploma หลักสูตร 2 ปี เป็นการเรียนที่เกี่ยวข้องระหว่างอาชีพกับการศึกษาระดับสูง เป็นหลักสูตรเทียบเท่าปี 1 ของปริญญาตรี โดยมีสาขาต่าง ๆ ดังนี้คือ
Engineering, Sports Studies,Art and Design, Media and Communications และ Music Technology เมื่อสำเร็จ การศึกษานักศึกษาสามารถทำงานในระดับ Junior Management หรือสามารถโอนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี
Degree certificate
ใบรับรองการศึกษาระดับปริญญา
Letters of recommendation
จดหมายรับรองหรือแนะนำตัว (อาจจะเป็นจดหมายแนะนำตัวจากมหาวิทยาลัย หรือรับรองจากหน่วยงานที่เคยทำงาน เป็นต้น)
Transcript
 ใบแสดงผลการศึกษา
Resume
 ประวัติของผู้สมัคร
Personal Statement/ Statement of Motivation/ Letter of Motivation
เรียงความหรือบทความที่ทำให้มหาวิทยาลัยหรือคณะกรรมการได้รู้จักเรามากขึ้น
Language assessment/ Language Certificates
ผลการทดสอบความสามารถทางภาษา หรือใบรับรองทางภาษา (เช่น ผลสอบ TOEFL, IELTS เป็นต้น)
UCAS
Universities and Colleges Admissions Service (UCAS) ระบบการสมัครเรียนต่อระดับปริญญา (ตรี โท เอก รวมถึง ประกาศนียบัตรและอนุปริญญา )ในอังกฤษโดยผ่านระบบจากส่วนกลางสถาบันการศึกษา และหลักสูตรทั้งหมดที่อยู่ในระบบของ UCAS เป็นที่ยอมรับของรัฐบาลอังกฤษ
http://www.ucas.com/students/apply/
 
แหล่งที่มาของข้อมูลเกี่ยวกับทุนการศึกษา
            ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้ น้องๆอาจจะเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ง่ายดายมากขึ้นและหลากหลายขึ้น  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แหล่งที่มาของข้อมูลเหล่านั้นก็ควรจะเชื่อถือได้และมีความถูกต้อง ที่ๆสามารถเข้าไปอ่านและสอบถามข้อมูลทุนการศึกษาได้ โดยแหล่งข้อมูลที่ว่า มีดังนี้ค่ะ
ประกาศของมหาวิทยาลัยหรือของโรงเรียน
            โดยเฉพาะน้องๆที่กำลังเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่“ห้องแนะแนว”  หรือน้องที่เรียนมหาวิทยาลัย ลองเช็คเวบไซท์ หรือ เวบบอร์ดของคณะดู เพราะว่าเจ้าของทุนต่างๆก็จะส่งข่าวมายังที่นี่ก่อนเป็นที่แรก  อีกทั้งบางทียังเป็นทุนที่เจาะจงเฉพาะสาขา ทั้งยังรับประกันได้ด้วยว่าข้อมูลไม่มีหลอกลวงแน่นอน
งานเทศกาลศึกษาต่อต่างประเทศ
มีเทศกาลเช่นนี้จัดขึ้นหลายครั้งต่อปีโดยเฉพาะช่วงซัมเมอร์ ไปจนถึงเกือบๆ สิงหาคม ให้ลองติดตามให้ดี งานแบบนี้จะรวมหลายสถาบันการศึกษา คือ เค้ามาหานักเรียนและโปรโมทสถาบัน โดยมากทุกมหาวิทยาลัยจะมีทุนการศึกษาในแต่ละภาควิชาอยู่แล้ว น้องๆสามารถขอใบสมัคร  ซักถามข้อสงสัยต่างๆได้ทุกเรื่องเพราะเจ้าของทุนมาเอง หรือทิ้งอีเมลไว้กับสถาบันเหล่านั้นได้เลยในวันนั้นก็ได้ ก็จะไดรับการติดต่อโดยตรงจากทางมหาวิทยาลัย
อินเตอร์เนต
มีเวบไซท์จำนวนมากที่ให้ข้อมูลเรื่องทุน แต่ทางที่ดีความหาข้อมูลให้รอบด้านด้วย เพราะว่าอาจจะมีมิจฉาชีพแฝงมาด้วยก็เป็นได้  ลองพูดคุยกับคนที่เคยขอทุนมาก่อนก็จะเป็นการดีค่ะ หรือ อ่านบทความกระทู้จากพันทิปห้องไกลบ้าน ที่มีกูรูใจดีเข้ามาเขียนไว้ก็ช่วยได้มาก ส่วน Hotcourses.in.thของเราก็มีข้อมูลทุนด้วยเช่นกัน จาก 9 ประเทศ ทีต่างจากเวบอื่นก็คือ สามารถเลือกประเทศและ สาขาวิชาที่สนใจได้เลย ระบบจะทำการค้นออกมา พร้อมบอกวันหมดอายุของทุน   รวมทั้งยังสามารถดาวน์โหลดระเบียบการเพื่อดูรายวิชาของมหาวิทยาลัยต่างๆได้อีกด้วย
           
เคล็ดลับการหาทุน
            ด้วยความที่ทุนการศึกษามันมีมากมายซะเหลือเกิน จะทำยังไงถึงจะได้ทุนกับเค้าบ้าง วันนี้ Hotcourses มาแชร์เคล็ดลับดีๆสำหรับใช้ในการวางแผนการหาทุนกันค่ะ
           
1.สังเกตประเภทของทุน
น้องๆต้องดูก่อนเลยว่าทุนนั้นๆเป็นทุนที่แจกเฉพาะนักเรียนต่างชาติ (International students) หรือ แจกรวมๆ  เพื่อน้องๆจะได้รู้ว่าจะต้องไปแข่งขันกับใคร รวมถึงโอกาสในการได้มากน้อยแค่ไหน
2.อ่านขั้นตอนการสมัครให้เข้าใจ
ควรอ่านขั้นตอนวิธีการในการสมัครให้เข้าใจจริงๆ  และถ้าไม่เข้าใจ ให้ส่งอีเมล์ไปยังสถาบันการศึกษานั้นๆเพื่อถามโดยตรง เพราะบางครั้ง ถ้าถามจากเพื่อน หรือ คนที่เคยขอทุนอาจได้ข้อมูลที่ผิดหรือไม่ทันสมัยพอค่ะ ต้องเช็คเพื่อนความชัวร์
3.ทำ Leadtime
คือการ ทำ plan คร่าวๆ ว่าเราจะต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างสำหรับการยื่นทุนนั้นๆ และเอกสารเหล่านั้นจะได้ครบเมื่อไหร่  รวมถึงต้องสมัครภายในวันไหน โดยควรจะต้องยื่นก่อน deadline ประมาณ 1 เดือน  หรือถ้าเร็วกว่านั้นได้ก็ยิ่งดี  เพราะเผื่อมีอะไรผิดพลาด จะได้สามารถส่งเอกสารไปใหม่ได้
วิธีการนี้จะเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับทุนการศึกษาที่มีข้อกำหนดให้มีการสมัครด้วยการ “ส่งไปรษณีย์” อย่างเดียวเท่านั้น  เพราะมันจะทำให้น้องๆวางแผนได้ถูกและเผื่อเวลาในการจัดส่งเอกสารด้วย
โดยช่วงเวลาของทุนนั้น ส่วนใหญ่จะปล่อยออกมาช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน และมักจะทยอยออกมาเรื่อยๆ   ส่วนเดือนสิงหาคมถึงกันยายน มักจะเป็นช่วง deadline ของทุน เพราะมหาวิทยาลัยเริ่มเปิดเทอม   
แต่ทั้งนี้ เรื่องของวันเวลาในการรับสมัครของแต่ละทุนนั้น อาจะไม่เป็นไปตามนี้เสมอไป เพราะทุนบางของบางองค์กรหรือบางสถาบันมีการบริหารจัดการเป็นของตัวเอง ก็จะทำให้ช่วงเวลาในการรับสมัครแตกต่างไปจากนี้ค่ะ
4.ทำ check list เพื่อตรวจสอบเอกสารให้พร้อม
เอกสารที่ต้องเตรียมในการขอทุน ซึ่งโดยมากต้องใช้แน่ๆ คือ
·       ใบรับรองผลการศึกษา
·       ผลการวัดระดับความสามารถทางภาษา TOEFL , IELTS,TOEIC, GRE หรือ ความสามารถเฉพาะทางต่างๆ แล้วแต่ทุนกำหนด 
·       Letter of recommendation 
คือ จดหมายรับรองหรือแนะนำตัว อาจจะเป็นจดหมายแนะนำตัวจากมหาวิทยาลัย หรือรับรองจากหน่วยงานที่เคยทำงาน เป็นต้นแนะนำว่าควรมี
1) จดหมายเพื่อความน่าเชื่อถือ เช่น คณบดีของสาขาที่เราจบมา เนื่องจากเราใช้เอกสารในการพูดแทนตัวเรา นอกจากผลการเรียนแล้ว จดหมายจากบุคคลที่มีตำแหน่งสูงจะเป็นสิ่งที่รับรองว่าเราเป็นใครมาจากไหน
2) จดหมายเพื่อพูดถึงเราในแง่ความสามารถและความดีของเรา โดยคนที่เขียนควรมีความใกล้ชิดกับเราพอสมควร  เพื่อให้เราสามารถพูดถึงข้อดี ประสบการณ์ หรือผลงานของเราออกมาได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังสามารถพูดถึงคุณลักษณะนิสัยส่วนตัวของเราได้อีกด้วย โดยมากมักจะให้อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นผู้เขียนให้
·       Statement of Purpose 
คือ เรียงความหรือบทความที่บอกให้มหาวิทยาลัยหรือเจ้าของทุนเข้าใจว่าทำไมเราจึงสมควรได้ทุนนี้   ทำให้มหาวิทยาลัยหรือคณะกรรมการได้รู้จักเรามากขึ้น   เอกสารนี้จึงถือว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก
เอกสารที่เราใช้ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานในอดีตที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ประวัติการศึกษา หรือ จดหมายรับรองซึ่งเราก็ไม่สามารถควบคุมเนื้อหาได้ ดังนั้น Statement of Purpose จึงเป็นเพียงเอกสารเดียวที่เปิดโอกาสให้เราได้พูดกับคณะกรรมการ
 ความมุ่งมั่นหรือความตั้งใจของเราจะเป็นสิ่งที่ทำให้ใบสมัครของเราโดดเด่นออกมา เช่น เรามีฝันที่ยิ่งใหญ่ในสาขาหรือในสายอาชีพนั้นๆ หรือ เรามีแนวคิดในการพัฒนางานในสาขานั้นๆ ตัวอย่างที่น่าสนใจในอดีตที่เคยมีมาก็คือ มีนักศึกษาจากประเทศตะวันออกกลางคนหนึ่งที่ผลการเรียนไม่ได้โดดเด่นมากนัก  แต่เธอกลับได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เนื่องจากเธอเขียนเรียงความว่า “เธอฝันที่จะเป็นนักการเมืองและต้องการใช้ความรู้ด้านกฎหมายและการปกครอง ไปเปลี่ยนความไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิงในสังคมตะวันออกกลาง” เป็นต้น
5.อย่าสมัครแค่ทุนเดียว 
เช่นเดียวกับการสมัครเรียนมหาวิทยาลัย ที่เราควรจะสมัครขอไว้เผื่อประมาณ2-3 ทุน ในสาขาที่ใกล้เคียงกัน  เพราะเนื่องจาก การเตรียมเอกสารจะได้ทำเพียงแค่รอบเดียว แต่ยื่นได้หลายแห่ง
6.จงมุ่งมั่น
สุดท้ายคือ น้องๆต้องมีจิตใจที่มุ่งมั่น และต้องการที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างแท้จริง  การไม่ได้ทุนในการขอครั้งแรกไมได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดพลาด  เหมือนที่ Steve Job เคยกล่าวในสุนทรพจน์ที่มหาวิทยลัยฮาร์วาร์ดว่า  Don’t Settle, Keep Looking อย่าเพิ่งท้อ และพยายามต่อไปค่ะ

เขียนโดย  

ไม่มีความคิดเห็น: