วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เทคนิคพิชิต O-NET คณิตศาสตร์ 100 คะแนนเต็ม !!


O-NET เป็นการสอบเกือบครั้งสุดท้าย มันก็แบบเหมือนเรามีพื้นฐาน เราได้อ่านหนังสือมาในการสอบก่อนๆ หน้าบ้างแล้ว เช่นผมและเพื่อนๆ บางส่วนที่สอบตรงติดแล้ว ไม่ได้ใช้ O-NET โดยตรง ก็ไม่กังวลมาก ตั้งใจทำให้เต็มที่ ในวันสอบก็พอ (ผมเป็นประธานนักเรียนด้วย ผมต้องคอยกระตุ้นเพื่อนให้เห็นความสำคัญของการสอบ อย่างน้อยถึงเราไม่ได้ใช้คะแนน ก็ตั้งใจสอบให้โรงเรียน) แต่คนที่ใช้คะแนนก็ต้องเตรียมตัว และแบ่งเวลาให้ดี เพราะมันหลายวิชามาก โดยส่วนตัวผมอยากแบ่งเวลาอ่านหนังสือให้ได้มากๆ แต่เอาเข้าจริงมันทำไม่ได้ ผมก็เลยใช้วิธีแบบ กำหนดว่าภายในเดือนนี้ เล่มนี้ต้องจบนะ ภายในอาทิตย์นี้ตรงนี้ต้องจบนะ เมื่อเราตั้งกติกาให้ตัวเองแบบนี้ วันไหนว่างก็อ่านได้เต็มที่ วันไหนเหนื่อย หรือขี้เกียจก็อาจไม่อ่านเลย แต่ยังไงก็ตามมันก็มีขอบเขตตั้งไว้แล้วว่า ภายในวันนั้นๆ ต้องจบนะ ผมว่าเวลาเราอ่านหนังสือตอน ม.6 อะ จริงๆ มันทำสำคัญที่พื้นฐาน ไม่ว่าจะมาจากในห้องเรียนหรือกวดวิชาแหละ คือถ้าเราพื้นฐานแน่น และสามารถเริ่มทำโจทย์ได้เลยโดยไม่ต้องทวนเนื้อหาเนี่ยมันเป็นการประหยัดเวลาเอามากๆ

สำหรับวิชาคณิตศาสตร์ ผมก็ซื้อหนังสือมาทำโจทย์ Entrance, A-NET, O-NET พริ้นมา PAT1 บ้าง ทำในชีทของอาจารย์ที่โรงเรียนแจกบ้าง ทำโจทย์ในหนังสือกวดวิชาบ้าง แรกๆ ก็หัดทำให้ได้ก่อน หลังๆ ก็ทำให้เร็ว ให้คล่อง เหมือนบางข้อมองแล้วเหมือนจะทำได้ แต่พอลองทำจริง มันอาจใช้เวลามากก็เป็นได้ ดังนั้นอย่าประมาท หัดทำให้คล่องๆ ไว้ทุกข้อดีที่สุด

คืนก่อนสอบ
ผมก็ไม่ได้จับหนังสือมานาน หลังจากสอบ 7 วิชาสามัญ ก่อนสอบผมก็หยิบข้อสอบ O-NET ปีก่อนๆ มาเปิดผ่านๆ ตา ให้มันคุ้นๆ ว่าเค้าวาง Layout ข้อสอบแบบไหน ขนาดตัวอักษรเป็นไง พื้นที่ทดเยอะไหม เปิดเว็บ สทศ. ดูว่ามันมีกี่ข้อ ข้อละกี่คะแนน ข้อเขียน ข้อช้อท น้ำหนักคะแนนเป็นไง ออกเรื่องไหนมาก เรื่องไหนน้อย จะได้วางแผนไว้ก่อน ว่าจะเริ่มทำยังไง ทำให้รู้สึกเหมือนไม่เจอข้อสอบครั้งแรก 

หน้าห้องสอบ
ผมไม่จดอะไรไปอ่านก่อนสอบ หน้าห้องสอบก็คุยเล่นๆ กับเพื่อน และอย่าลืมทำธุระส่วนตัวให้เรียบร้อย หากพลาดมันจะเป็นปัญหามาก ทิ้งวิชาก่อนหน้าไปให้หมด ทำได้ไม่ได้ช่างมัน ตั้งสมาธิกับวิชาที่จะสอบต่อไป

ในห้องสอบ
เราต้องยอมรับก่อนว่า O-NET เนี่ย ถึงมันจะไม่ง่ายมาก แต่มันก็ง่ายกว่า 7 วิชาสามัญ และ PAT1 การที่เราจะทำข้อสอบซึ่งไม่ยากมากให้ได้คะแนนดีเนี่ย ผมว่าเราต้องระวังพลาดเป็นสำคัญ อย่าให้เสียคะแนนไปโดยใช่เหตุ เวลาเหลือก็มาทวนดูวิธีคิดข้อที่ไม่มั่นใจ ลองคูณเลขแบบอื่นดูบ้าง ลองคิดวิธีอื่นดูบ้าง ว่าคำตอบตรงกันไหม ใจเราต้องนิ่ง อย่าไปกระวนกระวายกับข้อที่ทำไม่ได้ ให้ข้ามมันไปก่อน เวลาเราทำไม่ได้จริงๆ แล้วถ้าจะเดาก็ให้ดูซ้อทหน่อยละกัน ว่ามันสมควรกาลงไปหรือเปล่า เช่น บางข้อเราอาจคิดไม่ได้ แต่เราก็พอมองออกว่า มันควรจะตอบระหว่าง ก กับ ข นี่แหละ เราก็ควรติ๊กไว้ ว่าต้องเลือก 2 ช้อทนี้ ไม่ใช่พอเวลาใกล้หมดแล้วมาเดาใหม่หมดทั้ง 4 ข้อ ผมว่าเรื่องเวลาเนี่ยสำคัญ ถึงข้อสอบมันจะง่ายก็เถอะ แต่ถ้าไปจมปลักกับข้อที่ทำไม่ได้อยู่นานๆ ก็มีโอกาสทำไม่ทันได้เหมือนกัน ดังนั้นควรมีสติอยู่ตลอดว่าตอนนี้เราทำเร็วกว่าเวลา หรือช้ากว่าเวลา 

สอบเสร็จ
ไอ้ผมเนี่ย เอาจริงๆ ในใจลึกๆ ก็หวัง 100 เต็มอยู่เหมือนกัน เพราะตอนออกจากห้องสอบก็รู้สึกว่า ไม่ได้ติดใจข้อไหนเป็นพิเศษ พอเจอเพื่อนๆ ผมไม่อยากจะแชร์คำตอบกับเพื่อนเลย กลัวมันจะไม่ตรงกัน 55+ เอาเป็นว่า รอลุ้นวันประกาศทีเดียวละกัน และมันก็ได้ 100 เต็มจริงๆ

สุดท้าย
ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนครับ สำหรับ ม.6 ด้วยกัน ช่วงนี้ก็คงจะเป็นช่วงสุดท้ายแล้ว ลุ้นคะแนนอย่างเดียว อย่าไปเครียดมาก เพราะเราสอบกันไปหมดแล้ว คนที่รอ admission ก็เลือกอันดับดีๆ นะครับ ขอให้สมหวังทุกคน สำหรับน้องๆ ก็เตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ ดีแล้ว ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าจะเรียนอะไร แล้วคณะนั้นใช้คะแนนไรบ้าง ก็ไปฝึกทำโจทย์ทำอะไรไว้ให้พร้อม แล้วก็ขอให้โชคดีทุกคนครับ

by   Pavin Pirom

ไม่มีความคิดเห็น: