วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

"ใบปริญญา" การันตีความสำเร็จของชีวิตได้จริงหรือ??


"ใบปริญญา" ดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายหลักทางการศึกษาที่เด็กไทยทุกคน รวมทั้งพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ต่างก็มุ่งหวังที่จะได้เห็นลูกหลานของตนได้ครอบครอง ได้สวมชุดครุยสวยๆ ในวันที่สำเร็จการศึกษา แต่ถามว่า นั่นคือที่สุดของของชีวิตทางการศึกษาแล้วจริงหรือ?
     หากจะพูดถึง การศึกษาในระบบการศึกษาของบ้านเรา เราจะพบว่า เด็กที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว ถ้าเด็กที่เรียนเก่งก็จะเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในสายสามัญ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ซึ่งเด็กที่เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็ไม่ได้หมายความว่า เด็กทุกคนจะเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาทั้งหมด เพราะมีบางส่วนออกจากระบบการเรียน ประมาณ 200,000 คน ส่วนที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาจริงจะเหลืออยู่ประมาณ 100,000 คน ส่วนที่เหลืออีก 30% จะหันมาเรียนในสายอาชีพหรือสายช่างแทน ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) (ข้อมูล : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI))
     เด็กกลุ่มนี้จะถูกแบ่งแยกออกมาจากสมัยเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นแล้วว่า ไม่สามารถเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้ ด้วยเหตุผลต่างกัน เช่น เรียนไม่ไหว หรือฐานะทางบ้านไม่ดี จึงต้องหันมาเรียนในสายอาชีพหรือสายช่างแทน จึงทำให้เด็กที่เรียนในสายสามัญ ถูกมองว่าเป็นเด็กที่เรียนเก่ง สามารถเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้ จบออกมาแล้วหางานง่าย มีงานทำ จนกลายเป็นค่านิยมให้เด็กทุกคนพุ่งเป้าไปที่การเรียนในระดับอุดมศึกษา กอปรกับผู้ปกครองที่มีทัศนคติทางบวกกับการเรียนในมหาวิทยาลัย ทำให้สังคมไทยมีค่านิยมที่ว่า พ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องดูแลและส่งเสริมลูกหลาน ให้จบปริญญาตรี เป็นอย่างน้อย
     ผลที่ตามมา คือ เกิดการว่างงานในระดับปริญญาตรี ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการเพิ่มขึ้นของสถานศึกษาเร็วเกินไป จนทำให้มีผู้จบการศึกษามากขึ้นตามไปด้วย
     นอกจากนี้ ยังมีข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัด ระหว่างภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ของบ้านเรา กล่าวคือ ในภาคการเกษตรจะใช้คนที่มีการศึกษาที่ไม่สูงมากนัก ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ก็ใช้คนที่มีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่าคุณสมบัติในด้านอื่นๆ
     ดังนั้น เมื่องานไม่จำเป็นต้องใช้คนที่มีสติปัญญามาก จึงทำให้ไม่มีข้อจำกัดในการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานด้วยเช่นกัน
     อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศในบ้านเรา เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว มีการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น มีการใช้ทรัพยากรกันอย่างสิ้นเปลือง จะเห็นได้จากการใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก สำหรับสินค้าหลากหลายชนิด ซึ่งตรงส่วนนี้ยังมีข้อจำกัดที่ปิดกั้นการทำงานของเด็กไทยที่เรียนจบแล้วทำงานเลย ก็คือ บริษัทนักลงทุนต่างชาติจะจัดหาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการวางกลยุทธ์ด้านการตลาด เข้ามาควบคุมและดูแลเองหมดทุกขั้นตอน
     คำถามที่ตามมาคือ เด็กไทยที่เรียนจบใหม่ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะสามารถใช้ความรู้ความสามารถ ที่ได้เรียนมาอย่างเต็มศักยภาพได้อย่างไร ที่สำคัญ เรียนจบมาก็ยังเป็นลูกน้องของบริษัทต่างชาติอยู่ดี
     ในขณะที่สาขาวิชาชีพเฉพาะด้าน เช่น บัญชี กฎหมาย แพทย์ มีความจำเป็นต้องทำงานอยู่ในวิชาชีพนั้นๆ โดยตรงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในหน่วยงานใดก็ตาม จึงทำให้มีโอกาสในการใช้ความรู้ ความสามารถ ที่เรียนมาได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จึงทำให้สามารถก้าวไปสู่จุดหมายที่ตัวเองต้องการได้ง่ายกว่าสาขาวิชาชีพอื่น
     จริงอยู่ การเรียนจบปริญญาตรี เป็นเรื่องที่ดี แต่คงไม่ใช่ทุกสาขาวิชา เพราะบางสาขาวิชา ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทำให้ยากต่อการเข้าทำงาน เช่น สายสังคม สายมนุษยศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่เคยเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาด แต่ตอนหลังเริ่มถึงจุดอิ่มตัว จึงซบเซาลงไป ในเมื่อตลาดไม่ขยายตัว โอกาสที่จะเติบโตในสายงานนั้นๆ จึงลดลงตามไปด้วย
     เพราะระบบเศรษฐกิจในบ้านเรา ไม่ใช่ภาคการเกษตรหรือภาคอุตสาหกรรม แต่เป็นภาคบริการ ซึ่งเป็นฟันเฟืองที่สำคัญของประเทศ เช่น ภาคบริการในส่วนของค้าส่ง ค้าปลีก และอีกส่วนหนึ่งคือ โรงแรม ร้านอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีการจ้างแรงงานในระดับปริญญาตรีแทบทั้งสิ้น ในเมื่อระบบเศรษฐกิจในบ้านเราเป็นเช่นนี้ จึงอยากให้มีการทบทวนทัศนคติใหม่ที่ว่า "ใบปริญญา" ไม่ใช่ที่สุดของชีวิต เด็กไม่จำเป็นต้องมุ่งสู่มหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว ยังมีอีกหลายสาขาวิชาให้เลือกเรียน ทั้งในสายอาชีพและสายช่าง เช่น ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ช่างเชื่อม เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในบ้านเรา ยังมีความต้องการแรงงานในกลุ่มนี้อย่างมาก อีกทั้งสาขาวิชาชีพเหล่านี้ยังเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองในบั้นปลายของชีวิตได้อีกด้วย
     และเมื่อเรียนจบในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) แล้ว ก็สามารถทำงาน มีรายได้ มีประสบการณ์ หรือหากมีเวลาก็ยังสามารถเรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้ไปจนถึงระดับปริญญาตรี อีกเช่นกัน
     ถึงกระนั้น ก็ไม่ได้ปฏิเสธทัศนคติของผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตร หลานของตน ได้เข้าเรียนและจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา จนได้รับใบปริญญาบัตร และได้สวมชุดครุยอันมีเกียรติ แต่อย่างใด หากนิยมใบปริญญาบัตร ก็ควรแนะนำหรือให้ความรู้กับเด็กควบคู่กันไปด้วยว่า ในตลาดแรงงานของไทย สามารถรองรับคนเข้าทำงานได้ในจำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่ให้มองไปถึงตลาดอาเซียนและตลาดต่างประเทศด้วย เพราะอนาคตของเด็ก คงไม่มีอะไรสำคัญมากไปกว่า เด็กเรียนจบ มีงานทำ พึ่งพาตนเองได้ และประสบความสำเร็จในชีวิต มิใช่หรือ??

* ทิวา อัมพเศวต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

ไม่มีความคิดเห็น: