วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เด็กกรุงเทพฯติดบารากู่-มีเพศสัมพันธ์สูง ก็อปปี้เพลส



เผยผลสำรวจเด็ก-เยาวชนในกรุง มีปัญหาเพศสัมพันธ์ เมินคุมกำเนิด อบายมุขพุ่งสูงขึ้น ขณะที่เด็ก 91.40% ยังใช้วิธีก็อปปี้เพลสในการเรียน “อมรวิชช์” แนะ คสช. กำหนดนโยบายสร้างความเข้มแข็งครอบครัว
วันนี้ (22 ก.ค.) พ.ต.อ.หญิงจินดา กลับกลาย อาจารย์จากกองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมเสนอรายงานการศึกษาสภาวการณ์เด็ก และเยาวชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2556 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)พระนครว่า จากการสำรวจสภาวการณ์เด็กและเยาวชนในพื้นที่ กทม. 2,448 คน ในปี 2556 เทียบกับปี 2554-2555 พบว่า ด้านโรงเรียน เด็กและเยาวชน มีความรู้สึกเชิงบวกกับโรงเรียน ทั้งบรรยากาศ และความรู้สึกปลอดภัย โดยด้านครู เด็กระบุว่า ครูมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งด้านการจัดการเรียนการสอน และการเป็นที่ปรึกษา แต่เด็กยังใช้วิธีการเรียนโดยคัดลอกข้อมูลจากเว็บไซต์ในการทำการบ้าน หรือรายงานสูงถึงร้อยละ 91.40 ส่วนด้านเพศ พบว่า เด็กและเยาวชนมีเพศสัมพันธ์สูง คุมกำเนิดต่ำ โดยร้อยละ 37 เคยมีเพศสัมพันธ์ และในจำนวนนี้ร้อยละ 10 ใช้ถุงยางอนามัย หรืออุปกรณ์คุมกำเนิดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้เด็กให้การยอมรับการมีเพศสัมพันธ์/การอยู่ก่อนแต่งมากขึ้น จากร้อยละ 18.53 เป็นร้อยละ 35.00 
พ.ต.อ.หญิงจินดา กล่าวต่อไปว่า ด้านอบายมุข พบว่า เด็กและเยาวชนหมกมุ่นกับอบายมุขสูงขึ้นเกือบทุกด้าน โดยเด็กเข้าถึงบุหรี่หรือยาเส้นชนิดอื่นๆ รวมถึงบารากู่ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.73 เป็นร้อยละ 40.86 อีกทั้ง เด็กตกอยู่ในแหล่งอบายมุขรอบตัว ไม่ว่าจะเป็น ในครอบครัวมีคนสูบบุหรี่/ดื่มเหล้า ร้อยละ 55.53 เล่นการพนัน ร้อยละ 51.35 มีเพื่อนสนิทสูบบุหรี่/ดื่มเหล้า ร้อยละ 47.42 เล่นการพนัน ร้อยละ27.16 พบเห็นยาเสพติดในโรงเรียน ร้อยละ 36.24 และชุมชน มีร้านเหล้า ผับ ร้อยละ 40.30 ขณะที่ด้านความรุนแรง พบว่า มีเพื่อนนักเรียนพกอาวุธร้ายแรงเข้ามาในสถานศึกษาร้อยละ 46.44 เคยถูกขู่กรรโชกทรัพย์หรือรีดไถ ร้อยละ 32.22 ทั้งนี้ปัจจัยที่บ่มเพาะความรุนแรง มาจากสภาวะแวดล้อม โดยเด็กร้อยละ 41.45 ระบุถึงความรุนแรงจากการลงโทษด้วยการตี หรือการใช้กำลังกับนักเรียนในรั้วโรงเรียน และเด็กร้อยละ 42.31 มีเพื่อนสนิทที่ใช้ความรุนแรง นอกจากนี้เด็กร้อยละ 74.26 บริโภคสื่อที่นำเสนอความรุนแรงจากฉาก และภาพ ทั้งทางโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต และร้อยละ 47.08 ชอบเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์เกี่ยวกับการต่อสู้

ด้าน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื่องเพศ ความรุนแรง อบายมุข ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้น โดยปัจจัยที่ทำให้เด็กตกอยู่ในภาวะเสี่ยง คือ เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เนื่องจากไม่สามารถปรึกษาพูดคุยกับพ่อแม่ได้ ทำให้ขาดที่พึ่งทางใจ นำไปสู่ปัญหามากมาย ดังนั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาลใหม่ ควรกำหนดนโยบายเรื่องครอบครัวให้ชัดเจน โดยเฉพาะการส่งเสริมความเข้มแข็งในครอบครัว นอกจากนี้โรงเรียนควรมีการจัดกิจกรรมทางเลือกที่หลากหลายให้เด็กทำ รวมทั้งมีครูที่สามารถปรึกษาได้ทุกเรื่อง.

ไม่มีความคิดเห็น: