วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับการเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า ที่จุฬาฯ

คำถาม: ภาคไฟฟ้าเรียนหนักหรือไม่
คำตอบ: เรียนหนัก โดยเฉพาะปี 2 และ ปี 3 ทั้งนี้ เพื่อสอนให้นิสิตไฟฟ้าทุกคนมีความรู้พื้นฐานที่จำเป็น เพียงพอต่อการเรียนรู้และต่อยอดวิชาเฉพาะทาง วิชาชีพ หรือเทคโนโลยีชั้นสูง (ที่องค์ความรู้อาจเปลี่ยนแปลงไปได้อยู่ตลอดเวลา) ต่อไปได้ด้วยตนเองในอนาคต เปรียบเสมือนการวางรากฐานที่มั่นคง ส่วนในชั้นปีที่ 4 นิสิตจะได้เลือกเรียนวิชาเชิงประยุกต์ วิชาที่นำไปใช้ประกอบอาชีพ ตามแต่ความถนัดและความชอบของตน โดยมีวิชาในกลุ่มนี้ให้เลือกเรียนจำนวนมาก

คำถาม: นิสิตที่เรียนภาคไฟฟ้าแล้ว retire มีจำนวนมากหรือไม่
คำตอบ: ที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีจำนวนนิสิตภาคไฟฟ้าที่ retire น้อยมาก คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 5% ภาควิชาและคณาจารย์ดูแลและให้คำปรึกษากับนิสิตที่มีผลการเรียนอ่อนอย่างใกล้ชิด รุ่นพี่ชมรมไฟฟ้าจัดกิจกรรมในการช่วยเหลือรุ่นน้องในการเรียน และหากในที่สุด นิสิตที่เข้ามาเรียนแล้วเรียนไม่ไหว หรือไม่สันทัดกับการเรียนวิชาต่างๆ ของภาคไฟฟ้า ก็อาจขอย้ายภาคไปตั้งแต่ปีที่2

คำถาม: จบภาคไฟฟ้าแล้วไปทำงาน จะได้เงินเดือนเท่าไร
คำตอบ: โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเงินเดือนนิสิตที่จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยรวมทุกสาขา มีความเป็นไปได้ ในการได้รับเงินเดือนในระดับสูงเมื่อเทียบกับสาขาอื่นๆ ขึ้นอยู่กับทักษะและความสามารถเฉพาะตัว อันเกิดจากการฝึกฝน และความเอาใจใส่ระหว่างเรียนอยู่ที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นหลัก จบวิศวกรรมไฟฟ้าก็สามารถไปทำงานในบริษัทน้ำมัน เป็นวิศวกรออกแบบ ในบริษัทข้ามชาติ ทำงานในสายงานทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ได้เช่นกัน

คำถาม: ตอนนี้ไฟฟ้าสาขาอะไรได้รับความนิยมมากที่สุด เมื่อเข้าภาคไฟฟ้าแล้วต้องสอบคัดเลือกเข้าไปในสาขาย่อยๆ เช่น ไฟฟ้ากำลัง ควบคุม สื่อสาร อิเล็กทรอนิกส์ อีกหรือไม่
คำตอบ: การเรียนการสอนที่ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาฯ ครอบคลุมแขนงความรู้ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน เช่น นาโนอิเล็กทรอนิกส์ ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ พลังงาน เครื่องมือแพทย์ รถไฟฟ้า ระบบจราจรอัจฉริยะ การสื่อสารแบบไร้สาย อินเทอร์เน็ต เป็นต้น อย่างไรก็ดี การเรียนในปีที่ 2 และ 3 ของนิสิต จะเรียนวิชาพื้นฐานของทั้ง 4 สาขาหลัก เหมือนกันหมดทุกคน จากนั้น ในปีที่ 4 นิสิตสามารถเลือกเรียนวิชาเฉพาะทางได้ตามความสนใจของตน โดยไม่ต้องสอบคัดเลือกเข้าสาขาย่อยแต่อย่างใด และทุกคนจบการศึกษาเป็นวิศวกรไฟฟ้า ที่สามารถทำงานได้ในทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กำลัง ควบคุม สื่อสาร หรืออิเล็กทรอนิกส์

คำถาม: หากเลือกเรียนสาขาหนึ่งของวิศวกรรมไฟฟ้า แล้วจะไปทำงานข้ามสาขาได้หรือไม่ แต่ละสาขามีความใกล้เคียงกันมากเพียงใด
คำตอบ: จากคำตอบในข้อก่อนหน้านี้ คงเป็นที่ชัดเจนว่าคำตอบในข้อนี้ คือ ทำได้ แน่นอน แต่ละสาขาอาศัยความรู้พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และทฤษฎีวงจร การวิเคราะห์เชิงสัญญาณและเชิงระบบ มาจากแหล่งเดียวกัน จากนั้น ในวิชาชั้นสูง หรือวิชาเชิงประยุกต์ จึงแตกยอดออกไปตามลักษณะการนำความรู้ไปใช้งาน ซึ่งความรู้ในเชิงประยุกต์นี้เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ในขณะที่ความรู้พื้นฐานทางทฤษฎีที่นิสิตภาคไฟฟ้าทุกคนมีอยู่ ยังคงสามารถนำไปใช้ในการทำความเข้าใจและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เสมอ

คำถาม: ไฟฟ้าสาขาระบบควบคุม (Control) ทำไมต้องเรียนวิชาคำนวณมากมาย
คำตอบ: วิชาคำนวณเป็นพื้นฐานของการเรียนไฟฟ้าในทุกแขนงอยู่แล้ว โดยเฉพาะสาขาระบบควบคุม ที่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ทางคณิตศาสตร์ ในการสร้างแบบจำลองระบบทางกายภาพ เช่น กระบวนการขับเคลื่อนทางอุตสาหกรรม แบบจำลองหุ่นยนต์ หรือ ยานยนต์ หรือแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ จากนั้น ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ในการวิเคราะห์สมรรถนะของระบบ รวมถึงการออกแบบระบบควบคุมการทำงาน ได้อย่างเหมาะสม เช่น ระบบกันกระเทือนของรถยนต์ ระบบควบคุมกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม หรือควบคุมการทำงานของโรงไฟฟ้า เป็นต้น

คำถาม: อยากทำงานโรงไฟฟ้า ควรเลือกเรียนสาขาใด และสาขานั้นทำอะไรได้บ้าง
คำตอบ: ในชั้นปีที่ 4 ให้เลือกเรียนวิชาเฉพาะทางของสาขาไฟฟ้ากำลังเป็นหลัก ความรู้ทางด้านไฟฟ้ากำลัง นอกจากทำงานกับการไฟฟ้า เช่น กฟผ. กฟภ. กฟน. ได้แล้ว ยังสามารถทำงานเป็นผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา หรือผู้คุมงาน ระบบไฟฟ้าในอาคารสูง โรงงานอุตสาหกรรม อาคารสำนักงาน และที่อยู่อาศัยได้ เป็นวิศวกรในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึง เป็นที่ปรึกษาด้านพลังงานไฟฟ้าได้

คำถาม: เรียนจบภาคไฟฟ้าแล้วจะเรียนต่อ ป.โท ทางด้านนิวเคลียร์ ได้หรือไม่ 
คำตอบ: ได้ โดยเฉพาะหากจะเรียนและทำวิจัยทางด้านการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานทางด้านทฤษฏีวงจร และระบบไฟฟ้ากำลัง

คำถาม: หากจบการศึกษาด้าน Biomedical จากภาคไฟฟ้า จะต้องทำงานด้านวิจัยได้เท่านั้น หรือไม่ มีงานรองรับในประเทศมากน้อยแค่ไหน 
คำตอบ: ไม่จำเป็นต้องเป็นงานวิจัยเท่านั้น สามารถทำงานด้านออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ เช่น เครื่องมือผ่าตัดที่จะทำให้คนไข้เสียเลือดน้อย ระบบดูแลสุขภาพผู้สูงอายุโดยใช้เซนเซอร์ทางชีวภาพต่างๆ เป็นต้น ในประเทศไทย วิศวกรรมการแพทย์ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการรักษาพยาบาล (Medical Hub) ของโลก ความก้าวหน้าทางอิเล็กทรอนิกส์และระบบสื่อสารในปัจจุบัน สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ในการรักษาพยาบาล และในงานดูแลสุขภาพ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้

คำถาม: หากสนใจด้านนาโน ควรเลือกเรียนวิชาใด ทำโปรเจคของห้องแลบใด และสภาพตลาดงานด้านนาโนเป็นอย่างไร
คำตอบ: ภาควิชาไม่มีวิชาวัสดุนาโนโดยตรง แต่จะแทรกไปใน 208 Prop Mat EE โดยมีวิชาที่เกี่ยวข้องกับนาโนอิเล็กทรอนิกส์เช่น 584 Intro to Nanoelec, 549 Sem Fab Tech, 488 Sem Dev II (ตัวต่อจาก 385) โดยห้องปฏิบัติการวิจัยสารกึ่งตัวนำ (SDRL ตึกไฟฟ้าชั้น 6) มีการทำวิจัยด้านการสร้าง วิเคราะห์ และประยุกต์ใช้วัสดุและสิ่งประดิษฐ์สารกึ่งตัวนำมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ห้องแลบ SDRL มีความร่วมมือทางเทคนิคกับมหาวิทยาลัยใน USA, Germany และญี่ปุ่น โดยได้รับการ sponsor งบวิจัยบางส่วนจาก US Air Force ด้วย นิสิตที่จบไปจากห้องแลบสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในฐานะ R&D engineer หรือ process engineer ในบริษัทผลิตฮาร์ดดิสก์ แผงวงจร หน่วยความจำ และคอมพิวเตอร์ ซึ่งในแต่ละปีมีมูลค่าการส่งออกในลำดับต้น ๆ ของประเทศ

หากนิสิตมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับ การเรียนการสอน และงานวิจัย ของภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาฯ รวมถึงการประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่อีเมล์eeinfo@chula.ac.thซึ่งภาควิชาฯ จะรวบรวมและตอบคำถามเหล่านี้บนเว็บไซต์ภาควิชา เป็นระยะๆ 

ไม่มีความคิดเห็น: