วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เจิน-ณิชชาพัณณ์ เอกวัสดุศาสตร์ (อัญมณีและเครื่องประดับ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ



เมื่อลองศึกษาความต้องการของตลาดแล้วนำมาจับกับความสนใจของตัวเอง ทำให้ เจิน-ณิชชาพัณณ์ ชุณหะวงศ์วสุ พิธีกรรายการสีสันบันเทิง ตัดสินใจสอบเข้าเป็นนิสิตเอกวัสดุศาสตร์ (อัญมณีและเครื่องประดับ) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
รู้จักเอกวัสดุศาสตร์ (อัญมณีและเครื่องประดับ) ได้อย่างไร
ตอนเอนทรานซ์เราไม่รู้ว่าชอบหรือว่าถนัดด้านไหน ตัวเจินเองใช้วิธีหาข้อมูลจากคนรอบข้างว่าเขาทำอาชีพอะไร เพราะคิดว่าถ้าเราเรียนจบก็คงต้องทำอาชีพทางสายนั้น พอดีมีญาติและเพื่อนคุณพ่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับ เขาก็ให้คำแนะนำที่ดีว่าตอนนี้ประเทศของเรา อุตสาหกรรมด้านนี้สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นอันดับต้นๆ เรียกได้ว่ายังขาดแคลนบุคลากรอีกมาก เจินก็คิดว่าเป็นอาชีพที่มีความน่าสนใจ แล้วเราเองก็เป็นผู้หญิงที่ชอบของสวยๆ งามๆ อยู่แล้ว เลยโอเค ถ้าเราเรียนด้านนี้อนาคตจะมีงานรองรับแน่ๆ
เนื้อหาสาระของวิชาวัสดุศาสตร์ (อัญมณีและเครื่องประดับ) เป็นอย่างไร
เป็นสาขาวิชาที่เฉพาะด้านมาก กึ่งๆ สายอาชีพด้วยค่ะ ตอนที่เจินเรียนมีมหาวิทยาลัยแค่ 4 แห่งที่มีสาขานี้ มีมหาวิทยาลัยบูรพา มศว ศิลปากร และเชียงใหม่ จริงๆ แล้วสาขานี้เรียนหลายอย่าง บางที่อาจจะแยกไปในเรื่องของพัสตราภรณ์ เรื่องของผ้า เรื่องของเคมี เรื่องของวัสดุพลาสติก ด้วยค่ะ
พอเรียนปี 3 อาจารย์จะให้เลือกว่าจะเรียนทางสายการผลิตหรือว่าสายบริหาร บางคนอาจจะสับสนกับการเรียนออกแบบจิวเวลรี่ จริงๆ ไม่เหมือนกัน คณะวิทยาศาสตร์จะเรียนเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีและเครื่องประดับ คือเราสามารถวิเคราะห์เกรดเพชรได้ว่าเพชรเม็ดนี้น้ำอะไรอย่างไร เรียนรู้ถึงวัตถุดิบโครงสร้าง เพราะฉะนั้นก็จะแบ่งเป็นเรื่องฝ่ายผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำคือการเป็นแร่ธาตุ จนเจียระไนเป็นพลอย-เพชรออกมาทำตัวเรือน ขึ้นตัวเรือน  ออกแบบทุกขั้นตอน จนเสร็จเป็นเครื่องประดับที่สวมใส่กันอยู่ในปัจจุบัน หรือถ้าเน้นการบริหารก็จะเรียนเกี่ยวกับการส่งออก-นำเข้าด้วย
Jewelry Season” คืออะไร 
นิสิตทุกรุ่นจะต้องนำผลงานของตัวเองออกมาโชว์ บางทีจะไปจัดแสดงที่งาน “บางกอกเจมส์” อย่างของรุ่นเจินจัดที่สยามดิสคัฟเวอรี่ งานเป็นธีมออกแบบไทย เครื่องประดับเราจะใช้ทองเหลืองเกือบทั้งหมด เน้นของเรื่องของการฉลุลาย เครื่องประดับที่ทำด้วยมือ มีแฟชั่นโชว์ด้วย เราจัดกันทุกรุ่นตอนปี 3 สนุกสนานค่ะ

วิชาแสนโปรด
เป็นคณะที่สนุกนะ สนุกแตกต่างกันไปหมดเลย คือแต่ละวิชาจะแบ่งเป็น 2 อย่างคือเลคเชอร์กับแล็บ แทบจะทุกวิชาเลยที่เป็นเฉพาะเรื่องของอัญมณีและเครื่องประดับเพราะว่าเราต้องดูความรู้ด้วย ต้องลงมือทำด้วยตัวเองด้วย เพราะฉะนั้นที่น่าจะสนุกแล้วรู้สึกว่าสนุกมากที่สุด ก็จะเป็นแบบมันเป็นลำดับขั้นนะ บอกไม่ได้เลยจริงๆ มันสนุกตลอดเลย คือเอาง่ายๆ นะคะ จะมีแบบแคสติ้ง คือการหล่อ อันนี้ก็จะเรียนว่าเราต้องผ่ายางอันนี้คนฟังก็จะไม่รู้หรอกว่ามันคืออะไรหรอ อะไรแบบนี้ มันก็คือหล่อมาเป็นเครื่องประดับอะไรยังไง เอาทองเอานู้นเอานี่ไปเข้าเครื่องหล่อ หล่อแล้วก็ต้องเอามาแกะมาขัดมานู้นมานี่คือขั้นตอนทุกอย่างเลยค่ะ ซึ่งมันก็จะพัฒนาไปเรื่อยๆ พอเราเรียนแคสติ้งปุปแล้ว ก็จะมีเป็นคัทติ้งคือการเจียระไน เราก็จะได้ทำการเจียระไนอีกคือมันแบบเลือกไม่ถูกว่าเราจะชอบวิชาไหนมากที่สุด เหมือนมันได้พัฒนาไปเรื่อยๆ ในความรู้ของเราค่ะ

               
สิ่งที่ได้จากการเรียนคณะนี้
สำหรับคนที่เรียนคณะวิทยาศาสตร์จะบอกว่าคุณได้เปรียบมากในเรื่องของกระบวนความคิด บางคนคิดว่าวิทยาศาสตร์ดูไกลไปจากชีวิตประจำวันผิดนะคือวิทยาศาสตร์พื้นฐานเลย ปัญหา ตั้งสมมติฐาน ทดลอง แล้วก็สรุปผล สามารถใช้ได้กับทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตเรา อย่างที่เขาบอกว่าถ้าเป็นเด็กให้ลองตั้งปัญหาเข้าไว้ อย่ากลัว เรามีคำถามแต่บางทีเราไม่กล้าที่จะพูด กลัวว่าแบบจะถูกมองว่าเราไม่รู้เรื่อง ไม่ฉลาด เราตั้งปัญหาไปเลยค่ะ อยากรู้อะไรคือคิดเข้าไว้ ลองวิเคราะห์ดูว่าปัญหาที่เราสงสัยนั้นคำตอบมันน่าจะเป็นแบบนี้แล้วก็ไปหาคำถาม หาคนที่รู้หรือว่าลองทดลองด้วยตัวเองก็ได้ค่ะถ้ามันไม่ได้ยิ่งใหญ่มากนัก แล้วก็จะได้คำตอบที่ถูกต้องออกมา
พื้นฐานของคนที่อยากเรียนสาขานี้ต้องมี
ต้องเป็นคนที่ช่างสังเกต จดจำแม่น เป็นคนที่จำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้ดี เวลาที่ดูเพชรต่อให้มีกล้องกำลังขยายเยอะๆ ก็ต้องสังเกตให้ได้ต้องแยกให้ออกว่ามลทินข้างในหรือสิ่งที่เป็นตำหนิอยู่ข้างใน เป็นตำหนิจากธรรมชาติหรือว่าเป็นตำหนิที่คนสร้างขึ้น แสดงว่าเพชรเม็ดนั้นของปลอมแล้วนะ ตำหนิเพชรเม็ดนี้ถ้าเชี่ยวชาญจริงๆ ดูแล้วจะจดจำตำหนินี้ได้ เอามาดูเมื่อไหร่จะรู้เลยว่า อ๋อ เพชรเม็ดนี้เคยเจอแล้ว เห็นพลอยปุ๊บเทียบสีทันที สีนี้ต้องจำให้ได้เลยว่าระดับประมาณไหน
เห็นกี่ครั้งก็ต้องจำได้ ตาต้องไม่เพี้ยน ความจำต้องดีค่ะ

อีกอย่างถ้ามีความรู้ด้านศิลปะจะดีมาก เพราะมีเรียนออกแบบพื้นฐาน
ด้วยคืออาจจะไม่เจาะลึกเท่าศิลปกรรมด้านออกแบบจิวเวลรี่นะคะ
แต่ว่าเราก็ต้องเรียนด้วยเพราะว่าบางคนที่เลือกเรียนไปทางด้าน
สายการผลิตก็ต้องมีความรู้ด้านการออกแบบด้วยเพราะว่าเราจะได้คุย
กับฝ่ายออกแบบรู้เรื่องว่ามันควรจะต้องเป็นแบบนี้นะ ต้องขึ้นตัวเรือน
แบบนี้ถึงจะได้นะ เพชรหรือพลอยลักษณะนี้ต้องทำแบบไหน ต้องทำ
มาอะไรยังไงแบบนี้ค่ะ ก็ถ้าเกิดว่ามีพื้นฐานเรื่องของการวาดรูปศิลปะก็จะดี

สามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง
ทำตามโรงงานอัญมณีและเครื่องประดับทั่วไปเลย คนทั่วไปไม่ค่อยว่าทราบว่าอยู่ที่ไหนยังไงกันมีแถวดินแดง สีลมที่เราผ่านๆ กันบ่อยนี่มีโรงงานเยอะมากตามอาคารต่างๆ นะคะ ถ้าเกิดดูเป็นจิวเวลรี่เทรดดิ้งก็ได้เข้าไปดูเขาจะมีตั้งแต่การขายหรือบางคน ถ้าเกิดชอบที่จะเดินทางไปอยู่บริษัทที่ขายพลอย ขายส่งแบบนี้นะคะ ไปมาดากัสการ์ไปดูพลอยดิบ ไปซื้อพลอยมาเพื่อที่จะมาเผามาเจียระไนขายเป็นพลอยคือมาเพิ่มมูลค่าในประเทศ แล้วก็กลับไปขายใหม่ให้มันมีราคาที่สูงขึ้น ก็แล้วแต่เลยว่าคุณเลือกจะไปอยู่ต่อที่ไหน ตำแหน่งไหน จริงๆ มีอีกเยอะค่ะ ยังต้องการอีกเยอะเพราะว่าสายนี้ต้องบอกน้องๆ ว่าต้องอดทนนะ กว่าที่เราจะเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ กว่าที่เราจะแยกออกว่าเพชรแท้เพชรปลอม กว่าที่เราจะดูออกพลอยแท้พลอยปลอม พลอยระดับไหนราคาเท่าไหร่ ประเมินตีราคาได้ เห็นเครื่องประดับชิ้นนี้ปุปประเมินได้เลยว่าราคาเท่านี้ หรือว่าเห็นพลอยปุปเราประเมินได้เลยว่าราคาไม่เกินเท่านี้เพื่อที่เราจะได้ไม่ถูกหลอกถูกไหมคะเพราะว่าของหลอกเยอะนะต้องยอมรับ เพราะฉะนั้นต้องใช้ความอดทนที่จะฝึกฝนและก็ประสบการณ์ที่จะสะสมประสบการณ์การทำงาน
เริ่มแรกๆ จะดูยากและต้องใช้ความอดทนมากเพราะว่ามันต้องอยู่กับอะไรที่แบบคัดพลอยค่ะ ตอนฝึกงานไปอยู่โรงงานจิวเวลรี่แถวสีลมนั่งคัดพลอยทั้งวันจนแบบตาจะเสีย คือมันต้องใช้สายตามากค่ะ เอาพลอยถุงเทออกมาปุปเป็นพันๆ เม็ดแบบนี้เราต้องมาคัดว่า ขนาดนี้นะ สีนี้ไปอยู่ด้วยกัน จัดเซทมัน เพราะว่าเวลาขึ้นเครื่องประดับถ้าเกิดเราไม่คัดก่อนมันจะเห็นความแตกต่างแล้วมันจะไม่สวย เราก็ต้องมาคัดก่อน เพราะฉะนั้นกว่าเราจะคัดจนชำนาญมันก็ต้องมีผิดมีถูกบ้าง ต้องใช้เวลากว่าที่เราจะคัดตัวเรือน กว่าที่เราจะเจียระไนได้สวย กว่าที่เราจะทำได้แต่ละขั้นตอนมันเป็นงานละเอียดค่ะ มันต้องใช้ความอดทนสูงมาก เพราะฉะนั้นน้องๆ ที่จะเรียนก็ขอให้อดทนกันนิดหนึ่ง แต่ว่าพอทำงานไปแล้วผลตอบแทนเชื่อว่าคุ้มค่า หลายๆ คนก็สามารถมีกิจการเป็นของตัวเองได้ ก็คืออยู่ที่ว่าคุณจะมองเป้าหมาย วางแผนของอนาคตของคุณเองไว้แค่ไหนมากแค่ไหน และก็อดทนและก็ขยันทำงานไปมันก็จะได้ตามเป้า
 
                                   

ตอนฝึกงานเป็นอย่างไรบ้าง

คือตอนฝึกงานเขาก็ให้ไปทุกแผนกนะคะไปฝึกทุกแผนกเลย ทีนี้ตอนไปแผนกออกแบบบ้างเราก็คุยกับพี่ดีไซน์เนอร์เขาก็ให้งานเรามาว่า ลูกค้าจากอเมริกาเขาจะชอบพลอยแต่ว่าเขาจะไม่ชอบอะไรที่เพชรเยอะๆ ดูไม่เหมือนคนไทยที่คนไทยจะชอบแบบตู้มตามดูแบบว่าโอ้โหอลังการงานสร้างแบบนี้ ฝรั่งเขาจะชอบอะไรที่แบบว่าเก๋ๆ ดูคลาสิคเขาก็ให้โจทย์เรามาเขาก็บอกว่าสร้อยข้อมือราคาไม่เกินเท่านี้นะ ให้พลอยกี่เม็ดๆ อะไรยังไงแล้วเราก็ออกแบบไป ขายได้ด้วยนะ ก็แบบว่าเออดีๆ และก็สนุกดี
ขอคำแนะนำน้องๆ ที่อยากเรียนคณะวิทยาศาสตร์ เอกวัสดุศาสตร์ (อัญมณีและเครื่องประดับ)
เริ่มจากการสอบก่อน เขาต้องการวิชาหลักๆ คือ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ถ้าน้องที่ชอบวิชาเคมีก็จะดี มีอะไรที่เชื่อมต่อกับเคมีเยอะพอสมควรนะคะ พยายามทำคะแนนให้สูงไว้ ส่วนอย่างอื่นไม่เป็นไรไปหาในคณะได้ ขอให้ตั้งใจและขยัน ทุกอย่างต้องฝึกฝนจริงๆ ประสบการณ์จะทำให้เราเก่งมากขึ้นในการวิเคราะห์ ในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ การเรียนสาขานี้สร้างรายได้ทั้งให้กับตัวเองและประเทศได้มาก และก็สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเราด้วย เพราะไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่งานฝีมือเก่งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเจียระไน ออกแบบ ขึ้นตัวเรือน ซึ่งเรามีความประณีตละเอียดอ่อนมาก เราอยากให้น้องๆ คงสิ่งเหล่านี้เอาไว้ เพราะว่าของสวยๆ งามๆ ไม่มีทางตันอยู่แล้ว อยากจะให้ช่วยกันรักษาคุณภาพและความสามารถของคนไทยเอาไว้ค่ะ 
ภาควิชาได้ร่วมกับสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ผลิตหลักสูตรสาขาวิชาวัสดุศาสตร์ (อัญมณีและเครื่องประดับ) เพื่อผลิตบัณฑิตเข้าสู่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ในระดับต้นๆ ของประเทศ แต่ยังขาดแคลนบุคลากรในระดับกลางที่จะเชื่อมโยงระหว่างเจ้าของกิจการและช่างฝีมือในโรงงานอุตสาหกรรม

ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ที่เว็บไซต์http://gensci.science.swu.ac.th/index.html

ไม่มีความคิดเห็น: