วันศุกร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2557

เทคนิค 9 ประการสำหรับการพัฒนาการเรียนให้กับตนเอง และเลี่ยงโศกนาฎกรรม(สอบตก)


วัน xx เดือน xx ปี xx ประกาศผลสอบ ณ รร. xx
A: "นี่ๆแกผลสอบออกแล้วนะ ชั้นผ่านหมดเลยแหละ แล้วแกล่ะเป็นยังไง?"
B: "ชั้นตก...อีกแล้วอ่ะแก หลายตัวเลยด้วย T-Tแหละแก"

เจเชื่อว่าเพื่อนๆทุกคนที่ยังเรียนหนังสืออยู่หลายๆคนต้องประสบกับชะตากรรมอันไม่น่าพิสมัยแบบเดียวกับ B เรื่อง"สอบตก"แน่นอน ก็แน่นอนล่ะว่าใครอยากจะสอบตกกันบ่อยๆล่ะจริงมั้ย?ก็มันทั้ง เสียแต้ม เสียคะแนน เสีัยใจ เสียหน้า วู้ยยยย เสียนั่นเสียนี่เยอะแยะกันไปหมดเลยนี่นา ถึงแม้ว่าจะมีคำกล่าวว่า "สอบผ่านคือเรื่องตลก สอบตกคือเรื่องธรรมดา" ก็ตามที แต่ก็คงไม่มีใครบ้าจี้อยากตกบ่อยๆ ตกเยอะๆแหละ จริงมั้ยค่ะ?

ถ้าว่าตามตรงแล้วอาการสอบตกเนี่ยมันเป็นอาการที่พบได้แพร่หลายทั่วไปในหมู่นักเรียน ร้อยทั้งร้อยคนส่วนใหญ่แล้ว มักจะเคยตกนั่นตกนี่มาพอหอมปากหอมคอทั้งนั้นแหละ หรือบางคนก็เป็นหนักตกบ่อยๆตกประจำก็มี
แต่เจก็เชื่อว่าถ้าเป็นไปได้คงจะไม่มีใครอยากจะสอบตกอย่างแน่นอน

อ้าว! แล้วจะทำยังไงจะได้สอบผ่านอ่ะ? นี่เป็นคำถามยอดฮิตอมตะนิรันดร์กาลเลยก็ว่าได้ งั้นเราลองมาดูกันดีกว่าว่าทำยังไงถึงจะเรียนเก่งๆแล้วสอบผ่านได้โดยที่คะแนนออกมาสวยงามกันเถอะ ^^

1. ตั้งใจเรียนในห้อง <<< โอ้ววว....หลายคนอ่านแล้วอาจจะว่าข้อนี้มันเบสิคเอามากๆ ทำไมถึงเอามาใส่ ไม่เห็นจะพิเศษ special ตรงไหนเลย ถ้าคนไหนคิดแบบนี้แล้วล่ะก็ถือว่าคิดผิดถนัดเลยล่ะค่ะ เพราะจุดเริ่มต้นของการจะเรียนให้รู้เรื่องนั้นสำคัญที่ข้อนี้แหละค่ะ เหตุผลง่ายๆก็คือว่า
ถ้าอยู่ในห้องเราไม่ตั้งใจฟังสิ่งที่คุณครูกำลังสอน มัวแต่เอาเวลาไปทำอย่างอื่นอยู่ ขอถามว่าคุณจะเรียนรู้เรื่องได้ยังไง? เพราะเจเชื่อแน่นอนว่าคงไม่มีใครเยี่ยมยุทธ์ถึงขนาดสามารถอ้าปากคุยปาวๆๆพร้อมกับฟังคำอธิบายบนกระดานไปได้พร้อมๆกันหรอกนะค่ะ ไอ้การที่เราไม่ยอมฟังให้เข้าใจตั้งแต่ตอนอยู่ในห้องเรียนเนี่ยแหละที่จะเป็นตัวการก่อให้เกิดโศกนาฎกรรมในเวลาต่อมา ดังนั้นถ้าเรายอมเสียสละเวลาคุยซักนิดนึง แล้วฟังให้เข้าใจตั้งแต่อยู่ในห้องซะก็หมายความว่าเราเริ่มต้นได้ดีมีชัยไปกว่าครึ่งแล้วล่ะค่ะ ^^

2. อย่าเครียดจนเกินไป <<< อ้าว! เกี่ยวอะไรล่ะข้อนี้? เกี่ยวค่ะ...มันต้องเกี่ยวแน่นอนเจถึงได้ต้องเอามันมาใส่ลงมา ข้อนี้เองก็จัดได้ว่าสำคัญเหมือนกัน เพราะอะไรน่ะหรอค่ะ? เพราะว่าความเครียดที่มีมากเกินไปจะทำให้ร่างกายหลั่งสารออกมาตัวนึง ไอ้สารตัวนี้มันชื่อว่า "Cortisol" ค่ะ เวลาที่เราเครียดสารตัวนี้จะหลั่งออกมา ซึ่งการหลั่งสารตัวนี้ออกมาเนี่ยจะระงับการส่งข้อมูลของสมองและการเชื่อมต่อกันของเซลล์สมอง ทำให้เซลล์สมองค่อยๆลดจำนวนลงอย่างช้าๆ ยิ่งเครียดมากเครียดนานเท่าไหร่ เราก็จะค่อยๆโง่ลงๆเท่านั้น O_O ดังนั้นเจอยากจะบอกเพื่อนๆที่มุเรียนหนักมากจนเกินไป ประมาณว่าลงเรียนทีนึง 8 โมงเช้ายัน 2 ทุ่ม ทั้งเสาร์อาทิตย์ หรืออ่านๆๆๆๆแต่หนังสือเรียนเข้าไป พยายามจะยัดเยียดข้อมูลให้สมองนั่นแหละ ให้ลองผ่อนคลายตัวเองลงมาบ้างแล้วคุณจะพบว่าคุณสามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆได้ง่ายขึ้นทีเดียวเลยค่ะ

3. อย่าชิวเกินไป <<< อันนี้จะตรงข้ามกับข้อ 2 ทุกประการ ว่าง่ายๆก็คือว่า ถ้าวันๆคุณมัวแต่ทำตัวชิวๆ ไม่สนใจ ไม่อยากรู้ไม่ขวนขวายอะไรเลย คุณก็จะขี้เกียจแล้วจะไม่ยอมเรียนอะไรเลย ถ้าคุณกำลังอยู่ในสภาพนี้อยู่แล้วหวังจะได้เกรดสวยๆแล้วล่ะก็...คงจะยากหน่อยล่ะค่ะ ดังนั้นถ้าเพื่อนๆคนไหนที่รู้ตัวเองว่าชิวมากเกินไปแล้วต้องการจะสอบผ่านแล้วล่ะก็คุณก็ควรที่จะเริ่มต้นจาก ลดความชิว + ตั้งใจเรียนตามข้อ 1 ก็จะช่วยได้ค่ะ หรือไม่ก็ลองนึกถึงเป้าหมายในอนาคตดูว่าเราอยากเข้าคณะไหน มหา'ลัยอะไร อยากทำงานเป็นอะไร นึกถึงอนาคตที่สวยงามเข้าไว้ แล้วใช้มันเป็นแรงผลักดันให้เราหันมาฮึดสู้ขยันเรียนค่ะ อย่าลืมนะค่ะว่า "ขี้เกียจคือปลาร้ายจะทำลายเรือให้จม เอาใจเป็นปืนคมยิงระดมให้จมไป"

4. ฝึก ฝึก ฝึก และฝึก <<< ข้อนี้ก็สำคัญเหมือนกันค่ะ โดยเฉพาะกับพวกวิชาเลขกับฟิสิกข์ หรืออะไรก็ตามที่ต้องคำนวณจะต้องใช้ข้อนี้มากเป็นพิเศษหน่อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าวิชาอื่นๆจะไม่ต้องฝึกเลยนะค่ะ ทุกๆวิชาย่อมต้องการการฝึกฝนเหมือนกันค่ะ อุปมาเหมือนดาบ ถ้าจะให้มันคมๆเนี่ยมันก็ต้องลับบ่อยๆจริงมั้ยค่ะ ถ้าจะว่าตาม "ทฤษฎีหมื่นชั่วโมง" เนี่ย เขาบอกว่า"การที่จะทำอะไรซักอย่างนึงให้เชี่ยวชาญถึงขนาดระดับแนวหน้าได้เนี่ย ต้องเก็บชม.บินให้ได้ 10,000 ขึ้นไป" และการฝึกทำโจทย์ทั้งหลายแหล่เนีั่ยก็เหมือนกับการเก็บชม.บินนั่นเองแหละค่ะ ดังนั้นเพื่อนๆอย่ารอช้า หาโจทย์มาฝึกทำกันเลยดีกว่าค่ะ

5. ปรับเปลี่ยนทัศนคติ <<< ข้อนี้เองก็ถือว่าเป็นข้อสำคัญที่สุดในการเรียนเลยก็ว่าได้ เพราะว่าถ้าเรามีทัศนคติ มีจิตใจต่อต้านกับสิ่งที่เรากำลังเรียนอยู่ เราก็จะไม่สามารถเรียนได้อย่างเต็มที่นั่นเอง ยกตัวอย่างก็เช่น เบื่อหน้าครูที่สอน, เบื่อเนื้อหาที่เรียน, ไม่รู้จะเรียนไปทำไม, วิชานี้ยากเกินไป กับเหตุผลอื่นๆอีกร้อยแปดพันเก้าประการ ถ้าเรามีทัศนคติที่ไม่ดีแบบนี้ แล้วเราจะสามารถทำใจให้เรียนรู้เรื่องได้อย่างไรดังนั้นถ้าเราสามารถแก้เปลี่ยนทัศนคติที่ไม่ดีให้ดีขึ้นมาได้ เปลี่ยนมุมมองจากมุมแย่ๆมาเป็นมุมสวยๆได้ มันก็จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาการเรียนของเราได้ง่ายขึ้นค่ะ

6. ทักษะในการฟัง+อ่านจับใจความ+การวิเคราะห์ <<< ข้อนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับกระบวนการเรียนรู้เลยล่ะค่ะ ถ้าเรามีทักษะ 3 ตัวนี้อยู่แล้วล่ะก็ มันก็จะช่วยเพิ่มความเข้าใจ + จับหลักในเนื้อหาวิชานั้นได้ เรามาดูวิธีการพัฒนาทักษะทั้ง 3 อย่างกันเลยดีกว่าค่ะ

- การฟังจับใจความ: เป็นการฟังที่แตกต่างจากการฟัังแบบธรรมดาค่ะ คือ เราจะต้องนิ่งจริงๆก่อนถึงจะทำได้ แล้วเมื่อนิ่งแล้ว เราก็ต้องเปิดใจรับฟังสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา ฟังไปโดยไม่ต้องสนใจอย่างอื่นค่ะ จดจ่ออยู่กับสิ่งที่เขากำลังพูดอยู่อย่างเดียว เมื่อฟังจบแล้ว เราก็มานั่งคิดทบทวนดูว่า ไอ้ที่ฟังไปเมื่อกี้เนี่ย เค้าสื่ออะไรมาบ้าง เราฟังแล้วเราเข้าใจอะไรทันทีบ้าง แล้วยังมีอะไรที่เราสามารถหาได้จาก สิ่งที่เขาพูดได้อีกบ้าง การฝึกฟังจับใจความแบบนี้เนี่ยสามารถฝึกได้ทุกที่ทุกเวลาค่ะ เมื่อเราฝึกไปบ่อยๆแล้วเนี่ยสุดท้ายเราก็จะทักษะนี้ไปตลอดโดยอัตโนมัติเลยค่ะ อันนี้จะมีประโยชน์มากตอนฟังบรรยายในห้องเรียน

- การอ่านจับใจความ: จะคล้ายๆกับการฟังจับใจความค่ะ คือเราต้องอ่านเนื้อหาทั้งหมดก่อนแล้วค่อยสรุปหา concept สำคัญๆออกมาจากสิ่งที่เราอ่านค่ะ เราต้องหาว่า เรื่องที่เราอ่านนี้เกี่ยวข้องกับอะไร ใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เขาพยายามจะสื่ออะไรออกมา ถ้าเราจะฝึกทักษะนี้เราก็ต้องอ่านเยอะๆค่ะ อ่านแล้วก็เขียนออกมาด้วยว่าเราได้อะไรมาบ้าง ฝึกไปบ่อยๆมันก็จะชินไปเองค่ะ ทักษะนี้จะมีประโยชน์มากตอนอ่านหนังสือ

- การวิเคราะห์: อันนี้อาจจะยากซักหน่อย แต่ทักษะนี้มีประโยชน์มากทีเดียวสำหรับหลายๆวิชาที่ต้องการการวิเคราะห์ค่ะ การวิเคราะห์เองจะมีหลักอยู่ว่า ทำไมถึงเป็นแบบนี้ + สิ่งนี้มันเกิดจากอะไรบ้าง ค่ะ การวิเคราะห์เราอาจจะลองฝึกโดยการวิเคราะห์โครงสร้างภาษาว่าคำนี้ๆๆ เป็นคำประเภทไหน ความหมายอย่างไร หรืออาจจะลองวิเคราะห์บทความต่างๆว่า ทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ อะไรเป็นสาเหตุ ประมาณนี้แหละค่ะ
การวิเคราะห์เองอาจจะเป็นสิ่งที่ฝึกได้ยากที่สุดในบรรดาทักษะ 3 อย่างที่เจแนะนำมา แต่ถ้าเพื่อนๆขยันฝึกทักษะนี้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อนๆก็จะสามารถวิเคราะห์อะไรหลายๆอย่างได้มากขึ้นเลยค่ะ

7. เทคนิคต่างๆในการจำ <<< อันนี้ก็สำคัญ และจะสำคัญมากขึ้นไปอีกสำหรับบรรดาปลาทองทั้งหลาย (เจ้าของบล็อกก็ด้วย-ฮา) เทคนิคต่างๆในการจำมีมากมายค่ะ เอามาจาระไนตรงนี้กันได้ไม่หวาดไม่ไหวเลยทีเดียว ลองหาเทคนิคต่างๆมาใช้ดูค่ะ อันไหนเราใช้แล้วว่ามันเวิร์คก็ใช้ไป อันไหนไม่เวิร์คก็ช่างมัน ถ้าจะให้ยกตัวอย่างก็อย่างเช่น mind map เอย การใช้ปากกาหลากสีสัน เอย การเขียนสรุปย่อๆ เอย เป็นต้น
แต่สำหรับตัวเจ้าของบล็อคเองแล้วเนี่ย เนื่องจากเป็นคนที่ชอบจำด้วยภาพ เรียนด้วยภาพเนี่ย จะมีเทคนิคที่ใช้ประจำคือ เวลาที่คุณครูเค้าบรรยายพูดถึงอะไรซักอย่างนึง ยกตัวอย่างเช่น ระบบย่อย เจก็จะจินตนาการภาพตั้งแต่อาหารเข้าปากโดนเคี้ยวทำปฏิกริยากับนำลาย ไปจนถ่ายออกมา หรือถ้าพูดถึงไฟลัมสัตว์ต่างๆเจจะจำสัตว์เด่นๆในไฟลัมนั้นๆเป็นภาพ แล้วบรรยายลักษณะของสัตว์ตัวนั้นออกมาค่ะ ใครสนใจเอาเทคนิคนี้ไปใช้ก็ได้ค่ะ ไม่ว่ากัน ^^

8. ความมุ่งมั่น + ขยัน <<< อันนี้ถือได้ว่าเป็นหัวใจหลักที่สำคัญมากกกกกที่สุดในบรรดาทุกข้อที่เจว่ามาเลยค่ะ เพราะถึงคนเราจะมีระดับสติปัญญาไม่เท่ากัน แต่ถ้าเรามีความขยันแล้ว เราก็สามารถที่จะแซงหน้าคนหัวดีแต่ขี้เกียจได้ค่ะ ไอ้คำว่า มุ่งมั่น และขยันเนี่ยเจไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องที่ต้องเรียนอย่างเดียวนะค่ะ แต่หมายถึงเทคนิคต่างๆ รวมทั้งทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตด้วยค่ะ ถ้าเรามุ่งมั่นมีเป้าหมาย และหมั่นขยันฝึกฝน
เจเชื่อว่าทุกๆคนก็เก่งขึ้นมาได้ค่ะ ขอแค่มุ่งมั่นและขยันก็พอ อย่าแค่ว่ารู้ๆๆว่าอันนี้ทำแบบนี้ทำแบบนั้น แต่พอเอาเข้าจริงกับทำออกมาไม่ได้เรื่องนะค่ะ (เหมือนอ่านพวกเทคนิคนู่นนี่มากมาย แต่ไม่เคยเอาใช้จริงๆจังๆซักอย่าง)

9. ความอยากรู้อยากเห็น <<< อันนี้ถือได้ว่าเป็นปัจจัยเสริมที่ดีทีเดียวสำหรับการเรียนรู้เลยค่ะ เพราะถ้าเราอยากรู้อยากเห็นอะไรมาซักเรื่อง เราก็จะสนใจที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นเยอะๆ เปรียบได้กับตอนที่เราอยากรู้เรื่องซุบซิบ gossip ทั้งหลายนั่นแลเราจะขวนขวายที่จะรู้ และจำแม่นเป็นพิเศษมากกว่าเรื่องที่เราไมาสนใจไยดี เหมือนกันค่ะ ถ้าเราอยากรู้ตื่นเต้นกับสิ่งที่เราเรียนอยู่ การเรียนรู้ก็จะง่ายขึ้นมากทีเดียวเลยค่ะ ในเรื่องของการสร้างความอยากรู้อยากเห็นตัวนี้เนี่ย จะคล้ายๆกับการเปลี่ยนทัศนคติในข้อที่ 5 ค่ะ แต่ตัวนี้ต้องการการกระตุ้นให้ตัวเองมากสักหน่อยในคนที่ไม่มีหรือมีน้อย แรกๆเราอาจจะแค่แกล้งๆทำเป็นอยากรู้อยากเห็น บอกตัวเองว่าอยากรู้อยากเรียน แต่ไปๆมาๆ สุดท้ายแล้วเราก็จะอยากรู้อยากเห็นเรื่องนั้นไปโดยปริยายค่ะ (คล้ายๆการสะกดจิตตัวเองว่างั้น)

เป็นอย่างไรบ้างค่ะสำหรับเทคนิคที่เจได้ลองแนะนำไป ถ้าใครลองเอาไปใช้แล้วเวิร์คไม่เวิร์คยังไง หรือมีเทคนิคดีๆมาแลกเปลี่ยนกัน อย่าลืมแวะมาบอกเล่ากันด้วยนะค่ะ เจอกันที่บล็อคหน้าค่ะ ^^


ไม่มีความคิดเห็น: