สังคมไทยจะเป็นอย่างไร
ถ้า.. เด็ก 97%
คิดว่าตัวเองเด็กเกินไปที่จะช่วยเหลือส่วนรวม
ในตอนที่ผ่านๆ มา ได้นำเสนอประเด็นที่เยาวชนเห็นว่าประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง การศึกษา เศรษฐกิจ และการทุจริตคอร์รัปชัน
ในตอนที่ 7 นี้ ลองมาดูกันว่า “แล้วเยาวชนจะช่วยเปลี่ยนแปลงเรื่องใดได้บ้าง”
จากงานวิจัย “คนไทยมอนิเตอร์ 2557 : เสียงเยาวชนไทย” ได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้ที่มีอายุ 15-24 ปี จำนวน 4,000 คนทั่วประเทศ โดยสอบถามถึง “สิ่งที่เยาวชนทำได้เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้น”
พบว่า ร้อยละ 32 ตอบว่า เป็นคนดี เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่สร้างปัญหาให้สังคม ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
ร้อยละ 26 ตอบว่า ตั้งใจเรียน หรือเรียนให้จบ หรือเรียนจบให้สูง
ร้อยละ 19 ตอบว่า ให้คำแนะนำ หรือมีส่วนร่วมในการไปใช้สิทธิใช้เสียง ไม่ขายเสียง
งานวิจัยชิ้นนี้มองว่า ถึงแม้จะมีหลายด้านที่เยาวชนเห็นว่าประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน แต่สิ่งที่เยาวชนเห็นว่าตนเองจะสามารถทำได้เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่กับเรื่องของการทำหน้าที่ของตัวเอง
ในขณะที่บทบาทในด้านของการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติยังถูกเอ่ยถึงโดยเยาวชนในสัดส่วนที่น้อย
นอกจากนี้ จากสิ่งที่เยาวชนบอกว่าเป็นสิ่งที่จะสามารถทำได้เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศไทย พบว่าเยาวชนเกือบทั้งหมดที่ร้อยละ 97 บอกว่ายังไม่ได้ทำทุกอย่างตามที่ตั้งใจไว้ โดยมีอุปสรรคอยู่ที่ ทัศนคติและความเชื่อที่ว่าตนเองยังเด็กเกินไป
อาทิ ร้อยละ 11 ให้เหตุผลว่าตนเองอายุยังน้อย ร้อยละ 10 ให้เหตุผลว่ายังอยู่ในวัยเรียน ยังเรียนไม่จบ ซึ่งเป็นสัดส่วนพอๆ กับเยาวชนที่ให้เหตุผลว่าไม่มีเวลา ร้อยละ 9 ให้เหตุผลว่าขี้เกียจ และร้อยละ 5 คิดว่ายังไม่มีความสามารถพอ ไม่มีโอกาส นอกจากนี้ มีเยาวชนบางส่วนให้เหตุผลว่ายังไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง ยังไม่มีงานทำ ยังไม่ได้รับความร่วมมือหรือการสนับสนุนจากบุคคล ชุมชน หรือองค์กร
หากจะมีอะไรสักอย่างที่มาเป็นแรงบันดาลใจผลักดันให้เยาวชนลุกขึ้นมาลงมือเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในด้านต่างๆ ได้นั้น
จากการวิจับพบว่า ภาพของความไม่รักชาติของคนไทย เป็นสิ่งที่เยาวชนเห็นว่าเป็นแรงผลักดันได้มากที่สุดที่ร้อยละ 17
ตามมาด้วยภาพของการคอร์รัปชันของนักการเมืองและข้าราชการที่ร้อยละ 9 รวมถึงการเห็นนักการเมืองขัดแย้งหรือทะเลาะกัน ที่ร้อยละ 5 ซึ่งเป็นสัดส่วนพอๆ กับการเห็นคนเสพยาหรือจำหน่ายยาเสพติดมากขึ้น การเห็นเด็กบางคนไม่ได้เรียนต่อ
เมื่อศึกษาต่อไปถึง “คุณลักษณะต่างๆ ของเยาวชนที่แสดงออกถึงความเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม (Active Citizenship)” พบว่า เยาวชนไทยในปัจจุบันมีบทบาทสูงในเรื่องของการรักษาสิทธิของตัวเองและผู้อื่น
เช่น ร้อยละ 87 เคารพในสิทธิของผู้อื่นและไม่ทำการใดๆ ให้ผู้อื่นเดือดร้อน ร้อยละ 81 ไม่เพิกเฉยและมักต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง ร้อยละ 80 ให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพย์สินสาธารณะ
นอกจากนี้ ยังให้ความสนใจและมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องราวในสังคมที่สูง เช่น ร้อยละ 77 มีการติดตามหรือมีความรู้รอบถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ร้อยละ 74 ให้ความสนใจกับปัญหาสังคมและพูดคุยกับคนรอบข้าง เป็นสัดส่วนที่เท่ากับการมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง มักไม่เชื่อในกระแสสังคม ร้อยละ 72 การไม่เพิกเฉยต่อปัญหาในสังคมถึงแม้ปัญหานั้นจะไม่เกี่ยวกับตัวเอง ร้อยละ 71 มีการติดตามหรือมีความรู้รอบถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชน
ทว่าบทบาทในด้านการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคมหรือชุมชนยังพบได้น้อยเช่น ร้อยละ 21 ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม ชมรม หรือองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม ร้อยละ 24 ได้บริจาคเงินหรือสิ่งของผ่านกลุ่ม หรือชมรม หรือองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม ร้อยละ 33 เคยเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมือง ร้อยละ 54 เลิกซื้อสินค้าหรือบริการที่รู้ว่าเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
หากพิจารณากลุ่มเยาวชนที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มหรือชมรมหรือองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคมจำแนกตามระดับการศึกษาแล้ว จะพบว่าเยาวชนที่ศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยมีแนวโน้มมีบทบาทมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอื่น ทั้งนี้อาจเป็นด้วยโอกาสในการเข้าถึงกิจกรรมตลอดจนความพร้อมที่มีมากกว่า
ติดตามผลวิจัยฉบับเต็ม ได้ที่ www.khonthaifoundation.org
แล้วพบกันใหม่ในตอนที่ 8 สังคมไทยจะเป็นอย่างไร ถ้า.. เด็ก 15% มีคุณสมบัติของพลเมืองที่มีส่วนร่วมเพื่อส่วนรวม #
ขอขอบคุณ “มูลนิธิเพื่อคนไทย”
ที่เผยแพร่ข้อมูลดีๆ ให้แก่สังคมไทย
ให้ได้รับรู้และตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กไทยในปัจจุบัน
ที่เผยแพร่ข้อมูลดีๆ ให้แก่สังคมไทย
ให้ได้รับรู้และตระหนักถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กไทยในปัจจุบัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น