วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

อาชีพเภสัชกร


นิยามอาชีพ
          นำแนวคิดและทฤษฎีทางด้านเภสัชศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการเตรียมและผสมยาหรือจำหน่ายเวชภัณฑ์และยาต่าง ๆ เตรียมและจัดแจงเวชภัณฑ์ตามใบสั่งยาของแพทย์ ทันตแพย์และ สัตวแพทย์ หรือทำการผสมสูตรยา ตรวจดูใบสั่งยาเพื่อให้แน่ใจว่าขนาดของยาที่สั่งเป็นขนาดที่เหมาะสม และเพื่อให้แน่ใจว่าคนไข้ หรือผู้ที่จ่ายยาให้คนไข้ เข้าใจวิธีการใช้ยา รวมทั้งให้การแนะนำในกรณีที่เกิดการแพ้ยา จัดเวชภัณฑ์และยาใน
          โรงพยาบาล หรือจำหน่ายในร้ายขายยาทั่วไป จดบันทึกรายการยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาเสพติดสารพิษ และยาที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมซ้ำซาก ทดสอบตัวยาเพื่อให้รู้ว่าเป็นยาอะไร สกัดยาให้บริสุทธิ์และเข้มข้นขึ้น มีส่วนร่วมในการพัฒนา กฎ ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ เขียนรายงานและวารสารทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่การงานที่เกี่ยวข้องและควบคุมดูแลผู้ปฏิบัติงานอื่น ๆ
ลักษณะของงานที่ทำ
        ค้นคว้าและพัฒนาสูตรยาตำรับใหม่ๆเพื่อขึ้นทะเบียนและส่งสูตรที่สำเร็จแล้วให้ฝ่ายผลิตเพื่อทำการผลิตยาออกจำหน่าย ควบคุมการผลิตยาให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ วิเคราะห์ ตรวจสอบยาที่ผลิตให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ปรุงยา จ่ายยาและสิ่งที่เกี่ยวข้องตามใบสั่งหรือตามสูตร เตรียมการผลิตยา เช่นยาน้ำ ยาขี้ผึ้ง ยาผง ยาเม็ดกลม ยาเม็ดแบน แค็ปซูล และยาฉีดตามใบสั่งของแพทย์หรือตามสูตรที่ได้รับการรับรองแล้ว ชี้แจงแก่แพทย์ พยาบาลและผู้ปฏิบัติงานในแขนงอื่นๆ ทางการแพทย์เกี่ยวกับยา เคมีภัณฑ์และการใช้สิ่งนั้นๆ ควบคุมและจ่ายยาเสพติดให้โทษ ยาพิษ และสารพิษที่ต้องการใช้เพื่อการแพทย์ กิจการในบ้าน อุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรม และจ่ายสิ่งนั้นๆ ตามกฎข้อบังคับ ทำหน้าที่วิเคราะห์และทดสอบตามปกติ เพื่อให้ทราบชนิดความบริสุทธิ์และความแรงของยา จัดระเบียบและควบคุมรักษายาในคลังทำบัญชีประจำคลังโดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ เช่น ยาเสพติดให้โทษ ยาอันตราย ยาสามัญ เคมีภัณฑ์และเครื่องใช้ในการแพทย์ อาจจัดซื้อเวชภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์และสะสมเครื่องใช้ในการแพทย์ไว้จ่ายแก่คนไข้ และห้องรักษาโรค อาจผลิต จำหน่าย และชี้แจงเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น สุขภัณฑ์ เครื่องสำอาง เคมีภัณฑ์สำหรับเกษตรกรรมและพืชสวน และยาสำหรับสัตว์ ศึกษาวิธีการปฏิบัติงานที่รับผิดชอบ รวมทั้งวิธีการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่นเครื่องจักรที่ใช้ผลิตยา เครื่องมือในการวิเคราะห์ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของเครื่องมือ 

สภาพการจ้างงาน
          ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ได้รับค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินเดือนตามวุฒิการศึกษา เภสัชกรที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งไม่มีประสบการณ์ในการทำงานจะได้รับเงินเดือนในอัตรา ดังนี้

     ประเภทองค์กร                      เงินเดือน       ราชการ                                     7,260 
      รัฐวิสาหกิจ                                  8,500
      เอกชน                               15,000 –18,000

          ทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง แต่อาจจะต้องทำงานวันเสาร์ วันอาทิตย์ และ วันหยุด หรือทำงานล่วงเวลา ในกรณีที่ต้องการให้งานที่ได้รับมอบหมายเสร็จให้ทันต่อการใช้งาน
          นอกจากผลตอบแทนในรูปเงินเดือนแล้ว ในภาครัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนอาจได้รับผลตอบแทนในรูปอื่น เช่น ค่ารักษาพยาบาล เงินสะสม เงินช่วยเหลือสวัสดิการในรูปต่างๆ เงินโบนัส เป็นต้น 
สภาพการทำงาน
          ผู้ประกอบอาชีพเภสัชกรอาจต้องทำงานในห้องทดลอง เพื่อปฏิบัติงานด้านปรุงยา จ่ายยาและสิ่งที่เกี่ยวข้องตามใบสั่งหรือสูตร เตรียมหรือควบคุมการผลิตยา  (ยาน้ำ ยาขี้ผึ้ง ยาผง ยาเม็ดกลม ยาเม็ดแบน  แคปซูล  และยาฉีด)  ตามใบสั่งของแพทย์  หรือตามสูตรที่รับรองกันแล้ว ทำการทดสอบยา ต้องอยู่กับสารเคมีที่ต้องใช้ในการทดสอบ ซึ่งสารเคมีในห้องปฏิบัติการทดลองอาจจะทำปฏิกิริยาที่ทำให้เป็นอันตรายได้ ดังนั้น จึงต้องรู้จักวิธีใช้ และวิธีป้องกันรวมทั้งปฏิบัติงานตามขั้นตอนตามระเบียบที่กำหนดไว้ ต้องทำงานในบริเวณที่กำหนด และเป็นบริเวณห้ามสูบบุหรี่หรือรับประทานอาหารต้องใช้อุปกรณ์ป้องกัน  เช่น  ถุงมือ  หน้ากาก เป็นต้น 
          เภสัชกรอาจจะทำงานในห้องจ่ายยา  หรือร้านขายยาโดยทำหน้าที่ควบคุมการจัดยาให้ถูกต้องตามแพทย์สั่ง จัดระเบียบควบคุมรักษายาในคลัง และแนะนำคนไข้ในการใช้ยา

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
1.  สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาวิชาเภสัชศาสตร์
2.  มีสุขภาพกายและจิตใจดี  ไม่พิการ   ไม่ตาบอดสี  มีมนุษยสัมพันธ์ดี    มีความสามารถเป็นผู้นำได้เนื่องจากอาจจะทำงานควบคุมผู้อื่นโดยเฉพาะในงานการผลิต มีบุคลิกภาพดี
3.  รักในอาชีพนี้ มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมสูง
4.  ต้องมีความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์ เคมี ชีววิทยา และสามารถสอบได้คะแนนดีในวิชาเหล่านี้
5.  ชอบการค้นคว้าทดลอง การใช้ปัญญาในการวิเคราะห์
6.  มีความละเอียดรอบคอบ ช่างสังเกต
7.  ซื่อสัตย์ต่ออาชีพ
8.  ผู้ที่สนใจประกอบอาชีพนี้ต้องชอบการท่องจำ เพราะจำเป็นต้องจำชนิดของยา ส่วนประกอบของยา ชื่อและประโยชน์ของต้นไม้ที่มีฤทธิ์ทางยารวมทั้งชื่อยาและชื่อสารเคมีที่ใช้ในการรักษาโรค
ผู้ที่จะประกอบอาชีพนี้ควรเตรียมความพร้อมดังต่อไปนี้ 
          สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า สมัครสอบคัดเลือกเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษา ในคณะเภสัชกรรม สาขาวิชาเภสัชศาสตร์  (หลักสูตร 6 ปี) จากสถาบันอุดมศึกษาของภาครัฐหรือภาคเอกชน  เช่น  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   มหาวิทยาลัยขอนแก่น    มหาวิทยาลัยเชียงใหม่   มหาวิทยาลัยมหิดล  เป็นต้น
 โอกาสในการมีงานทำ         ปัจจุบัน ความต้องการยาสำหรับรักษาโรคทางการแพทย์แผนปัจจุบัน และแผนโบราณเพิ่มมากขึ้นตามอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรและชนิดของเชื้อโรคที่พัฒนาตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การพัฒนาคุณภาพของยา ตลอดจนการควบคุมขั้นตอนการผลิตยารักษาโรค ให้มีประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาต้องดำเนินการอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มียาที่สามารถใช้ในการรักษาบำบัดโรคต่างๆ ที่เพียงพอกับจำนวนประชากร เภสัชกรจึงยังเป็นที่ต้องการทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนเป็นอย่างมากแนวโน้มของโอกาสในการมีงานทำของอาชีพนี้ ยังคงมีอยู่ ดังนั้น ผู้สำเร็จการศึกษาทางด้านนี้สามารถหางานทำได้ง่าย และหากไม่เลือกงานก็จะไม่มีการตกงานเลยสำหรับเภสัชกร อาชีพเภสัชกรสามารถทำงานในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ เช่น โรงพยาบาล องค์การเภสัชกรรม ส่วนในหน่วยงานเอกชน ได้แก่ บริษัทผลิตยา บริษัทนำเข้ายา บริษัทผลิตเครื่องสำอางหรืออาจประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยการเปิดร้านขายยา 

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ
          ผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นข้าราชการในโรงพยาบาลทั่วไป ในองค์การเภสัชกรรม  จะได้รับตำแหน่งและเลื่อนขั้นยศตามขั้นตอนของระบบราชการ  การศึกษาต่อเพิ่มเติมจะช่วยให้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งได้รวดเร็วและสามารถเป็นถึงผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานได้ ส่วนในภาคเอกชนนั้นขึ้นอยู่กับโครงสร้างการบริหารงานขององค์กร ซึ่งสามารถเป็นผู้จัดการโรงงาน ผู้จัดการด้านคุณภาพหรือผู้จัดการ ฝ่ายขาย 
          เภสัชกรสามารถประกอบธุรกิจส่วนตัว คือ  เป็นเจ้าของร้านขายยาสำหรับผู้ที่สามารถผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่สามารถบำบัดรักษาอาการ เจ็บป่วยหรือบำรุงรักษาสุขภาพได้โดยผ่านการทดสอบและได้รับอนุญาตจากองค์การเภสัชกรรมสามารถจดลิขสิทธ์การเป็นเจ้าของสูตรในการปรุงยา  หรือผลิตภัณฑ์นั้น และผลิตเป็นสินค้าออกจำหน่ายในลักษณะอุตสาหกรรมได้เช่นกัน
อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง
          ตัวแทนจำหน่ายยา เจ้าของร้านขายยา ผู้ควบคุมห้องทดลองปฏิบัติการ   พนักงานตรวจสอบอาหารและยา
แหล่งข้อมูลอื่นๆ 
โรงพยาบาลของรัฐ
คณะเภสัชศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน
องค์การอาหารและยา 
การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย)
เนื้อหาดีดีจาก  กรมการจัดหางาน

ไม่มีความคิดเห็น: