โดย นางสาววิรัลพัชร เศรษฐศิรินนท์
ทุกคนคงเคยได้ยินวลีเด็ดสำหรับเด็กเตรียมสอบที่ว่า “สี่ผ่านห้าตก” โดย สี่ผ่าน ณ ที่นี้หมายถึง คนที่อ่านหนังสือเตรียมตัวสอบตลอดเวลาและนอนเพียง 4 ชั่วโมง จะทำให้สอบติด ส่วนห้าตก ณ ที่นี้หมายถึงคนที่อ่านหนังสือและนอน 5 ชั่วโมงจะสอบไม่ติด หากแต่การจะสอบติดจะต้องทำเช่นนี้จริงๆหรือ
สติกโกลด์ นักประสาทวิทยาชาวอังกฤษได้รายงานผลการทดลองว่า “ในการเรียนรู้ หรือเทคนิกใหม่ๆนั้นต้องได้นอนหลับในวันที่เรียนรู้ไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง ส่วนความทรงจำที่เข้าสู่สมองโดยไม่มีการพักผ่อนจะไม่ได้รับการบันทึกลงสมอง และจะหายไปในสามวัน” นั่นคือความทรงจำจะถูกจัดเรียงและบันทึกในระหว่างหลับ ดังนั้นการอ่านหนังสือโดยไม่หลับไม่นอน จะทำให้ความรู้เหล่านั้นไม่ได้เก็บรักษาเป็นความทรงจำระยะยาว ซึ่งเราสามารถพิสูจน์ได้จากการวิจัยของ ดร.โบน จากมหาวิทยาลัยลือเบ็ค โดยได้ให้ผู้ทดสอบจำนวน 66 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม แก้ปัญหาปริศนาทางคณิตศาสตร์ ที่จำเป็นต้องใช้ความคิดทางคณิตศาสตร์ กลุ่ม A ให้ดูคำถามในตอนเช้า และคิดหาคำตอบภายในเวลา 8 ชั่วโมง กลุ่ม Bให้ดูคำถามในตอนกลางคืน และให้คิดหาคำตอบใน 8 ชั่วโมงโดยไม่ต้องนอน ส่วนกลุ่ม C นั้นให้ดูคำถามในตอนกลางคืน จากนั้นให้นอน 8 ชั่วโมง ก่อนจะแก้ปัณหานั้นอีก 8 ชั่วโมง ผลปรากฏว่ากลุ่ม C สามารถแก้ไขปัญหาได้มากกว่ากลุ่ม A และกลุ่ม Bถึง 3เท่า จึงสามารถพิสูจน์ได้ว่า เมื่อหลับสมองของคนเราจะทำการจัดเรียงข้อมูลต่างๆ ซึ่งสมองจะพบกับความทรงจำที่เป็นความรู้ในอดีต และนี่อาจเป็นคำตอบที่นึกไม่ออกในตอนตื่น ดังนั้นไม่ว่าจะตั้งใจหรือทุ่มเทขนาดไหนผลที่ได้ก็จะตรงข้ามกับวลีเด็ด สี่ผ่านห้าตก นั่นเอง
สำหรับเด็กม.6 แล้วเรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในฝันนับว่าเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตอย่างยิ่ง นักเรียนทุกคนยอมทุ่มเท อ่านหนังสือดึกดื่นเพื่อที่จะสามารถเข้าคณะที่ตนหวัง แต่นั่นไม่ได้มีส่วนทำให้สอบติดแม้แต่น้อย เพราะการอ่านหนังสือนั้นอยู่ที่คุณภาพและปริมาณมากกว่าเวลา และสิ่งที่วัดความพยายามไม่ใช่วันนี้ได้อ่านหนังสือกี่ชั่วโมง แต่เป็นวันนี้สามารถทำแบบฝึกหัดได้กี่ข้อ หรือวันนี้อ่านหนังสือได้กี่หน้า ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่อ่านหนังสือจนดึก แต่ควรเป็นการสร้างความเคยชินต่างหาก
ความเคยชิน คือการที่ทำสิ่งใดใดโดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องใช้จิตสำนึก ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดความเครียดต่อตัวเรา ยกตัวอย่างดังเช่นการแปรงฟัน เราไม่ได้ใช้จิตสำนึกในการทำ แต่เกิดจากการเคยชินที่จะต้องตื่นมาแล้วแปรงฟัน เราจึงไม่ต้องมานั่งคิดตอนเช้าว่าวันนี้เราจะแปรงฟันแบบไหนดี โดยสมองของคนเราเป็นผู้สั่งการอัตโนมัติ ซึ่งสมองของเรานั้นสามารถแบ่งได้ 2 ส่วน ซึ่งก็คือความทรงจำระยะสั้น และความทรงจำระยะยาว ความทรงจำระยะยาวนั้นก็ประกอบด้วย Episodic Memory(ความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน) , Sematic Memory(ความทรงจำเกี่ยวกับความรู้ภาษา),Procedural Memory(ความทรงจำเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว) , Condition Memory(ความทรงจำแบบมีเงื่อนไข) ซึ่งความเคยชินนั้นอยู่ใน Procedural Memory โดยเป็นส่วนความทรงจำที่จะไม่มีวันลืมเหมือนการขี่จักรยาน
ดังนั้นหากต้องการอ่านหนังสืออย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประสิทธิผลอย่างสูงสุด จึงไม่ควรอ่านหนังสือจนดึกและนอนเพียงไม่กี่ชั่วโมง เพราะจะเป็นการทำลายสมองของเราทางหนึ่ง แต่ควรฝึกการอ่านหนังสือให้เป็นความเคยชินที่ดี จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่เราดังคำกล่าวของสตีเว่น อาร์ โควี่ ผู้เขียนหนังสือขายดีทั่วโลก ที่ว่า “เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความคิด เพื่อเก็บเกี่ยวการกระทำ เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งการกระทำ เพื่อเก็บเกี่ยวความเคยชิน เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเคยชินเพื่อเก็บเกี่ยวนิสัย เพาะเมล็ดพันธุ์แห่งนิสัยเพื่อสร้างชีวิต”
edit @ 23 Jan 2011 14:23:39 by 5322
edit @ 1 Feb 2011 16:11:22 by 5322
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น