วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

จิตแพทย์กับนักจิตวิทยาต่างกันตรงไหน



นักจิตวิทยาไม่ใช่แพทย์ ส่วนแพทย์ที่รักษาเฉพาะทางด้านจิตเวชนั้น คือ จิตแพทย์

จิตแพทย์เป็นสาขาเฉพาะทางอย่างหนึ่งของแพทยศาสตร์ หรือหมอตามที่เข้าใจกันทั่วไป คนที่จะเป็นจิตแพทย์ต้องจบคณะแพทย์ ซึ่งเรียนเกี่ยวกับโครงสร้างทางกายภาพของมนุษย์ เรื่องเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ หัวใจ ระบบทางเดินอาหาร ฯลฯ โดยหลังจากที่จบปริญญาตรีจากแพทย์แล้ว จึงค่อยมาต่อเฉพาะทางเกี่ยวกับจิตประสาท โดยจิตแพทย์จะศึกษาโครงสร้างของ สมอง และระบบประสาทนั่นเอง

โรคเกี่ยวกับระบบประสาทที่คนทั่วไปเรียกว่า โรคจิต นั้น ก็เป็นหน้าที่ของจิตแพทย์นี่เองที่เป็นผู้รักษา โรคจิตส่วนใหญ่มักจะเกิดจากความผิดปกติของสมอง เช่น ความผิดปกติของสารเคมี ซึ่งเป็นความผิดปกติทางกายภาพ หน้าที่ของจิตแพทย์จึงเป็นการบำบัดทางยา ให้สมองและระบบประสาทคืนสู่ภาวะปกติ

ส่วนนักจิตวิทยานั้น จบจากคณะจิตวิทยาหรือคณะชื่ออื่นๆที่เป็นสาขาจิตวิทยา ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมและความคิดของมนุษย์ เช่น การกิน การสื่อสาร การนอน ความรัก อารมณ์ ฯลฯ เกิดขึ้นจากอะไร มีอะไรบ้างที่ส่งผลต่อพฤติกรรมเหล่านี้ ที่สำคัญคือจิตวิทยาศึกษาเกี่ยวกับ พฤติกรรม ไม่ได้เจาะจงไปถึงกลไกทางกายภาพเช่นเดียวกับแพทย์

จิตวิทยามีหลายสาขา และไม่ได้ทำงานในโรงพยาบาลทั้งหมด บางสาขาอยู่กับองค์กรต่าง ๆ ในแผนกทรัพยากรบุคคล (Human Resource นิยมเรียกกันว่า HR) บางสาขาเป็นนักวิจัยร่วมกับนักวิจัยการตลาด บางสาขาอยู่ในโรงเรียน ส่วนสาขาที่ทำงานร่วมกับแพทย์ ได้แก่ จิตวิทยาคลินิก และจิตวิทยาการปรึกษา ซึ่งทำหน้าที่ต่างกับจิตแพทย์โดยนักจิตวิทยามีวิธีการบำบัดที่ไม่เกี่ยวข้อง กับ ยา เช่น การปรึกษา และการปรับพฤติกรรม

อย่างไรก็ตามแม้จะต่างกัน แต่ก็มีจุดร่วมอยู่บ้าง เช่น จิตแพทย์ต้องมีความรู้จิตวิทยาในบางส่วนเช่นกัน และนักจิตวิทยาบางสาขาก็เรียนเกี่ยวกับโครงสร้างของสรีระมนุษย์

นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องเกี่ยวกับนักจิตวิทยา และจิตแพทย์ ที่คนมักจะเข้าใจผิดว่า รักษาเฉพาะ “คนบ้า” ซึ่งความเป็นจริงแล้ว อาการที่ผิดปกติเกี่ยวกับทั้งพฤติกรรม และระบบประสาท มิได้มีแค่อาการในลักษณะของ จิตเภท หรือ “บ้า” เพียงอย่างเดียว คนปกติในบางครั้งก็ต้องพึ่งการบำบัดจากนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์เช่นกัน

ดังนั้น นักจิตวิทยาต่างจากจิตแพทย์ตรงที่ นักจิตวิทยานั้นเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรม ความนึกคิดของมนุษย์ โดยที่ไม่ได้เจาะลึกทางด้านพยาธิสภาพทางสมองมากเท่ากับจิตแพทย์ (ที่เรียนจบแพทยศาสตร์ แล้วเรียนต่อเฉพาะทางด้านจิตเวช) แม้ว่าจะมีบางสาขาวิชาทางจิตวิทยาที่เรียนเน้นเรื่องการทำงานของสมองที่มีผลต่อพฤติกรรม เช่น สาขา neuropsychology, biological psychology เป็นต้น 
สาขาจิตวิทยานั้นมีมากมายหลายสาขา แต่ในประเทศไทย สาขาที่ทำงานเกี่ยวกับคนไข้จิตเวชโดยตรง คือ สาขาจิตวิทยาคลินิก ซึ่งปัจจุบันเป็นสาขาจิตวิทยาสาขาเดียวในประเทศไทยที่มีการสอบเพื่อเอาใบประกอบโรคศิลป์ และผู้ที่ได้รับใบประกอบโรคศิลป์นี้ จะถูกเรียกว่า นักจิตวิทยาคลินิก 

พระราชกฤษฎีกา ปี 2546 ได้กำหนดความหมายของ จิตวิทยาคลินิก ดังนี้ “การกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจ การวินิจฉัย การบำบัดความผิดปกติทางจิต อันเนื่องจากภาวะทางจิตใจ บุคลิกภาพ ระดับเชาวน์ปัญญา อารมณ์ พฤติกรรม การปรับตัว ความเครียดหรือพยาธิสภาพทางสมอง รวมทั้งการวิจัย การส่งเสริมและประเมินภาวะสุขภาพทางจิตด้วยวิธีการเฉพาะทางจิตวิทยาคลินิก หรือการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทดสอบทางจิตวิทยาคลินิก ที่รัฐมนตรีประกาศให้เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางจิตวิทยาคลินิก“

นักจิตวิทยาคลินิกทำหน้าที่ต่างจากจิตแพทย์ตรงที่ จิตแพทย์สามารถจ่ายยาให้คนไข้จิตเวชได้ ซึ่งนักจิตวิทยาคลินิกในเมืองไทยทำไม่ได้ (เพราะไม่ใช่หมอ) จิตแพทย์จะรักษาคนไข้โดยเน้นเรื่องของพยาธิสภาพของสมองเป็นสำคัญ ส่วนนักจิตวิทยาคลินิกจะช่วยเหลือคนไข้โดยการพูดคุยเรียกว่าการทำจิตบำบัด แต่จิตแพทย์บางท่านก็เน้นการบำบัดคนไข้โดยการพูดคุยด้วยเช่นกัน หน้าที่ของนักจิตวิทยาคลินิกที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งในประเทศไทย คือ การทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา (ซึ่งจิตแพทย์ทำไม่ได้) จะทำหน้าที่คล้ายๆ เป็นห้อง lab ส่งผลตรวจทางจิตวิทยาให้จิตแพทย์เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรคอีกทีหนึ่ง โดยผลจากแบบทดสอบทางจิตวิทยาจะสามารถช่วยบ่งชี้ได้ว่าคนไข้ป่วยอย่างไร มีแนวโน้มเป็นโรคอะไร (ควบคู่ไปกับการสัมภาษณ์ สอบถามอาการคนไข้) โดยรวมแล้วนักจิตวิทยาคลินิกและจิตแพทย์ต้องทำงานประสานกันในการช่วยเหลือคนไข้

สำหรับที่เนเธอร์แลนด์นั้น กว่าจะได้ชื่อว่าเป็นนักจิตวิทยาคลินิก ต้องเรียนต่อเพิ่มเติมหลังจากจบปริญญาโทด้านจิตวิทยาคลินิกอีกห้าถึงหกปี (ซึ่งมีการแข่งขันสูงเพราะจำกัดจำนวนคนเรียนต่อปี) โดยที่สองปีแรกนั้นเรียนเพื่อให้จบเป็น GZ-psycholoog หรือ Gezonheidszorgpsycholoog ในภาษาดัชต์ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยแล้วก็จะประมาณ ‘นักจิตวิทยาดูแลสุขภาพ’ หลังจากได้เป็น GZ-psycholoog แล้วก็เรียนต่ออีกสามถึงสี่ปีเพื่อเป็น ‘นักจิตวิทยาคลินิก’ นักศึกษาที่จบปริญญาโททางด้านจิตวิทยาคลินิกที่เนเธอร์แลนด์จะไม่ได้ชื่อว่าเป็นนักจิตวิทยาคลินิกโดยอัตโนมัติ แต่เป็นเพียงแค่นักจิตวิทยาเฉยๆ ซึ่งนักจิตวิทยาที่นี่จะต้องมีการลงทะเบียนเพื่อเป็นนักจิตวิทยาอย่างถูกต้อง

ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.psychola.com/wordpress/allblog/study/are-psychologist-is-docto/ 
 

ไม่มีความคิดเห็น: