สวัสดีค่ะน้องๆ.. ใกล้เปิดเทอมเข้ามาทุกทีแล้ว เตรียมตัวสำหรับเปิดเทอมกันบ้างรึยังเนี่ยหรือยังอยากให้เลื่อนเปิดเทอมอีก ฮ่าๆ วันนี้พี่มิ้นท์มีเคล็ดลับดีๆ มาฝากน้องๆ ที่ชอบจัดตารางอ่านหนังสือ แต่ทำไม่ได้อย่างที่ลิสในตารางซักที ที่เป็นแบบนี้ อาจเป็นเพราะไม่เหมาะกับตัวเองก็ได้นะ :) แล้วจะจัดแบบไหนล่ะ ให้เหมาะกับตัวเอง ลองมาดูเทคนิคเหล่านี้ดู ใช้ได้กับทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับชั้นเลยจ้า
1.สำรวจรูปแบบความชอบ ในทีนี้หมายถึงรูปแบบของตารางอ่านหนังสือที่จะทำ บางคนเจอตารางสี่เหลี่ยมเหมือนปฏิทินเข้าไปก็ไม่อยากอ่านแล้ว เพราะน่าเบื่อ อาจจะแหวกแนว ทำเป็นวงกลม หรือทำเป็นแนวตั้งก็ได้ แต่สำหรับบางคน ทำเป็นตารางแบบเดิม ถือว่าคลาสสิค ดูเข้าใจง่ายสุด ย้อนไปตอนที่พี่มิ้นท์ยังเรียนอยู่ รูมเมทพี่มิ้นท์เป็นรุ่นน้องคณะสัตวแพทย์ค่ะ ตารางอ่านหนังสือของเค้าแปลกมาก เป็นตารางที่ไม่มีเส้นซักเส้นเดียว และยังเป็นภาษาอังกฤษอีก ดูตั้งนานกว่าจะเข้าใจ(ถามว่าแล้วไปดูทำไม - -!!) เห็นมั้ยว่าแต่ละคนมีไอเดียที่แตกต่างกัน แต่ปลายทาง คือ ทำออกมาแล้วต้องกระตุ้นให้ตัวเองอ่านหนังสือให้ได้แค่นั้นเอง
ดังนั้นเคล็ดลับในข้อนี้ ก็คือ ดูว่าตัวเองรู้สึกดีกับตารางแบบไหน พวกนี้เป็นเรื่องจิตวิทยาล้วนๆ ถ้าทำออกมาถูกใจเรา เห็นแล้วก็อยากอ่านทั้งนั้นแหละ เมื่อได้แนวทางของตัวเองแล้ว ก็ลงมือทำตารางกันเลย
2.สำรวจวันสอบ เมื่อมีตารางเป็นของตัวเองแล้ว ก็ติดตามข่าวจากเพื่อน จากคุณครู หรือเว็บไซต์ ว่าเราจะมีสอบวิชาอะไรวันไหนบ้าง ทำสัญลักษณ์ลงในปฏิทินตัวโตๆ ไปเลยว่า วันนี้มีสอบนะ!! เพื่อเตือนตัวเอง และไม่ให้กระทบกับเวลาอ่านหนังสือในวันอื่น
3.สำรวจเวลาอ่านหนังสือ ว่าใน 1 สัปดาห์มีเวลาในการอ่านหนังสือเท่าไหร่ โดยต้องเลือกช่วงเวลาที่ได้อ่านหนังสือจริงๆ คือ ไม่ติดดูละคร ไม่ติดคุยโทรศัพท์กับเพื่อน หลังจากนั้นอาจจะจดไว้ก่อนก็ได้ เช่น วันจันทร์ - ศุกร์ เวลาที่ว่างและอยากอ่านหนังสือจริงๆ คือช่วง 6 โมงเย็น - 2 ทุ่ม รวม 5 วัน เป็น 10 ชั่วโมง เสาร์-อาทิตย์ อีก วันละ 6 ชั่วโมง เท่ากับว่าอาทิตย์นึงมีเวลาที่สามารถอ่านหนังสือได้แน่ๆ 22 ชั่วโมง
นอกจากนี้ดูวันหยุดด้วย เพราะวันหยุดจะทำให้เรามีเวลาว่างอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ดูวันหยุดด้วย เพราะวันหยุดจะทำให้เรามีเวลาว่างอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น
4.สำรวจวิชา มีวิชาไหนที่เราต้องอ่านหนังสือบ้าง และต้องดูคุณสมบัติของวิชานั้นๆ เทียบกับคุณสมบัติของตัวเอง ว่าวิชานี้ใช้เวลาในการอ่านเท่าไหร่ เราอ่อนวิชาไหน หรือวิชาไหนสอบก่อน สิ่งเหล่านี้จำเป็นมากๆ เพราะ วิธีจัดแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนใช้วิธี สอบก่อนอ่านก่อน ยากกว่าอ่านก่อน หรืออ่านไปพร้อมๆ กัน เป็นต้น ดังนั้นเมื่อรู้ตัวแปรพวกนี้แล้ว ก็จัดการออกแบบตารางตัวเองได้เลย โดยจับยัดในช่วงเวลาที่สำรวจไปในข้อแรกแล้ว
5.สำรวจหนังสือ คือ ดูว่า แต่ละวิชาต้องอ่านเล่มไหนบ้าง เก็บให้หมด ทั้งหนังสือ สมุดจด หรือชีทที่อาจารย์แจก เพื่อความสะดวกก็แยกเป็นกองๆ แต่ละวิชา ถึงเวลาอ่านหนังสือก็หยิบออกมาเป็นตั้งๆ อ่านเสร็จก็เก็บเข้าที่เดิม ช่วยประหยัดเวลาได้เยอะทีเดียว
ทำทุกขั้นตอนเสร็จเรียบร้อยแล้ว น้องๆ ก็จะได้ตารางอ่านหนังสือฉบับตัวใครตัวมัน ที่คนอื่นใช้ไม่ได้ผล และเราก็ใช้ของคนอื่นไม่ได้ผลเหมือนกัน อิอิ ลองนำไปใช้ดูนะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น