เมื่อเอ่ยถึงชื่อ "ครูลิลลี่" (กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์) เชื่อว่าหลายคนคงร้องอ๋อ เพราะเขาคือครูภาษาไทยที่สอนสนุก และมียุทธวิธีในการสอนแพรวพราวจนกลายเป็นครูภาษาไทยที่สอนโดนใจวัยรุ่นมากที่สุดคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะการสอนของคุณครูท่านนี้ไม่เหมือนการสอนทั่ว ๆ ไป แต่จะเป็นทอล์กโชว์วิชาการที่เน้นสนุก และได้ความรู้ไปพร้อม ๆ กัน กว่า 20 ปีในสายวิชาชีพครู หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่า ชีวิตของครูลิลลี่ต้องผ่านอะไรมาบ้าง และบรรทัดต่อไปนี้คือเรื่องราวชีวิตที่ทีมงาน Life & Family ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณครูท่านนี้ถึงตัวตน และเบื้องหลังคนสำคัญอย่าง "ครอบครัว" ผู้ที่ปลุกปั้นเลี้ยงดูด้วยความรัก และความเข้าใจจนกลายมาเป็น "ครูลิลลี่" ในวันนี้ กะเทาะชีวิต "ครูลิลลี่" กล่าวสำหรับ "ครูลิลลี่" เดิมชื่อพิษณุ โรจนทรัพย์ มีชื่อเล่นว่า หนึ่ง แต่มาถูกเพื่อนสมัยเรียนม.4 ที่เตรียมอุดมศึกษาเปลี่ยนชื่อให้เป็น "ลิลลี่" เพราะเห็นว่าเป็นสาวร่างใหญ่จึงแกล้งตั้งชื่อให้ดูขัดแย้งกับดอกลิลลี่ที่ดูอ่อนหวาน น่ารัก และน่าทะนุถนอม ผนวกกับตอนนั้นละครเรื่องพลับพลึงสีชมพูกำลังดังมาก (เบิร์ด-ธงไชย เล่นคู่กับตุ๋ย-มนฤดี ซึ่งรับบทเป็นลิลลี่" จากหนึ่ง หรือ ณุที่เพื่อน ๆ เรียกจึงกลายเป็น "ลิลลี่" นับแต่นั้นมา ครูลิลลี่เติบโตในครอบครัวที่เลี้ยงแบบให้อิสระมาก ๆ โดยเฉพาะการคิด พ่อกับแม่ไม่เคยกดดัน หรือบังคับลูก ๆ เลย ซึ่งท่านจะสอนให้ลูก ๆ ทุกคนเติบโตด้วยตัวเอง คิดเอง ตัดสินใจเอง และจะคอยเป็นพี่เลี้ยงประคองอยู่ข้าง ๆ คอยตกแต่งให้ลูก ๆ อยู่ในกรอบ ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง ด้วยความเป็นเด็กชายที่ชอบแอบเอาผ้าถุงย่ามานุ่ง ร้องรำลิเก ชอบเล่นขายขนมครก แอบเอาเครื่องสำเองแม่มาแต่งหน้า ชอบพูดแปร๋น ๆ สูง ๆ กว่าเด็กทั่วไป แต่พ่อกับแม่ก็ไม่เคยต่อว่าให้เจ็บช้ำน้ำใจทั้งที่สมัยหนุ่ม ๆ พ่อเกลียดพวกผิดเพศมาก ส่วนแม่ก็ไม่เคยดุสักคำ จะมีก็แต่พยายามเก็บของสวย ๆ งาม ๆ พวกเสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง ชุดทำขนมครกไปซ่อนให้ไกลมือครู แต่สุดท้าย เขากลับถูกทำร้ายจากคนรอบข้างแทน ทั้งญาติ ครู และเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน โดยเฉพาะการถูกกระแนะกระแหนดูแคลนจากญาติคนหนึ่งว่า "เป็นอย่างนี้ เสียชาติเกิด ไม่ใช่ลูกผู้ชาย" หรือเพื่อน ๆ บางคนที่มีพฤติกรรม และการใช้คำพูดดูถูก ไม่ให้เกียรติ ซึ่งนับเป็นประสบการณ์อันเลวร้ายที่สุดที่จำฝังใจมาจนวันนี้ จากชีวิตที่เคยถูกปรามาสมาตลอดว่า "เสียชาติเกิด" คำคำนี้แสลงใจ แต่ก็เป็นแรงผลักดันให้ชีวิตครูลิลลี่ประสบความสำเร็จแทบทุกด้าน ยกตัวอย่างตอนสมัยเรียน เขาพยายามตั้งใจเรียนให้ได้ที่ 1 จนสามารถสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเอ็นทรานซ์ติดคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สำเร็จ พอได้ทำงานก็ส่งเงินให้พ่อแม่เดือนละ 1 หมื่นเพื่อให้ญาติพี่น้อง หรือแม้แต่คนข้างบ้านเห็นว่า ถึงจะเป็นอย่างนี้ แต่ก็มีงานดี ๆ ทำ มีเงินเดือนสูง ๆ และไม่ลืมที่จะเลี้ยงดูพ่อแม่ด้วย ปัจจุบันคุณแม่ของครูลิลลี่เสียชีวิตไปแล้วด้วยโรคมะเร็ง แต่ทุกอย่างที่แม่เป็น แม่สอน และแม่ทำให้ดู หล่อหลอมให้เขาเป็นครูลิลลี่ในวันนี้ "ครูมีวันนี้ได้ก็เพราะว่าพ่อแม่ของครูปั้นครูมา กับการที่เราเป็นแบบนี้ ท่านไม่เคยดุด่าว่ากล่าวในสิ่งที่เราเป็น แต่ก็ไม่ได้ส่งเสริมนะ เพียงแต่เขารู้ แต่เขาไม่พูด เรานี่แหละที่จะต้องสู้กับขี้ปากชาวบ้านที่ดูถูกเรา ด้วยการตั้งใจเรียน และเอาชนะใจพวกเขาด้วยความดี และต้องทำให้เห็นว่า ลูกบ้านนี้ก็มีของเหมือนกัน (หัวเราะ) จนวันหนึ่งเราทำให้ญาติ ๆ รวมไปถึงเพื่อนบ้านได้เห็นแล้วว่า ถึงเราจะเป็นแบบนี้ แต่เราก็มีงาน มีเงินส่งมาให้พ่อแม่ตลอด" ครูลิลลี่เผยภายหลังจบงานเปิดตัวหนังสือ "เลือกได้..ไม่เสียชาติเกิด" เมื่อเร็ว ๆ นี้ กว่าจะมาเป็น "ครู" กว่าจะมาเป็นครูในวันนี้ หลายคนอาจไม่เคยทราบว่า ครูลิลลี่เคยเป็นหนุ่มออฟฟิศมาก่อน ซึ่งตอนนั้น ทำหน้าที่ประสานงานภายในองค์กรที่โรงงานทำเม็ดพลาสติกแห่งหนึ่งในจ.ระยอง แต่ก็ทำได้ไม่นาน เพราะถูกหัวหน้างานจับได้ว่าไม่ใช่ผู้ชาย และเริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้านจนเริ่มรับแรงกดดันไม่ไหว ประจวบเหมาะกันพอดีกับตอนนั้นมีรุ่นพี่ที่จุฬาฯ มาขอให้ช่วยสอนวิชาสื่อสารให้นักเรียนปวช. ปวส. ซึ่งการเป็นตัวแทนในครั้งนั้นทำให้ค้นพบว่า "การสอนหนังสือ" คือทางที่ใช่สำหรับตัวเอง สุดท้ายจึงตัดสินใจยื่นใบลาออก และทิ้งชุดหมีมาจับชอล์กแทน ครูลิลลี่เริ่มต้นอาชีพนี้อย่างจริงจังด้วยการไปสมัครเป็นอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และสอนพิเศษวิชาภาษาไทยเป็นรายได้เสริมไปด้วย แต่ก็ทำอยู่ได้สักพัก เนื่องจากค้นพบตัวเองอีกครั้งว่า การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นตัวเองเลย เพราะต้องใส่เชิ้ต ผูกเน็คไท สุดท้ายก็เลยผันตัวเองมาเป็นครูสอนพิเศษที่สถาบันพินนาเคิล สยามสแควร์ซอย 5 จนกระทั่งวันนี้ แม้จะพบทางที่ใช่ และมีความสุขที่ได้ทำ ครูลิลลี่กลับถูกแรงต้านจากสังคมบางกลุ่มด้วยการตั้งคำถามว่า "เป็นกะเทยแล้วมาสอนหนังสือ จะเหมาะหรือ" แต่ด้วยความเป็นคนไม่ท้อ บวกกับได้นิสัยใจนักเลงกล้าได้กล้าเสียมาจากพ่อที่มักจะบอกว่า "เวลาทำอะไรต้องลุย ทำอย่างจริงจัง คือใจเราต้องลุยเต็มร้อย ถ้าไม่เอาก็คือไม่เอา ถ้าสู้ก็ต้องสู้" ฉะนั้นในเมื่อเลือกที่จะเป็นครูแล้ว ก็ต้องทำให้เต็มที่เหมือนกัน นี่คือสิ่งที่ครูลิลลี่บอกกับตัวเองในตอนนั้น | ||||
แต่อีกสิ่งที่ทำให้ครูลิลลี่มั่นใจว่าเดินมาถูกทางแล้ว นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระกรุณาธิคุณให้โอกาสเป็นอาจารย์พิเศษมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม โรงเรียนวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้เธอไม่ท้อถอยกับคำครหาใด ๆ และยึดมั่นในอาชีพครูมาถึงวันนี้
ด้วยความทุ่มเทในวิชาชีพครู บวกกับมีเทคนิิคการสอนที่สนุกโดนใจเด็ก ๆ ทำให้ครูลิลลี่ได้รับเชิญให้ไปออกรายการตีสิบ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นในการแจ้งเกิดจนสื่ออื่น ๆ ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยชื่อเสียง และบทบาททางสังคมที่เข้ามา ทำให้ครูลิลลี่ค่อนข้างมีอีโก้สูง เพราะมีทั้งงาน ทั้งเงิน และชื่อเสียง เป็นเหตุให้ตอนนั้นหมดเงินไปหลายล้านบาทกับการกิน เที่ยว ชอปปิ้ง กว่าจะคิดได้ว่า คนเราเมื่อตายไปแล้ว ต่อให้มีเงินเป็นร้อยล้านพันล้าน มีที่ดินเป็นร้อยไร่ หรือมีสมบัติมากมาย สุดท้ายก็เอาอะไรติดตัวไปไม่ได้ นอกจากคุณงามความดีที่สั่งสมไว้เท่านั้น "ถึงแม้จะรวย สุข สมหวังแค่ไหนก็หนีไม่พ้นความทุกข์ และยังไม่สามารถลบล้างปมที่มีอยู่ในใจไปได้ ธรรมะเท่านั้นที่คลี่ทุกปม คลายทุกปัญหาในชีวิตจริงได้" นี่คือสิ่งที่ทำให้ครูลิลลี่เปลี่ยนแปลงตัวเองไปจากเดิม จากผู้รับกลายเป็นผู้ให้ "ครูเป็นคนหนึ่งที่เคยอยู่ในสถานะชาวพุทธในทะเบียนบ้านมาเกือบครึ่งค่อนชีวิต ที่เข้าใจว่าแค่ทำบุญตักบาตร ทำสังฆทาน ห้อยพระเครื่องก็เพียงพอ และคิดว่าเส้นทางที่เดินคือวิถีพุทธที่ถูกควรแล้ว จนกระทั่ววันหนึ่งธรรมะก็จัดสรรให้ครูได้รู้ว่า พุทธศาสนายังมีอะไรให้เราได้เรียนรู้อีกมากมาย นั่นคือจุดเริ่มต้นการเรียนรู้แก่นพุทธศาสนาของครูค่ะ ซึ่งครูพบว่า การเรียนพุทธศาสนาทำให้สัมผัสถึงคำว่า สภาวะแห่งปัญญา ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา และความสุขอย่างแท้จริงได้ ซึ่งครูคิดว่ามหัศจรรย์และล้ำค่าที่สุดแล้ว" ปัจจุบัน ครูลิลลี่หันมาสนใจธรรมะอย่างจริงจัง ถึงขนาดลงทุนเปิดบ้านสอนปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง โดยใช้ชื่อว่า "บ้านพุฒมณฑา" (เป็นชื่อที่มาจากชื่อของพ่อกับแม่ พุฒ+มณฑา) ตั้งอยู่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งจะสอนธรรมะด้วยเทคนิควิธีง่าย ๆ สไตล์ครูลิลลี่ และสอนธรรมะให้ตรงใจวัยรุ่น นอกจากนั้นยังเป็นบ้านที่เปิดให้ทุกองค์กรมาใช้สถานที่ปฏิบัติธรรม อบรม สัมมนา และทำกิจกรรมสร้างสรรค์ด้วย "เด็กสมัยนี้จำเป็นเรียนรู้คุณธรรมจริยธรรม และความดีงามมากขึ้นกว่าสมัยก่อน เพราะเท่าที่พบจากการสอน เด็กวันนี้ไม่ค่อยเชื่อฟังครู ขนาดพ่อแม่ยังเอาไม่อยู่ ฉะนั้น เราต้องทำอย่างไรให้เด็กมีวัคซีน ซึ่งครูคือพ่อแม่คนที่สองที่ต้องช่วยกันปลูกฝังความดีงามในจิตใจให้แก่เด็ก ไม่ใช่ธรรมะไปศึกษาเอาตอนแก่ แต่เราต้องสอดแทรกธรรมะให้คนตั้งแต่เด็ก ๆ เพื่อให้เขาได้รู้ว่า ดีชั่วคืออะไร" "ครูไม่อยากให้เด็กเก่งแค่สมอง ไม่อยากเห็นเขาแค่สอบผ่าน หรือได้เกรด 4 ครูอยากเห็นพวกเขามีจิตใจที่สูงส่งด้วย เพราะครูห่วงสังคมที่น่ากลัวขึ้นทุกที คนเรียนจบหมอ ทำไมถึงฆ่าคน ฆ่าภรรยาตัวเองได้ลงคอ กรณีเช่นนี้กำลังจะบอกเราว่า ความเก่งทางสมอง ทางปัญญา มันไม่ได้ช่วยคนให้มีความสุข ความเจริญแต่คนเราต้องมีคุณงามความดีในหัวใจด้วย สังคมก็จะน่าอยู่มากขึ้น" ครูลิลลี่แสดงความห่วงใย ชีวิตเลือกได้..ไม่เสียชาติเกิด ถึงวันนี้ ครูลิลลี่พิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นแล้วว่า เขาไม่ได้เสียชาติเกิดอย่างที่ใครหลายคนได้เคยปรามาสไว้ แต่คำคำนี้ กลับเป็นแรงผลักดันให้เขาฮึดสู้ และพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นคนที่มีคุณค่าด้วยการทำตนให้เป็นประโยชน์ด้านการสอนหนังสือ และปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาจิตใจตัวเองให้สูงขึ้น "สำหรับใครเกิดมาเป็นเพศที่สาม หรือใครก็ตามที่รู้สึกแย่กับความพิการ ความไม่สวยไม่หล่อ เราอย่าไปจมกับอดีต พลิกปมด้อยให้เป็นปมเด่น เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เพื่อสร้างบางอย่างไ้ว้เป็นเกาะคุ้มกันเรา อย่างตัวครูเอง ครูก็ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยการตั้งใจเรียนให้เก่ง รักพ่อแม่ และทำความดีให้มาก ๆ ถึงแม้จะทำแล้วไม่มีใครเห็น แต่ลึก ๆ แล้วครูเชื่อว่า เราจะภูมิใจและรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เพราะชีวิตเราเลือกได้ ไม่เสียชาติเกิดค่ะ ครูไม่อยากให้คำ ๆ นี้มาทำร้ายชีวิตใครอีกแล้วค่ะ" ครูลิลลี่ทิ้งท้าย ///////////////////// หยิบยกเนื้อหาบางส่วนบางตอนมาจากหนังสือ "เลือกได้..ไม่เสียชาติเกิด" หนังสือคุณภาพในเครืออมรินทร์ (ชุดธรรมะเปลี่ยนชีวิต) ซึ่งเป็นผลงานชิ้นล่าสุดของครูลิลลี่ (กิจมาโนชญ์ โรจนทรัพย์) ที่เผยให้เห็นถึงอีกภาคหนึ่งของครูท่านนี้ที่ไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน
เรียบเรียง Manager.co.th
|
วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2555
ชีวิตเลือกได้..ไม่เสียชาติเกิดของ "ครูลิลลี่"
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น