วันพฤหัสบดีที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2555

แนะนำ รังสีเทคนิค เรียนอะไร จบไปทำงานอะไร


ตอนนี้กำลังเรียนคณะอะไร สาขาอะไรอยู่?
 คณะสหเวชศาสตร์ สาขารังสีเทคนิค ปี 4 มหาวิทยาลัยนเรศวรโดยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และที่มหาวิทยาลัยมหิดล จะใช้ชื่อว่า คณะเทคนิคการแพทย์ สาขารังสีเทคนิค ซึ่งก็คือคณะเดียวกันนั้นแหล่ะ
 สาขาที่เรียน เรียนยังไง เรียนอะไรบ้าง?
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนว่า รังสีเทคนิคจะแบ่งออกเป็น 3 ด้านด้วยกัน ก็คือ
- ด้านรังสีวินิจฉัย
- ด้านรังสีรักษา
- ด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์
ซึ่งเวลาที่เรียนแล้วก็จะเรียนหมดทุกด้าน โดยที่ มน.นั้น จะเน้นทางด้านรังสีวินิจฉัยเป็นหลัก สำหรับการเรียนนั้น
ในปี 1 จะเรียนวิชาพื้นฐานทั่วๆไป จาก ม.ปลาย พวกฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ ภาษาไทย อังกฤษ และก็วิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัยคล้ายๆกับมหาวิทยาลัยอื่นๆนั้นแหล่ะ โดยจะเรียนรวมๆกันหลายคณะ ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาของการหาเพื่อน หาแฟน(เกี่ยวกันไหมนี่) เพราะหลังจากนี้คุณแทบจะไม่ได้เจอคณะอื่นๆอีกเลย
ปี 2 จะเรียนทางด้านสายวิทยาศาสตร์สุขภาพมากขึ้น วิชาพื้นฐานของมหาวิทยาลัยก็ยังมีอยู่บาง 2-3 ตัว แต่จะได้เรียนทางสายวิทย์สุขภาพซะเป็นส่วนใหญ่ เรียนรวมกับแพทย์ เภสัช ทันตะ พยาบาล ประมาณนี้ เป็นพวกวิชา Physiology, Pathology, Anatomy บลา บลาๆๆ ประมาณนี้แหล่ะ โดยที่ มน.จะเรียนต่างกัยที่ มช. และ มหิดล ในวิชา Anatomy จะต้องเรียนเป็น Anatomy 1,2 โดยเรียนในเทอมเดียว ซึ่งก็คือเราจะต้องเรียนกับอาจารย์ใหญ่ และมีการผ่าร่างของอาจารย์ใหญ่เช่นเดียวกัยนิสิตแพทย์และทันตะ นอกจากวิชาทางสายวิทย์สุขภาพแล้ว ในปี 2 ก็จะเริ่มเรียนวิชาพื้นฐานทางด้านรังสีบ้างแล้ว เช่น ฟิสิกส์รังสีการแพทย์ จะเหมือนการเอาวิชาฟิสิกส์ ชีวะ เคมี มายำรวมกันประมาณนั้นแหล่ะ
ปี 3 ชีวิตที่แสนสุขจะหายไป เพราะว่าเราจะได้เรียนแต่ที่ภาควิชาเท่านั้นจริงๆ แทบไม่ได้ไปเรียนคณะอื่นเลย ยกเว้นจะขยันลงวิชาเลือกเท่านั้น (ความจริง เมก็ลงวิชาเลือกปี 3 เพราะอยากออกไปนอกคณะบ้างเนี่ยแหล่ะ) โดยในเทอมแรกนั้น จะเรียนทางด้านรังสีวินิจฉัยทั่วไป เช่น การถ่ายเอกซเรย์ การดูแลผู้ป่วยในงานรังสีวิทยา การป้องกันอันตรายจากรังสี ฯลฯ จากนั้นเทอม 2 เราก็จะได้ไปฝึกงานทางด้านรังสีวินิจฉัยทั่วไป ตามโรงพยาบาลต่างๆเป็นเวลา 2 เดือน จากนั้น ก็จะมาเรียนพื้นฐานทางด้านรังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เพราะฉะนั้นลืมเรื่องปิดเทอมไปได้เลย เพราะว่าหลังจากนี้เราจะเรียนๆ และก็ทำแลบ อย่างมาราธอนกันเลย เหอๆ
ปี 4 จากที่บอกไว้ว่าที่ มน.นั้น จะเน้นการเรียนทางด้านรังสีวินิจฉัย ดังนั้นวิชาในปี 4 ก็จะเป็นการเรียนที่เฉพาะทางมากขึ้น โดยจะเรียนเกี่ยวกับอัลตราซาวด์ CT MRI เรียกกันว่าเครื่องมือ การตรวจ ที่ต้องพบเจอในแผนกรังสีวิทยาของโรงพยาบาลนั้น จะต้องรู้กันให้หมดเลยทีเดียว นอกการเรียนแล้วก็ยังจะมีการดูเคสที่โรงพยาบาล และยังต้องทำโปรเจคต์กันอีกด้วย ถือว่าเป็นช่วงที่ค่อนข้างหนักอยู่เหมือนกัน สำหรับเทอม 2 นั้น เราก็จะได้ไปฝึกงานในด้านรังสีวินิจฉัยพิเศษ ซึ่งก็คือพวกที่เรียนมาในตอนเทอมแรกนั้นแหล่ะ ซึ่งตอนนี้เม ก็กำลังจะไปฝึกงานตอนกลางเดือน ต.ค. นี้ อยู่เหมือนกัน เดี๋ยวคงได้เล่าให้ฟังกันอีกที
อันนี้เป็นแค่รายละเอียดคร่าวๆล่ะกัน ส่วนใครที่สนใจอยากดูหลักสูตรการเรียนการสอนเต็มๆ คลิก
 สาขาที่เรียนเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง?
หลักๆเลยจบไปก็ทำงานแผนกรังสีวิทยาของโรงพยาบาล เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวน์ ฉายรังสีผู้ป่วยโรคมะเร็ง CT MRI บลา บลาๆๆๆๆ บางส่วนก็ไปทำงานเป็นเซลล์ขายพวกอุปกรณ์การแพทย์ หรือดีเทลยาก็มี (อันนี้ดูจากรุ่นพี่ที่จบๆไปนะ) ส่วนใครที่อยากเรียนต่อ ป.โท ก็สามารถไปเรียนต่อได้หลายสาขา ทั้งฟิสิกส์รังสี รังสีเทคนิค วิทยาศาสตร์รังสี จบมาก็มาเป็นอาจารย์สอนในระดับมหาวิทยาลัยได้ หรือถ้าใจรักทางด้านนิวเคลียร์จริงก็แนะนำที่สำนักงานปรมณูเพื่อสันติเลย เพราะเห็นว่าหาคนเข้าไปทำงานยากมากๆ หรืออาจจะเปลี่ยนสายไปเรียนทางด้านวิศวะคอมฯ MBA พวกนี้ก็มีอยู่บ้างเหมือนกัน
Unigang เพิ่มเติม
1. สาขารังสีวินิจฉัย ทำงานเกี่ยวกับการถ่ายภาพ x-ray ทั่วไปให้กับผู้ป่วย ถ่ายภาพ x-ray เต้านม(ทำได้เฉพาะนักรังสีผู้หญิงนะคะ) ทำการถ่ายภาพในการตรวจพิเศษทางรังสีต่างๆ ร่วมกับรังสีแพทย์ เช่น ถ่ายภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ถ่ายภาพด้วยเครื่องมือที่อาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า( MRI) เป็นต้น
2. สาขารังสีรักษา ทำงานเกี่ยวกับ การฉายรังสีหรือใส่แร่ ให้กับผู้ป่วยโรงมะเร็งตามที่รังสีแพทย์ร่วมกับนักฟิสิกส์การแพทย์ได้วางแผนการรักษามาค่ะ โดยเราจะใช้เครื่องมือทางรังสีรักษาต่างๆ เช่น เครื่องโคบอล-60 ,เครื่องเร่งอนุภาค linac และ เครื่องใส่แร่ ค่ะ
3. สาขาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ทำงานเกี่ยวกับควบคุมเครื่องมือเก็บภาพทางรังสี (เครื่อง SPEC, เครื่อง PET) ที่จับรังสีที่ปล่อยออกมาจากผู้ป่วยที่ได้รับยาเภสัชรังสีเข้าไปค่ะ และทำงานเกี่ยวกับการให้ผู้ป่วยทานไอโอดีนเพื่อรักษาโรคตามที่รังสีแพทย์สั่ง เช่น โรคเกี่ยวกับไธรอยด์ (โรคที่ คุณทาทายัง เค้าเป็นไงค่ะ นึกกันออกมั้ยเอย)
 บอกเคล็ดลับการเรียนในสาขานี้อย่างคนมีกึ๋นมา 1 ข้อ
ขยัน และรับผิดชอบ เพราะเราจะเรียนค่อนข้างหนักและงานเยอะมากๆ โดยเฉพาะแลบที่ต้องทำกันทุกอาทิตย์ เคสคนไข้อีก บลาๆๆ เรียกว่าช่วงไหนที่ต้องดูฟิล์มของคนไข้ ก็ดูกันจนแทบเก็บไปฝัน หลอนกันเลยทีเดียว 555+ เพราะฉะนั้นต้องขยันที่จะหาความรู้นอกจากห้องเรียนด้วย และก็ต้องรับผิดชอบงานที่อาจารย์สั่งด้วย
อยากบอกน้องๆ ที่จะเลือกคณะนี้ว่า??
"พี่เรียนรังสีแล้วจะเป็นหมันป่าวอ่ะ" หรือ "พ่อแม่ไม่ให้เรียนรังสีอ่ะ เพราะกลัวอันตราย กลัวเป็นมะเร็ง"
อันนี้บอกไว้เลยนะน้องๆ ว่ายังไงก็ไม่เป็นแน่นอน คำถามประเภทนี้พวกพี่จะเจอน้องๆที่ติดรังสีเทคนิคถามเข้ามาทุกปี ก็เลยอยากจะบอกว่ารังสีอ่ะ ไม่ได้อันตรายขนาดนั้นนะ ถ้าหากเรารู้จักใช้มันอย่างถูกต้อง ถ้าใครเคยติดตามข่าวเกี่ยวกับโคบอลต์ 60 ที่มีการหลุดออกมาจากโรงพยาบาล เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน แล้วกลัวล่ะก็ จะบอกว่านั้นเป็นวิธีการจัดการที่่ไม่ถูกต้อง แต่ในการเรียนรังสีเทคนิคจริงๆนั้น เราเรียนใช้ และก็เรียนป้องกันด้วย เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัวๆ ยังไงก็ไม่เป็นหมันหรือได้รับอันตรายอื่นๆแน่นอน เพราะเท่าที่พี่เรียนมาเราจะเจอและสัมผัสกับรังสีน้อยมากๆเลยนะ เทียบกับรังสียูวีจากแสงแดด หรือหน้าจอคอมที่น้องๆได้รับกันอยู่ทุกวันนี้ ยังน้อยกว่าด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ถ้าสนใจจะเรียนก็สามารถเข้ามาเรียนได้เลย โดยเฉพาะน้องผู้ชาย มาเรียนกันเยอะๆหน่อยเหอะ รู้สึกว่ารุ่นหลังนี่ ทำไมน้องผู้ชายมันน้อยลงๆไปทุกวันว่ะเนี่ย (แบบว่าจะกลัวอะไรกันนักกันหนาเนี่ย) พี่ๆ ป้าๆ เขาอยากจะมีผู้ชายไว้ประดับสายรหัสบ้างอ่ะนะ 555+ เข้ามาเรียนเหอะ มีงานทำแน่นอน เพราะว่าประเทศเรายังขาดบุคคลากรด้านนี้อยู่อีกมากเลยนะ (สุดท้ายจบแบบมีสาระนิดนึง)
ถ้าน้องๆสนใจเพิ่มเติมก็สามารถถามไว้ที่คอมเม้นท์ได้นะ เดี๋ยวเมจะตอบให้เองนะคะ ไม่น่าเชื่อเลยว่าจะเขียนอะไรที่มีสาระขนาดนี้ได้ ปกติไร้สาระมาตลอด
 สุดท้ายแล้วจริงๆ เมก็จะเริ่มฝึกงานแล้วนะคะ โดยสถานที่ฝึกงาน มีดังนี้คะ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ, โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช, โรงพยาบาลกลาง, โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และสถาบันประสาทวิทยา ฝึกทั้งหมดนี้จริงๆนะคะ บอกเผือไว้สำหรับใครที่ไม่ชอบการเวียนฝึกงานหลายๆที่ แต่หากมาเรียนที่นี่แล้ว เวลาฝึกงานยังไงคุณก็ต้องเจออย่างนี้แน่นอนคะ
Credit http://memay-p.exteen.com

ไม่มีความคิดเห็น: