วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

ทปอ.เปิดตัวเลขรับแอดมิชชั่นปี55 ยอดลดลง ,ประกาศผลไวขึ้น

 ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) วันนี้(4เม.ย.)  สมาคมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(สอท.) แถลงข่าวการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลาง หรือ แอดมิชชั่น ประจำปี 2555 โดย ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) และนายก สอท.เป็นประธาน เปิดเผยว่า ในการรับสมัครแอดมิชชั่น ประจำปี 2555 มีสถาบันอุดมศึกษา 90 แห่งร่วมรับนักศึกษา แบ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสมาชิกของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) 24 แห่ง จำนวนรับ 54,206 คน มหาวิทยาลัยราชภัฎ และราชมงคล 26 แห่ง จำนวนรับ 20,480คน สถาบันสมทบ 3 แห่ง จำนวนรับ 156 คน สถาบันอุดมศึกษาเอกชน 37 แห่ง จำนวนรับ 34,775 คน รวมจำนวนรับ 109,617 คน รวมจำนวน 723 คณะ/สาขาวิชา มีจำนวนรหัสทั้งสิ้น 3,598 รหัส ทั้งนี้สาเหตุที่ยอดรับสมัครแอดมิชชั่นปีนี้ลดลงจากปีที่แล้วซึ่งมีจำนวนรับที่ 122,868 คน เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยเอกชนบางแห่งไม่เข้าร่วมโดยอาจไปใช้วิธีการเปิดรับสมัครด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันได้มีนักเรียนส่วนหนึ่ง จำนวนประมาณ 30,000 คน เข้าระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ไปแล้ว และขณะนี้ สอท.ได้ตัดสิทธิ์รายชื่อนักเรียนเรียบร้อยแล้วด้วย พร้อมกันนี้มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหานักเรียนยื่นข้อร้องเรียนตามมาภายหลัง เพราะได้ดำเนินการเปิดรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาให้ไปแล้ว
“ที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนจากนักเรียนเข้ามามาก เช่น บางคนแจ้งว่าตัวเองไม่ได้สมัครเคลียริ่งเฮาส์แต่เพื่อนสมัครให้ ซึ่งก็ได้สอบถามและแก้ไขให้แล้วเป็นรายกรณี ดังนั้นในส่วนของเรายืนยันว่าได้ดำเนินการประสานมหาวิทยาลัยและตัดสิทธิ์นักเรียนที่ยื่นสมัครผ่านระบบเคลียริ่งเฮาส์เรียบร้อยหมดแล้ว เพื่อให้นักเรียนที่สอบในระบบแอดมิชชั่นได้มีที่นั่งอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตามหากในที่สุดแล้วมีนักเรียนยื่นร้องเรียนเข้ามาอีกก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่ในส่วนของเราก็จะไม่ดำเนินการใดๆ ยกเว้นกรณีเหตุสุดวิสัยอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นระบบเคลียริ่งเฮาส์ก็คงไม่สามารถเกิดได้” ประธาน ทปอ. กล่าว
ศ.ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า สำหรับปฏิทินแอดมิชชั่นประจำปี 2555 มีดังนี้ จำหน่ายระเบียบการรับสมัคร ระหว่างวันที่ 4-20 เม.ย. ที่ศูนย์กรุงเทพมหานครและศูนย์ภูมิภาค รวม 16 แห่ง เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 11-20 เม.ย.2555 ทาง www.cuas.or.th นักเรียนสามารถยื่นชำระเงินได้ผ่านช่องทางธนาคาร 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, กรุงไทย, กสิกรไทย, กรุงศรีอยุธยา, ทหารไทย, ไทยพาณิชย์ ,ซีไอเอ็มบีไทย และทางที่ทำการไปรษณีย์ไทย ระหว่างวันที่ 11-24 เม.ย.2555 โดยจะประกาศผลผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย วันที่ 9 พ.ค.2555 สอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกายในวันที่ 14-16 พ.ค.2555 ณสถาบันอุดมศึกษาที่สอบได้ และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษา ในวันที่ 24 พ.ค.2555 ทาง www.cuas.or.th
อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มว่าจะสามารถประกาศผลผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ได้เร็วขึ้น เป็นวันที่ 7 พ.ค. เนื่องจาก ทปอ.ได้จัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ชุดใหม่ ราคา 12 ล้านบาท มาใช้ดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับกรณีที่มีเหตุการณ์วางระเบิดในพื้นที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลานั้น ในส่วนของศูนย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์จำหน่ายระเบียบการรับสมัครฯ ขณะนี้ยังคงดำเนินการจำหน่ายใบสมัครตามปกติเพราะถือเป็นศูนย์ใหญ่แห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดสงขลา ทั้งนี้ยังไม่ได้รับแจ้งปัญหาใดๆ ที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์วางระเบิดในพื้นที่ และหวังว่าทางรัฐบาลสามารถดูแลความสงบเรียบร้อยได้
ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า ทั้งนี้อยากให้นักเรียนทุกคนตรวจสอบเงื่อนไขในการรับสมัครแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยให้ละเอียดถี่ถ้วน เนื่องจากแต่ละคณะแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นอาจมีเงื่อนไขต่างกัน ควรกรอกข้อมูลการสมัครอย่างระมัดระวัง โดยทำการตรวจสอบความถูกต้องก่อนชำระเงิน พร้อมกันนี้จะต้องใช้โปรแกรมคำนวณคะแนนแอดมิชชั่น 55 ผ่านทาง www.cuas.or.th ห้ามใช้โปรแกรมเก่าในการคำนวณเพราะอาจจะทำให้เลือกรหัส/คณะผิดได้ โดยนักเรียนสามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ระหว่างวันที่ 12-25 เม.ย.2555 ในกรณีพบความผิดพลาดให้แจ้งได้ที่ สอท. และขอให้ส่งเอกสารการชำระเงินพร้อมใบสมัคร มาทางโทรสาร หมายเลข 0-2354-5155-6 เพื่อแก้ไขข้อมูล หรือสอบถามข้อมูลต่างๆ โทร.0-2354-5150-2
สำหรับจำนวนรับเฉพาะในแต่ละมหาวิทยาลัย ดังนี้ ม.รัฐ จำนวน 24 แห่ง ได้แก่ 1.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2,615 คน 2.ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) 8,375 คน 3.ม.ขอนแก่น (มข.) 1,766 คน 4.ม.เชียงใหม่ (มช.) 2,675 คน 5.ม.ทักษิณ 935 คน 6.ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) 724 คน 7.ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) 1,905 คน 8.ม.เทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) 1,265 9.ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) 3,591 คน 10.ม.นครพนม 505 คน 11.ม.นราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.) 145 คน 12.ม.นเรศวร (มน.) 2,622 คน 13.ม.บูรพา 4,142 คน 14.ม.พะเยา (มพ.) 2,510 คน 15.ม.มหาสารคาม 1,955 คน 16.ม.มหิดล (มม.) 1,326 คน 17.ม.แม่โจ้ 1,845 คน 18.ม.แม่ฟ้าหลวง (มฟล.) 1,255 คน 19.ม.วลัยลักษณ์ 1,610 คน 20.ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) 2,346 คน 21.ม.ศิลปากร (มศก.) 2,772 คน 22.ม.สงขลานครินทร์ (มอ.) 3,608 คน 23.ม.อุบลราชธานี (มอบ.) 1,609 คน และ 24.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) 2,105 คน
มหาวิทยาลัยราชมงคล(มทร.)และมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) จำนวน 26 แห่ง ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน 200 คน, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ 880 คน, มทร.ตะวันออก 1,195 คน, มทร.ธัญบุรี 1,270 คน, มทร.พระนคร 334 คน, มทร.รัตนโกสินทร์ 190 คน, มทร.ล้านนา 1,220 คน, มทร.ศรีวิชัย 100 คน, มทร.สุวรรณภูมิ 845 คน, มทร.อีสาน 616 คน, มรภ.กาญจนบุรี 285 คน, มรภ.จันทรเกษม 965 คน, มรภ.เทพสตรี 160 คน, มรภ.ธนบุรี 1,850 คน, มรภ.นครสวรรค์ 840 คน, มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา 2,015 คน, มรภ.พระนคร 715 คน, มรภ.พระนครศรีอยุธยา 280 คน, มรภ.พิบูลสงคราม 605 คน, มรภ.ภูเก็ต 680 คน, มรภ.มหาสารคาม 920 คน, มรภ.ราชนครินทร์ 330 คน, มรภ.วไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ 970 คน, มรภ.สวนดุสิต 1,000 คน, มรภ.สวนสุนันทา 1,605 คน, มรภ.สุรินทร์410 คน
สถาบันสมทบ 3 แห่ง ได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ กรุงเทพมหานคร 40 คน, วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย 60 คน และวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ 56 คน นอกจากนี้มีสถาบันอุดมศึกษาเอกชน 37 แห่ง ได้แก่ ม.กรุงเทพ 1,380 คน, ม.เกษมบัณฑิต 2,870 คน, ม.คริสเตียน 900 คน,ม.ชินวัตร 200 คน, ม.เจ้าพระยา 440 คน, ม.เทคโนโลยีมหานคร 240 คน, ม.ธุรกิจบัณฑิต 800 คน, ม.สแตมป์ฟอร์ด-กรุงเทพมหานคร 880 คน,ม.เนชั่น 450, ม.พายัพ 1,435 คน, ม.ฟาร์อีสเทอร์น560 คน, ม.ภาคกลาง 800 คน, ม.รังสิต 3,810 คน, ม.รัตนบัณฑิต 960 คน, ม.ราชธานี 1,100 คน, ม.วงษ์ชวลิตกุล 585 คน, ม.เวสเทิร์น 720 คน, ม.ศรีปทุม 1,080 คน, ม.สยาม 1,455 คน, ม.หอการค้าไทย 3,025 คน, ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 2,570 คน, ม.หาดใหญ่ 1.050 คน, ม.อีสเทิร์นเอเซีย 880 คน, ม.เอเซียน 240 คน, ม.เอเชียอาคเนย์ 260 คน, สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น 280 คน,สถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์ 340 คน, วิทยาลัยกรุงเทพสุวรรณภูมิ  800 คน, วิทยาลัยเชียงราย 200 คน, วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ 100 คน, วิทยาลัยดุสิตธานี 240 คน, วิทยาลัยตาปี 400 คน, วิทยาลัยเทคโนโลยีพนมวันท์ 360 คน, วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้ 300 คน, วิทยาลัยนครราชสีมา 660 คน, วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย 810 คน,  วิทยาลัยลุ่มน้ำปิง 600 คน และวิทยาลัยสันตพล 1,400 คน

Credit    http://www.dailynews.co.th/education/20687

ไม่มีความคิดเห็น: