หากคุณเป็นวัยเรียนคนหนึ่งที่ประสบปัญหา “เปิดหนังสืออ่านไม่นานมักรู้สึกเคลิ้มง่วง ตาจะปิดเสียให้ได้ หรือ อ่านเท่าไหร่ก็ไม่จำ” ลองสำรวจสภาพแวดล้อม พร้อมเช็คร่างกาย และจิตใจ เพราะนั่นอาจเป็นสาเหตุสำคัญ!
สิ่งที่ควรคำนึงถึงอันดับแรกคือ “สถานที่” ควรเลือกห้องที่รับลม ปลอดโปร่ง มีแสงพอเหมาะ และไม่เป็นทางเดินผ่านของผู้คนบ่อยนัก สงบเงียบไร้สิ่งรบกวนสมาธิ รวมทั้งลักษณะของโต๊ะ และเก้าอี้เอื้อต่อการลุกยืน หรือ นั่งสะดวกสบาย รองรับอิริยาบถได้เหมาะสม จะช่วยให้ไม่เครียดง่าย และมีสมาธิขึ้น
ต่อมาคือ “เวลา” โดยก่อนเข้านอนช่วง 20.00-22.00 น. หรือ ยามเช้าตรู่หลังตื่น 05.30-07.00 น. ซึ่งผ่านการพักผ่อนอย่างเต็มที่แล้ว ร่างกายไม่อ่อนล้า ความคิดจะนิ่งไม่ฟุ้งซ่านกับเรื่องใด เหมาะสำหรับหยิบหนังสืออ่าน และจดจำเนื้อหา
“พักสายตาเป็นระยะ” ทุก ๆ 40-50 นาที ควรผ่อนคลายด้วยการมองไกล ๆ หรือ มองต้นไม้ใบไม้สีเขียว ประมาณ 3-5 นาที หรือ อาจใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ ประคบดวงตา ประมาณ 2-3 นาที จะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา และทำให้เลือดหมุนเวียนมาเลี้ยงดวงตาได้ดี ทั้งยังคลายง่วง และลดการเพลียตา
ที่สำคัญควรนั่งอ่านหนังสือโดย “ตำแหน่งหนังสือควรห่างจากระยะสายตาประมาณ 30 เซนติเมตร”ไม่ควรนอนอ่าน เพราะสายตาต้องปรับระดับการโฟกัสตัวหนังสือขึ้น-ลงมากจนล้าได้ง่าย และอาจทำให้เคลิ้มหลับโดยไม่รู้ตัว
เมื่อร่างกาย และจิตใจพร้อม สภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการเริ่มเปิดรับ และจดจำ ขณะเดียวกัน ต้องขยัน และมีวินัยในการทบทวนบทเรียนสม่ำเสมอด้วย เพื่อสะสมเป็นคลังความรู้ไว้หยิบออกมาใช้สอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ.
Credit เดลินิวส์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น