วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สิ่งที่ควรจะรู้ก่อนจะเข้า มหาวิทยาลัย


มหาวิทยาลัยปิด : 
สถานที่ที่หนึ่ง เข้าก็ยาก ออกก็ยาก เป็นที่โปรดปรานของบิดามารดา
เวลาออกมาแล้วได้กระดาษมาคนละแผ่น เรียกว่าใบปริญญา อาจมีความรู้แถมมาด้วยเล็กน้อย

มหาวิทยาลัยเปิด : 
ตรงกันข้ามกับอันแรก เข้าง่าย แต่ออกยากกว่ามหาวิทยาลัยปิด
ได้ใบปริญญามาเช่นกัน แต่คุณค่าต่ำกว่าอันแรกโดยใช้ค่านิยมเป็นตัวตัดสิน

ปริญญาบัตร : 
เอาไว้ยืนยันการเลือกงานตามสาขาและระดับที่ร่ำเรียนมา
ต่ำกว่านั้นไม่ได้ ห้ามเสียศักดิ์ศรีหมด

คณะ : 
หมวดหมู่ของวิชา เลือกเรียนได้ตามความถนัด สนใจ พอใจ คะแนนเอนท์ฯ
และความพอใจของท่านบิดามารดา

บิดามารดา : 
เรียกอีกอย่างว่าผู้ปกครอง มักบอกลูกตัวเองว่าให้เลือกเรียนตามความถนัด
จะเอาแพทย์จุฬาฯ เภสัชมหิดล อักษรจุฬาฯ หรือนิติธรรมศาสตร์ก็ได้ เลือกเอานะลูก

กิจกรรม : 
เอาไว้ฝึกแบ่งเวลาและฝึกเข้าสังคม ควรเพลาๆ ลงเมื่อได้ เกินสามตัวต่อปี

รับน้องใหม่ : 
กิจกรรมหนึ่ง มักมีขึ้นช่วงก่อนมหาวิทยาลัยเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง
เป็นการสร้างความสมัครสมานสามัคคีและความสนิทสนมให้แก่รุ่นน้องและรุ่นพี่
ถ้ามีหลังเปิดภาคเรียนเรียกว่า ว้าก

ว้าก : 
กิจกรรมตอนเย็นๆ ที่มีมาแต่โบราณกาล ปัจจุบันก็ยังมีหลงเหลือให้เห็นอยู่แยะ
มักมีขึ้นช่วงเย็นๆ ถึงดึกๆ เป็นการทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ และเสรีภาพ เสมอภาค
และภราดรภาพ โดยใช้คำผรุสวาท และมีกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้มากมาย

เด็กใหม่ทุกคนต้องเข้า และต้องแต่งชุดเหมือนกันหมด
เข้าทุกวันไม่ว่าจะมีสอบย่อย หรือมีเรียนตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ไม่เข้าใช่มั๊ย
ประเดี๋ยวเถอะสิบชุดเล็กยี่สิบเอ็ดชุดใหญ่ปฏิบัติ!

ว้ากเกอร์ : 
บุคคลกลุ่มหนึ่ง เสียงดี ไอเดียเยี่ยม แสดงละครเก่ง
ทำให้รุ่นน้องสามัคคีกันเป็นงานอดิเรก ตอนที่อยู่ในระหว่างเทศกาลว้าก
คนกลุ่มนี้จะไม่ยิ้ม ไม่หัวเราะ ไร้ความร่าเริง ไม่คุยกับเด็กปีหนึ่ง
ทำหน้าตายได้อย่างเดียว

หลุด : 
อาการที่ว้ากเกอร์ทำกิริยาอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งอยู่นอกเหนือข้อห้ามข้างบน หรือผิดคิวระหว่างว้าก

เสรีภาพ : 
สิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างทางความคิด
คิดได้อย่างเดียว คิดเข้าไปเถอะ แต่อย่าทำ

เสมอภาค : 
สิ่งที่ถูกอ้างว่ามีอยู่จริงในมหาวิทยาลัย แต่ถูกจำกัดด้วยคำว่า
Seniority และ Instructor

ภราดรภาพ : 
สิ่งที่อาจมีอยู่จริง แต่ยังไม่มีใครมองเห็นและนำมาใช้

เฟรชชี่ : 
ผ้าขาว สดใส น่ารัก หน้าตาอ่อนใส ไร้เดียงสา ที่สำคัญต้องใส่รองเท้าสีขาว
เป็นคำจำกัดความของเด็กที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ยังไม่แก่โลก และถูกชักจูงง่ายมาก
บอกอะไรเชื่อหมด หลอกง่ายดีชอบ

ประชุมเชียร์ : 
โดยปกติมักจัดเวลากินข้าวเย็นถึงเวลานอน เรียกมาให้พร้อมหน้ากัน
แล้วร้องเพลงเชียร์ มักอยู่คู่กับประเพณีว้าก

เพลงเชียร์ : 
สิ่งปลุกใจเฟรชชี่ให้เกิดความรักพวกพ้อง รักรุ่นพี่ รักคณะตัวเอง
คณะอื่นไม่เกี่ยว ไม่ดี ไม่ได้เรื่อง คณะเราดีที่สุดอย่ามายุ่งนะ

นิสิตนักศึกษา : 
คนกลุ่มหนึ่ง มีหน้าที่เรียน เรียน และเรียน แต่มีบางส่วนที่ลืมตัว
เผลอเอาเวลามาทำกิจกรรมจนไม่มีเวลาไปเรียน

รุ่นพี่ : 
ปูชนียบุคคล ไหว้ได้ถ้าจำเป็น ต่างกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นิดเดียว
คือ เมื่อเวลาเดินผ่านแล้วไม่ทักทายอาจโดนข้อหาหนักได้

ชุดนิสิตนักศึกษา : 
นิยมแต่งเฉพาะช่วงสอบ

หอพักนักศึกษา : 
แหล่งซ่องสุมกำลังอย่างดีของนักศึกษา มีครบทุกอย่างที่กฎของหอพักห้าม
มักอยู่ไกลจากตึกเรียนไม่ต่ำกว่าหนึ่งกิโลเมตร

อาคารเรียน : 
สถานที่ควรให้ความเคารพ ห้ามแต่งกายไม่สุภาพ ยกเว้นสายเดี่ยวหรือขาสั้น
มักมีศาลอยู่ด้านหน้า ช่วงสอบจะมีพวงมาลัยหลากสีสัน และขนมต้มแดง ขนมต้มขาว

จักรยาน : 
พาหนะยอดนิยมของนักศึกษา อาจอัพเกรดเป็นจักรยานยนต์ได้ถ้ากระเป๋าหนัก

รถยนต์ : 
พาหนะของนักศึกษาบางกลุ่มที่บ้านอยู่ไกล แต่ไม่มีสตางค์จะเช่าหอพัก

เวลาเรียน : 
กำหนดเวลาเข้าห้อง สายได้ไม่เกินที่อาจารย์กำหนด และอาจโดนแบน
โดยการล็อคห้อง ไม่ให้เข้า

ก่อนสอบ : 
เวลาที่มีเสียงบ่นงึมๆ ระงม บ้างก็ท่องสูตรเคมี บ้างก็บ่นว่าอ่านหนังสือไม่ทัน
แต่ไม่อยากอ่าน

สอบ : 
เวลาตายของใครบางคน อิ อิ

หลังสอบ : 
เวลาที่ควรเปิดหนังสือวิชาที่เพิ่งสอบเสร็จไป
มานั่งอ่านอย่างขะมักเขม้น

F : 
เกรดเกรดหนึ่ง หนึ่งตัวมีค่าเท่ากับเงินค่าหน่วยกิตของวิชาที่ได้เกรดนั้น
และเวลาที่เรียนไปทั้งเทอม

A : 
เกรดที่บางครั้งได้ไม่เท่ากันในแต่ละปี ตามแต่ใจอาจารย์
บางครั้งคะแนนสูงกว่า B+ นิดเดียว

จบ : 
คำพูดสั้นๆ ของอาจารย์ เมื่อเวลาที่เราเรียนครบตามหน่วยกิตที่กำหนด
อาจเกินสี่ปีได้ในบางกรณี

เกียรตินิยม : 
เหมือนกีฬาโอลิมปิก มีการชิงเหรียญทอง แถมแว่นตา
และข้อความในประกาศเพิ่มอีกสองสามประโยค
เครดิต : http://unigang.com/Article/977

ไม่มีความคิดเห็น: