Kru Nid Guide
เกี่ยวกับฉัน
Kru Nid
ดูโปรไฟล์ทั้งหมดของฉัน
วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
แนะนำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบไปด้วย 12 ภาควิชา
ภาควิชา
Website
Social Network
กายวิภาคศาสตร์
www.sc.mahidol.ac.th/scan
คณิตศาสตร์
www.sc.mahidol.ac.th/scma
เคมี
www.sc.mahidol.ac.th/scch
จุลชีววิทยา
www.sc.mahidol.ac.th/scmi
ชีวเคมี
www.sc.mahidol.ac.th/scbc
ชีววิทยา
www.sc.mahidol.ac.th/scbi
เทคโนโลยีชีวภาพ
www.sc.mahidol.ac.th/scbt
พฤกษศาสตร์
www.sc.mahidol.ac.th/scpl
พยาธิชีววิทยา
www.sc.mahidol.ac.th/scpa
ฟิสิกส์
www.sc.mahidol.ac.th/scpy
เภสัชวิทยา
www.sc.mahidol.ac.th/scpm
สรีรวิทยา
www.sc.mahidol.ac.th/scps
ภาควิชากายวิภาคศาสตร์
วิชากายวิภาคศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยการเรียนการสอน การวิจัย เกี่ยวกับโครงสร้างของอวัยวะ เนื้อเยื่อ เซลล์ ส่วนประกอบของเซลล์ ตลอดจนโมเลกุลต่าง ๆ ในร่างกาย
วิชาที่สอนในภาควิชานี้ ได้แก่ 1) มหกายวิภาคศาสตร์ 2) ประสาทชีววิทยา 3) เซลล์วิทยา และ 4) การเจริญเติบโตทางกายวิภาคของตัวอ่อน http://www.sc.mahidol.ac.th/academics/pic/google-talk.jpg
นักศึกษาที่ภาควิชานี้สอน ได้แก่ 1) นักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย ระดับปริญญาโท และเอก 2) นักศึกษาแพทย์คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร คณะแพทยศาสตร์ พระบรมราชชนก 3) นักศึกษาพยาบาลคณะพยาบาลศาสตร์ และพยาบาลรามาธิบดี 4) นักศึกษาเทคนิคการแพทย์ 5) นักศึกษารังสีเทคนิค และ 6) นักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์
การวิจัยในภาควิชาได้ทำกันอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับ : 1) กลุ่มวิจัยพยาธิใบไม้ตับ 2) กลุ่มวิจัยชีววิทยาเซลล์สืบพันธุ์ของหอย (mollusc) 3) กลุ่มวิจัย chromatin ของเซลล์สืบพันธุ์สัตว์ 4) กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีของกุ้ง 5) กลุ่มวิจัยชิ้นส่วนชีวภาพกำซาบด้วยพลาสติก 6) กลุ่มวิจัยฮอร์โมน เมลาโทนิน 7) กลุ่มวิจัยหลอดเลือดและตับ 8) กลุ่มวิจัยการเจริญพันธุ์ในสัตว์เศรษฐกิจ 9) กลุ่มวิจัยชีววิทยาเซลล์สืบพันธุ์ของกบ และ 10) กลุ่มวิจัยชีวเคมีของเนื้อเยื่อในไต
ภาควิชาคณิตศาสตร์
ภาควิชาคณิตศาสตร์ เปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาคณิตศาสตร์ หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ (นานาชาติ) และหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาคณิตศาสตร์ (นานาชาติ) อีกทั้งให้บริการสอนวิชาคณิตศาสตร์และสถิติให้แก่นักศึกษาปี 1 และ 2 ของมหาวิทยาลัยมหิดล
หลักสูตรวิทยาศาตรบัณฑิต สาขาคณิตศาสตร์นั้น มุ่งให้นักศึกษามีความรู้พื้นฐานคณิตศาสตร์ได้มาตรฐานโลก พร้อมทั้งมีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และความรู้ทั่วไป อันจะนำไปสู่บัณฑิตที่มีความรู้รอบด้าน และมีความคล่องตัวในการประยุกต์ใช้วิชาที่เรียนมา
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ และหลักสุตรดุษฎีบัณฑิต สาขาคณิตศาสตร์นั้น มีการทำวิจัยเพื่อนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ไปใช้ ในการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
งานวิจัยของภาคคณิตศาสตร์ มีอาทิ การวิจัยด้าน Nonlinear Systems และ Modelling ซึ่งเป็นการใช้ทฤษฎีของสมการเชิงอนุพันธ์ เพื่อจำลองปรากฎการณ์ต่าง ๆ ทั้งด้านชีวภาพและวิทยาศาสตร์การแพทย์ นอกจากนี้ยังมีโครงงานวิจัยเกี่ยวกับตัวแบบเชิงสถิติ โดยใช้ Multivariate Methods และ/หรือ Generalized Linear Models ทั้งยังมีงานวิจัยทางด้าน Computational Mathematics ซึ่งล้วนมีผลงานในระดับแนวหน้า
ภาควิชาเคมี
ภาควิชาเคมีเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีเคมี ปริญญาโทและปริญญาเอก ใน 5 สาขาวิชา ได้แก่ เคมีอินทรีย์ เคมีเชิงฟิสิกส์ ฟิสิกส์เชิงเคมี วิทยาศาสตร์พอลิเมอร์ และเคมีวิเคราะห์ - เคมีอนินทรีย์ โดยเน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ควบคู่ไปกับการวิจัยอย่างจริงจัง มีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติอย่างสม่ำเสมอ คณาจารย์หลายท่านในภาควิชาได้รับรางวัลทั้งในด้านการเรียนการสอนและการวิจัย จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ภาควิชาเคมีมีงานวิจัยที่น่าสนใจในหลายด้าน อาทิ งานวิจัยเคมีของผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โดยทำการสกัดและแยกสารที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพจากสมุนไพรและจุลินทรีย์ ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นพบยาชนิดใหม่ๆ ในการรักษาโรค ทำการค้นคว้าและศึกษาปฏิกิริยาใหม่ๆ เพื่อนำไปใช้ในการสังเคราะห์และปรับปรุงสารอนุพันธ์ ทำการศึกษาและปรับเปลี่ยนสมบัติและลักษณะของวัสดุจำพวกพอลิเมอร์ ผลึกเหลว เซรามิกส์ชั้นสูง และอื่น ๆ ให้มีคุณสมบัติดีขึ้น และนำไปใช้ประโยชน์ในการใช้งานต่อไป มีงานวิจัยด้านเคมีทฤษฎี ในด้านจลนศาสตร์และอุณหพลศาสตร์ งานวิจัยเกี่ยวกับการวิเคราะห์ธาตุที่มีปริมาณน้อย และสารต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการพัฒนาเทคนิควิเคราะห์ให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
ภาควิชาได้มีการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการเรียนการสอนทั้งทฤษฎี และภาคปฏิบัติ การฝึกและการดูงานในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ ในปัจจุบันได้นำคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านการเรียนการสอนและงานวิจัย
ภาควิชาจุลชีววิทยา
ภาควิชาจุลชีววิทยาเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทและเอก ภาควิชาฯ เป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทยที่เริ่มผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอก โดยเปิดหลักสูตรปริญญาเอกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 หลักสูตรของภาควิชาฯ เป็นหลักสูตรนานาชาติ ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน หลักสูตรของภาควิชาฯ ได้รับความเชื่อถืออย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเห็นได้จากการที่ องค์การอนามัยโลกได้ส่งนักเรียนต่างชาติมาศึกษาระดับปริญญาโท - เอก และดูงานในภาควิชาฯ อย่างสม่ำเสมอ สาขาวิชาที่เปิดสอน ได้แก่ ไวรัสวิทยา (Virology) แบคทีเรียวิทยา (Bacteriology) ราวิทยา (Mycology) ปรสิตวิทยา (Parasitology) และภูมิคุ้มกันวิทยา (Immunology) นอกจากหลักสูตรนานาชาติแล้ว ภาควิชาฯ จัดสอนวิชาจุลชีววิทยาทั่วไปและจุลชีววิทยาทางการแพทย์ สำหรับนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นักศึกษาแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร นักศึกษาพยาบาลศาสตร์ และนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์ทั่วไป
นอกจากหน้าที่การสอน อาจารย์ในภาควิชายังเน้นงานวิจัยควบคู่ไปกับการสอน งานวิจัยของภาควิชาฯ เน้นในเรื่องของอณูชีววิทยาของโรคติดเชื้อ และการประยุกต์ใช้คุณสมบัติพิเศษทางพันธุกรรมของเชื้อ
ภาควิชาชีวเคมี
ชีวเคมี กล่าวถึงบทบาทของโมเลกุลในสิ่งมีชีวิต เป็นวิชาที่ศึกษาที่เกี่ยวกับโครงสร้าง และการเปลี่ยนแปลงโมเลกุลที่พบในเซลล์ อวัยวะและส่วนอื่น ๆ ของสิ่งมีชีวิต กล่าวคือ เป็นวิชาเคมีของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง ความรู้จากวิชานี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ใน วิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง ภาควิชาชีวเคมี เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโท และเอก สาขาชีวเคมี และยังมีหน้าที่ประจำในการสอนวิชาต่าง ๆ ทางชีวเคมีให้แก่นักศึกษาแพทย์ พยาบาล และนักศึกษาปีที่ 2 ประเภทวิชาวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ รวมทั้งวิทยาศาสตร์สุขภาพในระดับ ปริญญาตรีด้วย
งานวิจัย เป็นงานที่สำคัญของคณาจารย์ในภาควิชาชีวเคมี งานวิจัยที่ดำเนินอยู่ที่สำคัญ อาทิ การศึกษาทางชีวเคมี เกี่ยวกับโรคมาลาเรีย และธาลัสซีเมีย การพัฒนาหายาฆ่ามาลาเรียตัวใหม่ การศึกษาเกี่ยวกับกลไกการดื้อยา ฯลฯ การใช้ดีเอ็นเอ เทคโนโลยีในการศึกษาโปรตีน เอนไซม์ที่สำคัญ และการปรับปรุงสายพันธุ์แบคทีเรีย รวมทั้งการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์กุ้ง การพัฒนาชุดตรวจสอบหาโรคไวรัสกุ้งกุลาดำ การตรวจสอบลายพิมพ์ดีเอ็นเอในมนุษย์ การศึกษาเกี่ยวกับกลไกการเกิดมะเร็ง ที่สำคัญ การศึกษาแบคทีเรียก่อโรค Melioidosis ในคน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเอนไซม์ที่มีคุณค่าจากพืช เพื่อการประยุกต์ใช้การพัฒนาชุดตรวจสอบไอโอดีนภาคสนาม งานวิจัยเกี่ยวกับการเรียนการสอนทางชีวเคมีของนักศึกษาในทุกระดับ ทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ซึ่งจะเป็นงานสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ของเยาวชนและบัณฑิตของประเทศไทย
ภาควิชาชีววิทยา
ชีววิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยศึกษาโครงสร้างการทำงานและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ทั้งพืชและสัตว์ตั้งแต่ระดับโมเลกุล เซลล์ และโครงสร้างระบบอวัยวะต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต นอกจากนั้นยังมีการศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของระบบนิเวศ ผลกระทบของมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
ภาควิชาชีววิทยาเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี สาขาชีววิทยา และในระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อผลิตบัณฑิตเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ที่มีประสบการณ์ในการคิดสร้างสรรค์งานชีววิทยาระดับพื้นฐานและชีววิทยาประยุกต์
ผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ ของภาควิชาชีววิทยาครอบคลุมหลายสาขา เช่น ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและพันธุศาสตร์ เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและสัตว์น้ำ ชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและนิเวศวิทยา ชีววิทยาและมลภาวะ ปรสิตวิทยา สังขวิทยา และกีฏวิทยาทางการแพทย์ เป็นต้น
ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ
เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เป็นสาขาวิชาที่นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ เช่น ชีววิทยา เคมี จุลชีววิทยา พันธุวิศวกรรม และชีวเคมี มาประยุกต์ใช้ร่วมกับความรู้ด้านวิศวกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิศวกรรมขบวนการ และวิศวกรรมเคมี เพื่อศึกษาค้นคว้า และวิจัยสร้างสรรสิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณประโยชน์และมูลค่าที่สูงขึ้น จากห้องปฏิบัติการสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม
หลักสูตรเทคโนโลยีชีวภาพ นอกจากจะมีการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานแล้ว จะเน้นหนักทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติสำหรับวิชาเฉพาะด้านต่างๆ ที่จำเป็นของเทคโนโลยีชีวภาพ นักศึกษาจะมีโอกาสได้ศึกษาและปฏิบัติในหน่วยงานวิจัยและโรงงานอุตสาหกรรมจริง ทั้งในการเรียนภาคปกติและการฝึกงานภาคฤดูร้อน นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาแล้ว จะสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพ ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หรือสามารถศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งภาควิชามีหลักสูตรจนถึงระดับปริญญาเอก
งานวิจัยในภาควิชา มีทั้งระดับห้องปฏิบัติการ และระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยแบ่งออกเป็น 5 สาขากลุ่มวิจัย คือ วิศวกรรม ชีวเคมีและเทคโนโลยีการหมัก เทคโนโลยีชีวภาพด้านอาหาร พันธุวิศวกรรม จุลชีววิทยาอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพด้านพืช
ภาควิชาพยาธิชีววิทยา
พยาธิชีววิทยา เป็นวิชาที่เกี่ยวกับพยาธิสภาพและความผิดปกติของชีวโมเลกุล และโครงสร้างของเซลล์ตลอดจนเนื้อเยื่อต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ สารพิษ การเปลี่ยนแปลงในเมตาบอลิสม และสาเหตุอื่นๆ
ภาควิชาพยาธิชีววิทยา เปิดหลักสูตรปริญญาโท และเอก สาขาพยาธิชีววิทยา และยังทำหน้าที่สอนวิชาพยาธิชีววิทยา ให้แก่นักศึกษาแพทย์ เทคนิคการแพทย์ รังสีเทคนิค และพยาบาล
งานวิจัยของภาควิชาฯ ได้แก่ การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพยาธิสภาพของเซลล์เนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่นสารพิษ โรคติดเชื้อปรสิต โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคมาลาเรีย ปัญหาสารพิษจากเชื้อราที่มีผลต่อคน สัตว์และผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งการทดสอบวัคซีนในระบบประสาท ผลของสารเคมีที่มีต่อพันธุกรรม สารก่อมะเร็ง สมุนไพรในการลดไขมันและต้านทานพิษจากสารเคมี รวมทั้งการวินิจฉัยโดยใช้เทคนิคของอิมมูโนฟลูออเรสเซนต์
ภาควิชาพฤกษศาสตร์
พืชมีความหลากหลายราว 250,000 ชนิด พืชสามารถขึ้นได้แทบทุกแห่งบนพื้นโลก ตั้งแต่เขตหนาวจนถึงในน้ำพุร้อนและทะเลทราย พืชให้ปัจจัยหลักทั้งสี่คืออาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค รวมทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์อีกหลายอย่าง พืชเป็นผู้ผลิตก๊าซอ๊อกซิเจนที่สิ่งมีชีวิตเกือบทุกชนิด ใช้ในการหายใจ มีเรื่องน่าเรียนรู้อีกมากมายเกี่ยวกับพืชที่ภาควิชาพฤกษศาสตร์ ทั้งเรื่องพื้นฐานที่สำคัญ เช่น โครงสร้างภายนอกและภายในพืช การตั้งชื่อและจัดกลุ่มพืช การทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม ความสัมพันธ์ของพืชกับสิ่งแวดล้อม และเรื่องที่เป็นพฤกษศาสตร์ประยุกต์ เช่น การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช การตรวจสอบและสกัดสารเคมีจากพืช การปรับปรุงพันธุ์พืช การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวการศึกษาชีวโมเลกุลของพืช การศึกษาเกี่ยวกับไม้ดอกไม้ประดับและการจัดสวน รวมไปถึงศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เรียกว่าพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน ภาควิชาพฤกษศาสตร์สนับสนุนให้นักศึกษาเลือกโครงการวิจัย ตามที่ตนเองสนใจและมีความถนัด โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ภาควิชาพฤกษศาสตร์ยังให้บริการเผยแพร่ข้อมูล และจัดอบรมให้ความรู้และวิทยาการใหม่ๆ ในสาขาพฤกษศาสตร์แก่ผู้ที่สนใจ
ภาควิชาฟิสิกส์
ฟิสิกส์เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสสาร พลังงาน การเคลื่อนที่ การแปลงรูประหว่างพลังงานกับพลังงาน และพลังงานกับสสาร อัตกิริยาระหว่างพลังงานกับพลังงาน และพลังงานกับสสาร วิชาฟิสิกส์ครอบคลุมกฎเกณฑ์ของปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างกว้างขวาง สาขาของวิชานี้ได้แก่ กลศาสตร์คลาสสิก ทฤษฎีไฟฟ้าแม่เหล็ก ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ทฤษฎีควอนตัม และฟิสิกส์เชิงสถิติ เราสามารถนำความรู้จากสาขาวิชาเหล่านี้ มาผสมผสานกันเป็นความรู้ในสาขาย่อยต่างๆ อาทิเช่น ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ธรณีฟิสิกส์ ฟิสิกส์การแพทย์ ฟิสิกส์เชิงชีวะ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งทั้งความรู้ฟิสิกส์พื้นฐานและประยุกต์เหล่านี้ ได้มีผลต่อมนุษย์อย่างเห็นได้ชัดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
หลักสูตรฟิสิกส์ของภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นั้นจัดได้ว่าเป็นหลักสูตรที่เข้มข้นที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ในระดับปริญญาตรีซึ่งเน้นวิชาฟิสิกส์พื้นฐาน เราสอนให้รู้จักคิดในหลายๆ ทิศทาง คิดอย่างมีหลักเกณฑ์ รู้และเข้าใจความเชื่อมโยงของปัญหาต่างๆ ในวิชาฟิสิกส์ และฝึกฝนการประยุกต์ใช้ความรู้ฟิสิกส์ในชีวิตประจำวัน นอกจากความรู้พื้นฐานทางฟิสิกส์แล้ว ภาควิชาฯ ยังปูพื้นฐานความรู้ทางคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งฟิสิกส์ประยุกต์อื้น ๆ ด้วย ในระดับปริญญาโทนั้น ภาควิชาฯ เน้นที่การทำการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ใหม่ และการประยุกต์เอาความรู้ทางฟิสิกส์ที่มีอยู่ มาใช้ให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์กับประเทศไทย
งานวิจัยทางฟิสิกส์ในภาควิชาฯ แบ่งออกเป็นหลายสาขา ได้แก่ การวิจัยทางด้านสารกึ่งตัวนำ เลเซอร์ Holography, Nanotechnology, Soliton, Chaos, Fractal, Nonlinear Systems, Neural Network, Astrophysics, Geophysics, Biological and Medical Applications, Optical Fiber Sensors รวมทั้งการวิจัยเชิงตัวเลข (Numerical Methods and Computational Physics) ในหลายสาขา เช่น Simulation ของโครงสร้างและปฏิกิริยาเคมี ทางด้านการแพทย์ และการศึกษาแบบจำลองของการเหนี่ยวนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าโลก การแก้ปัญหา Inverse Problem นอกจากนี้แล้วยังมีงานวิจัยทางด้านฟิสิกส์การศึกษา และการผลิตสื่อการเรียนการสอนทางฟิสิกส์
ภาควิชาเภสัชวิทยา
เภสัชวิทยา เป็นวิชาที่มุ่งศึกษาถึงคุณสมบัติและกลไกการออกฤทธิ์ของยา หรือสารเคมีที่มีต่อร่างกาย รวมทั้งศึกษากลไกการตอบสนองของร่างกายที่มีต่อยาหรือสารเคมี เมื่อร่างกายได้รับเข้าไป เพื่อที่จะนำความรู้ไปสู่การพัฒนาหายาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิผลในการรักษาสูงและเหมาะสมยิ่งขึ้น
งานวิจัยของภาควิชาแบ่งเป็น งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน และงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ประยุกต์ทางการแพทย์ เช่น การศึกษาพยาธิชีววิทยาของโรคธาลัสซีเมีย ภาวะไขมันอุดตันในหลอดเลือด และโรคความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง การศึกษาศึกษาการตอบสนองของตัวรับต่อยาและสารเคมี การศึกษาทางระบาดวิทยาของการใช้ยา การศึกษาและทดสอบการออกฤทธิ์ของสมุนไพร การศึกษาความเป็นพิษของยาและสารเคมีต่างๆ และการศึกษาชีวสมมูลของยา
ภาควิชาเภสัชวิทยาเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาเภสัชวิทยา นอกจากนี้ยังร่วมในโครงการผลิตนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาพิษวิทยา ของสำนักส่งเสริมวิชาการพิษวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และยังทำหน้าที่สอนวิชาเภสัชวิทยา ให้แก่นักศึกษาแพทย์ พยาบาล และนักศึกษาวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ๆ ด้วย
ภาควิชาสรีรวิทยา
วิชาสรีรวิทยา เป็นวิชาที่ว่าด้วยการทำงานของร่างกาย ตั้งแต่ระดับเซลล์ อวัยวะไปจนถึงระบบอวัยวะและร่างกาย โดยองค์รวม ทั้งในภาวะปกติและในภาวะผันแปรต่างๆ
ภาควิชาสรีรวิทยา รับผิดชอบสอนวิชาสรีรวิทยาให้แก่นักศึกษาปริญญาตรีสาขาแพทย์ พยาบาล รังสีเทคนิค เทคนิคการแพทย์ และสาธารณสุข และเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทและเอกในสองสาขาคือ สาขาสรีรวิทยา และสรีรวิทยาของการออกกำลังกาย หลักสูตรการเรียนการสอนดังกล่าวเป็นหลักสูตรนานาชาติที่ได้มาตรฐานสากล โดยรับนักศึกษาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันมีผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาโทและเอกไปจากภาควิชาฯ แล้วเกือบ 200 คน
งานวิจัยของภาควิชาฯ มีทั้งงานด้านพื้นฐานและประยุกต์ โดยศึกษาถึงผลของปัจจัยต่างๆ เช่น ยาสมุนไพร สารเคมี สารพิษ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ความเครียด และพยาธิสภาพต่อการทำงานของร่างกายในระบบต่างๆ อาทิ ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบขับถ่าย (ไต) ระบบสืบพันธ์ ระบบประสาทและระบบไหลเวียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโครงการวิจัยในกลุ่มสรีรวิทยาการออกกำลังกาย ซึ่งศึกษาถึงผลของการออกกำลังกาย และการฝึกต่อการเจริญเติบโตและการทำงานของร่างกาย โครงการวิจัยกลุ่มเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งมุ่งศึกษาและพัฒนาสารต้านมะเร็งจากพืชสมุนไพร โครงการวิจัยเกี่ยวกับความปลอดภัยในการนำสารสกัดจากหญ้าหวานมาใช้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
บทความใหม่กว่า
บทความที่เก่ากว่า
หน้าแรก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น