วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

นักเทคนิคการแพทย์ไทย พวกเค้ามีหน้าที่อย่างไรในโรงพยาบาล

วันที่ 29 มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันเทคนิคการแพทย์ไทย” โดยผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ถือเอาวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เป็นแห่งแรกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2500 เป็นวันสำคัญของวิชาชีพ ซึ่งนับจนถึงวันนี้ “เทคนิคการแพทย์” ได้ทำหน้าที่ในระบบบริการสาธารณสุขไทยมาถึง 56 ปีแล้ว 



เทคนิคการแพทย์ หรือ คนที่ทำงานอยู่ในห้องแล็ป ตามภาษาที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันเป็นอย่างดี
พวกเค้ามีหน้าที่อย่างไรในโรงพยาบาล หรือมีความสำคัญอย่างไรต่อการรักษาของคนไข้ วันนี้เราจะมาเรียนรู้กัน...ครับ..

เทคนิคการแพทย์ ตามความหมายของพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ 2547 ให้ความหมายว่า "วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เพื่อให้ได้สิ่งตัวอย่างทางการแพทย์ และการดำเนินการโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการตรวจ ทดสอบ วิเคราะห์ วิจัย และการรายงานผลการตรวจ เพื่อวินิจฉัย การติดตามการรักษา การพยากรณ์โรค และการป้องกันโรค หรือเพื่อประเมินภาวะสุขภาพ"

ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากความหมายนั่นบทบาทของพวกเค้าในโรงพยาบาลนั้นมากมายเกินกว่าใครหลายคนที่จะรู้ว่านี่คือหน้าที่ของเทคนิคการแพทย์ ซึ่งจากความหมายของ เทคนิคการแพทย์ ผมขอขยายความให้ฟังและเห็นตัวอย่างได้อย่างชัดเจน

ประเด็นที่ 1 
วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เพื่อให้ได้สิ่งตัวอย่างทางการแพทย์  ซึ่งในขั้นตอนนี้ทางภาษาวิชาการของทางการแพทย์จะเรียกว่าขั้นตอนต้นของการวิเคราะห์ (pre-analytical) ซึ่งได้แก่การตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยว่าถูกต้อง ถูกคน ที่จะทำการเจาะเลือด หรือเก็บสิ่งส่งตรวจหรือไม่ หากข้อมูลในการระบุตัวผู้ป่วยถูกต้อง ก็จะทำการเจาะเลือดซึ่งบางครั้งคนไข้มักสงสัยว่าทำไมถึงต้องเจาะเก็บเลือดตั้งมากมาย เหตุผลคือเพราะการตรวจบางอย่างต้องใช้หลอดที่มี หรือ ไม่มีสารกันเลือดแข็งที่ต่างกัน ผู้ป่วยมักจะเห็นอยู่บ่อยๆว่ามีหลอดฝาสีแดง ซึ่งหลอดนี้ไม่มีสารกันเลือดแข็งตัว ซึ่งเวลาเรานำไปปั่นแล้วจะได้น้ำเหลืองหรือ ซีรัม ซึ่งเหมาะกับการตรวจพวก อิเล็กโทรไลต์ (โซเดียม โพแทสเซียม คลอไรด์ และไบคาร์บอนเนต) หรือการตรวจเอนไซม์ ต่างๆ เช่น AST ALT เพื่อประเมินการทำงานของตับ  BUN , Creatinine เพื่อประเมินการทำงานของไต เป็นต้น และใช้ในการตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยาเช่น การตรวจเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อ HIV ไวรัสตับอักเสบ B และ C หรือการติดเชื้อไวรัสตัวอื่นๆ หลอดฝาสีเทา สำหรับการตรวจระดับน้ำตาลกลูโคส และระดับแอลกฮอล์ ซึ่งมีสารในการต้านการสลายน้ำตาลกลูโคสบรรจุอยู่นั่นเอง หรือบางโรงพยาบาลอาจจะใช้หลอดฝาสีเขียว แทนการใช้หลอดฝาสีแดงก็ได้ เพราะหากใช้หลอดฝาสีแดงมีข้อเสียคือต้องรอให้เลือดแข็งตัวก่อนประมาณ 30-45 นาที ถึงจะนำไปปั่นเพื่อให้ได้ซีรัม ทำให้เกิดความล้าช้าในการตรวจวิเคราะห์ได้
ไม่ได้มีแค่เจาะเลือดนะครับยังมีการเก็บสิ่งส่งตรวจอื่นๆที่ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเก็บได้อย่างถูกลักษณะเช่น การเก็บปัสสาวะ การเก็บเสมหะ หรือแม้ทั่งการเก็บตัวอย่างอสุจิ เพื่อประเมินความผิดปกติ

ประเด็นที่ 2 
การดำเนินการโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการตรวจ ทดสอบ วิเคราะห์ วิจัย ซึ่งในขั้นตอนนี้ทางภาษาวิชาการของทางการแพทย์จะเรียกว่าขั้นตอนการวิเคราะห์ (analytical) ซึ่งขั้นตอนนี้ถือเป็นขั้นตอนที่ทดสอบความสามารถของเทคนิคการแพทย์มากที่จะต้องใช้ทั้งความรู้และทักษะที่เรียนมาภายใต้ใบประกอบวิชาชีพในการทำงาน ไม่ปฎิเสธเลยว่างานส่วนใหญ่เป็นเครื่องอัตโนมัติ แต่บางครั้งเครื่ออัตโนมัติไม่ได้เก่งเท่ามนุษย์เพราะก็ยังมีปัญหาอยู่ดังนั้นเทคนิคการแพทย์ที่ดีต้องรู้จักประเมิน และแก้ปัญหาผลแล็ปที่ไม่สอดคล้องกันว่าน่าจะมาจากสาเหตุใดภายใต้ความรู้เชิงวิชาการและต้อง รวดเร็ว ถูกต้อง ถูกคน และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ งานส่วนใหญ่ในห้องแล็ปแล้วจะมีอยู่หลายกลุ่มงานแบ่งย่อยออกไปดังนี้

1. งานเคมีคลินิก  ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการตรวจสารชีวเคมี เช่น กลูโคส อิเล็กโทรไลต์ เอนไซม์ต่างๆ รวมไปถึงสารอื่นที่สำคัญเช่น อัลบูมิน บิลิลูบิน และอื่นๆอีกมากมาย และ 1 คนนั้นบางครั้งแพทย์ส่งตรวจ 5-10 รายการงานที่หนักที่สุดคือการดูคลินิกสัมพันธ์ของผู้ป่วยว่าค่าตัวนี้สูงตัวอื่นสูง หรือต่ำไปตามหลักการทางสรีรวิทยาหรือไม่เป็นเหตุเป็นผลด้วยกันหรือเปล่า ซึ่งถุกเป็นงานที่ยากที่สุดในส่วนนี้
2. งานโลหิตวิทยา ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ทั้งเม็ดเลือดแดง ขาว และเกร็ดเลือด และต้องนำเลือดที่เข้าจะเครื่องตรวจวิเคราะห์เสร็จแล้วมาทำการไถสเมียร์และย้อมและดูด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูว่าค่าที่ได้จากเครื่องอัตโนมัตินั้นไปกับการดูของเราหรือไม่แต่ถ้า case ไหนที่เครื่องมีปัญหาเทคนิคการแพทย์ต้องดูด้วยกล้องเองทั้งหมดซึ่งถ์อว่าเป็นงานหนักเลยทีเดียว และยังมีงานอื่นๆเช่นการตรวจหาพาหะการเป็นธาลัสซีเมีย การตรวจเพื่อประเมินภาวะการพร่องเอนไซม์ G-6-PD การตรวจ ESR  การตรวจดูเซลล์เม็ดเลือดแดงตัวอ่อน การดูเม็ดเลือดตัวอ่อนจากไขกระดูก การตรวจการทำงานของปัจจัยการแข็งตัวของผู้ที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด เช่นประเมินโรคฮีโมฟิเลีย หรือผู้ป่วยที่ได้รับยาจำพวก aspirin หรือ heparin ในการรักษา
3. งานธนาคารเลือด งานหลักของกลุ่มงานนี้ถูกเป็นความท้าทายและต้องละเอียดรอบคอบเพราะถือว่าการให้เลือดแก่ผู้ป่วยเป็นเรื่องที่อันตรายถึงชีวิต ดังนั้นงานหนักจะเป็นการตรวจความเข้ากันได้ของเลือดผู้บริจาค กับเลือดของผู้ป่วยที่จะรับว่าเข้ากันได้หรือไม่ หากเข้ากันได้ก็ OK แต่หากเข้ากันไม่ได้ก็เป็นเรื่องที่เทคนิคการแพทย์ต้องมาหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร เช่น Auto หรือ Allo antibody หากหาได้แล้วก็ต้องไปหาเลือดที่เซลล์เม็ดเลือดแดงของผู้บริจาคไม่มี Antigen นั้นซึ่งบางครั้งถือว่าเป็นงานที่ปวดสมองที่สุดก็ว่าได้.. ไม่ได้แค่ทำการตรวจนะ เทคนิคการแพทย์ต้องสามารถออกหน่วยไปรับบริจาคโลหิตด้วยทั้งการเจาะเก็บ และการดูแลหลังการบริจาค และการเตรียมส่วนประกอบของเลือดเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้แก่ผู้ป่วย ซึ่งคนทั่วไปมักมองว่าเทคนิคการแพทย์ตรวจแค่หมู่เลือด ABO ,Rh จริงๆแล้วมากกว่านั่นนะครับ
4. งานด้านจุลทรรศนศาสตร์ ซึ่งงานหลักห้องนี้ตัวอย่างก็เช่นการตรวจปัสสาวะ การตรวจหาปราสิตในอุจจาระ อีกทั้งงานในห้องนี้ส่วนใหญ่ไม่มี Automate นะครับใช้ทำมือล้วนๆ ดังนั้นงานหนักก็มักอยู่กับกลิ่นครับผม แต่หน้าที่สำคัญคือต้องไม่คิดรังเกลียดสิ่งส่งตรวจพวกนี้เพราะสิ่งส่งตรวจพวกนี้อาจจะเป็นจุดเล็กๆในการรักษาผู้ป่วยที่ยิ่งใหญ่ เช่นการเจอไข่พยาธิใบไม้ในตับ ในอุจจาระก็จะทำให้แพทย์รักษาหรือป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดีได้ งานยังไม่หมดเท่านี้นะครับ ยังมีการตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ การตรวจการตั้งครรภ์ในปัสสาวะ และการตรวจอสุจิ และการตรวจการติดเชื้อของน้ำจากช่องปอด น้ำล้างท้อง และน้ำจากไขสันหลังเพื่อประเมินการติดเชื้อครับผม
5. งานภูมิคุ้มกันวิทยา ซึ่งงานส่วนใหญ่จะเป็นการตรวจเพื่อวิเคราะห์การติดเชื้อไวรัส เช่น HIV HBV HCV (ไวรัสตับอักเสบ) ซิฟิลิส การตรวจรูมาตอย รวมไปถึงการตรวจเพื่อบงชี้ หรือพยากรณ์ มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ เป็นต้น รวมไปถึงการตรวจติดตามผู้ติดเชื้อ HIV เช่น CD4+ count หรือ Viral load ของ HBV ซึ่งงานส่วนนี้ถึงจะเป็นอัตโนมัติหมดแต่การรายงานผลถือเป็นความละเอียดอ่อนมาก ดังนั้นเทคนิคการแพทย์ต้องมีจรรยาบรรณที่ไม่เผยแพร่ผลการตรวจเพราะถือเป็นข้อมูลลับของผู้ป่วย
6. งานด้านจุลชีววิทยาทางการแพทย์ ส่วนใหญ่เป็นการตรวจวิเคราะห์การติดเชื้อแบคทีเรีย งานด้านนี้ค่อนข้างต้องใช้ความรู้ ทักษะ ความชำนาญมากเป็นพิเศษและยังต้องใช้เวลาอีกด้วย งานนี้บอกเรยมีเครื่องอัตโนมัติแค่ 1 เครื่องถือว่า OK แล้วคือเครื่อง Hemo Culture เพื่อบ่มขวดอาหารเหลวที่เจาะเลือดของผู้ป่วยที่สงสัยการติดเชื้อในกระแสโลหิตใส่เข้าไป ไม่ใช่มีแค่เลือดนะครับ ยังมีการเพาะเชื้อจาก เสมหะ หนอง น้ำเจาะไขสันหลัง น้ำช่องปอด ปัสสาวะอื่นๆ ลงในอาหารเลี้ยงเชื้อจำเพาะ และหากมีการเจริญเติบโตต้องทำการทดสอบชีวเคมีว่าเป็นแบคทีเรียตัวไหน และต้องทำการทดสอบความไวต่อยาที่แพทย์จะใช้รักษาอีกด้วยว่ายาตัวไหนสามารถยับยั้งเชื้อ หรือฆ่าเชื้อได้ดีที่สุดก็จะใช้ยาตัวนั้นในการรักษาผู้ป่วยนั่นเอง

ประเด็นที่ 3 การรายงานผลการตรวจ ซึ่งในขั้นตอนนี้ทางภาษาวิชาการของทางการแพทย์จะเรียกว่า ขั้นตอนหลังการวิเคราะห์ (post-analytical) เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ต้องใช้ความรู้ที่เรียนมา ในการวิเคราะห์ว่าค่าแล็ปที่ออกมาว่าแต่ละค่าสัมพันธ์กันหรือไม่และมีความเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ยากมากพอสมควร เพื่อให้ผลที่ได้ ถูกต้อง รวดเร็ว และถูกคน นั่นเองซึ่งต้องให้ทันต่อการรักษาของแพทย์ แล้วค่าที่ออกมามีความน่าเชื่อถือไหม ตอบเลยว่าน่าเชื่อถือเพราะแต่ละห้องแล็ปของ รพ. จะมีการควบคุมคุณภาพประจำวัน (IQC) และ และการควบคุมคุณภาพจากองค์กรภายนอก (EQA) ด้วยและห้องปฎิบัติการเทคนิคการแพทย์ ต้องได้รับการประเมินตามมาตรฐานงานจากสภาเทคนิคการแพทย์ (LA) เป็นอย่างต่ำอยู่แล้วดังนั้นผมเชื่อว่าค่าที่ได้หากการควบคุมคุณภาพที่ดีก็ย่อมน่าเชื่อถืออยู่แล้ว

แล้วผลแลปสำคัญตรงไหนไม่มีได้หรือเปล่าๆๆ........ คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิต........
ตอบ ผลแล็ปที่ได้เพื่อ
พื่อวินิจฉัย การติดตามการรักษา การพยากรณ์โรค และการป้องกันโรค หรือเพื่อประเมินภาวะสุขภาพ ของตัวผู้ป่วยเองครับผม

ทั้ง 3 ประเด็นที่แตกประเด็นให้ผู้ฟังหรือผู้อ่านไปเห็นผมว่าน่าจะครอบคลุมความหมายของนักเทคนิคการแพทย์ ได้เป็นอย่างดีเราอาจจะเป็นเสี้ยวหนึ่งของการรักษาที่ผู้ป่วยอาจจะไม่รู้จักมากนักแต่ท้ายสุดพวกเราเองอยากเห็นผู้ป่วยได้หายจากการเจ็บป่วยที่ทรมาน ทุกคนครับ

...."ถึงจะเหนื่อยยาก แม้ลำบากแสน จะก้าวไปทุกแดน เพื่อทดแทนแผ่นดินไทย"...

ไม่มีความคิดเห็น: